- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 28 May 2015 17:20
- Hits: 1145
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้อาจจะได้รับ Sentiment เชิงบวกจากต่างประเทศ แต่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวล้าช้า และเงินบาทที่อ่อนค่ายังกดดัน SET กลยุทธ์เน้นหุ้นที่มีรายได้จากการส่งออก หรือสกุลดอลลาร์ เป็นหลัก (TUF, VNG, HANA, RCL) เลือก VNG([email protected]) และ TUF (FV@26) เป็น
Top Picks
SET Index 1,500.84
เปลี่ยนแปลง (จุด) 2.86
มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 31,750.70
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ -788.75
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 111.03
นักลงทุนสถาบันในประเทศ -1,466.87
นักลงทุนรายย่อย 2,144.60
ระยะสั้น ตลาดน่าจะกลับไปให้ความสนใจการแก้ปัญหากรีซ
หลังจากตลาดหุ้นไทยผ่านการปรับฐานตอบรับผลประกอบการงบงวด 1Q58 ที่ผิดหวังไปแล้วระดับหนึ่ง จนทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ได้ปรับลดประมาณการกำไรตลาดปี 2558 ลง 5.5% เหลือ 97.63 บาทต่อหุ้น (ทำให้ Expected P/E ขึ้นมาอยู่ที่ 15.5 เท่า ในปัจจุบัน ถือว่าสะท้อนมูลค่าที่เหมาะสม) พร้อมๆ กับยังคงสับสนกับตัวเลข GDP Growth ตามนิยามใหม่คือ Chain Value Measure แทนวิธีเดิม at constant price ดังที่เคยนำเสนอผ่าน Market Talk ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าประเด็นความเสี่ยงต่อการปรับลดทั้ง 2 ประเด็น ทั้ง GDP Growth และกำไรตลาดโดยรวมคาดว่ายังมีอยู่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจนักวิเคราะห์ของ ASPS และจะนำเสนอในภายหลัง อย่างไรก็ตามปัจจัยที่จะหนุนตลาดให้ฟื้นในระยะสั้นๆ คือ ความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คาดว่ายังมีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม หลังจากที่ปรับลดไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 0.5% ในปีนี้ มาอยู่ที่ 1.5% ในปัจจุบัน และคาดหวังว่าจะมีโอกาสจะปรับลดลงได้อีก 0.25-0.5% ในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งจนถึงสิ้นปี 2558 ทั้งนี้การประชุมรอบถัดไปคือ 10 มิ.ย. 2558 ซึ่งอาจจะกลับมาเป็นประเด็นบวกในช่วงดังกล่าวได้
นับจากช่วงนี้เป็นตันไป คาดว่าปัจจัยภายนอกน่าจะเริ่มกลับมามีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะการประชุมระดับปฏิบัติการระหว่างกรีซกับเจ้าหนี้ เพื่อจัดทำร่างแผนปฏิรูปฯ ในการขอรับเงินช่วยเหลือก้อนสุดท้าย วงเงิน 7.2 พันล้านยูโร (เป็นยอดเงินที่เคยได้รับอนุมัติความช่วยเหลือจาก TROIKA แต่ยังเบิกจ่ายไม่หมด) ซึ่งน่าจะส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ จำนวน 300 ล้านยูโร ที่มีกำหนดชำระเงินให้แก่ IMF ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุม G7 ที่กรุงเดรสเดน เยอรมนี ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้ ประเด็นที่จะมีการหารือกันหลักๆ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตเงินฝืดที่กำลังเกิดขึ้น โดยเบื้องต้นมีความเห็นที่จะให้ผ่อนคลายข้อกฏหมายแรงงาน โดยเฉพาะให้ผู้ประกอบการสามารถปลดคนงานได้หากมีการผละงานประท้วงโดยพลการ นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการเจรจาแผนปฏิรูปฯ ของกรีซคู่ขนานกันไปด้วย ขณะที่ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบ(QE) เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมาโดยขณะนี้ได้อัดฉีดเงินเข้าระบบแล้ว 1.75 แสนล้านยูโร โดยจะมีการเร่งอัดฉีดในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. นี้ก่อนที่จะลดการซื้อลงในช่วง ก.ค. และ ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดตราสารหนี้มีสภาพคล่องต่ำ โดยหากครบกำหนดช่วงการอัดฉีด ก.ย. ปีหน้าจะมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบรวม 1.14 ล้านล้านยูโร แม้จะคิดเป็น 1 ใน 4 ของการใช้ QE ของสหรัฐฯ แต่น่าจะมีส่วนหนุนสภาพคล่องโลก และเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นที่มีอยู่เพียงปัจจัยเดียวในขณะนี้
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นไทย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 129 ล้านเหรียญ แต่ยังคงซื้อสุทธิอยู่ 2 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นอินโดนีเซียซื้อสุทธิราว 17 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิราว 91 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศยังคงขายสุทธิ นำโดยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิ 28 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 14) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้สลับมาขายสุทธิเป็นวันแรกราว 185 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการขายสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 7 วัน) ส่วนตลาดหุ้นไทยสลับมาขายสุทธิราว 23 ล้านเหรียญ หรือ 789 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 5 วัน) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,467 ล้านบาท ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 4,708 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิ 144 ล้านบาท ส่วนค่าเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ 33.78 บาท/ดอลลาร์
เลือกหุ้นได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน หลีกเลี่ยงหุ้นที่เสียประโยชน์
ดังที่กล่าวไปแล้ววานนี้ว่า ระยะเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า อย่างน้อยในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกก็ตาม แต่คาดว่ายังเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับเม็ดเงินไหลเข้าของต่างชาติ คาดว่าจะยังไม่เห็นเม็ดเงินซื้อสุทธิต่างชาติกลับเข้ามาประเทศไทยในระยะสั้น ๆ โดยเฉพาะในช่วง พ.ค. และต่อเนื่อง มิ.ย. (เป็นภาวะปกติจะขายในช่วงนี้ 7 ปี และ 6 ปี จากสถิติย้อนหลัง 10 ปีตามลำดับ แต่จะกลับมาซื้ออีกครั้งในเดือน ก.ค. จากสถิติจะกลับมาซื้อ 9 ปีจาก 10 ปี) เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ พบว่าต่างชาติได้ขายสุทธิต่อเนื่อง (พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวเลขจาก ThaiBMA) นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่ามียอดขายสุทธิแล้วราว 1.4 หมื่นล้านบาท เทียบกับที่ยอดซื้อสุทธิต่อเนื่องมาหลายปี (2.12 แสนล้านบาทในปี 2557 และ 4.20 แสนล้านบาทในปี 2556 และมียอดคงค้างสุทธินับจากปี 2556 อยู่ 6.17 แสนล้านบาท) ขณะที่ปัจจัยเร่งให้มีการดึงเงินออกนอกประเทศ คือ แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่มีแนวโน้มลดลงดังกล่าวข้างต้น ดอกเบี้ยสหรัฐ กำลังจะกลับเข้าสู่ขาขึ้นอีกครั้งแม้จะเร็วที่สุดคือปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าก็ตาม
ล่าสุดเงินบาทยังคงอ่อนค่า ใกล้เคียง 33.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะแตะ 34 บาท ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติซับไพร์ม ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อภาคส่งออก ที่มีรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์สุทธิ (รายได้ดอลลาร์มากกว่าต้นทุนดอลลาร์ หรือมีต้นทุนเป็นเงินบาท) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คือ HANA (FV@B48) รองลงมาคือ DELTA (FV@B78), KCE (FV@B60) และ SVI([email protected]) ตามด้วยผู้ส่งออก Particle board คือ VNG ([email protected]) ผู้ส่งออกอาหารได้แก่ TUF (FV@B26), CPF(FV@B28) และ CFRESH([email protected]) รวมถึงหุ้นเดินเรือเทกองที่มีรายได้เป็นสกุลดอลลาร์ และยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปัจจุบัน คือ RCL ([email protected])
ตรงกันข้าม หุ้นที่เสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าอาจจะต้องหลีกเลี่ยงระยะสั้นๆ ได้แก่
เหล็ก : ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ SMIT ได้รับผลกระทบเชิงลบ เพราะเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบเหล็กแข็ง และเครื่องจักรจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากมีการทำ Forward Contract ไว้ราว 50-60% ของความเสี่ยง จึงน่าจะช่วยลดผลกระทบได้บ้าง, BSBM เสียประโยชน์ เนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล็กแท่งยาว (Billet) จากต่างประเทศ โดยต้นทุน Billet คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% ของต้นทุนขายรวม เช่นเดียวกับ TMT เสียประโยชน์เล็กน้อย เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กจากต่างประเทศบางส่วน ขณะที่ TSTH ไม่ได้ไม่เสียประโยชน์ เนื่องจากใช้วัตถุดิบจากเศษเหล็กในประเทศ ยกเว้น MCS เป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มเหล็กที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากรายได้อยู่ในรูปสกุลเงินเยนทั้งหมด แต่อัตราแลกเปลี่ยนขณะนี้ที่ยังสอดคล้องกับสมมติฐานปี 2558 ของฝ่ายวิจัยที่ 28 บาท/100 เยนอยู่ จึงยังไม่ได้สร้าง Upside ต่อราคาหุ้นเพิ่มเติมแต่อย่างใด ขณะที่ SSI ได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย เนื่องจากราคาเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศมาแข่งขันมีต้นทุนที่สูงขึ้น
ขนส่งทางอากาศ : ส่วนใหญ่เสียประโยชน์ทั้งหมด เพราะแม้จะมีรายได้บางส่วนเป็นเงินสกุลเงินตราต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นสกุลดอลลาร์ราวๆ 40%-50% ของรายได้รวม) แต่ทางด้านต้นทุนมีสัดส่วนเป็นสกุลตราต่างประเทศเช่นกัน (สัดส่วน 60%-70% ของต้นทุนรวม อาทิ น้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกัน ค่าเช่าเครื่องบิน) จึงมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบสุทธิด้านลบ
สื่อสาร : ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ (ต้นทุนเป็นดอลลาร์)มาขายในประเทศไทย (รับเป็นเงินบาท) โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายมือถือและโครงข่าย ได้แก่ SIM เพราะนำเครื่องมือถือเข้ามาจำหน่าย ซึ่งมีต้นทุนนำเข้าคิดเป็น 80% ของต้นทุน ตามมาด้วย SAMTEL และ AIT มีสัดส่วนนำเข้าราว 50%-60% ของต้นทุน ซึ่งจะกดดันประสิทธิภาพการทำกำไรในระยะสั้น ยกเว้นผู้ให้บริการมือถือได้รับผลกระทบน้อย คือ ADVANC, DTAC, TRUE และ JAS ขณะที่ THCOM ไม่ได้รับผลกระทบเลย แม้รายได้เป็นสกุลดอลลาร์ราว 80% แต่มีต้นทุนบริการรวมถึง หนี้สินในรูปสกุลดอลลาร์ กล่าวคือ ต้นทุนบริการที่สัดส่วนราว 50% ของต้นทุนรวม และมีหนี้สินจากเงินกู้ดาวเทียมไทยคม 6 ราว 100 ล้าน USD ที่เป็นสกุลดอลลาร์ โดยรวมจึงหักล้างกันพอดี
ธุรกิจเดินเรือเทกอง โดยเฉพาะ TTA, PSL มีโครงสร้างรายได้ในรูปดอลลาร์ฯ ในอัตราใกล้เคียงกับต้นทุน แต่ในภาวะธุรกิจขาลงรายได้น้อยกว่าต้นทุน จะทำให้ผลขาดทุนที่แปลงเป็นรูปเงินบาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ส่วนธุรกิจที่เน้นเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่าคือ
รับเหมาก่อสร้าง : ส่วนใหญ่ไม่กระทบ ยกเว้น ITD มีเงินลงทุนในต่างประเทศหลายแห่ง ดังนั้นกรณีบาทอ่อนค่า จะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นกับบริษัทย่อย เมื่อแปลงค่ากลับมาเป็นเงินบาท
วัสดุก่อสร้าง : ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ ยกเว้น TPIPL มีหนี้สินหลักอยู่ในสกุลยูโร หากเงินบาทอ่อนค่าส่วนกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม, ค้าปลีก-ส่ง, โรงพยาบาล, บันเทิง, พัฒนาที่อยู่อาศัย และโรงแรม ไม่รับผลกระทบเช่นกัน ขณะที่ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี, ยานยนต์ แม้จะมีรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์ แต่มีต้นทุนในรูปสกุลดอลล่าร์ใกล้เคียงกันจึงถือว่าเป็นการป้องกันโดยธรรมชาติ หรือ Natural Hedge
นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล