- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 06 July 2015 17:12
- Hits: 1378
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
นอกจากปัญหากรีซแล้ว โอกาสปรับลดกำไรตลาดยังมีอยู่ จากความสามารถในการทำกำไรของ กลุ่มธนาคารฯ ตามเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นคาดจะกดดัน EPS ตลาดราว 1% กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นเลือกรายหุ้น เฉพาะหุ้นที่มีแนวโน้มผลกำไรโดดเด่นในงวด 3Q58 เช่น RCL, TASCO, HANA, TUF วันนี้ยังเลือก HANA(FV@B48) เป็น Top Pick
กรีซลงประชามติ "No" ตลาดเงิน และตลาดหุ้นน่าจะปั่นป่วนสักพัก
ผลการลงประชามติของกรีซเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าประชาชนเลือกไม่รับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ (No) สูงถึง 61.3% เทียบกับเลือกยอมรับเงื่อนไข (Yes) เพียง 38.7% ซึ่งถือว่าสวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าผลน่าจะออกมาในอัตราใกล้เคียงกันทั้งฝั่ง Yes และ No ซึ่งคาดว่าผลกระทบที่ตามมาน่าจะกดดันตลาดเงินและตลาดหุ้นในวงกว้าง ตราบที่การเจรจาระหว่างกรีซและเจ้าหนี้ TROIKA ยังมีอยู่ และยังมิอาจหาข้อสรุปได้ ทำให้ความเสี่ยงต่อการผิดชำระและการออกจากยุโรปมีน้ำหนักมากขึ้น แม้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ กรีซ นายอเล็กซิส ซีปราส ได้แสดงความเห็นต่อผลการทำประชามติว่าหากออกมา No ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กรีซต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงว่าประชาชนชาวกรีซไม่สามารถยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดจากเจ้าหนี้ได้ และน่าจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้ ขณะที่ทางด้านผู้นำยุโรป เตรียมจัดประชุมในวันอังคารนี้เพื่อหาทางออกใหม่ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะจัดการประชุมกันในวันนี้เกี่ยวกับเงินกู้ฉุกเฉิน หรือ Emergency Liquidity Assistance (ELA) ที่จะเพิ่มหรือยังให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินของกรีซ ที่ประสบปัญหากับการแห่มาถอนเงินของประชาชนต่อไปหรือไม่ (วงเงิน 8.5 หมื่นล้านยูโรตามเดิม) เพื่อลดผลกระทบในวงกว้าง
ตลาดหุ้น คาดว่าจะส่งผลให้มีการตั้งสำรองฯ จากการด้อยค่าของเงินลงทุน (Mart-to-Market) เนื่องจากเจ้าหนี้ หมายถึงรัฐบาลของประเทศสมาชิกยุโรป สหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่นเป็นต้น รวมถึงสถาบันการเงิน (ที่จดทะเบียนในตลาด) ที่เป็นผู้ลงทุนในพันธบัตร อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ Default หรือการตัดลดหนี้ (Debt haircut) มากขึ้น โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกฯ ซีปราส ได้เรียกร้องให้ชาติเจ้าหนี้ตัดลดหนี้ (Debt haircut) ลง 30% และมีระยะเวลาปลอดชำระหนี้ (grace period) เป็นเวลา 20 ปี ก่อนที่กรีซจะเริ่มชำระหนี้ได้ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินของเจ้าหนี้ คือ การตั้งสำรองหนี้ แม้เชื่อว่าบรรดาเจ้าหนี้จะมีการตั้งสำรองหนี้ฯ ไปแล้วล่วงหน้าบางส่วน แต่ขึ้นอยู่ว่าการขอลดหนี้จะจบที่ 30% หรือไม่ เพราะหากพิจารณาสิ่งที่เคยเกิดขึ้นอดีต พบว่ากรีซเคยขอลดหนี้สูงถึง 50% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอีกอาจจะจะส่งผลกระทบต่อการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ซึ่งแน่นอนกระทบต่อราคาหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินในยุโรปและเจ้าหนี้ ในวงกว้าง
ตลาดการเงิน แม้วันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่าอัตราผลตอบแทน (Yield) พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของประเทศในยุโรป (เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน และ โปรตุเกส) ยังคงปรับตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2558 (YTD) ยกเว้น กรีซที่ Yield ปรับขึ้น แต่หลังจากผลการลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คาดว่า Yield ของพันธบัตรแถบประเทศในยุโรปที่มีความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจน้อย น่าจะปรับตัวขึ้นจากวันศุกร์ นอกจากนี้เป็นไปได้ที่นักลงทุนจะหันไปถือสินทรัพย์เสี่ยงน้อย (Safe haven asset) อย่างพันธบัตรสหรัฐ และญี่ปุ่น ซึ่งได้ผลให้เช้านี้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีอายุ 10 ปี ลดลง 3.93 bps และ 5.12 bps ตามลำดับ นอกจากนี้น่าจะกดดันให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเช้านี้ค่าเงินยูโร ได้ทะลุแนวรับลงมาที่ 1.1 เหรียญฯต่อยูโร และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงไปที่จุดต่ำสุดเดิมที่ 1 เหรียญฯต่อยูโร ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดที่ทำไว้ในช่วงเดือน มี.ค. ถึง เม.ย. ที่ผ่านมา
ขณะที่ผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศในภูมิภาคเอเซีย คาดว่าน่าจะหนุนให้มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโร โดยเช้านี้พบว่าค่าเงินบาทได้แข็งค่าลงมาที่ 37 บาทต่อยูโร และมีแนวโน้มจะแข็งค่าไปที่ 34-35 บาทอีกครั้ง (เป็นจุดต่ำสุดเมื่อเดือน มี.ค. - กลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา) แต่เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ พบว่าค่าเงินเอเซีย ยังคงมีลักษณะทรงตัว หรืออ่อนค่ามากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแรง หรือฟื้นตัวในทิศทางที่ชัดเจนกว่าเศรษฐกิจโลกรวมถึงประเทศในแถบเอเซีย รวมถึงต่างชาติยังขายหุ้นในภูมิภาคเอเซียต่อเนื่อง ดังกล่าวในย่อหน้าถัดไป
ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องวันที่ 2
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 236 ล้านเหรียญ แต่ยังเลือกซื้อสุทธิ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) และ อินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 12 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ขายสุทธิ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 193 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ถูกขายสุทธิราว 19 ล้านเหรียญ แต่ถ้าหากนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิสะสมตลาดหุ้นเกาหลีใต้สูงสุดในภูมิภาคราว 69 ล้านเหรียญ และสุดท้าย ไทย ต่างชาติ ยังขายสุทธิราว 43 ล้านเหรียญ หรือ 1,465 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 575 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 25,405 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 955 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 33.77 บาท/ดอลลาร์
ความเสี่ยงต่อการปรับลดกำไรตลาดยังมีอยู่
แม้ล่าสุดคือ ภายหลังจากการประกอบงบการเงินงวด 1Q58 ออกมาต่ำกว่าคาดมาก ทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ทยอยปรับประมาณการกำไรตลาดปี 2558 และ 2559 ลงจากประมาณการเดิม 7.3% และ 4.3% ลงมาอยู่ที่ 95.74 บาทต่อหุ้น และ 109.97 บาทต่อหุ้น โดยเป็นการปรัรบลดประมาณการในกลุ่มหลัก ๆ เกือบทุกกลุ่มคือ ธนาคารพาณิชย์ สื่อสาร พลังงาน (ปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันเป็นหลัก) และบันเทิง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามาในงวด 2Q58 พบว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวล่า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอ่อนตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และราคาสินค้าหรือเงินเฟ้อยังคงติดลบต่อเนื่องนับจากต้นปีจนทำให้ 1H58 ติดลบ 0.76% ซึ่งทำให้ความเสี่ยงต่อการปรับ GDP Growth ยังมีอยู่ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการทำกำไรของตลาดลดลงเช่น กัน โดยเฉพาะธุรกิจที่อิงกับการเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ประกันชีวิต อสังหาริมทรัพย์ (พัฒนาบ้านขาย และนิคม เป็นต้น) สื่อสารและบันเทิง เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงที่จะปรับลดประมาณการกำไรตลาดในปี 2558 และ 2559 อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ล่าสุด นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของ ASPS ได้อยู่ในระหว่างการทำประเมินแนวโน้มการทำกำไรในงวด 2Q58 (Earnings Preview) ทั้งนี้จากการเข้าพบผู้บริหารและทีม IR ของธนาคารหลายแห่ง ทำให้พอประเมินภาพรวมจะไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากหลายปัจจัยกดดัน เริ่มจากความสามารถในการทำกำไรผ่าน ส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ หรือ NIM ที่มีแนวโน้มลดลงในทิศทางเดียวกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งปรับลดอัตรา 2 ครั้งติดต่อกัน และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (credit cost) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ทำการปรับลดประมาณการและ Fair Value ของหุ้นธนาคาร 6 แห่ง ดังนี้
BBL ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และปี 2559 ลงจากเดิม 9.5% และ 11.9% ตามลำดับ และปรับ Fair Value ลงเหลือ 194 บาท (จากเดิม 209 บาท) แต่ยังคงคำแนะนำ ซื้อ
KBANK ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และปี 2559 ลงจากเดิม 16.3% และ 10.3% ตามลำดับ และปรับ Fair Value ลงเหลือ 232 บาท (จากเดิม 270 บาท) แต่ยังคงคำแนะนำ ซื้อ
SCB ปรับประมาณการกำไรปี 2558 และปี 2559 ลงจากเดิม 7.9% และ 10.7% ตามลำดับ และปรับ Fair Value ลงเหลือ 165 บาท (จากเดิม 180 บาท) และยังคงคำแนะนำ ถือ
KTB ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และปี 2559 ลงจากเดิม 1% และ 2.6% ตามลำดับ และปรับ Fair Value ลงเหลือ 20 บาท (จากเดิม 23 บาท) และยังคงคำแนะนำ ถือ
TMB ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และปี 2559 ลงจากเดิม 15.7% และ 19% ตามลำดับ และปรับ Fair Value ลงเหลือ 2.50 บาท (จากเดิม 3.50 บาท) และลดคำแนะนำเป็น ถือ
TISCO ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และปี 2559 ลงจากเดิม 5.6% และ 8.7% ตามลำดับ และปรับ Fair Value ลงเหลือ 50.75 บาท (จากเดิม 51.50 บาท) แต่ยังคงคำแนะนำ ซื้อ
โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้ประมาณการกำไรปี 2558 และ 2559 ของกลุ่มธนาคารฯ หายไปราว ราว 1.8 และ 2.09 หมื่นล้านบาท และ เมื่อรวมกับที่ได้มีการปรับลดประมาณการประปรายในบางกลุ่มในระหว่างงวด 2Q58 เช่น กลุ่มสื่อสาร และ การเงินรายย่อย ซึ่งโดยรวมคาดว่าจะกระทบต่อกำไรของตลาดโดยรวมราวปีละ 1% (EPS อาจจะลดลงไปเหลือ 94.67 บาท และ 108.21 บาท) ทั้งนี้จะทำการปรับลดประมาณการกำไรอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อมีการประกาศงบการเงินงวด 2Q58 ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่ Expected PER ตลาดหุ้นไทย จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ราว 16 เท่าแล้ว ขึ้นไปอีก สะท้อนถึงความแพงที่เพิ่มขึ้น ในเบื้องต้นจึงยังคงกำหนดดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2558 ที่ 1,480 อิง Expected PER 15.5 เท่า อย่างไรก็ตาม EPS ที่หายไปทุก 1% หมายความว่าดัชนีเป้าหมายจะลดลงเหลือ 1,465 จุด เป็นต้น
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647