- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 27 July 2015 16:38
- Hits: 1044
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET มีโอกาสลงไปที่ 1,430-1,425 จุด (อิง Ex PER 15.5 เท่า เป้าหมายสิ้นปีนี้) ยังชื่นชอบหุ้นที่กระทบจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวน้อย BTS(FV@B12), IRPC([email protected]) และเลือก HANA(FV@B48) เป็น Top pick เพราะราคาหุ้นลงลึก จนมี upside 45% และ คาดหวังเงินปันผล 5.4% เงินบาทที่อ่อนค่าอาจจะทำให้กำไรดีกว่าประมาณการเดิม 6-12%
ปัญหากรีซ..ยังกดดันให้สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วปลายปีนี้
แม้ก่อนหน้านี้ เริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปหลังจากการใช้มาตรการ QE นับจากเดือน มี.ค. 2558 เป็นต้นมาแต่ความกังวลปัญหาของกรีซที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา และตกลงในรายละเอียด ได้กลับกดดันเศษฐกิจยุโรปอีกครั้ง โดยล่าสุด พบว่าดัชนี PMI ภาคการผลิต, ภาคบริการ และ รวมทั้งภาคการผลิตและบริการ เดือนก.ค. ปรับตัวลงอีกครั้ง หลังจากที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า และ ต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า เยอรมันและฝรั่งเศษ ปรับตัวลงต่ำในรอบ 2 เดือน และ 3 เดือน ซึ่งประเด็นนี้อาจจะกลับมากดดันตลาดหุ้นยุโรปได้อีกเช่นกัน
เช่นเดียวกับทางฝั่งจีนที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ค. ปรับตัวลงอยู่ที่ 48.2 นับว่าต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 2557 และต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งในส่วนนี้อาจทำให้ตลาดคาดหมายว่า รัฐบาลจีนมีมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มผ่านการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เช่นการลด RRR และหรือ ดอกเบี้ยนโยบาย (สินเชื่อ) ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 18% และ 4.85% เพื่อให้ GDP Growth เป็นไปตามเป้าหมายตลอดปี 2558 ที่ 7%
ตรงกันข้ามกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐล่าสุดยังคงมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง กล่าวคือ ตัวเลข PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53.8 (สูงกว่าตลาดคาดที่ 53.6) ถือเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรก หลังจากลดลดงต่อเนื่อง 4 เดือน ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคการผลิต น่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจโลกรวม หลังจากที่ดัชนีการบริโภคคภาคครัวเรือน และตลาดบ้านได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องก่อนหน้าแม้ระยะสั้น อาจจะเห็นตลาดบ้านชะลอตัวลงบ้างแต่เป็นการปรับฐานระยะสั้น ๆ เท่านั้น (ยอดขายบ้านใหม่ เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 4.82 แสนหลัง หดตัว 6.8% mom) ทั้งนี้ปัญหาจากกรีซและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน น่าจะยังเป็นปัจจัยที่ Fed ต้องให้น้ำหนักในการพิจารณาใช้นโยบายการเงินตึงตัวนับจากนี้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ล่าสุดที่ยังอยูที่ 0% ยังห่างจากเป้าหมายระยะสั้น 1% ทาง ASPS คาดว่า Fed น่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น เดือน ธ.ค. 2558 หรืออย่างช้าในต้นปี 2559
น้ำมันที่อ่อนตัวจากอาจทำให้เกิด Stock loss ในงวด 3Q58
ราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลงในเดือน ก.ค. หลังจากแกว่งตัวในกรอบแคบตลอดเดือน พ.ค. - มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบงวด 3Q58 ล่าสุดอยู่ที่ 56.8 เหรียญฯต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยงวด 2Q58 ที่ 61.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งฝ่ายวิจัยกำหนดให้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วง 2H58 เท่ากับ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล(สมมติฐานปี 2558 ที่ 63 เหรียญฯต่อบาร์เรล)
ซึ่งหากราคาเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าสมมติฐานดังกล่าว อาจส่งผลต่อประมาณการของผู้ประกอบการปิโตรเลียมให้เกิดปัญหา stock loss ได้ โดยเฉพาะ PTTEP และ PTT (ถือหุ้นใน PTTEP 65.29%) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานได้ประเมินผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบ ทุกๆ 5 เหรียญฯที่ลดลง ส่งผลต่อประมาณการกำไรฯ ของ PTTEP ให้ลดลงราว 8,000 ล้านบาท หรือราว 15% และ PTT ลดลงราว 6,500 ล้านบาท หรือราว 6%
ขณะที่ค่าการกลั่น แม้อาจปรับตัวขึ้นได้บ้างจากการที่ spread ระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบที่เปิดกว้างขึ้น แต่ก็เป็นช่วงสั้นเพียง 1-2 วันเท่านั้น และเชื่อว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะปรับลงตามราคาน้ำมันดิบในที่สุด ประกอบกับ 2H58 จะเข้าสู่ช่วง Low season ของธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งอาจทำให้ผลประกอบการงวด 3Q58 ของกลุ่มโรงกลั่นอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับงวด 2Q58 เชื่อว่า ผลประกอบการธุรกิจปิโตรเลียมและโรงกลั่น จะยังคงถูกกดดันต่อในงวด 3Q58 แต่ผลกระทบจาก stock loss ดังกล่าว ได้มีการรวมในประมาณการฯ ไปบ้างแล้ว โดย Top Pick ฝ่ายวิจัยยังเลือก IRPC (FV@B 5.80) เนื่องจากธุรกิจหลักกว่า 70% มาจากธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังคงฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ในงวด 4Q58 คาดจะเริ่มรับปัจจัยบวกจากโครงการ UHV ที่จะแล้วเสร็จเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากโครงการ UHV แล้วเสร็จเต็มที่ทั้งปีตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ GIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 2.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการยกระดับฐานกำไรของ IRPC ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป
ค่าเงินบาทอ่อนค่าน่าจะดีหุ้นส่งออกเลือก HANA เป็น Top pick
ผลจากความกังวลต่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และ แรงขายต่างชาติในตลาดขายหุ้นไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้กดดันให้ค่าเงินบาทยังคงอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าเช่นเดียวกับภูมิภาค โดยล่าสุดอยู่ที่ 34.9 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 6 ปีจุด (แต่ยังไม่ได้ทำลายสถิติเดิมที่ 49 บาทเมื่อปลายปี 2551 และ 53.3 บาทเมื่อกลางปี 2549) หรือหากวัดจากจุดแข็งค่ามากสุด 29 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อ 24 เดือน เม.ย. 2556 พบว่าเงินอ่อนค่าราว 20% ในช่วง 2 ปีเศษ ซึ่งนับว่าเป็นการอ่อนค่ามากสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค แต่ก็ยังถือว่าอ่อนค่าน้อยกว่า ค่าเงินรูเปียะห์ ของ อินโดนีเซีย ซึ่งล่าสุดได้ ทำสถิติอ่อนค่าครั้งใหม่ อยู่ที่ 13,456 รูเปียะห์ ต่อดอลลาร์ และ ยังสูงกว่าสถิติสูงสุดเดิม 12,725 รูเปียะห์ เมื่อ พ.ย. 2551 หรือ สูงกว่ายอดเดิม 12% และหากวัดจากจุดที่เงินเปโซแข็งค่าสุดที่ 8,491 รูเปียะห์ เมื่อ พ.ย. 2554 พบว่าอ่อนค่ามากถึง 58.5% ในช่วงเวลาเกือบ 4 ปี
ตามมาด้วย ค่าเงินมาเลเซีย ล่าสุดอยู่ที่ 3.8 ริงกิต ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่เช่นกัน เทียบกับสถิติสูงสุดเดิมที่ 3.72 ริงกิต ต่อ ดอลลาร์ หรือสูงกว่าเพียงเล็กน้อยราว 2.1% และหากวัดจากจุดที่เงินริงกิตแข็งค่าสุดที่ 2.9 ริงกิตต่อดอลลาร์ เมื่อ พ.ค. 2556 พบว่าค่าเงินริงกิต อ่อนค่า 34% ในช่วง 2 ปีเศษ
ยกเว้น ค่าเงิน ของฟิลิปปินส์ที่อ่อนค่าน้อยสุด ล่าสุดอยู่ที่ 45.46 เปโซ ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับ เดือน ส.ค. 2553 ยังไม่ได้ทำยอดสูงใหม่ เช่น เดียวกับเงินบาท (จุดสูงสุดเดิมอยู่ที่ 49.8 เปโซ เมื่อ พ.ย. 2551 และ 53.3 เปโซ เมื่อ ปลายเดือน มิ.ย. 2549) แต่หากวัดจากจุดที่เงินเปโซแข็งค่าสุดที่ 40.6 เพะปโซต่อดอลลาร์ เมื่อ มี.ค. 2556 พบว่าค่าเงินเปโซ อ่อนค่า 12% ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา อาจจะถือว่าอ่อนค่าช้าสุดในกลุ่ม
ในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การแข่งขันการลดราคาผ่านการอ่อนค่าเงินของสินค้าส่งออกในภูมิภาคเอเซียซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึกันน่าจะยังมีอยู่ ซึ่งทำให้เงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าต่อไปแตะระดับต่ำสูงสุดที่ 35 บาท และ 36 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งสถานการณ์นี้เชื่อว่าเอื้อประโยชน์ต่อผู้ส่งออกที่เน้นสินค้าที่มูลค่าสูง เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพบว่าราคาหุ้นได้ตกต่ำมากถึง 13% ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษ (ตกต่ำกว่ากว่าดัชนีตลาดที่ลดลงราว 4.7%) และหากพิจารณารายตัวพบว่า HANA(FV@B48) ลดลงมากที่สุดถึงเกือบ 19% จนทำให้ราคาตลาดมี upside 44% ขณะที่ HANA ผลิตหลักจะใช้ในกลุ่ม sensor ของ smart phone, touch pad (ที่ใช้ในnote book) และ hearing aids ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่ตลาดส่งออกจะอยู่สหรัฐ และจีน จึงน่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวน้อยกว่าคู่แข่งขัน และ จากเงินบาทที่อ่อนค่าจากสมมติฐานเดิมที่ใช้ 33 บาทต่อดอลลาร์ ต่ำกว่าค่าเงินบาทในปัจจุบันเกือบ 2 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าจะทำให้กำไรของ HANA มีโอกาสสูงจากประมาณการเดิม 12% และ มูลค่าที่เหมาะสมจะเพิ่มอีก 5.76 บาท จึงยังชื่นชอบ HANA และ เลือกเป็น Top pick เช่นเดิม
ส่วน DELTA(FV@B75) ราคาหุ้นตกลงราว 17% น้อยกว่า HANA โดย DELTA เป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Power supply ที่ใช้ในอุปกรณ์ Data center ฐานลูกค้าหลักอยู่ในสหรัฐ แม้แนวโน้มผลกำไรยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่เนื่องจากได้ทำประมาณการสูงเกินไป ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ ASPS จึงได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และ 2558 ลงจากเดิม 12% ดังกล่าวไปใน Market Talk เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และราคาตลาดยังสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานใหม่ จึงแนะนำให้ Switch ไปเข้า HANA และ KCE(FV@B60) ราคาหุ้นนช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งถือว่าชนะตลาด โดย KCE เป็นผู้ผลิตแผ่น PCB ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ และกลุ่มลูกค้าในยุโรปเป็นหลัก แต่เนื่องจากราคาตลาดยังมี upside จากมูลค่าพื้นฐาน 13.74% จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
ส่วนหุ้นในกลุ่มเกษตรและอาหารระยะสั้นให้หลีกเลี่ยงไปก่อน โดยเฉพาะผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ และ เนื้อสัตว์ที่ครบวงจร เช่น CPF(FV@B26), GFPT(FV@B13) เนื่องจากนักวิเคราะห์ เตรียมปรับลดลงจากประมาณการเดิมราว 40% และ 20% ตามลำดับเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะได้ไม่ได้รับชดเชยจากเงินบาทที่อ่อนค่าดังกล่าวข้างต้น และ เช่นเดียวกับ TUF([email protected]) ยังเผชิญปัญหากับการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจปลาทูน่าในสหรัฐ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 1 ใน 3 ราย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินกว่า 50% ของมูลค่าตลาดรวม และส่งกระทบต่อแผนการเข้าไปซื้อกิจการ Bumble Bee ในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูนารายใหญัอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 28% ต้องล่าช้าออกไป ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ต้องปรับไปใช้มูลค่าพื้นฐานก่อนการซื้อกิจการ Bumble Bee และก่อนการเพิ่มทุน
ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคทั้ง 5 ประเทศ
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 360 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) โดยเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 213 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4) รองลงมาคือตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 71 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) คือ เช่นเดียวกับกลุ่ม TIP อย่างตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ และ 9 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทยต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 50 ล้านเหรียญ หรือ 1,757 ล้านบาท (ขายติดต่อกันเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 146 ล้านบาท
สรุป สัปดาห์ที่ผ่านมา (20 - 24 ก.ค.) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 1,158 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขายสุทธิสะสมทั้ง 5 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิสะสมสูงสุดในภูมิภาคราว 213 ล้านเหรียญ รองลงมาคือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิสะสมราว 71 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่ม TIP ยังคงขายสุทธิสะสมทุกประเทศ คือ ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ขายสุทธิราว 50, 17 และ 9 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 14,472 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 3,481 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 34.91 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ พ.ค. 2552 เป็นต้นมา)
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647