- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 18 June 2015 17:30
- Hits: 821
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ผลการประชุม Fed ยังไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ย พร้อมปรับลดดอกเบี้ยเป้าหมายปี 2559 ลง ช่วยลดแรงกดดันตลาดหุ้นโลก ขณะที่ SET ยังไม่มีประเด็นบวกใหม่ ๆ ระยะสั้นยังเน้นที่หุ้นรายตัว และเลือก CK([email protected]) เป็น Top Pick
Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าๆ ช่วยลดแรงกดดันต่อหุ้นสหรัฐ
ผลการประชุม Fed ได้มีข้อสรุปให้ยืนดอกเบี้ยที่ 0-0.25% ต่อไป และยังไม่รีบร้อนที่จะขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวในระดับกลาง และยังให้ความสำคัญกับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ประธาน Fed ให้ความเห็นต่อเศรษฐกิจของสหรัฐว่า การฟื้นตัวมีสัญญาณที่ดีขึ้นนับจากงวด 1Q58 โดยเฉพาะตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราการว่างงานยังทรงตัวในระดับ 5.5% ก็ตาม แต่พบว่าภาคครัวเรือนและตลาดบ้าน มีการฟื้นตัวดีขึ้น (สอดคล้องกับยอดค้าปลีก และตัวเลขการของอนุญาตสร้างบ้านใหม่ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น) แม้ว่าการลงทุนและการส่งออกจะยังไม่ขยายตัวมากนัก และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ Fed คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ จากที่ราคาพลังงานอยู่ระดับต่ำ และผลของค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้ราคาสินค้านำเข้า (ไม่รวมพลังงาน) ลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม Fed ได้ปรับลดกรอบเป้าหมายทางเศรษฐกิจลง ได้แก่ ลดกรอบเงินเฟ้อในปี 2558 ลงมาต่ำกว่า 1% ที่ 0.6-0.8% (จากเดิมที่เคยกำหนดเป้าหมาย 2%) ตามมาด้วยปรับลด GDP Growth ของปีนี้ลง มาอยู่ในกรอบการขยายตัวที่ 1.8-2.0% ลดลงจากการประชุมในเดือน มี.ค. ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3-2.7% และปรับกรอบเป้าหมายอัตราการว่างงานอยู่ที่ 5.2-5.3% จากเดิมที่ 5.0-5.2%
ทั้งนี้ ยังคงกำหนดกรอบดอกเบี้ยเป้าหมายในปี 2558 ไว้ที่ใกล้เคียงกับการประชุมรอบที่ผ่านมา ไว้ที่ค่ากลาง (Median) 0.625% จากปัจจุบันที่ 0.25% หรือคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ๆ ละ 0.25% จากที่คาดว่าจะมีการประชุมทั้งหมด 4 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ (ก.ค. ส.ค. ต.ค. และ ธ.ค.) ส่วนในปี 2559 Fed ได้ปรับลดกรอบดอกเบี้ยเป้าหมาย จากที่ประเมินกันไว้ในการประชุมครั้งก่อนที่ 1.875% เหลือ 1.625% หรือตลอดปี 2559 จะขึ้นดอกเบี้ยราว 1% ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่ไม่สร้างแรงกดดันต่อตลาดเท่าใดนักผลจากการที่ Fed ไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ยได้หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง โดยเช้านี้พบว่า Dollar Index (เป็นการเปรียบเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ กับสกุลเงินหลัก 6 ประเทศ) ได้อ่อนค่าลงมาที่ 94.11 หรืออ่อนค่าจากจุดสูงสุด 97.3 เมื่อต้นเดือน มิ.ย. หรืออ่อนค่าราว 3.3% ในช่วงเกือบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (และมีผลทำให้ค่าเงินบาทของไทย แข็งค่าระยะสั้น ๆ เท่านั้น) อย่างไรก็ตามถือว่าการตัดสินใจของ Fed น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐเล็กน้อย โดยคาดว่ามีโอกาสฟื้นตัวอย่างน้อย 2% เพื่อไปทดสอบแนวต้านเดิมที่ 18,300-18,350 จุด
แม้ปัญหากรีซยังมีอยู่ แต่เศรษฐกิจยุโรปมีสัญญาณที่ฟื้นตัว
คาดว่าในการประชุม EC วันนี้ (จะทราบผลอย่างเป็นทางการวันพรุ่งนี้ ตามเวลาในไทย) ระหว่างรัฐมนตรีคลังของยุโรป ในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายทั้งหมด โดยกรีซยังคงยืนยันที่จะไม่ตัดลดงบประมาณเงินบำนาญ ตามข้อเรียกร้องของเจ้าหนี้ และกรีซ ยังมีความเสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้บางส่วน ที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนนี้ แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในยุโรป ส่วนใหญ่มีสัญญาณที่ดีขึ้น ดังที่เคยนำเสนอใน Market Talk หลายวันก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากการใช้นโยบาย QE ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อตลาดหุ้นโลก
นอกจากนี้แหล่งข่าวจาก ECB เปิดเผยว่า ภาวะธุรกิจการเงิน และ ธนาคารของสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่ฟื้นตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยนอกจากจากการใช้ QE ข้างต้นแล้ว ยังมีจากโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (0.05%)ให้กับธนาคารพาณิชย์ในยุโรป หรือ TLTRO (ECB เตรียมประกาศผลการเบิกเงินของ ธ.พ. ต่างๆ ทั่วยุโรป ในโครงการ TLTRO รอบที่ 4 ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะอยู่ที่ราว 7.5 หมื่นล้านยูโร หรือ 8.5 หมื่นล้านเหรียญ) ทั้งนี้ โครงการ TLTRO มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ธ.พ. ทั่วยุโรป มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปใช้ปล่อยสินเชื่อต่อในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ (ไม่รวมกู้ซื้อที่อยู่อาศัย) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด และสะท้อนได้จากสภาพคล่องในระบบการเงินของสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่ดีชึ้นเช่นกัน กล่าวคืออยู่ที่ระดับ 3.26 แสนล้านยูโร เทียบกับที่เคยลงไปต่ำสุดเพียง 7.1 หมื่นล้านยูโร ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจในยุโรปที่ฟื้นตัว จากการใช้มาตรการกระตุ้น น่าจะมีน้ำหนักมากพอที่จะหักล้างปัญหากรีซ แม้ว่าการผิดชำระหนี้ของกรีซ อาจจะทำให้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ซึ่งคือสมาชิกของสหภาพยุโรป ต้องเจ็บตัวดังที่ได้นำเสนอในช่วงที่ผ่านมา และยังหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัว กลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านเดิมได้
ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง และสูงสุดในรอบ 82 วัน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 575 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสุทธิสูงสุดในรอบ 82 วัน และเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ขายสุทธิราว 142 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 2) ตามมาด้วย ไต้หวัน ขายสุทธิราว 367 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 14) และฟิลิปปินส์ ขายสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 12) อินโดนีเซีย ขายสุทธิราว 30 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 2) และสุดท้ายไทยขายสุทธิราว 20 ล้านเหรียญ หรือ 672 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 2) สวนทางกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,055 ล้านบาท
เป็นที่สังเกตว่าเดือน มิ.ย. 2558 เป็นเดือนแรกของปีนี้ ที่ต่างชาติแสดงยอดขายสุทธิสะสมตลอดเดือน กล่าวคือ ยอดขายสุทธิทั้ง 5 ตลาด ตั้งแต่ตั้นเดือน มิ.ย.จนถึง ปัจจุบัน(mtd) สูงถึง 3,844 ล้านเหรียญ เทียบกับ 5 เดือนแรกของปีนี้ที่มียอดซื้อสุทธิสุทธิสะสม แม้จะยังมีการเลือกขายหนักรายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย และไต้หวัน ดังที่ได้นำเสนอใน Market talk เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทั้งนี้ยอดขายสุทธิต่างชาติ mtd สรุปได้ดังนี้ ตลาดหุ้นไต้หวัน ต่างชาติได้ขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาค ราว 2,791 ล้านเหรียญ ตามมาด้วย อินโดนีเซีย สุทธิ 333 ล้านเหรียญ ไทยขายสุทธิราว 305 ล้านเหรียญ (10,279 ล้านบาท) เกาหลีใต้ ขายสุทธิ 210 ล้านเหรียญ และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ สุทธิ 206 ล้านเหรียญ
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 10,393 ล้านบาท ซึ่งต่างกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 1,486 ล้านบาท ยังเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าระยะกลาง แม้ระยะสั้นจะฟื้นตัวขึ้นมาที่ 33.63 บาท/ดอลลาร์ แต่นั่นเกิดจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังจากที่ประชุม FED ยังไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647