- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 30 June 2015 16:46
- Hits: 2846
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET Index วานนี้ปรับลดลงน้อยกว่าที่คาด ด้วยพัฒนาการของสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ คาดว่าจะเห็นการเคลื่อนไหวที่ผันผวนต่อไป แนะเลือกลงทุนในหุ้น Domestic Play ที่โดดเด่นได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้างเลือก TASCO(FV@B 27.50) และ CK (FV@B 31.25) เป็น Top Picks
ความผันผวนยังดำเนินต่อไป
การปรับลดลงของ SET Index วานนี้หากเทียบกับตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก และตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียแล้ว ถือว่าปรับลดลงมาน้อยมาก ซึ่งเหตุผลประการหนึ่งน่าจะเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยได้อธิบายไว้ในรายงานฉบับวานนี้ว่าแรงขายที่เกิดจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะไม่อยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญกับตลาดหุ้นไทย กลุ่มนักลงทุนที่มีบทบาทหลักในปัจจุบันได้แก่นักลงทุนในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะที่เก็งกำไรระยะสั้น เมื่อราคาหุ้นปรับลดลงแรงจึงมีแรงซื้อกลับเข้ามาเพื่อเก็งกำไร และเช่นเดียวกันเมื่อมีช่วงทำกำไรที่เหมาะสมก็จะขายทำกำไรออกมา สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index วันนี้ยังน่าจะเป็นไปด้วยความผันผวนเช่นเดิม โดยปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นหลัก ได้แก่สถานการณ์การแก้ปัญหาวิกฤติหนี้สินของกรีซ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่า SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1520 จุด สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการที่จะถูกปรับลดประมาณการกำไรลง ภายใต้สถานการณ์ที่ Credit Cost มีแนวโน้มสูงขึ้น และ NIM ปรับลดลง นอกจากนี้ยังอาจได้รับผลกระทบในเชิง Sentiment จากปัญหาหนี้สินกรีซ สำหรับ Investment Theme ที่น่าสนใจมี 3 แนวทางคือ
1. Domestic Play ซึ่งอยู่บนความคาดหมายว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ถูกขับเคลื่อนออกมา ซึ่งที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นการลงทุนของภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อันจะเป็นผลดีต่อภาคการก่อสร้าง ทั้งในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง หุ้นเด่นได้แก่ CK (FV@B 31.25) และ TASCO ([email protected])
2. การอ่อนค่าของเงินบาท โดยหลักการแล้วน่าจะทำให้การส่งออกดีขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วง High Season ของการส่งออก ขณะที่มีสัดส่วนรายได้ที่เกิดจากตลาดยุโรปน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หุ้นเด่นได้แก่ CPF (FV@B 28)
3. หุ้น High Dividend Yield เนื่องจากที่ระดับ SET Index ปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ Upside มีอยู่อย่างจำกัด อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ควรที่จะพุ่งเป้าไปที่การสร้างผลตอบแทนที่ชัดเจน และมีความเสี่ยงไม่มาก ซึ่งหุ้น High Dividend Yield ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยจากการใช้ ASP Smart คัดกรองหุ้นที่ให้ Dividend Yield เกิน 5% และมีค่า Beta ต่ำกว่า 1 พบตัวเลือกที่น่าสนใจเช่น INTUCH (FV@B 113) , TVO (FV@B 30), TTW (FV@B 13.30)
ปัญหาหนี้สินกรีซ กระทบ Sentiment ลงทุนชั่วคราว
วันนี้ (30 มิ.ย.) ถึงกำหนดที่กรีซจะต้องชำระหนี้ 1.6 พันล้านยูโรให้กับเจ้าหนี้ IMF พร้อมๆ กับเป็นวันที่มาตรการความช่วยเหลือทางการเงิน (ที่ต่ออายุมาอีก 4 เดือนจากเดือน ก.พ.) หมดลง ซึ่งค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กรีซจะไม่สามารถชำระหนี้ให้ IMF ได้ตามกำหนด โดยนายกฯ กรีซ ยังคงยืนยันที่จะจัดประชามติในวันที่ 5 ก.ค. นี้ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดหรือไม่ ขณะที่ฝั่งเจ้าหนี้ระบุว่าการจัดทำประชามติดังกล่าวเป็นความคิดของทางรัฐบาลกรีซฝ่ายเดียว และไม่ส่งผลใดๆ เนื่องจากเลยกำหนดชำระหนี้แล้ว ทั้งยังเป็นการลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง นอกจากนี้ สถานภาพของกรีซยิ่งย่ำแย่หนักขึ้น เมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor's ออกมาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรของกรีซที่เดิมอยู่ในสถานะ Junk อยู่แล้ว ให้ลดลงไปอีก เป็น CCC- จากเดิม CCC พร้อมทั้งยังประเมินว่า มีความเป็นไปได้ถึง 50% ที่กรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซน
รวมทั้ง Fitch Rating ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคาร 4 แห่งของกรีซเป็น C จาก CCC และอยู่ในสถานะที่เสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้เชื่อว่า การทำประชามติของกรีซ จะเป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลกรีซ และหากผลออกมาประชาชนไม่ยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดอาจจะทำให้อำนาจต่อรองของกรีซมีมากขึ้น แต่หากประชาชนยอมรับ ก็อาจทำให้รัฐบาลซิปราสไม่สามารถอยู่ต่อได้ แต่การเจรจาหนี้ก็จะกลับมาเปิดกว้างอีกครั้ง ซึ่งบรรดาผู้นำของยูโรโซนก็พร้อมที่จะเดินหน้าเจรจาต่อ ทั้งนี้ ปัญหาของกรีซน่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนทั่วโลกในระยะสั้น แต่หากพิจารณาถึงขนาดเศรษฐกิจของกรีซที่มีขนาด GDP เพียง 1.8% ของยูโรโซนประเด็นนี้จึงไม่น่าจะส่งผลรุนแรงต่อตลาดการเงินหรือเศรษฐกิจยุโรป อีกทั้ง ECB ยังมีมาตรการ QE อัดฉีดเม็ดเงินคอยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากเท่าใดนัก
คลังเตรียมปรับลดการส่งออก-GDP Growth ไทยลง
วานนี้ทาง สศค. ได้มีการรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน พ.ค. โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐ จากรายจ่ายงบประมาณรวมทั้งงบประจำปีและงบเหลื่อมปีเบิกจ่ายในช่วงเดือน พ.ค.ขยายตัว 14.6% yoy (งบจ่ายประจำขยายตัว 10.9% และงบลงทุนขยายตัว 47.2%) และเบิกจ่ายตัวแต่ต้นปีงบประมาณขยายตัว 5.5% yoy และการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน พ.ค. ขยายตัว 38.2% yoy (2.31ล้านคน) จากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน และมาเลเซีย แม้การผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังคงชะลอตัว จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 65 (ต่ำสุดรอบ 11 เดือน)
และราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมยังชะลอตัวอยู่ เช่นเดียวกับการลงทุนยังคงชะลอตัวทั้งภาคการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรหลังจากที่ขยายตัวในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ ด้านการส่งออกยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง (5 เดือน) จากกำลังซื้อในตลาดโลกยังคงชะลดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้แล้วทาง สศค. ยังมองว่าปัญหาภัยแล้งอาจจะกระทบต่อการผลิตภาคการเกษตร โดยก่อนหน้านี้ได้ปรับลด GDP Growth ของภาคเกษตรลงจากเดิม 2.5-3.0% มาอยู่ที่ 1.4% โดยส่วนนี้จะกระทบต่อ GDP Growth รวมทั้งประเทศให้ปรับตัวลงถึง 0.15% เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.2% แต่ตั้งแต่ต้นปีมานี้การส่งออกหดตัวถึง 4.2% ทำให้ทาง สศค.จะมีการทบทวนปรับลดประมาณการการส่งออก รวมถึง GDP Growth (จากเดิมมองว่าขยายตัว 3.7%) ลง ซึ่งจะต้องติดตามการแถลงในช่วงเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของ ASPS ได้ปรับลดประมาณการ GDP Growth ลงไปอยู่ที่ 2.5% ในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นในภูมิภาค
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 353 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) โดยเป็นการขายสุทธิ 3 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 219 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 3 วัน) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 30 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิราว 24 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิได้เพียงวันเดียว) ส่วนที่เหลืออีก 2 ประเทศนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ คือ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) และตลาดหุ้นไทยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 0.24 ล้านเหรียญ หรือ 8 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 552 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 21,135 ล้านบาท ต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 3 ล้านบาท ล่าสุดค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.77 บาท/ดอลลาร์
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647