- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 10 August 2015 18:17
- Hits: 1094
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะจากฝั่งจีน กดดันราคาน้ำมันดิบโลกลดลงต่ำกว่า 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือทดสอบจุดต่ำเดิมอีกครั้ง ถือเป็นอีกปัจจัยกดดัน SET นอกเหนือจากการปรับลด EPS ของตลาด กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นที่ทนทานต่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอ เช่น THCOM, BTS, HANA, EASTW และเลือก SCC(FV@B580) เป็น Top pick
ตลาดแรงงานสหรัฐทรงตัว vs เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังคงส่งสัญญาณทรงตัว โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ล่าสุดรายงานยอดของผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ (สิ้นสุด 1 ส.ค.) เพิ่มขึ้น 3,000 ราย หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.12 % ขณะที่วันศุกร์ที่ผ่านมา ได้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 8 พันตำแหน่ง (อยู่ที่ 215 พันตำแหน่ง) เทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 3.1 หมื่นตำแหน่ง ถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทำให้อัตราว่างงานยังอยู่ที่ 5.3% (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.1% หรือทำให้ อัตราเงินเฟ้อจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ytd) ติดลบ 2.86% ทำให้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ของสหรัฐในงวด 3Q58 อาจจะทรงตัวหรืออ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับงวด 2Q58 อยู่ 2.3%yoy (ขณะที่งวด 1Q58 GDP Growth อยู่ที่ 0.6%yoy) และน่าจะทำให้เชื่อว่าการประชุมของ FED ในรอบถัดไปคือ 16-17 ก.ย. 2558 จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่คาดว่าจะขึ้นปลายปีนี้ (ในการประชุม 15-16 ธ.ค. 2558) หรือต้นปี 2559 ซึ่งเชื่อว่าตลาดน่าจะรับรู้ประเด็นนี้ แต่เชื่อว่ายังหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าหลักๆ ของโลก โดยเฉพาะทางฝั่งสหภาพยุโรป ซึ่งยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2559
เช่นเดียวกับทางฝั่งจีน พบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากยอดส่งออกของจีนเดือน ก.ค.ลดลง 8.3%yoy ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่ยอดส่งออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ytd) ยังคงลด 0.52%yoy (ขณะที่ทางด้านการนำเข้าพบว่าเดือน ก.ค. ลดลง 8.1% และทำให้ยอดนำเข้าลดลง 14.4%ytd) การชะลอตัวของภาคส่งออกของจีนหลักๆ เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือญี่ปุ่น เป็นต้น และเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. พบว่าทรงตัวที่ 1.6% ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.36% ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายของจีน ซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่รัฐบาลจีนจะใช้นโยบายผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบาย และ RRR
ทั้งนี้แม้การค้าระหว่างประเทศจีนที่ลดลงจะสอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP (รวมถึงไทย) แต่เป็นการบ่งบอกถึงกำลังซื้อของโลกยังอยู่ในภาวะชะลอ และมีน้ำหนักกดดันเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักในภูมิภาคเอเซีย เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลก และยังเป็นตลาดหลักในภูมิภาคเอเซีย จึงมีน้ำหนักกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัวลง โดยล่าสุดพบว่าราคาน้ำมันดิบโลกได้อ่อนตัวลงต่ำกว่า 50 เหรียญฯต่อ
บาร์เรลอีกครั้ง และกลับไปใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดในช่วงกลางเดือน มี.ค. 2558 ซึ่งอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ผู้ผลิตและสำรวจน้ำมันดิบในสหรัฐ (shale oil และ shale gas) ประสบภาวะขาดทุน และอาจต้องลดกำลังการผลิตอีกครั้งเหมือนในช่วงต้นปี 2558 อย่างไรก็ตามการที่ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง จะยังคงกดดันหุ้นน้ำมัน เช่น PTTEP, PTT ซึ่งเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ สามารถชี้นำดัชนีหุ้นไทยให้อ่อนตัวต่อเนื่องได้ ยังคงกดดันดัชนีต่อเนื่อง
เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ กดดันโอกาสทำกำไรของหุ้นในตลาด
ทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอ่อนตัว กดดันกำลังซื้อในประเทศ สะท้อนจากธุรกิจค้าปลีกในประเทศ โดยก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับประมาณการกำไรของบางบริษัทลง ได้แก่ HMPRO (ปรับปี 2558 ลง 10% จากประมาณการเดิม) BIGC (ปรับลด 9%) ล่าสุด ได้มีการปรับประมาณการกำไรปี 2558-59 ของ MAKRO ลง 7% และ 13% จากประมาณการเดิม ตามลำดับ สะท้อนจากผลประกอบการงวด 2Q58 พบว่ายอดขายสาขาเดิม (SSSG) หดตัว -0.9% yoy ต่ำสุดในรอบหลายปี (จากก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นตลาดแม้ในยามเศรษฐกิจชะลอตัว) แม้ว่ายอดขายสาขาใหม่จะเติบโต 9%yoy แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาแย่งลูกค้ากันเอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่แนวโน้มในช่วง 2H58 น่าจะดีกว่า 1H58 ตามผลของฤดูกาล แต่คาดว่าไม่น่ามีนัยฯ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอ่อนตัวถึงสิ้นปีและผู้บริโภคยังระมัดระวังในการใช้จ่าย
เช่นเดียวกับ ธุรกิจพัฒนาบ้านขาย แม้ผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ในหลายบริษัท ยังเป็นไปได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะ PS, SIRI และ SC จากยอดโอนคอนโดและโครงการแนวราบ ต่อเนื่องไปจนถึง 2H58 แต่เริ่มเห็นบางบริษัทที่ผลการดำเนินเริ่มชะลอตัวสวนทางกับคู่แข่งขันเช่น LPN โดยงวด 2Q58 พบว่า Gross Margin ที่ลดลงกว่าคาด จากผลกระทบของการโอนคอนโดที่ล่าช้า ประกอบกับได้มีการปรับลดแผนเปิดโครงการใหม่ 2H58 ลง จึงต้องมีการปรับประมาณการกำไรปีนี้ลดลงจากเดิม 9% ในปี 2558
ธุรกิจยานยนต์ งวด 2Q58 อุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัว 5.3%yoy กระทบถึงผู้ประกอบการโคมไฟรถยนต์ (STANLY) ให้ Gross Margin ลดลงต่ำ จึงทำให้ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับประมาณการกำไรปี 2558/59 ลง เบื้องต้นคาดว่ากำไรจะลดลงประมาณ 10% จากประมาณการเดิม
ขณะที่ทางด้านของธุรกิจปิโตรเคมี แม้ในช่วง 1H58 ผลกระทบการโดยรวมจะออกมาค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายโอเลฟินส์ ได้แก่ PTTGC พบว่ากำไรงวด 2Q58 ดีกว่าคาด โดยเติบโตถึง 60%qoq และ 18%yoy ปัจจัยหนุนมาจากปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ และ รับรู้กำไรพิเศษจากสต๊อกน้ำมันของธุรกิจโรงกลั่น อย่างไรก็ตามงวด 3Q58 คาดว่ากำไรจะลดลงอย่างมีนัยฯ จากรายการพิเศษ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และ Hedging รวมถึงกำไรที่ลดลงจากการเกิด unplanned shutdown โรงงานอะโรเมติกส์ และอาจมีการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (สวนทางกับงวด 2Q58 ที่มีกำไรพิเศษจากรายการเหล่านี้) จึงทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ต้องปรับประมาณการกำไรปีนี้ของ PTTGC ลง 10.7% จากเดิม แต่ภาพรวมแนวโน้มกำไรทั้งปี2558 ยังคงเติบโตสูงถึง 76.6% เมื่อเทียบกับปี 2557
ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 5
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 137 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) แต่เป็นการซื้อสุทธิเพียงประเทศเดียว คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิเบาบางมากเพียง 2 หมื่นเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติยังคงขายสุทธิคือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 50 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) และ เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิใกล้เคียงกันราว 19 ล้านเหรียญ และ 18 ล้านเหรียญ ตามลำดับ โดยตลาดหุ้นไทย ต่างชาติยังคงขายสุทธิสูงถึง 50 ล้านเหรียญ หรือ 1,741 ล้านบาท ซึ่งขายสุทธิต่อเนื่องป็นวันที่ 5 โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวม 6 พันล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 100 ล้านบาท ทางด้านตราสารหนี้ พบว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 21,543 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 611 ล้านบาท ส่วนทางค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.17 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647