WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       ตลาดหุ้นผันผวน กลยุทธ์เลือกหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโต วันนี้เลือก Top pick คือ KSL(FV@B17) นักวิเคราะห์ ASP ปรับเพิ่มประมาณกำไรขึ้น จากเดิมเฉลี่ยปีละกว่า 16% ในปี 2557-58 และชื่นชอบ GUNKUL(FV@B20) แนะนำถือลงทุนต่อ

ราคาน้ำมันขายขาขึ้น VS น้ำตาลก็ขาขึ้น
      สถานการณ์ความไม่สงบในอิรักยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลามและเลอแวนต์ (ISIL) ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มโรงกลั่นน้ำมันในเมืองไบจิ ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอิรัก และยังทำลายคลังน้ำมันบางส่วน ส่งผลให้กองทัพรัฐบาลโต้ตอบกลุ่มติดอาวุธด้วยการยิงถล่มทางอากาศ คาดว่าเหตุการณ์ยืดเยื้อและกดดันปริมาณส่งออกน้ำมันของอิรัก(ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่มโอเปก ซึ่งมีปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบสูงถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
     ขณะที่สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ล่าสุดกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานยอดน้ำมันดิบคงคลังลดลง 5.79 แสนบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า (เช่นเดียวกับน้ำมันที่ท่าส่งเมือง Cushing ที่ลดลงอีกราว 3.21 แสนบาร์เรล แตะระดับ 21.4 ล้านบาร์เรล) สวนทางกับสต๊อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 2.47 แสนบาร์เรล อยู่ที่ 214.3 ล้านบาร์เรล เป็นผลจากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นสู่ระดับ 9.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อตอบรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลขับขี่
      โดยสรุปจากปัจจัยทั้ง 2 ประการ ได้หนุนให้ราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 106.28 เหรียญฯต่อบาร์เรล และ เช่นเดียวราคาน้ำมันดิบดูไบที่ราคาพุ่งขึ้นแตะระดับ 110.03 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการน้ำมันทั้ง PTT และ PTTEP ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มน้ำมัน “มากกว่าตลาด” โดยยังคงคำแนะนำซื้อ PTT และ PTTEP โดยประมาณมูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 2557 (DCF) เท่ากับ 360 บาทต่อหุ้น และ195 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ
      และ เช่นเดียวกับ ทิศทางน้ำตาลโลกยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น หลังปริมาณผลผลิตน้ำตาลโลกที่มีแนวโน้มต่ำกว่าคาด จากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงอาจจะทำให้เกิดความกังวลว่าผลผลิตน้ำตาลโลกอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในปี 2558 นอกจากนี้ หลังจากเข้าประชุม Analyst Meeting ของ KSL ฝ่ายวิจัยมีมุมมองบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2557 ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2557-2558 ขึ้นจากเดิมราว 16% ต่อปี และทำให้ Fair Value ใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 17.20 บาท (จากเดิม 14.60 บาท) ยังมี Upside อีก 21% จากราคาหุ้นปัจจุบัน แนะนำ ซื้อหุ้น KSL ติดตามอ่านรายละเอียดใน Equity Talk

FOMC ยืดการขึ้นดอกเบี้ยฯ จนกว่าการจ้างงานใกล้ระดับเต็มที่
     ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) 2 วัน (17-18 มิ.ย.) ยังไม่มีประเด็นใหม่ โดยยังคงดำเนินการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (ตัดลด QE) ต่อเนื่องอีกเดือนละ 1หมื่นล้านเหรียญฯ (ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 โดยอยู่ที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นราวเดือน ก.ย.-ต.ค. 2557) และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ 0.25% ต่อไป โดย FED มุ่งให้น้ำหนักไปที่ตลาดแรงงาน ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ลดลงที่ระดับ 6.3% (ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ FED กำหนดไว้ที่ 6.5%) แต่ FED ยังมองว่าเป็นระดับที่ไม่ใช่การจ้างงานเต็มที่ และเชื่อว่ายังสามารถลดลงได้อีก และต้องการเห็นการฟื้นตัวของภาคแรงงานที่แข็งแกร่งและชัดเจนมากกว่านี้ ดังนั้น FED จึงชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง (จากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะขึ้นในช่วง1H57) แม้หลังการตัดลด QE (ราวเดือน ก.ย.) อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดกรอบดอกเบี้ยนโยบายปี 2558 ที่ระดับ 1.13% และ 2.5% ในปี 2559 (เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือน มี.ค. ที่คาดไว้ 1% และ 2.25% ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ) พร้อมทั้งปรับลด GDP Growth ปี 2557 เหลือ 2.1-2.3% ใกล้เคียง IMFและ World bank คาด ทั้งนี้การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยถือว่าช่วยลดแรงกดดันตลาดระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐ จะมีรูปแบบของความผันผวน

 

GDP Growth ไทยอาจต่ำกว่า 1% ช่วง 2H57
       การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ตามตลาดคาด เพราะเชื่อว่าดอกเบี้ยระดับปัจจุบัน สามารถหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม กนง. ได้ปรับลด GDP Growth เหลือ 1.5% ในปี 2557 ปรับลดเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ (จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 2.7%) และถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดใน consensus แต่ใกล้เคียงกับไทยพาณิชย์ ประมาณไว้ที่ 1.6% (KBANK เคยต่ำสุดที่ 1.8% แต่ล่าสุดหลังมี คสช. ได้ปรับเพิ่มระดับ 2%) แต่ได้ปรับเพิ่ม GDP Growth ปี 2558 เป็น 5% (จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 4.8%) ทั้งนี้หากพิจารณา GDP Growth ตามประมาณการใหม่ของ กนง. ซึ่ง 1H57 คาดว่า -0.5% แสดงว่า GDP Growth งวด 2Q57 จะ -0.4% จากงวด 1Q57 -0.6% ส่วน 2H57 กนง. คาดว่าจะพลิกฟื้นมาเติบโต 3.4-3.5% (ASP ประเมิน 2H57 ไว้ที่ 3.9% ทำให้ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 2%)
   โดยสรุปการปรับลด GDP Growth ของ กนง. น่าจะสะท้อนภาวะตกต่ำในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 แต่ทุกอย่างน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2557 สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน พ.ค. ฟื้นตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน สอดคล้องกับ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.30% mom เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และ ยังประเมินว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องใน 3 เดือนข้างหน้า จึงคาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว แต่ระดับดัชนีปัจจุบันมีค่า Expected P/E เกือบ 15 เท่า แม้จะต่ำกว่าตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP คือ 16 เท่า ในอินโดนีเซีย และ 19 ในฟิลิปปินส์ และ 19 เท่า (EPS Growth 8% และ 3% ตามลำดับ) แต่คาดว่าต่างชาติได้เริ่มทยอยขายตลาดหุ้นทั้ง 2 คาดว่า Expected P/E ตลาดทั้ง 2 น่าจะลดลงมาใกล้ตลาดหุ้นไทย มากกว่าที่จะยกฐานตลาดหุ้นไทยขึ้นไปใกล้เคียงตลาดทั้ง 2 ตราบที่การเมืองไทยยังอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก

 

ต่างชาติกลับมาซื้อภูมิภาค แต่ยังขายไทย
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 3 ราว 799 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าถึง 5 เท่าตัว) โดยยอดซื้อหลักยังมาจากไต้หวัน เป็นการซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 10 ราว 573 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว) ตามมาด้วย อินโดนีเซีย ที่สลับกลับมาซื้อสุทธิราว 194 ล้านเหรียญฯ (ขายติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) และเกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 128 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว) สวนทางกับไทย ที่ยังคงถูกขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 7 ราว 23 ล้านเหรียญฯ (2.7 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ขายสุทธิเบาบางเป็นวันที่ 3 ราว 12 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 39% จากวันก่อนหน้า)
     ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ที่ขายสุทธิออกมาติดต่อกัน 7 วันรวมกว่า 6.8 พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ยอดขายในครั้งนี้ยังคงน้อยกว่ายอดซื้อในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2557 ที่ซื้อติดต่อกัน 6 วันรวม 8.2 พันล้านบาท ทำให้เชื่อว่าต่างชาติน่าจะยังคงมีแรงขายหลงเหลืออยู่อีกแม้จะไม่มากก็ตาม ในระยะสั้นน่าจะเป็นการซื้อขายเบาบางตามสถานการณ์ เพื่อรอความชัดเจน ก่อนจะกลับเข้ามาซื้ออีกครั้งหากสถานการณ์คลี่คลายลง

การเก็บ Capital Gain Tax น่าจะเกิดขึ้นได้ยากกับตลาดหุ้นไทย
      ตลาดหุ้นไทยช่วงบ่ายวานนี้ (18) ปรับตัวลดลงอย่างหนัก หลังมีกระแสข่าวลือออกมาว่าจะมีการจัดเก็บภาษีเงินกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและต่างพากันเทขายหุ้นกดดันดัชนีอย่างหนัก ซึ่งล่าสุดนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกมายืนยันว่ากระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดในการเก็บภาษีจากกำไรในการซื้อขายหุ้นในขณะนี้แต่อย่างใด สอดคล้องกับนายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรยังไม่มีการหารือกันถึงการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น โดยกรมฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้องเฉพาะแนวทางการปฏิบัติเท่านั้น ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายใดๆ


      ทั้งนี้ เรื่อง Capital Gain Tax ในอดีตมักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีแรงต่อต้านจากนักลงทุนอย่างสูงแน่นอน และหากไปดูประเทศที่ใช้ Capital Gain Tax ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยจากข้อมูลพบว่าในตลาดหุ้นทั่วโลกมีประเทศใช้ Capital Gain Tax อยู่ราว 29 ประเทศ และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คือ สหภาพยุโรป 19 ประเทศ อีก 2 ประเทศในอเมริกาเหนือ (แคนาดา และ สหรัฐ) ส่วนประเทศใน แถบเอเซีย มี 5 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ และอเมริกาใต้ 2 ประเทศ คือ บราซิล และ เม็กซิโก และสุดท้ายคือ แอฟริกาใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะต้องมีระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพค่อนข้างมาก


       ดังนั้น การจัดเก็บภาษีเงินกำไรจากการขายหุ้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในห้วงเวลานี้ที่เศรษฐกิจยังเปราะบาง เนื่องจากระบบภาษีของประเทศไทยยังไม่พัฒนาและมีเสถียรภาพมากพอถึงขั้นที่จะเก็บภาษีจากกำไรหุ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หากมีประเด็นดังกล่าวก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่บั่นทอนเงินลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งยังต้องพิจารณาในทางกลับกันว่าหากลงทุนในหุ้นแล้วขาดทุน จะสามารถเรียกคืนภาษีดังเช่นภาษีบุคคลธรรมดาได้หรือไม่ และทางกรมสรรพากรจะยินยอมหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันในอนาคต และนักลงทุนควรระมัดระวัง และติดตามข่าว รวมถึงพิจารณาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!