- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 16 July 2015 19:57
- Hits: 1145
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัญหาในกรีซยังคงกดดันตลาดหุ้นโลก ขณะที่ภัยแล้งถือเป็นปัจจัยคุมคามเศรษฐกิจไทย และคาดว่าอาจจะหนุนเงินเฟ้อให้กระเตื้องขึ้นใน 2H58 ยังเลือกลงทุนรายหุ้นที่มีปัจจัยหนุน TASCO ([email protected]), CK ([email protected]), RCL(FV@B12) หรือมีภูมิคุ้มกันจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว THCOM(FV@B51), BTS(FV@B12) และเลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick เช่นเดิม
ตลาดหุ้นโลกตอบรับประเด็นกรีซ ยกเว้นเอเซียยังแกว่งตัวเชิงลบ
กรีซยังคงเป็นปัจจัยถ่วงตลาดหุ้นโลก ในที่สุด รัฐสภากรีซได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่ตามข้อกำหนดของกลุ่มเจ้าหนี้แล้ว ด้วยคะแนนเสียง 229 จาก 300 เสียงในสภากรีซ ในช่วงดึกของคืนวันพุธที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) เพื่อแลกกับการรับความช่วยเหลือด้านการเงินครั้งใหม่จำนวน 8.6 หมื่นล้านยูโร (9.4 หมื่นล้านเหรียญ) โดยกระบวนการหลังจากนี้ คือ การลงมติของคณะกรรมการ ECB ในการประชุมวันนี้ที่แฟรงค์เฟิร์ต และตามด้วยการลงมติของรัฐสภาเยอรมันในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ตามแม้ขั้นตอนในสภาของกรีซจะลุล่วงไปแล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เสถียรภาพของรัฐบาลกรีซ เนื่องจากการลงมติวานนี้ มีสมาชิกพรรคไซรีซา 38 คนลงมติไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับปฏิกิริยาของประชาชนในประเทศที่ออกมาประท้วงอย่างรุนแรงในช่วงระหว่างที่รัฐสภากรีซกำลังเปิดอภิปรายถึงเรื่องการยอมรับความช่วยเหลือทางการเงินจากยุโรป เนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางความย่ำแย่ของเศรษฐกิจที่ GDP Growth งวด 1Q58 เติบโตเพียง 0.4% และ อัตราว่างงานสูงถึง 25.60% จึงเชื่อว่าปัญหาในกรีซอาจยังไม่สงบ
สหรัฐมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ จากถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ต่อสภาคองเกรส เนื้อหายังคงเดิมเช่นเดียวกับการแถลงการในวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการปรับตัวดีขึ้น และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีขึ้นในปีนี้ (ซึ่งไม่ได้กล่าวว่าช่วงใด) อีกทั้งยังยืนยันอีกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่รุนแรง (เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อย) ทั้งนี้หากพิจารณาเงื่อนไขของ Fed ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในส่วนของตลาดแรงงานน่าจะใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของ Fed แล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อที่ยังติดลบอยู่นั้นยังห่างจากเป้าหมายที่เข้าใกล้ 2% ของ Fed อยู่มาก ทาง ASPS ยังคงมุมมองเดิมว่า Fed น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วในเดือน ธ.ค. 2558 หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 2559
ทางฝั่งจีน รายงานตัวเลข GDP Growth งวด 2Q58 ที่ 7% yoy สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 6.8% เห็นเป็นผลจากยอดส่งออกที่กลับมาเป็นบวก 2.8% หลังจากติดลบต่อเนื่องมาสามเดือน และล่าสุดวานนี้ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ถึง 6.8% yoy (สูงกว่าตลาดคาดที่6.0%) ตามด้วยยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ถึง 10.6%yoy (ตลาดคาดที่ 10.2%) อย่างไรก็ตามตัวเลข GDP deflator (gap ระหว่าง Real GDP และ Nominal GDP) ยังอยู่ที่ -0.5% ทำให้มองว่า จีนน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเพื่อให้โตตามเป้าหมายที่ 7% ต่อ หลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย มาอยู่ที่ 4.85% (ลดลง 4 ครั้ง รวม 1.15% ในรอบ 7 เดือน) และ RRR ลงมาอยู่ที่ระดับ 18% (ปรับลด 3 ครั้งในรอบ 5 เดือนรวม 2%) น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นจีนได้ในระยะสั้น ๆ หลังจากปรับฐานกว่า 70% ในช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา
ภัยแล้ง กระทบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และหุ้นเกษตรและอาหาร
ภาวะภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นในปี 2558 มาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยสถิติในอดีตพบว่าจะเกิดขึ้นทุกๆ 4-5 ปี ในรอบ 115 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี 2443-2558) ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในทวีปอเมริกาและอเมริกาใต้ ตรงกันข้าม ปริมาณน้ำฝนในออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้กลับมีแนวโน้มลดลง โดยปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 2552-53 ปรากฎการณ์นี้ทำให้ปริมาณฝนตกเฉลี่ยในปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้พิจารณาปริมาณน้ำฝนสะสมช่วง ม.ค. ถึง มิ.ย. ปี 2551 -2558 ในพื้นที่เกษตรหลักๆ อย่างภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และกลาง พบว่าปีนี้ มีอยู่ที่ 1,051 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2553 ที่ 1,111 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นปีที่เกิดภัยแล้งมากสุดในช่วง 8 ปีย้อนหลัง และหากพิจารณาปริมาณน้ำฝนสะสม ระหว่าง 1 ม.ค. ถึง 5 ก.ค. ในรอบ 30 ปี รวมทั้งประเทศเฉลี่ยที่ 589.7 มม. แต่ในปีนี้กลับอยู่ที่ 415.1 มม. ซึ่งนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปี มากถึง 30% ผลกระทบที่ตามมาคือจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรให้ออกสู่ตลาดลดลง สะท้อนจากราคาข้าวโพดตลาดล่วงหน้า
ล่าสุดอยู่ที่ 4.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บุชเชล ทำระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นถึง 23.8% จากช่วงต้นเดือน มิ.ย. 58 จากผลกระทบที่ฝนตกหนักและทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่เพาะปลูกของสหรัฐฯ จึงทำให้ผลผลิตข้าวโพดออกสู่ตลาดลดลง นอกจากนี้ราคาสินค้าผักสด และพืชสวนครัวในประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งในที่สุดที่จะกดดันต่อต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งจากผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค) คาดว่าผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงน่าจะกดดัน GDP ภาคเกษตรหายไป 1.1-1.6% หรือกระทบ GDP โดยรวมราว 0.15% ทั้งนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าภาวะภัยแล้งจะสิ้นสุดราว ก.ค. ปีนี้ แต่หากภัยแล้งยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าผลกระทบน่าจะรุนแรงกว่านี้ ขณะที่ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และตลาดหุ้นสรุป ได้ดังนี้
เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1% คาดว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ทาง ASPS ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 0.5% ในปี 2558 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 63 เหรียญต่อบาร์เรล และราคาอาหารสดคงที่ และที่ผ่านมาแม้ปรับลดราคาน้ำมันดิบดูไบลงมาอยู่ที่ 58 เหรียญต่อบาร์เรล พบว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ที่ระดับ 0.5% โดยกำหนดให้สินค้าในหมวดพืชผลเกษตรอย่างอาหารสัตว์ เช่น ผักที่ใช้ในการประกอบอาหาร, ไข่ไก่ และเนื้อหมูเป็นต้น คงที่ แต่ผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ คาดว่าราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น เช่นที่เกิดขึ้นในปีที่มีภัยแล้ง ( ปี 2553 ที่มี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสำหรับราคาอาหารสดเพิ่มขึ้น 0.75%MoM) ทาง ASPS จึงได้มีการปรับสมมติฐานอัตราเงินเฟ้อในส่วนของดัชนีราคาอาหารสดโดย หากภัยแล้งสิ้นสุดในช่วงเดือน มิ.ย. หรือ เดือน ก.ย. ราคาอาหารสดน่าจะปรับขึ้น 0.5% หรือ 0.75% ตามลำดับ
ทำให้อัตราเงินเฟ้อรวมอยู่ในช่วงระหว่าง 1.17% ถึง 1.5% ซึ่งถือเป็นแรงกดดันที่จะทำให้การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้น้อยลง
อุตสาหกรรมเกษตร : CPF, GFPT กระทบมากสุด กล่าวคือจะกระทบกับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ และ เนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค ได้แก่ CPF, GFPT, TUF ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า CPF จะได้รับผลกระทบมากสุด รองลงมาคือ GFPT ส่วน TUF ได้รับผลกระทบน้อยสุด ทั้งนี้เพราะผลผลิตเกษตรที่ลดลง จะกดดันราคาพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจากผู้ประกอบขั้นกลาง และ ขั้นปลาย เช่น ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งใช้ ราคาข้าวโพด และกากถั่วเหลือง สัดส่วนสูงถึง 50% และ 30% ของต้นทุนอาหารสัตว์ (ต้นทุนอาหารสัตว์คิดเป็น 80% ของยอดขาย) และจะเป็นผลให้ต้นทุนการผู้เลี้ยงสัตว์บก (หมู และ ไก่ เป็นต้น) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นกระทบต่อประสิทธิภาพการทำกำไร หรือ gross margin ผู้ประกอบการที่คาดว่ากระทบโดยตรงคือ CPF และ GFPT ซึ่งพบว่าโครงสร้างรายได้
มาจากการผลิตและจำหน่ายเนื้อหมูและไก่ รวมกันราว 19% และ 27% ของยอดขายรวม นอกจากนี้ผลกระทบจากต้นทุนปลาป่น (สัดส่วน 10% ต้นทุนอาหารสัตว์) ที่มีแนวโน้มเพิ่มจากปริมาณผลิตปลาป่นที่หายไป ตามปริมาณการทำประมงที่ผิดกฏหมาย (ทำให้การจับปลามีความเข้มงวดขึ้น) โดยรวมอาจจะทำให้ นักวิเคราะห์ ASPS จะต้องปรับลดประมาณการกำไรในปี 2558 ของ CPF ลดลง 33% และ ของ GFPT ลง 19% โดยยังคงประมาณการ TUF (ติดตามอ่านรายละเอียดใน Industry update ในกลุ่มเกษตร วันที่ 13 ก.ค.2559)
ส่วนผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ อ้อยและยางพารา คาดว่ากระทบต่อบริษัทจดทะเบียน แตกต่างกัน กล่าวคือ STA ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบสูงสุด เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่กระจายอยู่ในภาคเหนือและอีสานในสัดส่วน 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด แต่เนื่องจากมีการสต๊อกยางไว้จำนวนมาก อาจจะได้รับผลดีในช่วงราคายางปรับตัวขึ้นก็เป็นได้ ช่วยลดผลกระทบได้บ้าง ตามมาด้วย KSL มีพื้นที่เพาะปลูกในภาคตะวันตกในสัดส่วน 20% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด อาจจะได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกับ STA ยกเว้น UPOIC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการปาล์มขั้นต้น-กลาง ได้รับผลกระทบน้อยสุด ณ ขณะนี้ เพราะพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในภาคใต้ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ผลิตและจำหน่ายน้ำดิบ/น้ำประปา EASTW น่าจะมีเกราะป้องกันมากสุด กล่าวคือ ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง กระทบต่อแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะเขื่อนกักเก็บน้ำหลัก ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะ ภาคเหนือ (เขื่อน ภูมิพล, สิริกิติ์) ภาคกลาง (เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขื่อนอุบลรัตน์, สิรินธร) และภาคตะวันตก (เขื่อนศรีนครินทร์, วชิราลงกรณ์) ซึ่งมีความจุรวมกันประมาณ 77% ของความจุอ่างน้ำทั้งประเทศ ทั้งนี้ล่าสุดพบว่าปริมาณน้ำในอ่างขณะนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2551-2558 ในช่วงเดียวกัน (ม.ค.-ก.ค.) ประมาณ 2% ทำให้การปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ซึ่งถือเป็นตัวแปรหลักเพื่อการเกษตรลดลงถึง 30.82 มาอยู่ที่ 9.84 พันล้านลูกบาศก์เมตร และตั้งแต่ช่วง พ.ย. ปีที่ผ่านมา ทำให้ชลประทานได้ขอให้เกษตรกรเลื่อนการปลูกข้าวนาปรัง และนาปีออกไป เพื่อให้ปริมาณที่มีเหลือเพียงพอสำหรับการบริโภคอุปโภค และรักษาระบบนิเวศน์ และล่าสุดแหล่งน้ำธรรมชาติในแม่น้ำบางแห่งเริ่มลดลงจนอยู่ในระดับที่อาจจะเกิดปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำลดลงจากปี 2557 แล้ว ส่วนแม่น้ำท่าจีนปริมาณน้ำยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งนี้แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตนำประปาของประเทศ
TTW ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในเขตนครปฐม และสมุทรสาคร จะใช้แหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และอีกบริษัทหนึ่ง ปทุมธานี ซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยของ TTW (PTW) ผลิตน้ำประปา โดยใช้แหล่งน้ำจากแม่น้ำท่าจีน สถานการณ์น้ำในปัจจุบันถือว่าที่แม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในช่วงที่เริ่มสร้างความกังวลว่าการให้บริการจำหน่ายน้ำประปาในระยะเวลาอีก 1-2 เดือนหลังจากนี้ จะสามารถรักษาคุณภาพน้ำได้ในระดับปกติหรือไม่ ส่วนทางแม่น้ำท่าจีนยังคงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยกว่า แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่เลวร้าย หากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง จนเป็นเหตุทำให้น้ำมีปริมาณความเค็มเกินมาตรฐาน (0.25 กรัม/ลิตร หรือสูงสุดที่การประปาอนุโลมได้คือ 0.6 กรัม/ลิตร) เนื่องจากน้ำทะเลหนุน ก็อาจจะเป็นปัญหาของผู้ประกอบการ แม้สถิติในอดีต พบว่าแม้ในช่วงภาวะภัยแล้ง การขายน้ำประปาของ TTW ก็ไม่ได้ลดลง อาจจะเป็นเพราะประชาชนไม่มีทางเลือก แต่เป็นที่สังเกตว่าปีนี้ค่าความเค็มของน้ำประปาในปีนี้ เริ่มมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ TTW
ส่วน EASTW ในฐานะที่เป็นผลิตและขายน้ำดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุร ฉะเชิงเทรา ระยอง ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของรายได้ ที่เหลืออีก 30% เป็นการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในชลบุรี ปัจจุบัน EASTW มีแหล่งน้ำดิบที่ให้บริการอยู่ 5 แห่ง คือที่ดอกกราย หนองปลาไหล หนองค้อ บางพระ (สูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง) และ ประแสร์ โดยมีปริมาณน้ำที่ได้รับโควต้าในการจำหน่ายปีละ 418 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับความต้องการได้เต็มที่ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ขายไปแล้ว 158.61 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ สามารถขายได้อีก 253.36 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงกล่าวได้ว่า EASTW น่าจะมีแหล่งน้ำป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมได้จนถึงสิ้นปีโดยไม่มีปัญหา ประกอบกับแหล่งน้ำประแสร์ (มีสัดส่วนราว 26% ทั้งหมด)
ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง ปัจจุบันถือว่าเป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่แห่งหนึ่ง และ EASTW เป็นผู้ที่ใช้เพียงรายเดียว ซึ่งทำให้เป็นโอกาสในการได้ลูกค้าใหม่เพิ่มเติม กล่าวคือขณะนี้การประปาชลบุรี ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบได้หันมาซื้อน้ำดิบจาก EASTW อีกรายหนึ่ง ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ต้องปรับเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำดิบในปีนี้ขึ้นจากเดิม 2% ซึ่งทำให้ประมาณการกำไรในปี 2558 ของ EASTW มีอัตราการเติบโต 8% จากเดิมที่ทรงตัว พร้อมกับปรับเพิ่ม Fair Value ขึ้นจากเดิม 2 บาท เป็น 14 บาท มี upside 20% จากราคาปิดวานนี้ พร้อมคาดว่าจะจ่าย เงินปันผลราว 4% ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ชื่นชอบ EASTW มากกว่า TTW (ติดตามอ่าน Industry Update กลุ่มน้ำดิบและน้ำประปาได้ในเช้าวันนี้ )
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค หลังขายติดต่อกัน 9 วัน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 246 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 9 วัน) แต่ยังคงขายสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิราว 22 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ สลับมาซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 208 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 41 วันที่ผ่านมา (หลังจากขายสุทธิได้เพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไต้หวันที่ถูกซื้อสุทธิราว 68 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 8 วัน) ส่วนตลาดหุ้นไทยถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 4 ล้านเหรียญ หรือ 121 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ถูกซื้อสุทธิราว 623 ล้านบาท ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3,284 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 795 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 34.19 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647