- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 08 June 2015 17:41
- Hits: 1051
บล.กรุงศรี : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
บทวิจัยตลาดทุนกรุงศรี (Morning Brief Package)
ภาวะตลาดหุ้นวานนี้:
SET เคลื่อนไหวผ่านกรอบการแกว่งตัวของเราด้วยมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้ตลอดทั้งวันและปิดตลาดที่ระดับ 1,507.37 จุด (+16.47 จุด, +1.10%) มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 10.9% เป็น 40,482 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่เจ็ด 786 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3,406 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่ม นำโดยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี โรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน เป็นต้น สำหรับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินของกรีซ (แม้ว่าธนาคารกลางกรีซมีแผนเลื่อนการชำระคืนเงินกู้รวมเป็นงวดเดียว US$1.5 พันล้าน ในวันที่ 30 มิ.ย.) ความผันผวนในตลาดพันธบัตรทั่วโลก และการเฝ้ารอตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน พ.ค. ของสหรัฐ
แนวโน้มวันนี้:
เราประเมิน SET วันนี้มีโอกาสแกว่งตัวในทางขึ้น คาดว่านักลงทุนจะกลับมาให้ความสำคัญกับหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้นหลังจากซึมซับข้อมูลทั้งปัญหาหนี้สินกรีซและการประชุมโอเปกไปแล้ว รวมถึงหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ยังปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาด มองกรอบแนวรับ/ต้าน ของ SET ไว้ที่ 1,500/1,515 จุด (หลีกเลี่ยงหากดัชนีหลุด 1,500 จุด) เลือกหุ้น AOT, PTTGC, SPALI, BTS พร้อมกับจับตาการประชุม กนง. ในวันพุธที่ 10 มิ.ย. นี้
ปัจจัยที่มีผลกระทบ
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีมติคงโควต้าการผลิตน้ำมันที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรล/วัน ต่อไปอีก 6 เดือน ถึงแม้มีสมาชิกโอเปกหลายประเทศต้องการให้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิต โดยสมาชิกโอเปกส่วนใหญ่ยังคงพึงพอใจต่อราคาน้ำมันดิบเบรนท์ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับราว 63 ดอลลาร์/บาร์เรล สูงกว่าระดับ 47 ดอลลาร์ ในช่วงที่ราคาทรุดตัว ประชุมครั้งถัดไป 4 ธ.ค. 58
ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย วันที่ 29 พ.ค. 58 อยู่ที่ 158.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 22 พ.ค.58 ที่ 159.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิวันที่ 29 พ.ค. 58 อยู่ที่ 19.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับวันที่ 22 พ.ค.58 อยู่ที่ 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าที่ประชุม กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.50% เพื่อรอประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของค่าเงินบาทและต้นทุนทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปขึ้นอยู่กับการเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงมาตรการในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัดที่คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ยอดคำสั่งซื้อใหม่ภาคการผลิตของเยอรมนีเดือน เม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% ได้รับแรงหนุนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัว 5.5% แม้ว่าคำสั่งซื้อภายในประเทศหดตัวลง 3.8% อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันยอดสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือน เม.ย. โดยคำสั่งซื้อจากยูโรโซน เพิ่มขึ้น 6.8% ในเดือนดังกล่าว ขณะที่คำสั่งซื้อจากนอกเขตยูโรโซน ปรับขึ้น 4.7% แต่ยอดสั่งซื้อภายในประเทศลดลง 3.8%