- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 04 August 2015 17:22
- Hits: 1433
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าแรงกดดันตลาดยังคงมีอยู่ และการที่ SET ฟื้นตัวระยะสั้น ๆ น่าจะใกล้สิ้นสุด หากพิจารณา PER ตลาดที่ 15.6 เท่า ยังแนะนำให้ปรับพอร์ตโดยเลือกหุ้นที่กระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวน้อย ยังชื่นชอบ THCOM, BTS, HANA, EASTW วันนี้เลือก SCC(FV@B580) เป็น Top pick เพราะคาดว่าผลกำไรยังโดดเด่นในงวดที่เหลือของปีนี้ จากธุรกิจปิโตรเคมี
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ & กำหนดเลือกตั้ง อาจกลับมากดดันตลาดอีกครั้ง
หากเดินตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไข (ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา 15 ก.ค.2558) กระบวนจากนี้ไปในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นขั้นตอนที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างที่ได้ทำการปรับแก้ไขแล้ว กลับไปให้ สปช. ลงมติ ซึ่งต้องส่งร่างภายใน 22 ส.ค.2558 หลังจากนั้น สปช. จะต้องทิ้งช่วงเวลาไว้ 15 วัน เพื่อให้ สปช. มีเวลาในการพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นต้องลงคะแนนเสียง โดยน่าจะเริ่มกระบวนการในวันที่ 5 ก.ย.2558 ผลที่ออกมาเป็นไปได้ 2แนวทางคือ
1. เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้ก็จะเดินหน้าไปสู่การทำประชามติ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงราวกลางเดือน ม.ค.2559 และหากผ่านการเห็นชอบในการลงประชามติก็น่าจะทำให้เกิดการเลือกตั้งได้ในช่วงเดือน ก.ย.2559 ซึ่งถือเป็นกรณีที่เร็วที่สุด
2. ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้ ถือเป็นกรณีที่มีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบันว่าจะมีการล้มร่างรัฐธรรมนูญ โดยหากเกิดขึ้น ตามกฎหมายต้องมีการตั้งคณะกรรมาการชุดใหม่ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แล้วนำไปทำประชามติ ซึ่งกรณีนี้หากรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ผ่านการทำประชามติ ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงปลายไตรมาส 1/60 หรือต้น ไตรมาส 2/60 จะเห็นว่าหากเดินไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีทุกอย่างดำเนินไปด้วยความราบรื่น การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วสุดก็น่าจะเป็นช่วง เดือน ก.ย. 2559 แต่หากสะดุดขึ้นมาก็จะทำให้กำหนดการต้องเลื่อนออกไปอีก กล่าวคือหากสะดุดในชั้นการลงมติของ สปช. การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนออกไปเป็น ปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ปี 2560 แต่หากไปสะดุดที่การทำประชามติในรอบแรก (กรณี สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญ) ก็อาจเห็นการเลือกตั้ง ปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ปี 2560 ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่พอเห็นได้ในขณะนี้ก็คือการที่ต้องอยู่ในวังวนของการ ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วทำประชามติ ซ้ำหลายรอบ ก็จะอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ ประเด็นการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามในฐานะปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อ SET Index
โอกาสขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังคงเป็นสิ้นปี
ดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าภาคการบริโภคของสหรัฐ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สวนทางกับภาคการผลิต ยังฟื้นตัวล่าช้า แต่อย่างไรก็ตามล่าสุด พบว่า เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวของภาคการบริโภคออกมาบ้างแล้ว สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ เดือน ก.ค. (โดย ม.มิชิแกน) ลดลงมาอยู่ที่ 93.1 จาก 96.1 ในเดือน มิ.ย. และ ล่าสุด วานนี้พบว่า ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจภาคการบริโภคที่ออกมาน่าผิดหวัง เริ่มจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค (Personal Spending) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% (เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวและน้อยสุดในรอบ 4 เดือน) เป็นผลมาจาก demand รถยนต์ที่ลดลงเนื่องจากผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่รายได้ผู้บริโภค (Personal Income) เพียงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.4% ซึ่งการบริโภคภาคครัวเรือน (คิดเป็นกว่า 70% ของ GDP สหรัฐ) ชะลอตัว เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในช่วงท้ายไตรมาส 2 อาจจะไม่ดีดังคาด
ขณะที่ภาคการผลิต พบว่า ดัชนี PMI เดือน ก.ค. จัดทำโดยสถาบัน ISM อยู่ที่ระดับ 52.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 53.5 นับว่าสวนทางกับ ดัชนี PMI เดือน ก.ค. ที่จัดทำโดย Markit พบว่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 53.6 เดือน มิ.ย. เป็น 53.8 ตามมาด้วย ค่าใช้จ่าย ด้านการก่อสร้าง เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย 0.1% (นับเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.6%
โดยสรุปการที่ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มแผ่วอีกครั้ง ทำให้ตลาดเชื่อว่า Fed จะยังไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยฝ่ายวิจัยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ Fed จะไปรอปรับขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค. เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการในสหรัฐให้ผลประกอบการแย่ลงอีก
กนง. มีโอกาสคงดอกเบี้ยฯ หากเงินบาทยังอ่อนค่าต่อ
เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในบ้านเรายังคงติดลบ 1.05%yoy ในเดือน ก.ค. แม้จะลดลงจากติดลบ 1.07% ในเดือนก่อนหน้า และ ติดลบติดต่อเป็นเดือนที่ 7 ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ติดลบในเดือนนี้ หลักๆ ยังมาจากสินค้าในหมวดที่มิใช่อาหาร ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงน้ำประปาและแสงสว่างลดลง 3.18% ที่ลดลงตามตลาดโลก ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครรื่องดื่มมิใช่แอลกอฮอล์ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1%yoy อย่างไรก็ตามตลอด 7 เดือนแรกของปี 2558 พบว่า เงินเฟ้อติดลบ 0.8% และยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ ASPS ประเมินไว้ที่ 0.5% ตลอดปี 2558 ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 58 เหรียญฯต่อบาร์เรล (แต่จะเพิ่มไปแตะระดับ 1% หากปัญหาภัยแล้ง กดดันให้ผลผลิตการเกษตรลดลง และจะทำให้ราคาสินค้าในหมวดอาหารขยับขึ้นมาในระดับ 0.4-0.5%)
หากพิจารณาเงินเฟ้อในมุมเดียว อาจจะทำให้มีแนวคิดว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะยังมีอยู่ในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ (ประชุมครั้งถัดไปคือ 5 ส.ค. ที่จะถึงนี้) แต่หากพิจารณาค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง มานานนับตั้งแต่ กลางเดือน เม.ย. เป็นต้นมา อยู่ที่ 32.38 บาทต่อดอลลาร์ จนถึงเมื่อวานนี้ 35 บาท ต่อดอลลาร์ เท่ากับเงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 8% ถือว่าอ่อนสุด
ในภูมิภาค แต่ใกล้เคียงกับเงินริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่าราว 8.5% ในเกือบ 4 เดือน ขณะที่ค่าเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซีย อ่อนค่า 3.9% และ ค่าเงินเปโซของ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 3.4% ทั้งนี้ปัจจัยกดดันหลักน่าจะมาจาก 2 เรื่องคือ เกิดจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัว และ จะนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นเหตุผลให้มีการดึงเงินลงทุนกลับ จากที่ได้ลงทุนไว้ในประเทศเกิดใหม่ และปัญหาจากเศรษฐกิจในประเทศเอง ที่เผชิญกับภาวะชะลอตัว ทั้งการส่งออกที่ต่ำกว่าเป้าหมาย การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ลดลง จากประเด็นการเมืองในประเทศ
นับตั้งแต่ต้นปี ต่างชาติซื้อสะสมสุทธิหุ้นในภูมิภาคลดลงมาก
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 229 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน) แต่ยังคงซื้อสุทธิบางประเทศ คืออินโดนีเซีย ราว 24 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 4) ส่วนที่เหลือขายสุทธิ กล่าวคือ ไต้หวัน ขายสุทธิสูงสุด ในภูมิภาคราว 147 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 54 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องเพียงวันเดียว) ฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ และ ไทย ขายสุทธิราว 41 ล้านเหรียญ หรือ 1,430 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,346 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) หากพิจารณากระแสเงินทุนไหลไหลจากต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 9.5 พันล้านเหรียญ
แต่เป็นยอดซื้อสุทธิสะสมที่ลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา (1.8 หมื่นล้านเหรียญ) และถ้าสังเกตเป็นรายประเทศจะพบว่า ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสะสมสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 5.6 พันล้านเหรียญ รองลงมาคือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิสะสมราว 4.7 พันล้านเหรียญ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ถูกซื้อสุทธิราว 347 ล้านเหรียญ และ 200 ล้านเหรียญตามลำดับ ยกเว้นไทยประเทศเดียวที่ถูกขายสะสมสุทธิราว 1.3 พันล้านเหรียญ หรือ 4.4 หมื่นล้านบาท ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 19,337 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 813 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 35.10 บาท/ดอลลาร์
กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นหุ้นที่มีแนวโน้มดีใน 2H58
ดังที่กล่าวมาตลอดถึงปัจจัยเสี่ยงที่กดดันตลาดหุ้น คือความสามารในการทำกำไรของตลาด ซึ่งขณะนี้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ทยอยปรับลดประมาณการกำไรตลาดหุ้นในปี 2558 และ 2559 เป็นรอบที่ 2 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นอย่างเป็นททางการเมื่อมีการประกาศงบในงวด 2Q58 เสร็จสิ้น โดยในเบื้องต้นคาดว่า EPS ของตลาด จะลดลงมาอยู่ที่ราว 92 บาทในปี 2558 และ 105 บาทในปี 2559 (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน 3.33% และ 4.% 2558 และ 2559 ตามลำดับ) ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดปัจจุบันมีค่า Expected PER 15.6 เท่า ซึ่งอาจจะถูก-แพงบ้าง หากเทียบเป็นรายประเทศ คือ ฟิลิปปินส์สูงสุด 20 เท่า อินเดียที่ระดับ 16.7 เท่า มาเลเซีย 16.3 อินโดนีเซีย 15.3 และ จีน 15 เท่า ในเบื้องต้นหากอิง EPS ของตลาดล่าสุดดังกล่าว คาดว่าดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 1426 จุด จึงทำให้เห็น Downside ของตลาดยังมีอยู่ จึงยังเน้นกลยุทธ์ลงทุน โดยเน้นถือเงินสด 60% และถือหุ้น 40%
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647