- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 23 July 2015 16:00
- Hits: 1645
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET อาจฟื้นตัวช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เพราะการปรับลดประมาณการกำไรรายหุ้น จากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวยังคงกดดัน โดย EPS ของตลาดหลังปรับลดรอบ 2 คาดจะเหลือ 92 บาท ดัชนีเป้าหมายใหม่สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1,427 จุด จึงเน้นรายหุ้นที่มีภูมิคุ้มกันสูงจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว THCOM(FV@B51), BTS(FV@B12) และยังเลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick
อังกฤษมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆ กับสหรัฐ
ท่ามกลางความกดดันจากปัญหาของกรีซที่ยังคงกดดันตลาดของสหภาพยุโรป แต่ทางฝั่งสหรัฐและอังกฤษ ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดแม้ที่ประชุมนโยบายการเงินมีมติเอกฉันท์ที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่อ โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% และคงการซื้อสินทรัพย์ที่ 375 พันล้านปอนด์ เพราะเห็นว่าเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ (ล่าสุดอยู่ที่ 0% จากแรงกดดันจากค่าเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ) และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 5.6% (เพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ ม.ค. 2557) แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มมีคณะกรรมการ 2 คน (จาก 9 คน) เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพ จึงควรจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ แต่แบบค่อยเป็นค่อยไป
และเช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ วานนี้มีการรายงานตัวเลขยอดขายบ้านมือสองเดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 ปีครึ่ง มาอยู่ที่ 5.49 ล้านยูนิต ซึ่งน่าจะเป็นผลจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระดับต่ำ และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งน่าจะช่วยให้ตลาดบ้านฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าสหรัฐน่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยภายในสิ้นปี้เช่นกัน และน่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลดีต่อตลาดที่เคลื่อนไหว Side wayมาระยะหนึ่ง (ถูกกดดันจากการคาดการณ์ช่วงเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยและได้มีการ price in แล้ว)
TUF ระงับเพิ่มทุนชั่วคราว ประเด็นใหม่เข้ามากดดันตลาด
เชื่อว่าตลาดยังคงได้รับแรงกดดันรอบด้าน นอกจากปัญหาภัยแล้ง และการส่งออกชะลอตัว ล่าสุด TUF ได้แจ้งตลาดให้ระงับแผนเพิ่มทุนในการเข้าไปซื้อกิจการในสหรัฐ คือ Bumble Bee (100% เป็นเงิน 1.51 พันล้านเหรียญฯ) เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้ TUF ครอบงำธุรกิจปลาทูน่าในสหรัฐ เพราะปัจจุบัน Bubble Bee มีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอันดับ 2 ที่ 28% เป็นรอง StarKist มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่สุด 35% และลำดับ 3 คือ Chicken of the Sea เป็นบริษัทย่อยของ TUF (ถือหุ้น 100%) มีส่วนแบ่งตลาด 19% โดยรวมแล้ว 3 บริษัทแรกกินส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 50% ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทางกฏหมายสหรัฐที่ต้องการพิสูจน์ว่าการเข้าไปซื้อกิจการจะไม่ส่งผลกระทบคู่แข่งขันและผู้บริโภค โดยหากมองโลกในด้านร้าย หากการเข้าไปซื้อกิจการในครั้งนี้ไม่สำเร็จคาดว่าจะทำให้ต้องกลับไปใช้มูลค่าหุ้นเดิมที่ 22.75 บาท ซึ่งเปน็ มูลค่าก่อนการรวม Bumble Bee และก่อนการเพิ่มทุนในครั้งนี้ หรือมูลค่าปัจจุบันที่ 25.56 บาท ระยะสั้นแนะนำนักลงทุนชะลอการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้น แต่นักลงทุนที่มีอยู่แนะนำถือ เพราะธุรกิจของบริษัทยังคงเติบโตได้ตามปกติ แม้จะไม่ได้ซื้อ Bumble Bee ก็ตาม
กำลังซื้อในประเทศชะลอตัว สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ
ขณะที่วานนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าได้ปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ในปีนี้ลง 1 แสนคันเหลือ 2.05 ล้านคัน โดยหลักๆ เป็นการปรับลดเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศลง (เป้าหมายใหม่สูงกว่าปี 2557 9%) ผลจากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงสะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่เดือน มิ.ย. ลดลง 22.1% yoy ลดลงต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. (-20.1%yoy) และยอดขายในประเทศงวด 1H58 ลดลง 16% yoy และเช่นเดียวกับยอดส่งออกช่วง 2Q58 พลิกเป็นติดลบ 7.7% เทียบกับ 16.3% ในงวด 1Q58
ขณะที่ทางด้านการผลิตรถยนต์งวด 1H58 อยู่ที่ราว 935,215 คัน คิดเป็นเพียง 43.5% ของเป้าหมายการผลิตเดิมที่ ส.อ.ท. วางไว้ 2.15 ล้านคัน เป็นเพราะในงวด 2Q58 ยอดผลิตรถยนต์ลดลง 21% จากงวด 1Q58 ผลจากที่มีวันหยุดยาว และการเปลี่ยนโมเดลของรถกระบะรุ่นใหม่จาก TOYOTA ซึ่งทำให้ทั้งตลาดในประเทศและกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักๆ ของรถกระบะ 1 ตันอย่างกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและออสเตรเลีย ชะลอการตัดสินใจซื้อชั่วคราว
ขณะที่นักวิเคราะห์กลุ่มยานยนต์ของ ASPS ประเมินว่ายอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะอยู่ที่ 1.95 ล้านคัน เติบโต 4% yoy ต่ำกว่าเป้าหมายของ ส.อ.ท. เล็กน้อย และคาดว่าผลประกอบการกลุ่มฯ ยานยนต์งวด 2Q58 คาดลดลงทั้งจากงวด 1Q58 และงวด 2Q57 จากผลกระทบดังกล่าวข้างต้น (งวด 1Q58 ทำกำไรได้สูงถึง 26.4% ของประมาณการกำไรทั้งปี) โดยรวมยังประมาณการกำไรกลุ่มยานยนต์ในปี 2558 ไว้ที่ 4 พันล้านบาท ซึ่งมีอัตราเติบโต 21% ไว้ก่อน โดยจะรอดูผลกำไรรายบริษัทอีกครั้งในงวด 2Q58 และยังคงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มยานยนต์เท่ากับตลาด และเลือก SAT(FV@B22) เป็น Top pick เนื่องจากได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเปลี่ยนโฉมรถกระบะรุ่นใหม่ ๆ และยังมีคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะเข้าในงวด 3Q58
การปรับลดประมาณการกำไรรายตัวยังมีอยู่
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กดดันความสามารถในการทำกำไรและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในงวด 2Q58 ให้มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS มีการปรับลดประมาณการฯ ปีนี้และปีหน้าลง ล่าสุดคือ
DTAC (FV@B85) กำไรสุทธิงวด 2Q58 ต่ำกว่าคาดเนื่องจากรายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) อ่อนตัวลงเนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการรวมลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและแข่งขันที่รุนแรง สวนทางกับต้นทุนโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นจากการที่ DTAC ลงทุน 3G บนคลื่นสัมปทานซึ่งมีต้นทุนแพงเกินคาด ขณะที่แนวโน้ม 2H58 ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวแม้จะปรับกลยุทธ์แบ่งคลื่น 1800 MHz ออกมา 10 MHz รวมกับ 5 MHz บน 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 4G ให้ครอบคลุมที่สุด แต่จะทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มสูงตามมาหักล้างเช่นกัน จึงปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2558-59 ลงจากเดิมเฉลี่ยปีละ 14.7% ทำให้กำไรปีนี้ ลดลง 35% และเพิ่มเพียง 4% ในปีหน้า
ตามด้วย GCAP ([email protected]) ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ GCAP ทำให้สินเชื่อการเกษตรที่หดตัวลงอย่างมีนัยฯ แม้ว่าจะพยายามปรับกลยุทธ์ธุรกิจที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปนอกกลุ่มเกษตร แต่กว่าจะเริ่มดำเนินการได้ก็ปลายปี 2558 ไปแล้วจึงอาจไม่ได้รับผลบวกเต็มที่ จึงปรับลดประมาณการฯ ปี 2558-59 ลงจากเดิม 8.9% และ 9.9% ตามลำดับ คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558-59 เติบโต 5.0% yoy และ 13.3%yoy ตามลำดับ
ส่วน BJCHI ([email protected]) ความล่าช้าของโครงการ FPSOs P75&P77 เนื่องจากผู้ว่าจ้างมีปัญหาเจรจาค่างานกับเจ้าของโครงการทำให้ต้องหยุดงานบางส่วนชั่วคราว คาดการณ์กำไรสุทธิงวด 2Q58 ลดลง 24%YoY ทำให้ต้องปรับลดประมาณการฯ ปี 2558 ลงจากเดิม 10% อย่างไรก็ตามงวด 2H58 คาดว่าผลการดำเนินงานจะกลับมาเติบโตก้าวกระโดดจากการรับรู้รายได้โครงการ FPSOs P75&P77 ที่เลื่อนมา และรับรู้รายได้โครงการที่มี margin สูง ส่วนงานประมูลใหม่จะทยอยทราบผลในปลายปีนี้
และ CHG ([email protected]) คาดการณ์กำไรสุทธิงวด 1H58 ทำได้ต่ำกว่าคาดเพียง 44% ของประมาณการทั้งปี 2558 เป็นผลของช่วงนอกฤดูกาลทำให้คาดว่ากำไรงวด 2Q58 อ่อนตัว 1.7%qoq จึงปรับลดประมาณการฯ ปี 2558 และปี 2559 ลง 5.3% และ 3.1% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในช่วง 2H58 จะกลับมาเติบโตสูง จากส่วนต่อขยายของ รพ. จุฬารัตน์-11 และ รพ. จุฬารัตน์-9 กำไรสุทธิปี 2558 เติบโต 16.5 และปี 2559 เติบโต 23.1 %
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มที่คาดว่าผลการดำเนินงานงวด 2Q58 เติบโตขึ้น นำไปสู่การปรับระมาณการขึ้น ได้แก่
TOP (FV@B56) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558 ขึ้น 43% จากเดิม เพื่อสะท้อนการปรับเพิ่มสมมติฐานค่าการกลั่นจากเดิม 5.5 เป็น 6.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มกำไรในระยะสั้นงวด 2H58 อาจเห็นการปรับตัวลดลงจากงวด 1H58 ตามผลของฤดูกาล ซึ่งเป็นช่วง Low season ของธุรกิจโรงกลั่น รวมถึงยังมี Supply ใหม่จากโรงกลั่นในอินเดียเกิดขึ้นอีก ตามมาด้วย
BCP (FV@B36) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558 ขึ้น 29.1% จากเดิม เพื่อสะท้อนการปรับเพิ่มสมมติฐานค่าการกลั่นเป็น 7.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากเดิม 6.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล และแนวโน้มกำไรในระยะสั้นงวด 2H58 คาดจะเห็นการปรับตัวลดลงจากงวด 1H58 อย่างมีนัยฯ เนื่องจากเป็นช่วง Low season ของธุรกิจโรงกลั่น
DRT ([email protected]) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558 ขึ้นจากเดิม 5% สะท้อนแนวโน้มกำไร 2Q58 ที่น่าจะออกมาโดดเด่น เนื่องจากมีการปรับ Product Mixed มาขายสินค้าที่มี margin สูง ทำให้ Gross margin ในงวด 2Q58 อยู่ในระดับสูงกว่า 25% ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสหลังสุด
และ THCOM (FV@B51) คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโต 30% มาอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท โดยคาดจะเห็นการเติบโตต่อเนื่องจากดาวเทียมไทยคม 7 ที่มียอดจองใช้งานเต็มกำลัง (อัตราใช้งานปัจจุบันอยู่ที่ 50%) โดยอัตราใช้งานเกินจุดคุ้มทุนแล้ว ทำให้รายได้จากนี้จะส่งผ่านมายังกำไรทั้งหมด รวมถึงกำไรส่วนเพิ่มจากการให้บริการดาวเทียมใหม่ ไทยคม 8 ตั้งแต่ 2Q59 นอกจากนี้ยังมีธุรกิจมือถือลาวที่สร้างกำไรสม่ำเสมอไม่ต่ำกว่าปีละ 150 ล้านบาท ช่วยหนุนธุรกิจให้มีกำไรที่มั่นคงในระยะยาว
ขณะที่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่รายงานงบเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้ผลการดำเนินงานสูงกว่าคาดถึง 8% โดยหดตัวเพียง 1.9%qoq และ 1.8%yoy จากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ NIM รายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ และค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด แต่คุณภาพสินทรัพย์กลับแย่กว่าที่คาดมาก สะท้อนจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่สูงกว่าคาดมากตามการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ NPL และ Special Mention Loan (SML) โดยสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม ณ 2Q58 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.56% (จาก 2.48% ณ 1Q58) และจากผลของการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้นทำให้ NPL Coverage ratio ณ 2Q58 เพิ่มขึ้นมาเป็น 134.3% จาก 133.6% ณ 1Q58 สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มฯ ในงวด 2H58 ยังเป็นขาลงต่อเนื่อง โดยคาดว่า NIM ยังลดลงตามแรงกดดันของค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่จะเติบโตเร่งตัวขึ้นในช่วงฤดูกาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ยังทรงตัวระดับสูง โดยฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2558-59 ของกลุ่มฯ โดยคาดกำไรสุทธิของกลุ่มฯ ปี 2558 หดตัวลง 5.4% yoy
ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 506 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 5 วัน) โดยเป็นการขายเกือบทุกตลาดยกเว้นตลาดอินโดนีเซียที่ซื้อสุทธิราว 7 ล้านเหรียญ หลังจากที่ทำการนานติดต่อกัน 4 วัน โดยประเทศที่ขายสุทธิมากสุด คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 340 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) รองลงมาคือ ไต้หวันถูกขายสุทธิราว 100 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ขายสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) และไทย แม้วานนี้ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาปิดในแดนบวก 0.4 จุด หรือ 0.3% แต่ต่างชาติกลับขายสุทธิสูงราว 66 ล้านเหรียญ หรือ 2,303 ล้านบาท ซึ่งต่างกับสถาบันในประเทศที่กลับมาซื้อสุทธิราว 601 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน)ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,033 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 296 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 34.70 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647