- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 15 June 2015 17:13
- Hits: 1207
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าปัญหากรีซ และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังกดดันตลาดหุ้นไทย แต่การที่รัฐเร่งให้มีการก่อสร้าง โครงการใหม่ ๆ น่าจะหนุนหุ้นก่อสร้างที่ต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม (CK) และดีต่อหุ้น ธ.พ. หลังราคา underperform มานาน วันนี้เลือก CK([email protected]) Top pick
การปรับโครงสร้างหนี้กรีซล่าช้า เจ้าหนี้อาจยอมตัดลดหนี้เพื่อให้กรีซอยู่ต่อ
ดูเหมือนการเจรจาประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้คือ IMF กับกรีซ จะไม่มีความคืบหน้า ทำให้มีโอกาสที่กรีซจะยืดเยื้อการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือน มิ.ย. เป็นเงินราว 1.54 พันล้านยูโร (จากการเบิกเงินที่กู้ยืมมารวมจากที่ได้รับอนุมัติ 2 รอบ วงเงินทั้งสิ้น 2.4 แสนล้านยูโร หรือ 2.55 แสนล้านเหรียญฯ) โดยยังมีวงเงินกู้ที่ครบกำหนดที่ต้องชำระจนถึงสิ้นปี 2558 เป็นเงิน 1.19 หมื่นล้านยูโร ในปี 2559 เป็นเงิน 5.61 พันล้านยูโร และ 2560 เป็นเงิน 6.02 พันล้านยูโร ขณะที่ประกอบกับการดำเนินนโยบายจะไม่รัดเข็มขัดในการบริหารงบประมาณของรัฐกรีซในปัจจุบัน ทำให้กรีซมีความสามารถในการชำระหนี้สินภาครัฐต่ำมาก โอกาสที่จะผิดชำระหนี้ยังมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ทางออกที่จะช่วยไม่ให้กรีซ ออกจากสหภาพยุโรป (เพื่อลดผลกระทบในวงกว้าง เช่น เรื่องสกุลเงินที่เป็น single currency) คือ เจ้าหนี้จะต้องยอมยืดหนี้สินที่จะครบกำหนดทุกก้อน ด้วยการให้ Roll-over หนี้รัฐ (Public Debt) ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเท่ากับผลักภาระไปให้ลูกหลานในอนาคต หรืออีกทางคือ ลดหนี้ให้เลย หรือที่เรียกกันว่า Debt haircut ซึ่งตามประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ การให้ Debt haircut น่าจะอยู่ที่ 50% (กรีซเคยได้รับ haircut หนี้ 50% ไปเมื่อเดือน ต.ค. 2554) แต่พิจารณาจากฐานะการเงินของกรีซแล้วมีโอกาสที่จะต้องให้ debt haircut สูงเกิน 50% หรือจนถึง 100% โดยภาระในตั้งสำรองหนี้ที่มีปัญหา จะตกอยู่ที่เจ้าหนี้ทั่วโลก อันได้แก่ รัฐบาลของประเทศมหาอำนาจทั้งในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงธนาคารพาณิชย์ของประเทศเหล่านี้ ที่จะต้องเผชิญกับการตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้น การทยอยให้ debt haircut จะช่วยให้เจ้าหนี้ค่อย ๆ รับรู้ผลขาดทุน อาจจะทำให้ปัญหายังยืดเยื้อ หรือคาราคาซัง แต่หากการตัดหนี้สูญทีเดียวเลย น่าจะกระทบต่อ bottom line เพียงครั้งเดียว จึงคาดว่าประเด็นนี้ยังน่าจะกดดันตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป
อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น (ล่าสุด เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และ GDP Growth งวด 1Q58 เติบโต 0.4%YoY สูงสุดตั้งแต่ 2Q54) ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการใช้นโยบาย QE ตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมาและจะยังใช้ต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ย. ปี 2559 ถือว่ายังมีน้ำหนักมากพอที่จะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาในกรีซได้
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ยังฟื้นตัวต่อ หนุน Fed ขึ้นดอกเบี้ยสิ้นปีนี้
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐล่าสุดยังส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น ล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (มหาวิทยาลัยมิชิแกน) เดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับ 94.6 (สูงกว่าที่ตลาดคาดเพียง 91.2 และเดือน พ.ค.ที่ 90.7) และถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากช่วง 1Q58 ที่ยังมีความแกว่งตัวอยู่ สอดคล้องกับยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. ที่รายงานเมื่อ พฤหัสฯที่แล้วว่าเพิ่มขึ้น 1.2% mom (เดือน เม.ย. ขยายตัวเพียง 0.2%) จากก่อนหน้าที่ขึ้นๆ ลงๆ รวมถึงยอดค้าปลีก ไม่รวมรถยนต์ขยายตัวที่ 1% สูงกว่าที่ตลาดคาด 0.2% เป็นต้น
เช่นเดียวกับ ทางด้านการผลิต พบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตขั้นสุดท้าย (PPI) เดือน พ.ค.ขยายตัว 0.5% mom (ขยายตัวมากสุดตั้งแต่ ต.ค. 2555) สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -0.4% และมากกว่าที่ตลาดคาด 0.4% และดัชนีราคาผู้ผลิตไม่รวมอาหารและพลังงาน ขยาย 0.1% ตามตลาดคาด (เดือนเม.ย.หดตัว -0.2%) สอดคล้องกับตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจที่รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วขยายตัว 0.4%mom (สูงสุดตั้งแต่ พ.ค. 2557) และราคานำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น 1.3%mom (เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 10 เดือน และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.8%) ก็สะท้อนถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาคธุรกิจเช่นกัน
เช่นเดียวกับ ตลาดแรงงานตัวเลขขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกสิ้นสุด 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2 พันราย แม้จะดูแย่ลงเมื่อเทียบกับที่ลดลง 7 พันรายในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ถือว่ายังดีขึ้น จาก 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.5 พันราย (ยอดผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.750 พันราย ในช่วง 4 สัปดาห์) และเมื่อพิจารณาร่วมกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ก็สะท้อนถึงความแข็งแกร่งขึ้ยของตลากแรงงานสหรัฐฯเช่นกัน
ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ FED จะนำไปประกอบการพิจาณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่ FED จะต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย ก็คืออัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% และอัตราการว่างงานที่ระดับ 5% ซึ่งปัจจุบันถือว่ายังอยู่ห่างจากเป้าหมาย กล่าวคือ เงินเฟ้อยังติดลบ 0.2% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 5.5% ทาง ASPS ยังคงมีมุมมองเดิมคือ FED น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ อย่างเร็วสุดในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 59 โดยยังคงต้องติดตามการประชุมของ Fed ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-17 มิ.ย. ที่จะถึงนี้
ต่างชาติยังคงขายหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
วานศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 277 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ (ยกเว้น ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ หยุดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด)นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ขายสุทธิราว 85 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 5) ตามมาด้วย ตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิราว 155 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 11) ตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิราว 32 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 11) และ ตลาดหุ้นไทยต่างชาติขายสุทธิราว 6 ล้านเหรียญ หรือ 160 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นต่อเนื่องวันที่ 4) ซึ่งต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 257 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณาฐานะสุทธิจากต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่าทุกตลาดยังมียอดซื้อสุทธิ แต่มีแนวโน้มแผวลง จากการขายในเดือนหลังๆ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 8,383 ล้านเหรียญ (ซื้อมากกว่าปี 2557 ทั้งปี) ไต้หวันซื้อสุทธิ 6,813 ล้านเหรียญ อินโดนีเซียซื้อสุทธิ 302 ล้านเหรียญ และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิ 491 ล้านเหรียญฯ ยกเว้น ตลาดหุ้นไทย ขายสุทธิราว 426 ล้านเหรียญ ซึ่งแตกต่างปี 2557 ที่ต่างชาติซื้อสุทธิจำนวนมากคือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 5,684 ล้านเหรียญ ไต้หวันซื้อสุทธิ 1,3190 ล้านเหรียญ อินโดนีเซียซื้อสุทธิ 3766 ล้านเหรียญ และฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิ 1,256 ล้านเหรียญฯ ยกเว้น ตลาดหุ้นไทย ขายสุทธิราว 1,091 ล้านเหรียญ ทั้งนี้การที่ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคเอเซีย สอดคล้องกับข้อมูลจาก The Wall Street Journal พบว่า นักลงทุนต่างชาติดึงเงินออกจากตลาดหุ้นเอเชียราว 7.9 พันล้านเหรียญ ซึ่งมากที่สุดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา สาเหตุน่าจะเกิดจาก ต่างชาติคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะดีขึ้นและ FED น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ นอกจากนี้เงินทุนส่วนใหญ่นั้นไหลออกจากตลาดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางกลับกัน เงินกลับไหลเข้าในประเทศ เกาหลีใต้ จีน และ อินเดีย
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 8,524 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 993 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าวันก่อนหน้า ล่าสุดค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์
คงน้ำหนักหุ้นก่อสร้าง แต่ลดน้ำหนักหุ้นหลักทรัพย์
หลังจากที่ นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลง ดังที่ได้นำเสนอในช่วงที่ผ่านมา และ ล่าสุดได้มีการทบทวนน้ำหนักการลงทุนรายกลุ่ม โดยมีการปรับเพิ่มน้ำหนักกลุ่ม อาหารและเกษตร และท่องเที่ยวและโรงแรม วานนี้นักวิเคราะห์ ASPS ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น ธนาคารพาณิชย์ เป็นเท่ากับตลาดจากเดิม น้อยกว่าตลาด เนื่องจากการคงดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ช่วยลดผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขาลง และ ราคาหุ้นธนาคารส่วนใหญ่ได้ปรับลดสะท้อนปัจจัยดังกล่าวแล้ว และยังมีลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ ขณะที่ยังคงน้ำหนักกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
กลุ่มหลักทรัพย์ : แนวโน้มกำไรของกลุ่มฯ งวด 2Q58 ลดลงค่อนข้างมาก ปัจจัยลบมาจากมูลค่าซื้อขายของตลาดฯเฉลี่ยต่อวัน (ไม่รวม prop-trade) ลดลงถึง 27.2% qoq เช่นเดียวกับสัดส่วนการซื้อขายของรายย่อยลดลงมาอยู่ที่ 53% จาก 64% รวมทั้งรายได้ค่าธรรมเนียม IPOs ลดลงถึง 75%qoq ขณะที่งวด 3Q58 ยังทรงตัวระดับต่ำต่อเนื่องจากผลกระทบการเมืองที่การเลือกตั้งอาจล่าช้าออกไป กดดันต่อ sentiment การลงทุน แม้คาดว่างวด 4Q58 มูลค่าการซื้อขายฯจะสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ แต่เชื่อว่ากำไรสุทธิของกลุ่มฯ ในปีนี้จะหดตัวจากปีก่อนหน้า 6.3% จึงลดน้ำหนักการลงทุนลงเป็น น้อยกว่าตลาด จากเดิม เท่ากับตลาด
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง : โครงการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้ จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยคาดว่าภายในปี 2558 โครงการที่พร้อมเปิดประมูล จะมีมูลค่ารวมกันเกือบ 4 แสนล้านบาท ทั้งงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และถนนมอเตอร์เวย์ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อย่าง ITD, CK, STEC และ UNIQ ที่สามารถเข้าร่วมประมูลงานได้โดยตรง ขณะที่ผู้รับเหมาขนาดกลาง-เล็ก ก็จะได้รับอานิสงส์ในฐานะผู้รับเหมาช่วง ซึ่งบริษัทรับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่ ต่างมีความพร้อมด้านเงินทุนเป็นอย่างมาก ทำให้ปัจจุบัน Net Gearing อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.96 เท่าขณะที่บริษัทรับเหมางานวิศวกรรม ก็ยังเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากพื้นฐานของหลายบริษัทมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากฝ่ายวิจัยจึงคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่ มากกว่าตลาด และเลือก CK และ STPI เป็นหุ้น Top Picks ของกลุ่มฯ
ทั้งนี้ สถานะปัจจุบันของ CK ถือว่ามีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยมี Backlog คงเหลือกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท บวกกับงานใหม่ที่น่าจะได้เข้ามาอีก 2 โครงการ คืองานก่อสร้างโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง 1.2 พันล้านบาท และงานย้ายสายไฟลงดิน( รถไฟฟ้าสายสีเขียว ) อีก 1.1 พันล้านบาท ขณะที่ความคืบหน้างานประมูลโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐมีเพิ่มขึ้นโดยหลายโครงการที่ได้ผ่านการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และมีความพร้อมที่จะเปิดประมูลได้ทันทีมีมูลค่ารวมกันกว่า 1.55 แสนล้านบาท ซึ่ง CK จะเข้าไปร่วมประมูลทั้งหมดโครงการสำคัญๆ ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงแก่งคอย-คลอง 19 มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท และช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท ถนนมอเตอร์เวย์( พัทยา-มาบตาพุด ) มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท อาคารของการไฟฟ้านครหลวง 3.5 พันล้านบาท และอุโมงค์ระบายน้ำหนองบอน 5.9 พันล้านบาท นอกจากนี้ CK ยังมีโอกาสเข้าไปรับงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในสัญญาการลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้า ต่อจาก BMCL มูลค่าประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท จึงคาดว่า CK จะมีรายได้จากงานก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ตลอดช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ 2Q58 เชื่อว่าน่าจะออกมาโดดเด่นเป็นพิเศษ จากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนในบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ เข้ามาประมาณ 1.6 พันล้านบาท โดยปี 2558 ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิของ CK ไว้ที่ 2883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%YoY และกำหนด Fair Value ด้วยวิธี Sum of the Part จะให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 31.25 บาท มี Upside อีก 16%
นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647