- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 16 June 2015 17:15
- Hits: 842
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด Fed จะยืนดอกเบี้ยฯ จนถึงการประชุมรอบถัดไปคือ 16-17 ก.ย. และจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปลายปีนี้ ส่วนการประชุม EU 18 มิ.ย. นี้ ยังกดดันกรีซ และตลาดหุ้นโลก ระยะสั้นหันมาเน้นหุ้น Domestic Play ที่ราคาลงลึกหรือ Laggard (KBANK, BLA, CK) และเลือก CK([email protected]) และ KBANK(FV@270) Top picks
ตลาดคาด FED ยังยืนดอกเบี้ยจนถึงประชุมรอบถัดไป 16-17 ก.ย.
โดยล่าสุดดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐ สะท้อนให้ถึงการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง โดยหากพิจารณาทางด้านการบริโภคภาคครัวเรือนล่าสุดเดือน มิ.ย. พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านดีขึ้น 9.2%mom เป็นการดีขึ้นเป็นเดือน 4 และนับว่าสูงสุดในรอบ 9 เดือน ผลจากสภาพอากาศอบอุ่น และ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะ ภาคการผลิตยังไม่ชัดเจน กล่าวคือ ดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ค. ลดลง 0.2% mom จากที่ตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 0.2% ทำให้การใช้กำลังการผลิต 78.1% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่ก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้ผลิตขั้นสุดท้าย (PPI) ในเดือนเดียวกัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า (mom) และนับว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 2555 และยอดสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจล่าสุด เพิ่มขึ้น 0.4%mom และสูงสุดตั้งแต่ พ.ค. 2557 เช่นกัน
และเช่นเดียวกับตลาดแรงงาน มีทิศทางที่ฟื้นตัว แต่เริ่มชะลอตัว กล่าวคือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกสัปดาห์ล่าสุดแม้จะเพิ่มขึ้นเพียง 2 พันราย เทียบกับที่ลดลง 7 พันรายในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ถือว่ายังดีขึ้น จาก 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.5 พันราย (ยอดผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.750 พันราย ในช่วง 4 สัปดาห์)
โดยภาพ ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีสัญญาณที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ FED จะนำไปประกอบการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญอีก 2 ประการที่ FED ต้องนำมาพิจารณาควบคู่ไปด้วยก็คืออัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% และอัตราการว่างงานที่ระดับ 5% ซึ่งปัจจุบันถือว่ายังอยู่ห่างจากเป้าหมาย กล่าวคือ เงินเฟ้อล่าสุดยังติดลบ 0.2% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 5.5% ขณะที่วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มประชุม Fed ตามกรอบเวลาคือระหว่าง 16-17 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในเช้ามืดวันที่ 18 มิ.ย. ตามเวลาประเทศไทย) ทั้งนี้จากการสำรวจของสำนัก Bloomberg พบว่านักเศรษฐศาสตร์กว่า 53% มองว่า Fed น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า ในวันที่ 16-17 กันยายน 2558 ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ ASPS ที่นำเสนอมาตลอดว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าจะถึงปลายปีเป็นอย่างเร็ว หรืออย่างช้าในต้นปี 2559
การประชุม EU 18 มิ.ย. นี้ ยังกดดันกรีซ และตลาดหุ้นโลก
ประเด็นการเจรจาหนี้กรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้ TROIKA มีน้ำหนักต่อตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ กดดันตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐวานนี้ให้ลดลงหนักหลังการประชุมยาวนานกว่า 11 ชม. ผ่านพ้นไปโดยไม่มีความคืบหน้า ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนเดิมโดยบรรดาเจ้าหนี้ต้องการให้กรีซยื่นแผนปฏิรูปฉบับใหม่ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ใช้งบประมาณเกินดุล รวมทั้งตัดลดค่าจ้างและเงินบำนาญลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับนโยบายของนายกฯ กรีซที่ไม่ต้องการยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดมาโดยตลอด ดังนั้นเชื่อว่าการประชุมวันที่ 18 มิ.ย. นี้ จะมีความเข้มข้นมากขึ้น และจะเป็นปัจจัยกดดันกรีซมากขึ้น
ทั้งนี้ กรีซได้ระดมเงินโดยการก่อหนี้และขอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ต่างๆ รวมทั้งได้รับการอนุมัติจาก IMF 2 รอบ วงเงินทั้งสิ้น 2.4 แสนล้านยูโร (2.55 แสนล้านเหรียญฯ) มีกำหนดชำระยาวนานถึงปี พ.ศ. 2600 หรือเกินกว่า 40 ปี (หนี้ที่ครบกำหนดที่ต้องชำระจนถึงสิ้นปี 2558 เป็นเงิน 1.19 หมื่นล้านยูโร ในปี 2559 เป็นเงิน 5.61 พันล้านยูโร และ 2560 เป็นเงิน 6.02 พันล้านยูโร) ขณะที่สถานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ต่ำมาก โอกาสที่จะผิดชำระหนี้ยังมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นทางออกที่จะช่วยไม่ให้กรีซ ออกจากสหภาพยุโรป เพื่อลดผลกระทบในวงกว้าง (ดังที่ได้นำเสนอไปวานนี้) มีอยู่ 2 ทางคือ เจ้าหนี้ยอมยืดระยะเวลาชำระหนี้สินที่จะครบกำหนดทุกก้อนออกไป ด้วยการให้ Roll-over หนี้รัฐ (Public Debt) ไปเรื่อย ๆ หรืออีกทางคือ การตัดลดหนี้ หรือ Debt Haircut ซึ่งในอดีต กรีซเคยได้รับ haircut หนี้ 50% ไปเมื่อเดือน ต.ค. 2554 จึงเชื่อว่าในครั้งนี้ประวัติศาสตร์มีโอกาสซ้ำรอยสูง ซึ่งจะทำให้บรรดาเจ้าหนี้กรีซต้องรับภาระความเสี่ยงหนี้สูญค่อนข้างมาก และยังน่าจะกดดันตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นกรีซวานนี้ลดลงหนักถึง 5.3% จากการลดลงของหุ้นกลุ่มธนาคารฯ หลังจากที่ประชาชนพากันถอนเงินฝากออกจากสถาบันการเงินกว่า 400 ล้านยูโร เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ แม้รัฐบาลลกรีซเองได้ออกมาปฏิเสธข่าวการควบคุมเงินทุนไหลออก (Capital Control) แต่หากประชาชนยังตื่นกลัวต่อไป รัฐบาลกรีซก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการดังกล่าว ยิ่งกดดันให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น
แรงขายต่างชาติในประเทศเกิดใหม่ กดดันดัชนีอ่อนตัวต่อเนื่อง
คาดว่าตลาดหุ้นเอเซียยังถูกกดันจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ แม้วานนี้กลับมาซื้อซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาค แต่เพียงเล็กน้อยราว 1 ล้านเหรียญ โดยยังคงขายบางประเทศ คือ ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 122 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 12) และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ขายสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 10) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ กลับมาซื้อสุทธิคือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิราว 118 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเป็นต่อเนื่อง 5 วัน) และตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกซื้อสุทธิราว 1 ล้านเหรียญ(หลังจากขายสุทธิเป็นต่อเนื่อง 11 วัน) และตลาดหุ้นไทยนักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเป็นวันแรกราว 10 ล้านเหรียญ หรือ 343 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเป็นต่อเนื่อง 4 วัน) ซึ่งต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 251 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณา ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ytd) พบว่า นักลงทุนสถาบันในการประเทศซื้อสุทธิ 33,275 ล้านบาท ตรงข้ามกับนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 416 ล้านเหรียญ หรือ 13,946 ล้านบาท และเป็นขายสุทธิต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยปี 2557 ต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทยราว 1,091 ล้านเหรียญ แต่นับว่าสอดคล้องกับตลาดหุ้นในตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดหุ้นอินโดนีเซีย พบว่าต่างชาติได้เริ่มขายสุทธิในเดือน พ.ค. ถึง ปัจจุบัน โดยมียอดขายสุทธิ 581 ล้านเหรียญ แต่โดยรวมนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันยังคงซื้อสุทธิ 317 ล้านเหรียญ (ต่อเนื่องจากปี 2557 ซื้อสุทธิ 3,766 ล้านเหรียญ) และตลาดหุ้นฟิลลิปปินส์ พบว่าต่างชาติได้เริ่มขายสุทธิในเดือน เม.ย.ถึง ปัจจุบัน โดยมียอดขายสุทธิ 594 ล้านเหรียญ แต่โดยรวมนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันยังคงซื้อสุทธิ 485 ล้านเหรียญ (ต่อเนื่องจากปี 2557 ซื้อสุทธิ 1,256 ล้านเหรียญฯ )
ยกเว้นบางประเทศที่ยังคงซื้อสุทธิเพิ่มเช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 8,501 ล้านเหรียญ (ซื้อมากกว่าปี 2557 ทั้งปี 5,684 ล้านเหรียญ) โดยมีการขายสุทธิบ้างในช่วงเดือน ม.ค. ก็ตาม และตลาดไต้หวัน ต่างชาติได้เริ่มขายสุทธิในต้นเดือน มิ.ย. ถึงปัจจุบัน โดยมียอดขายสุทธิ 2,207 ล้านเหรียญ แต่โดยรวมนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันยังคงซื้อสุทธิ 6,690 ล้านเหรียญ เทียบกับซื้อสุทธิ 1,3190 ล้านเหรียญ ในปี 2557
และหากพิจารณาผลตอบแทนรายประเทศ พบว่าประเทศที่ต่างชาติขายสุทธิ มีแนวโน้มที่ผลตอบแทนตลาดจะลดลงหรือติดลบ เช่น อินโดนีเซีย ติดลบ 6.7% ytd (เทียบกับปี 2557 ให้ผลตอบแทน 22.3%) มาเลเซีย ติดลบ 1.5% (ytd เทียบกับปี 2557 ให้ผลตอบแทนติดลบ 5.7%) ไต้หวัน ติดลบ 0.5% (ytd เทียบกับปี 2557 ให้ผลตอบแทน 8.1%) อินเดียลดลง 3.4% (เทียบกับปี 2557 เพิ่มขึ้น 30%) ตุรกีลดลง 5.5% (เทียบกับปี 2557 เพิ่มขึ้น 26%) และไทย ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก เฉลี่ย 0.3% (ytd เทียบกับปี 2557 ให้ผลตอบแทน 15.3%) เป็นต้น
เช่นเดียวกับค่าเงิน มีแนวโน้มอ่อนค่า
สำหรับประเทศที่ถูกต่างชาติขายหุ้น ได้แก่ ค่าเงินริงกิต ของมาเลเซีย อ่อนค่า 7%ytd (ปี 2557 อ่อนค่า 12.6%) ค่าเงินรูเปียะห์ อ่อนค่า 7%ytd (ปี 2557 อ่อนค่า 8.7%) เงินบาท อ่อนค่า 2.5%ytd (และอ่อนค่า 2.5% ปี 2557) เงินรูปี อ่อนค่า 1.6%ytd (และ อ่อนค่า 3.5% ปี 2557) ขณะที่ประเทศเกิดใหม่อื่นๆ พบว่าค่าเงินอ่อนค่า ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นได้แก่ แรนด์แอฟริกาใต้ อ่อนค่า 7% (ปี 2557 อ่อนค่า 15.4%) ค่าเงินตุรกี อ่อนค่า 21.5% (ปี 2557 อ่อนค่า 21.5%) ค่าเงินบราซิลออนค่า 14.4%( ปี 2557 อ่อนค่า 23.6%) ค่าเงินโปแลนด์ อ่อนค่า 5.1% (ปี 2557 อ่อนค่า 18.6%) เป็นต้น
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647