WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASP copyบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      แนวโน้ม ธปท. ยังคงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยภาคส่งออก จึงยังคงกลยุทธ์การลงทุนโดยเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่อ่อนตัว/เงินบาทอ่อนค่า (TUF, VNG, HANA, RCL) เลือก VNG([email protected]) และ TUF (FV@26) เป็น Top Picks

แรงซื้อบ้านสหรัฐดีขึ้น ก่อน FED จะมีการขึ้นดอกเบี้ย
         การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ยังมีความขัดแย้งกัน กล่าวคือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น 7 พันราย ถือว่าดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นราย แต่ถือว่ายังมีความผันผวน หากเทียบกับยอดขอรับสวัสดิการว่างงานใหม่เฉลี่ย 4 สัปดาห์ก่อนหน้า เพิ่มขึ้นราว 5 พันราย สะท้อนถึงความผันผวนในตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังมีอยู่ ซึ่งทำให้โอกาสที่อัตราการว่างงานจะลดลงจากระดับ 5.4% ลงมาใกล้เคียงกับเป้าหมายของ Fed ที่ 5% ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ขณะที่พบว่าตลาดบ้านมีสัญญาณดีที่ขึ้นอย่างมาก สะท้อนจากดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 13.4% mom (3.4% yoy) มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 10.9% mom (0.9% yoy) สะท้อนว่าการปิดโอนเร็วขึ้น ตามมาด้วยตัวเลขบ้านใหม่ (New Home Sale) เดือน เม.ย. ที่ปรับตัวขึ้น 6.8% (สูงกว่าที่คาด 1.2%) ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยเร่ง น่าจะเกิดจากตลาดคาดหวังว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ดังกล่าวข้างต้น

     อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะตอบรับจากข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วบ้าง สะท้อนจากดัชนีหุ้นสหรัฐแกว่งตัวมานานติดต่อกันเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา (พบว่า ดัชนี DJIA อยู่ห่างจากระดับที่ปิดปลายปี 2557 ที่ 17,500 จุด จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 18,300 ไม่มากนัก โดยปรับตัวขึ้นเพียง 3.58% ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ underperform ตลาดพัฒนาแล้วอื่น ๆ ทั้งยุโรปและญี่ปุ่น ที่ปรับตัวขึ้นประมาณ 18.7%และ 22.2% ตามลำดับ
      ขณะที่ทางฝั่งยุโรป พบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีกว่าตลาดคาด กล่าวคือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 103.8 (สูงกว่าคาดการณ์ที่103.5 และเทียบกับ 103.7 เดือน เม.ย.) และความเชื่อมั่นภาคบริการ มาอยู่ที่ 7.8 (ดีกว่าคาดการณ์ที่ 6.7 ซึ่งใกล้เคียงกับ 6.7 เดือน เม.ย.) ส่วนตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์อยู่ที่โดยยังติด -3 (ดีขึ้นจาก เม.ย.ที่อยู่ระดับ -3.2) และ -5.5 (คงที่จากเดือนก่อนหน้า) ตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน QE ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่กลาง มี.ค. เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางฝั่งยุโรปยังมีอยู่เนื่องจากการเจรจาปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อการอนุมัติเงินช่วยเหลือกรีซ ก้อนสุดท้าย ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งอาจทำให้กรีซเผชิญกับการผิดชำระหนี้รอบใหม่

 

ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องวันที่ 2
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 188 ล้านเหรียญ โดยซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันแรกราว 247 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไต้หวันถูกซื้อสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) ส่วนที่เหลือคือ กลุ่ม TIP ยังคงถูกขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง นำโดยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิ 34 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 15) ถ้านับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ถึงวานนี้ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น และตลาดหุ้นอินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิเป็นวันแรกราว 37 ล้านเหรียญ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นตลาดหุ้นที่ขายสะสมสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 284 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิราว 21 ล้านเหรียญ หรือ 726 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ตรงข้ามกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 1,157 ล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3,727 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 1,569 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดยังอยู่ในโซนอ่อนค่าที่ 33.77 บาท/ดอลลาร์

 

นโยบายหนุนส่งออก สะท้อนว่าการลดดอกเบี้ยไทยยังมีอยู่
     ปัจจัยเรื่องเงินบาทอ่อนค่าดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแส เพราะนอกจากจะยังไม่เห็นเม็ดเงินทุนต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดหุ้นในระยะสั้น ๆ แล้ว ตรงกันข้ามยังมีแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรรัฐบาล (ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่ามียอดขายสุทธิแล้วราว 1.2 หมื่นล้านบาท เทียบกับที่ยอดซื้อสุทธิต่อเนื่องมาหลายปี เช่นปี 2557 ซื้อสุทธิ 2.12 แสนล้านบาท และ 4.20 แสนล้านบาทในปี 2556 โดยรวมจึงมียอดคงค้างสุทธินับจากปี 2556 อยู่ 6.17 แสนล้านบาท) ทาง ธปท. ยังได้ปรับมุมมองใหม่ โดยเห็นว่าการปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าจะเอื้อต่อภาคส่งออก (แตกต่างในอดีตที่ ธปท. ไม่เชื่อว่าการใช้เงินบาทอ่อนค่าจะหนุนการส่งออก โดยเชื่อว่าขึ้นกับตลาดส่งออกเป็นสำคัญ) ซึ่งภายใต้แนวคิดนี้ทำให้ตลาดคาดหวังว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีโอกาสจะปรับลดลงได้อีก หลังจากปรับลดลงไปแล้ว 2 ครั้งรวม 0.5% นับจากต้นปี โดย ASPS ประเมินว่าโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะอยู่ในกรอบ 0.25-0.5% จากปัจจุบัน 1.5% (จนถึงสิ้นปีนี้จะมีการประชุม กนง. อีก 4 ครั้ง ครั้งถัดไปคือ 10 มิ.ย. 2558) ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน โดยอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เนื่องจาก

 

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

หุ้นที่ได้ประโยชน์/เสียประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง
        ภายใต้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง น่าจะหนุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงได้แก่ หุ้นลิสซิ่ง ซึ่งนักวิเคราะห์ ASPS คาดว่าดอกเบี้ยที่ลดลงทุก 25bp จะทำให้กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 0.78% โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีต้นทุนการกู้ยืม (ภาระหนี้สิน) เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ส่งผลให้ส่วนที่เป็นฐานต้นทุนลดลง เร็วกว่าดอกเบี้ยรับจากการปล่อยสินเชื่อ (เพราะมีสัดส่วนที่เป็นดอกเบี้ยคงที่สูงกว่า ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว) หุ้นเด่นคือ ASK ([email protected]) และยังมีจุดเด่นคือ มีค่า PER ต่ำเพียง 8.4 เท่าแต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงมากถึง 8% ตามมาด้วย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แม้เชื่อว่าจะไม่ได้กระตุ้นกำลังซื้อโดยตรงก็ตาม แต่คาดว่าภาพอุตสาหกรรมโดยรวมน่าจะได้รับ sentiment เชิงบวก กล่าวคือ ผู้พัฒนาบ้านขาย สามารถรับรู้ได้ตามแผนหรือเร็วกว่าคาดเพราะดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจการโอนกรรมสิทธิ์เร็วขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการเงินจะมีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดลง จากการศึกษาของนักวิเคราะห์ ASPS ประเมินว่าดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% จะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุน หายไป 139 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% ของประมาณการกำไรปี 2558 หุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่นชอบ จะเน้นที่มีฐานลูกค้าระดับกลางและล่าง คือ SPALI ([email protected]) มีค่า PER ต่ำเพียง 5.6 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงถึง 7.1% ตามมาด้วย PS ([email protected]) มีค่า PER ต่ำเพียง 8.3 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงถึง 4.2%
       ตรงกันข้ามหุ้นที่คาดว่าจะเสียประโยชน์ยังเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% จะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2558 น่าจะหายไปราว 1 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.67% จากฐานกำไรที่ประเมินไว้ที่ 2.23 แสนล้านบาท โดย ธ.พ. ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงสุดกรณีนี้ คือ KTB และ BBL ตรงกันข้าม ธ.พ. ที่จะได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยขาลง มากที่สุดคือ BAY, KKP อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ ASPS ได้มีการปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่ม ธ.พ. โดยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงล่วงหน้าแล้วที่ 1.25% แล้ว (ตามปกติ ธ.พ. จะลดลงล่าช้า และในอัตราน้อยกว่า ดอกเบี้ยนโยบาย หรือลดเพียง ครึ่งหนึ่งของที่ประกาศลดเท่านั้น) จึงคาดว่าผลกระทบต่อ ราคาหุ้นกลุ่ม ธ.พ. น่าจะเริ่มมีจำกัด หลังจากที่ปรับลดลง 26% จากจุดสูงสุดของปีนี้ เทียบกับ SET ปรับตัวลดลงเพียง 7.5% ในช่วงเดียวกัน
ตามมาด้วยหุ้นประกันชีวิต เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงในภาวะดอกเบี้ยขาลง จากการศึกษาบริษัทจดทะเบียน 4 แห่ง (แบ่งประกันวินาศภัย 1 แห่งคือ BKI ประกันชีวิต 1 แห่ง คือ BLA ประกันภัยต่อ 1 แห่ง คือ THRE และประกันชีวิตต่อ 1 แห่ง คือ THREL) สามารถแยกพิจารณาผลกระทบได้ดังนี้
       กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต (BKI, BLA)จะได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจประกันวินาศภัย กล่าวคือ กลุ่มประกันชีวิตจะมีเบี้ยรับรวมที่มีอายุยาวนานกว่า (Duration) กว่าประกันวินาศภัย (เป็นปีต่อปี) ในช่วงดอกเบี้ยขาลง บริษัทฯ ประกันชีวิตจะต้องเผชิญกับ interest rate risk ในด้านหนี้สินคือเบี้ยประกันชีวิตรับ ซึ่งจะต้องคำนวณเปรียบเทียบมูลค่าของหนี้สินด้านการประกันชีวิตตาม GPV (Gross premium valuation) ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาดหรือ spot rate (benchmark อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 10 ปี) เปรียบเทียบกับ NPV (Net premium valuation) ซึ่งคำนวณโดยใช้อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ทำสัญญา ทั้งนี้หากพบว่า GPV สูงกว่า NPV จะทำให้บริษัทประกันชีวิตต้องกันสำรองเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นให้เท่ากับ GPV สะท้อนได้จากการที่ BLA ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองเบี้ยฯ เพิ่มขึ้นกว่า 5 พันล้านบาทในปี 2557 เนื่องจาก yield curve ที่ shift ลงมาถึง 1% กว่าในช่วงเวลาดังกล่าว
      ส่วนทางด้านฝั่งสินทรัพย์ ที่เกิดจากการนำเงินที่ได้จากเบี้ยประกันรับไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่มคือ สินทรัพย์ระยะสั้น ได้แก่ เงินลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้ในกลุ่มเพื่อค้า (ผ่าน P/L)และเผื่อขาย ซึ่งจะต้องรับรู้ผลกำไร-ขาดทุนตามราคาตลาด (mark-to-market) โดยกรณีที่ อัตราดอกเบี้ยลดลงนั้น จะส่งผลบวกต่อการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุน ซึ่งจะมีการรับรู้ผ่านงบกำไรขาดทุน ผ่าน comprehensive income ที่แสดงไว้ต่อจากงบกำไรขาดทุน และ จะต้องรับรู้ผ่านงบดุล) แต่บริษัทประกันชีวิตได้รับประโยชน์ตรงนี้น้อย เพราะเงินลงทุนระยะสั้นมีมีสัดส่วนไม่เกิน 10% ของเงินลงทุน และส่วนใหญ่ กว่า 90% เป็นประเภทที่จะถือจนครบกำหนด (Held to maturity) ซึ่งจะต้องแสดงไว้ที่ราคาทุนเสมอ ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลบวก/ผลกระทบจากการ mark-tomarket ทั้งในช่วงดอกเบี้ยขาลงหรือกลับเป็นขาขึ้น
ด้าน Reinvestment risk โดยทั้งบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย จะได้รับผลกระทบเท่าเทียมกันจากการที่เงินลงทุนที่ครบกำหนดในแต่ละปี ซึ่งต้องนำไปลงทุนด้วยอัตราผลตอบแทนที่ลดลงในกรณีที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น จึงเห็น ROI จากพอร์ตพันธบัตรและตราสารหนี้ที่ลดลงมาโดยต่อเนื่อง

หุ้นที่ได้ประโยชน์/เสียประโยชน์ จากเงินบาทอ่อนตัว
     นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ยังเป็นผลดีต่อภาคส่งออก ที่มีรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์สุทธิ (รายได้ดอลลาร์ มากกว่าต้นทุนดอลลาร์ หรือมีต้นทุนเป็นเงินบาท) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คือ HANA (FV@B48) รองลงมาคือ DELTA (FV@B78), KCE (FV@B60) และ SVI([email protected]) ตามด้วยผู้ส่งออก Particle board คือ VNG ([email protected]) ผู้ส่งออกอาหาร ได้แก่ TUF (FV@B26), CPF(FV@B28) และ CFRESH([email protected]) รวมถึงหุ้นเดินเรือเทกองที่มีรายได้เป็นสกุลดอลลาร์ และยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปัจจุบัน คือ RCL ([email protected])
    ตรงกันข้าม หุ้นที่เสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าอาจจะต้องหลีกเลี่ยงระยะสั้น ๆ ได้แก่ เหล็ก ได้แก่ SMIT เพราะเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบเหล็กแข็ง และเครื่องจักรจากต่างประเทศ (มีการทำ Forward Contract ไว้ราว 50-60% ของต้นทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ) ตามมาด้วย BSBM มีการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กแท่งยาว (Billet) จากต่างประเทศ โดยต้นทุน Billet คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% ของต้นทุนขายรวม และ TMT เสียประโยชน์เล็กน้อย เพราะมีการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กจากต่างประเทศบางส่วน ยกเว้น TSTH ไม่กระทบ เพราะใช้วัตถุดิบจากเศษเหล็กในประเทศ และ MCS มีรายได้และต้นทุนอยู่ในรูปสกุลเงินเยน จึงเป็นการป้องกันตามธรรมชาติส่วน SSI ได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย เนื่องจากราคาเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศมาแข่งขันมีต้นทุนที่สูงขึ้น


      ตามมาด้วย ขนส่งทางอากาศ : ส่วนใหญ่เสียประโยชน์ทั้งหมด เพราะแม้จะมีรายได้บางส่วนเป็นเงินสกุลเงินตราต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นสกุลดอลลาร์ราวๆ 40%-50% ของรายได้รวม) แต่ทางด้านต้นทุนมีสัดส่วนเป็นสกุลตราต่างประเทศเช่นกัน (สัดส่วน 60%-70% ของต้นทุนรวม อาทิ น้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกัน ค่าเช่าเครื่องบิน) จึงมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบสุทธิด้านลบสื่อสาร พบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ (ต้นทุนเป็นดอลลาร์) มาขายในประเทศไทย (รับเป็นเงินบาท) โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายมือถือและโครงข่าย ได้แก่ SIM เพราะนำเครื่องมือถือเข้ามาจำหน่าย ซึ่งมีต้นทุนนำเข้าคิดเป็น 80% ของต้นทุน ตามมาด้วย SAMTEL และ AIT มีสัดส่วนนำเข้าราว 50-60% ของต้นทุน ซึ่งจะกดดันประสิทธิภาพการทำกำไรในระยะสั้น ยกเว้นผู้ให้บริการมือถือได้รับผลกระทบน้อยคือ ADVANC, DTAC, TRUE และ JAS ขณะที่ THCOM ไม่ได้รับผลกระทบเลย แม้รายได้เป็นสกุลดอลลาร์ราว 80% แต่มีต้นทุนบริการรวมถึงหนี้สินในรูปสกุลดอลลาร์ กล่าวคือต้นทุนบริการที่สัดส่วนราว 50% ของต้นทุนรวม และมีหนี้สินจากเงินกู้ดาวเทียมไทยคม 6 ราว 100 ล้าน USD ที่เป็นสกุลดอลลาร์ โดยรวมจึงหักล้างกันพอดี


       ธุรกิจเดินเรือเทกอง โดยเฉพาะ TTA, PSL มีโครงสร้างรายได้ในรูปดอลลาร์ฯ ในอัตราใกล้เคียงกับต้นทุน แต่ในภาวะธุรกิจขาลงรายได้น้อยกว่าต้นทุน จะทำให้ผลขาดทุนที่แปลงเป็นรูปเงินบาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!