- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 03 June 2015 16:10
- Hits: 1205
บล.ฟินันเซีย ไซรัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
SET ยังขาดปัจจัยหนุน แม้จะลุ้นรีบาวด์ได้ แต่ความเสี่ยงสูง!!!
กลยุทธ์ : SET ยังอ่อนแอและปรับตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศยังคงกดดันอยู่ ทำให้ FSS คาดว่า SET มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวลงต่อเนื่องได้อีก ดังนั้นถ้าจะเลือกหุ้นเข้าซื้อช่วงลบก็ต้องเน้นเป็นเทรดดิ้งช่วงสั้น เพราะดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมาค่อนข้างเร็วในรอบนี้ ทำให้คาดว่ายังมีลุ้นจังหวะรีบาวด์กลับไปแกว่งบวกในช่วงสั้นได้ ซึ่งเช้านี้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเริ่มดูดีขึ้นด้วย ดังนั้นส่วนที่ซื้อไปแล้วเรายังแนะนำให้เน้นถือเพื่อรอจังหวะขายลดพอร์ตลงในช่วงบวกต่อไป
หุ้นเด่นทางเทคนิค : JAS, PDG, SPCG(buy back)
แนวโน้ม : SET ยังอ่อนแอต่อเนื่อง หลังตลาดหุ้นภูมิภาคยังมีความกังวลกับสถานการณ์หนี้ของกรีซ ขณะที่ในบ้านเราเองก็ยังมีความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการฟื้นตัว โดยล่าสุดตัวเลข CPI ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศยังบ่งบอกว่าคนเริ่มระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นหุ้นกลุ่มแบงก์ บ้าน และค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ที่แม้ว่าราคาหุ้นหลายตัวจะปรับลงมามากแล้ว แต่ FSS มองว่ายังไม่ใช่โอกาสในการที่จะรีบกลับเข้าซื้อมากนัก เพราะผลกระทบต่อกลุ่มแบงก์ยังมีมาก ขณะที่กลุ่มพลังงานแม้ว่าจะได้รับผลบวกจากการขยับขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกบ้าง แต่ก็อาจเป็นเพียงชั่วคราว ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังขาดแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มหลัก ดังนั้น FSS จึงคาดว่า SET ยังมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวลงต่อเนื่องได้อีก เราจึงแนะนำให้ชะลอการเข้าซื้อไว้ก่อนดีกว่า โดยช่วงนี้ต้องรอติดตามการเจรจาเพื่อผ่อนคลายปัญหาหนี้ของกรีซ และติดตามตัวเลขเศรษฐกิจด้านแรงงานของสหรัฐในช่วงท้ายสัปดาห์อยู่
แนวรับ 1476-1475 , 1470-1460 จุด
แนวต้าน 1482-1485 , 1488-1492 จุด
Fund Flow วานนี้ยังไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคในปริมาณที่เบาบาง โดยขายสุทธิในตลาดหุ้นไต้หวัน US$66.9 ล้าน ฟิลิปปินส์ US$47.5 ล้าน ไทย US$49.3 ล้าน แต่ซื้อเวียดนาม US$6.5 ล้าน และเกาหลีใต้ US$2.7 ล้าน ขณะที่อินโดนีเซียปิดทำการ ค่าเงินภูมิภาคเช้านี้ค่อนข้างนิ่ง Flow น่าจะเบาบางต่อเนื่อง
ข่าว/หุ้นเด่นมีประเด็น
(0) วันนี้จับตาการประชุม ECB และทั่วโลกยังให้ความสนใจกรีซ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับขึ้น 0.3% Y-Y ในเดือน พ.ค. ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน แม้จะห่างไกลจากเป้าของ ECB ที่ 2% แต่นักลงทุนก็คลายกังวลว่าเศรษฐกิจอาจหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด ส่งให้ค่าเงินยูโรแข็งค่า วันนี้จับตาการประชุม ECB ขณะที่ทั่วโลกยังให้ความสนใจกับกรีซที่จะถึงกำหนดจ่ายคืนหนี้ US$300 ล้านให้ IMF ศุกร์นี้ซึ่งทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ยังไม่มีท่าทีของการประนีประนอม
(-) ตลาดหุ้น EM โดยเฉพาะ TIP มีความเสี่ยง Yield ของพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ยังคงพุ่งสูงขึ้นในระยะนี้จากการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในอนาคต (ส่วนใหญ่คาดเดือน ก.ย.นี้) ตลาดหุ้น EM โดยเฉพาะ TIP ซึ่งเคยเป็นที่ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติเพราะให้ผลตอบแทนสูง (มี beta สูง) แต่วันนี้กลับเปราะบางมากเพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต่ำผิดคาด และผันผวนสูงต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ
(-) เงินเฟ้อชะลอกว่าคาด สะท้อนความระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน พ.ค. -1.27% Y-Y ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 6 ปี จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง (ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงตาม) แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน เพิ่มเพียง +0.94% Y-Y, +0.05% M-M ต่ำกว่าปกติที่เพิ่มขึ้น 0.2% M-M สะท้อนว่าผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อต่ำอาจลากยาวไปถึง 3Q15 การประชุม กนง. 10 มิ.ย. นี้ จึงไม่ปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ย สัญญาณดังกล่าวไม่ดีต่อกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ เราแนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มแบงก์ ที่อยู่อาศัย และค้าปลีก
(+) IVL ล่าสุดเข้าซื้อหุ้น 100% ใน CEPSA ซึ่งเป็นโรงงานผลิต PTA ที่ใหญ่ที่สุดในแคนนาดา กำลังผลิต 6 แสนตัน/ปี จะเริ่มรับรู้รายได้ มิ.ย. นี้ บวกกับการทยอยซื้อกิจการตั้งแต่ 1Q15 คือ Bangkok Polyester กำลังผลิต PET 1.05 แสนตัน/ปี และ Polyplex Resin San ประเทศตุรกี กำลังผลิต PET 2.52 แสนตัน/ปี และยังมีดีลซื้อกิจการที่จะสรุปในช่วง 3Q15 อีก 1 บริษัท รวมแล้วจะมีกำลังผลิตติดตั้งสิ้นปีนี้ 9 ล้านตัน/ปี (+25% Y-Y) โดยคาดว่ากำลังผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน +21% Y-Y เราคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 5.2 พันล้านบาท +250% Y-Y ยังคงราคาเป้าหมาย 30 บาท แนะนำซื้อ
(-) DCON แนวโน้มธุรกิจวัสดุก่อสร้างยังซบเซา ขณะที่ใน 3 ปีนี้จะยังไม่มีรายได้จากโครงการอสังหาริมทรัพย์ (คอนโดใหม่จะเริ่มรับรู้รายได้ปี 2018) และถ้าบริษัทจะลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 1.5-2 ปี กำไร 2 ปีนี้จึงถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก เราปรับกำไรปีนี้ลง 36% เหลือ 318 ล้านบาท -51.4% Y-Y ส่วนกำไรปีหน้าจะฟื้นตามเศรษฐกิจและการลงทุนโดยรวม หุ้นปันผลที่เข้ามาเทรดกลาง พ.ค. ที่ผ่านมาจึงยิ่ง dilute EPS ทำให้ในช่วง 2 ปีนี้ DCON ไม่ใช่ทั้งหุ้น High growth และ High yield เหมือนในอดีต ลดคำแนะนำเป็นขาย ปรับเป้าหมายเหลือ 1.40 บาท
ตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานที่ลดลงกว่าตลาดคาดรวมถึงแรงกดดันจากปัญหาหนี้ของกรีซ
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปเมื่อคืนปิดในแดนลบค่อนข้างแรงโดยนักลงทุนจับตาดูสถานการณ์หนี้ของกรีซว่าจะสามารถชำระคืนแก่ IMF ได้หรือไม่
ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวผสมมีทั้งบวกและลบ โดยนักลงทุนจับตาทั้งสถานการณ์หนี้กรีซรวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของจีนและออสเตรเลีย
ค่าเงินบาทยังแกว่งตัวทรงตัวออกด้านข้าง ล่าสุดเคลื่อนไหวในกรอบ 33.65-33.80 บาท/ดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน ก.ค. ปิดที่ 61.26 เหรียญ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.06 ดอลลาร์/บาร์เรล จากค่าเงินดอลลาร์ที่พลิกมาอ่อนค่ารวมถึงสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ราคาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 1,194.40 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 5.70 เหรียญ/ออนซ์ จากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
3 มิ.ย. - จีน:HSBC China Composite PMI (พ.ค.)
- ยูโรโซน:Markit Eurozone Composite PMI (พ.ค.), ECBประชุม
4 มิ.ย. - ไทย:ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (พ.ค.)
- เกาหลีใต้: 1Q15 GDP
- สหรัฐ: รายงาน Beige Book
- อังกฤษ: BOEประชุม
5 มิ.ย. - สหรัฐ: การจ้างงานนอกภาคเกษตร (พ.ค.) (ตลาดคาดเพิ่ม 2.23 แสนราย เท่ากับเดือนก่อน),อัตราการว่างงาน (ตลาดคาดคงที่ที 5.4%)
- ยูโรโซน: 1Q15 GDP
- กรีซ: ครบกำหนดการชำระหนี้ให้ IMF 309 ล้านยูโร
- การประชุม OPEC
8 มิ.ย. - ญี่ปุ่น: 1Q15 GDP
- จีน:ดุลการค้า (พ.ค.)
9 มิ.ย. - จีน:อัตราเงินเฟ้อ (พ.ค.)
10 มิ.ย. - ไทย: กนง.ประชุม
- จีน: ยอดสินเชื่อเดือน พ.ค.
Contact person : Somchai Anektaweepon
Register : 002265
Tel: 02-646-9967, 02-646-9852
www.fnsyrus.com
FB: Finansia Syrus Research