- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 02 July 2015 18:23
- Hits: 1228
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ท่ามกลาง SET ยังผันผวนในทิศทางขาลง ยังคงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นเพียง 40% แนะเลือกรายหุ้นที่คาดว่ามีผลประกอบการโดดเด่น โดยมองข้ามไปในงวด 3Q58 และราคาหุ้นยัง underperform ตลาดคือ HANA(FV@B48) เป็น Top Pick
ท่ามกลางปัญหาในกรีซ สหรัฐยังส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง
กรีซยังไม่คืบหน้า และคาดว่าการเจรจากับปัญหาหนี้ (TROIKA) น่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากการทำประชามติในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค. จะถึงนี้ โดยล่าสุด เจ้าหนี้ได้ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลกรีซที่ยังห่างไกลความต้องการของเจ้าหนี้ (มาตรการรัดเข็มขัดใหม่เพื่อแลกกับการต่ออายุโครงการช่วยเหลือทางการเงินของ EFSF และเงินกู้ก้อนใหม่จาก ESM) ทั้งนี้ต้องติดตามผลการทำประชามติว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อ sentiment ตลาดในสัปดาห์หน้า กล่าวคือ 1. ผลที่ออกมาปรากฏว่าประชาชนเลือก Yes (ยอมรับเงื่อนไขเจ้าหนี้) การเจรจาหนี้ก็น่าจะเดินหน้าต่อไป แต่การเมืองในประเทศกรีซจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยคาดว่า นายกฯ ซิปราส อาจจะต้องหลุดจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถทำตามนโยบายหาเสียงที่ให้ไว้ได้ 2. ประชาชนเลือก No หรือไม่ยอมรับเงื่อนไข ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนชาวกรีซ พร้อมที่จะผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ พร้อมออกจากสหภาพยุโรป
ฉะนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ย่อมส่งผลทั้งตลาดเงิน ติดตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร (Yield มีแนวโน้มเพิ่ม/ลด) และตลาดทุน โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน ที่เชื่อว่าเจ้าหนี้ทั้งในประเทศกรีซ และ เจ้าหนี้ต่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองฯ หนี้ที่มีปัญหาเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่น่าจะมีการตั้งสำรองฯ ไปแล้วล่วงหน้าบางส่วน (หรือคาดการณ์ถึงการยอมลดหนี้ลง หรือdebt hair cut ไปแล้วล่วงหน้า) ทั้งนี้แม้เชื่อว่าตลาดหุ้นน่าจะรับรู้ประเด็นนี้ไปบ้างแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับ Debt haircut ที่เกิดขึ้น กับสิ่งที่สถาบันการเงินได้ตั้งสำรองฯ ไว้ครอบคลุมและเพียงพอหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จึงยังคงกระทบต่อผลการดำเนินงาน และ ราคาหุ้น จนกว่าได้จะข้อสรุปที่ชัดเจนแม้ภายหลังการลงประชามติจะเสร็จสิ้นลงก็ตาม
สหรัฐฯ พบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน เดือน มิ.ย. ยอดการจ้างงานภาคเอกชน(รายงานโดย ADP) อยู่ที่ระดับ 2.37 แสนราย สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ (และดีกว่าเดือน พ.ค.ที่ 2.18 และ 2.01 แสนราย ตามลำดับ) สอดคล้องกับการจ้างงานนอกภาคการเกษตรและผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกที่ปรับตัวดีขึ้น ซ่งึ การฟื้นตัวก่อนหน้านี้ หนุนการบริโภคภาคครัวเรือน และตลาดบ้าน ซึ่งได้หนุนให้การใช้จ่ายในการก่อสร้างเดือน พ.ค. ปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 6 ปีครึ่ง (+ 0.8% MoM) ขณะที่ภาคการผลิต ที่ดูเหมือนจะฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น ล่าสุดพบว่า PMI ภาคการผลิต (รายงานโดย ISM) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จาก 52.8 .ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ 53.5 (และดีกว่าที่ตลาดคาด 53.2) แม้จะสวนทางกับ PMI ภาคการผลิตรายงานโดย Markit อยู่ที่ 53.6 ลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 4 แต่ถือว่าเกินระดับ 50 โดยรวมหนุนให้รองประธาน Fed คาดการณ์ว่า GDP Growth งวด 2Q58 จะอยู่ที่ 0.625%yoy ดีขึ้นจากงวด 1Q58 อยู่ที่ -0.05% yoy และเฉลี่ย 1H58 ยังอยู่ที่ 0.575% ซึ่งถือว่ายังห่างจากเป้าหมายทั้งปี GDP Growth ขยายตัวในกรอบ 1.8 -2.0% ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายล่าสุดที่ 1% ทำให้ทางฝ่ายวิจัยมองว่า fed น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงเดือน ธ.ค. 2558 หรืออย่างช้าในต้นปี 2559
เช่นเดียวกับทางฝั่งยุโรป ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งด้าน GDP Growth งวด 1Q58 และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวเป็นบวก ล่าสุดตัวเลข PMI ภาคการผลิตเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 52.5 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดตั้งแต่ พ.ค. 2557 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้มาตราการ QE ซึ่งโดยตั้งแต่เดือน มี.ค. มีการอัดฉีดเงินเข้าในระบบแล้ว 2.39 แสนล้านยูโร
ส่วนจีน ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังคงสะท้อนถึงการชะลอตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน มิ.ย. ที่ระดับ 49.4 แม้จะปรับตัวขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ระดับ 49.2 แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 (ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4) ซึ่งอาจส่งผลให้จีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก เพื่อให้ GDP Growth โตตามเป้าหมายที่ 7% หลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย มาอยู่ที่ 4.85% (ลดลง 4 ครั้งรวม 1.15% ในรอบ 7 เดือน) และ RRR ลงมาอยู่ที่ระดับ 18% (ปรับลด 3 ครั้งในรอบ 5 เดือนรวม 2%)
ขณะที่ไทย มีการรายงานเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ยังติดลบ 1.07% มากกว่าตลาดคาด แต่ดีขึ้นจากที่ -1.27% ในเดือน พ.ค. และทำให้ตลอดระยะ 6 เดือนแรกของปีติดลบ 0.76% ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับ 1.5% ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้เชื่อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งจนถึงสิ้นปีนี้ โดยน่าจะลดลงมาที่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับที่นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารของ ASPS ใช้ในการจัดทำสมมติฐานประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์แล้ว จึงคาดว่าการลดดอกเบี้ยยังเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นได้บ้าง
คาดเดือน ก.ค. ต่างชาติ จะยังซื้อหุ้นไทย
วันพุธที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นไทยปิดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุดธนาคารกลางปี แต่ตลาดเพื่อนบ้านยังคงเปิดทำการ โดยภาพรวมแล้วพบว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 29 ล้านเหรียญ (เช่นเดียวกับวันอังคารที่ผ่านมา) โดยเป็นการซื้อสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 56 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ ขายสุทธิ คือตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 16 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันอังคาร) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่ถูกขายสุทธิเล็กน้อยราว 9 ล้านเหรียญ และ 3 ล้านเหรียญ ตามลำดับ
ส่วนวันอังคารที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 77 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขายสุทธิอยู่ประเทศเดียว คือตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 7 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 52 ล้านเหรียญเช่นเดียวกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 18 ล้านเหรียญ และ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิราว 11 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) สุดท้ายตลาดหุ้นไทยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญ หรือ 76 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 3) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,731 ล้านบาท ส่วนด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 860 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 330 ล้านบาท
สรุปแรงซื้อขายจากต่างชาติในเดือน มิ.ย.พบว่าเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสะสมในตลาดหุ้นภูมิภาคทั้ง 5 ตลาด โดยมียอดขายสุทธิสะสมรวมสูงถึง 4.5 พันล้านเหรียญ เทียบกับ 5 เดือนแรกของปีนี้ที่มียอดซื้อสุทธิสะสม และถ้าพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิสะสมสูงสุดราว 2.7 พันล้านเหรียญ รองลงมาคือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสะสมสุทธิราว 964 ล้านเหรียญ ส่วนกลุ่ม TIP อย่าง อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และ ไทย ถูกขายสุทธิใกล้เคียงกันราว 325 ล้านเหรียญ, 225 ล้านเหรียญ และ 311 ล้านเหรียญ หรือ 1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งต่างกับสถาบันภายในประเทศที่ซื้อสุทธิสะสมราว 8.3 พันล้านบาท ทางด้านตราสารหนี้ ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิสะสมราว 2.3 แสนล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิสะสมราว 7.6 พันล้านบาท
ส่วนแนวโน้มเดือน ก.ค. แม้ปัญหาหนี้กรีซยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน แต่ตลาดหุ้นไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังเกตได้ว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิ.ย. เริ่มมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าในตลาดหุ้นไทยบ้าง รวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติมักจะซื้อหุ้นไทยในเดือน ก.ค. ถึง 9 ใน 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 2.27% โดยให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 80% ในช่วงเดือน ก.ค. ย้อนหลัง 10 ปี
คาด SET มีแนวโน้มลงต่อ ให้เน้นรายหุ้นที่กำไรโดดเด่นงวด 3Q58
ตลอดเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา SET Index แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า (โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.5%mom) แต่หากพิจาณาเป็นรายกลุ่มพบว่า ให้ผลตอบแทนชนะตลาดหลายกลุ่มได้แก่ ปิโตรเคมี +28.8%, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +26.6%, ธุรกิจการเงิน +20.2%, วัสดุก่อสร้าง +17.6%, โรงพยาบาล +15.4%, รับเหมาฯ +12.8%, โรงแรม +9.4%, พลังงาน +7.4%, ประกันฯ +5% และ ขนส่ง +3.6% ตรงกันข้ามกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบ คือ ธนาคารพาณิชย์ -16.4%, บันเทิง -9.8%, เกษตร -8.2%, สื่อสาร -4.5%, ส่งออกอาหาร 3.3%, อสังหาฯ -2.3% และค้าปลีก-ส่ง -0.6% เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบ ล้วนเป็นกลุ่มที่คาดหมายว่าจะมีผลประกอบการงวด 2Q58 ชะลอตัวลงจากงวดก่อนหน้า ตามผลของช่วง Low Season
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแนวโน้มผลประกอบการในงวด 3Q58 คาดวามีหลายกลุ่มฯ ที่คาดว่าผลประกอบการน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น
จากงวด 2Q58 เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ซึ่งอาจจะใช้เป็นกลยุทธ์ในการคัดเลือกหุ้นในสภาพตลาดที่มีความผันผวน คือ
กลุ่มเกษตร-อาหาร คาดว่ากำไรงวด 3Q58 จะทำระดับสูงสุดของปี จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออกเต็มที่ ทั้งคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสดและอาหารแปรรูปจากลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัตว์บกที่แนวโน้ม Supply ที่ออกสู่ตลาดเริ่มน้อยลงรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากเกษตรกรในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งยังได้ผลบวกจากเงินบาทอ่อนค่าลงสู่เฉลี่ย 33.26 บาทต่อดอลลาร์ ในงวด 2Q58 จาก 32.65 บาทต่อดอลลาร์ในงวด 1Q58 ได้แก่ CPF(FV@B28) และ TUF (FV@B26) โดยวันนี้หุ้น TUF ขึ้นเครื่องหมาย XB คือให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิมในการได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน โดยยังมิได้กำหนดรายละเอียด แต่อย่างไรก็ตามทาง ASPS ได้คาดว่าอัตราส่วน และใช้ในประมาณการคือ 6.8 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ และราคาหุ้นเพิ่มทุนที่ 18.8 บาท ต่อหุ้น
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดกำไรงวด 3Q58 จะทำระดับสูงสุดของปีเช่นกัน จากเป็นช่วงฤดูกาลส่งออกของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ทั่วโลกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟน, ผลิตภัณฑ์ Data center และผลิตภัณฑ์เครื่องช่วยการได้ยิน (Hearing aids) นอกจากนี้ ปัจจัยเงินบาทอ่อนค่า ยังส่งผลดีต่อกลุ่มส่งออกต่อเนื่อง หุ้นเด่น HANA(FV@B48), upside 20% ส่วน KCE (FV@B60) มี upside เหลือน้อยเพียง 9%
กลุ่มสื่อสาร เชื่อว่างวด 3Q58 ผลการดำเนินงานน่าจะฟื้นตัวขึ้นจาก 2Q58 ที่เป็นช่วง low season นำโดยธุรกิจดาวเทียมที่มีแนวโน้มอุตสาหกรรมสดใสที่สุดในกลุ่ม จากความต้องการใช้งานดาวเทียมในรูปแบบเผยแพร่สัญญาณทีวีดิจิทัล และสัญญาณภาพแบบ HD ซึ่งต้องใช้กำลังให้บริการดาวเทียมเพิ่มขึ้นราว 3-4 เท่าตัวต่อช่อง รวมทั้งการเชื่อมต่อประเภทข้อมูล (อินเตอร์เนต) ในสถานที่ที่โครงข่ายภาคพื้นดินเข้าไม่ถึง ขณะที่ธุรกิจผู้ให้บริการมือถือยังคงต้องรอประเด็นบวกจากการประมูล 4G แต่จะได้ปัจจัยหนุนจากต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ที่น่าจะลดลงเป็นลำดับ หุ้นเด่นคือ THCOM(FV@B51), INTUCH(FV@B113), ADVANC(FV@B285), มี upside 45.7% 18.75% และ 44.9% ตามลำดับ
กลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่า Spread กลุ่มโอเลฟินส์จะยังคงทรงตัวได้ในระดับสูงต่อเนื่องตลอด 2H58 โดยมีปัจจัยทางด้าน Demand เป็นตัวผลักดันหลัก ตรงข้ามกับ Spread กลุ่มอะโรเมติกส์จะได้รับแรงกดดันจาก Supply ผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (Px) ใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาด ส่วนธุรกิจโรงกลั่นนั้น คาดว่าในช่วง 2H58 ค่าการกลั่นจะได้รับแรงกดดันจาก Supply น้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นที่เกิดขึ้นใหม่ในตะวันออกกลาง แต่ภาพรวมของกำไรจากธุรกิจโรงกลั่นในช่วงที่เหลือของปี ยังคาดหวังได้กับการบันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมัน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 2H58 แต่อย่างไรก็ตามราคาหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นได้ปรับขึ้นเกิน Fair Value จึงแนะนำให้ขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะ TOP (FV@B54) และ PTTGC(FV@B67) โดยให้นำเงินมาลงทุน IRPC ([email protected]) ที่ราคาหุ้นยังมี upside 16%
กลุ่มปิโตรเลียม แนวโน้มกำไรกลุ่มในช่วง 3 - 4Q58 จะยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่องจากงวด 1H58 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาขายน้ำมันดิบ และกลุ่มโรงกลั่นที่จะกลับมาบันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น แนะนำสะสม เพื่อลงทุนข้ามปี PTT(FV@B394) และ PTTEP(FV@B125)
กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย คาดผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องจากงวด 2Q58 และน่าจะสูงสุดในงวด 4Q58 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงการคอนโดฯ ใหม่ที่ก่อสร้างและพร้อมโอนฯเข้ามาจำนวนมาก ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยขาลง ทำให้ Backlog มีคุณภาพขึ้นแนะนำสะสมหุ้นที่ราคาลงลึก SPALI([email protected]) ตามมาด้วย PS([email protected]) เลือกเป็น top picks
รับเหมาก่อสร้าง และ วัสดุก่อสร้าง ยังคงคาดหวังกับงานประมูลภาครัฐ ที่น่าจะเดินเครื่องเต็มตัวช่วง 3 - 4Q58 หนุนการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ เช่นเดียวกับการลงทุนจากภาคเอกชนที่เริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นตามการอนุมัติหลายโครงการขณะที่สินค้าไม้บอร์ด และยางมะตอย ถือเป็นช่วง High Season อย่างแท้จริง ตาม Demand ที่อยู๋ในระดับสูง เลือก CK([email protected]) และ TASCO([email protected]) เป็น Top picks
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647