- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 27 May 2015 16:45
- Hits: 1157
บล.เอเซีย พลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า กดดัน SET กลยุทธ์เน้นหุ้นที่มีรายได้จากการส่งออก หรือสกุลดอลลาร์เป็นหลัก (TUF, VNG, HANA, RCL) เลือก VNG([email protected]) และ TUF (FV@26) เป็น Top Picks
SET Index 1,497.98
เปลี่ยนแปลง (จุด) -10.18
มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 30,006.69
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ 1,113.68
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -1,221.14
นักลงทุนสถาบันในประเทศ -1,719.05
นักลงทุนรายย่อย 1,826.51
ยอดส่งออกรวมหดตัวแต่ดีกว่าคาด สินค้าส่งออกมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง
วานนี้การรายงานตัวเลขการส่งออก เดือน เม.ย.ในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.7%yoy ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ -3.3% สาเหตุหลักน่าจะมาจากเศรษฐกิจคู่ค้ายังคงชะลอตัว โดยเฉพาะญี่ปุ่น (-3%) และยุโรป (-3.5%) นอกจากนี้ น่าจะเป็นผลจากเงินยูโรและเยนยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบ (QE) มีผลทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ส่วนตัวเลขการนำเข้าเดือน เม.ย. หดตัวถึง -6.84% (มากกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยที่ -6.8%) ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน เม.ย. ขาดดุล 23,823 ล้านบาท แต่เมื่อหักการส่งออกไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำมันและทองคำแล้ว มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 0.1%yoy และการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม (หักน้ำมันและทองคำ) จะขยายตัวถึง 1.1%yoy จะเห็นว่าการส่งออกน่าจะมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นในเดือน พ.ค. โดยตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้นคือ สหรัฐฯ (ขยายตัว 8.4%yoy ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน) ออสเตรเลีย เริ่มฟื้นตัว และจีนหดตัวลดลง และน่าจะได้ประโยชน์จากเงินที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง (ผลจากการใช้นโยบายผ่อนคลายโดยการลดดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท.)
ทั้งนี้ในช่วงเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. การส่งออกมีมูลค่าอยู่ที่ 2.28 ล้านล้านบาท หดตัวจากปีก่อนหน้าในช่วงเดียวกัน -4% (2.36 ล้านล้านบาท) เทียบกับเป้าหมายของสภาพัฒน์ฯ ที่คาดว่าทั้งปี 2558 มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 0.2%yoy (ประมาณ 7.3 ล้านล้านบาทบาท) และ ธปท.ที่คาดขยายตัว 0.8 % (ประมาณ 7.37 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 31.1% และ 30.9% ของมูลค่าเป้าหมายทั้งปีของสภาพัฒน์ฯ และ ธปท. ตามลำดับ ทำให้เป้าหมายการส่งออกของทั้ง 2 หน่วยยังเป็นไปได้
ต่างชาติยังคงซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องวันที่ 5
วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคราว 212 ล้านเหรียญ แต่ยังคงขายสุทธิเหลือประเทศเดียว คือ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่ถูกขายสุทธิ 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 13) ที่เหลืออีก 4 ประเทศยังคงซื้อสุทธิ นำโดยตลาดหุ้นอินโดนีเซียสลับมาซื้อวันแรกราว 10 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่ถูกซื้อสุทธิราว 26 ล้านเหรียญ และตลาดหุ้นไต้หวันสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 156 ล้านเหรียญ แต่ถ้านับจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไต้หวันขายสะสมสุทธิสูงสุดในภูมิภาคราว 284 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นไทยถูกซื้อสุทธิราว 33 ล้านเหรียญ หรือ 1,114 ล้านบาท ซึ่งตรงข้ามกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิราว 1,719 ล้านบาท
ทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 17,517 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 577 ล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าถึง 33.73 บาทต่อดอลลาร์ในเช้านี้
เน้นหุ้นได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน : KCE/HANA/VNG/TUF
เชื่อว่าแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่า จะกลับมากดดันตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง เพราะนอกจากการส่งออกที่ยังเผชิญกับภาวะชะลอตัวและทำให้เกิดขาดดุลการค้าแล้ว เงินทุนไหลเข้าในตลาดเงินตลาดทุนมีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้ามกลับมาโอกาสไหลออกมากขึ้นกล่าวคือ หากพิจารณาทางด้านตลาดหุ้น พบว่า ต่างชาติยังซื้อสลับขาย โดยนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบันขายสุทธิ 3.4 พันล้านบาท และนับว่าเป็นการขายต่อเนื่องกว่า 2 ปี (ทำให้ยอดซื้อสุทธิที่เคยสูงสุด 3.20 แสนล้านบาท ที่ราคาตลาด เมื่อกลางปี 2556 ลดลงมาเหลือ 4 หมื่นล้านบาท ในปัจจุบัน) และที่น่าเป็นห่วงก็คือ เม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวเลขจาก ThaiBMA) นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่ามียอดขายสุทธิแล้วราว 1.4 หมื่นล้านบาท เทียบกับที่ยอดซื้อสุทธิ 2.12 แสนล้านบาทในปี 2557 และ 4.20 แสนล้านบาทในปี 2556 ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดคงค้าง (นับจากปี 2556) อยู่ 6.17 แสนล้านบาท (นักลงทุนต่างชาติเคยซื้อสุทธิในตราสารหนี้สูงสุดในปี 2555 ที่ 8.9 แสนล้านบาท) ซึ่งมีความเสียงที่ยอดค้างของตราสารหนี้จำนวนนี้จะถูกขายออก โดยมีปัจจัยเร่งให้มีการดึงเงินออกนอกประเทศ คือ ผลตอบแทนจากตลาดเงินในประเทศ มีแนวโน้มลดลงตามการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ที่คาดว่าจะลดลงเพิ่มเติมอีก 0.25-0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่สหรัฐ มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
ล่าสุดพบว่าเงินบาทได้อ่อนค่าแตะ 33.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะแตะ 34 บาท ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่ามากสุด ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติซับไพร์ม ทำให้เงินบาทมีอัตราอ่อนค่ามากสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราว 4.3% หากนับจาก 20 เม.ย. 2558 หลังจากที่ กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งนับว่ามีอัตราการอ่อนค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหากพิจารณาในช่วงเดียวกัน กล่าวคือ ฟิลิปปินส่อ่อนค่า 1.2% อินโดนีเซีย อ่อนค่า 2.6% มาเลเซีย อ่อนค่า 0.4% เป็นต้น ทั้งนี้แม้ค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่จะเป็นผลดีต่อภาคส่งออก ที่มีรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์สุทธิ (รายได้ดอลลาร์ มากกว่าต้นทุนดอลลาร์ หรือมีต้นทุนเป็นเงินบาท) ซึ่งสรุปเป็นรายกลุ่มได้ดังนี้
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยพบว่า ทุกๆ 1 บาท ที่เงินบาทอ่อนค่า จะส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มฯ
ในปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 5.4% โดยหากพิจารณาเป็นรายบริษัทพบว่า HANA (FV@B48) จะมีกำไรจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจากเดิมมากสุดถึง 6.2% (โครงสร้างรายได้ 100% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ โครงสร้างต้นทุน 60% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ) Fair Value จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.2% รองลงมาคือ DELTA (FV@B78) บาทที่อ่อนค่าจะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.7% และ Fair Value เพิ่ม 6.9% (โครงสร้างรายได้ 72% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ โครงสร้างต้นทุน 54% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ) และ KCE (FV@B60) คาดจะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.5% (โครงสร้างรายได้ 70% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ โครงสร้างต้นทุน 50% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยคาดว่า Fair Value Fair Value เพิ่ม 6.9 ส่วน SVI เนื่องจากโครงสร้างรายได้ 85% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ โครงสร้างต้นทุน 75% เป็นดอลลาร์สหรัฐฯดังนั้นเงินบาทที่อ่อนค่า 1 บาท จะทำให้ กำไรสุทธิปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.1% และเพิ่ม Fair Value 6.2%
ขณะที่คาดกำไรในงวด 2Q58 น่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง และดีกว่างวด 1Q58 ราว 10% โดยจะทำสถิติสูงสุดในงวด 3Q58 เนื่องจากเป็นผลของฤดูกาล (การส่งออกจะเริ่มดีตั้งแต่ไตรมาส 2 และต่อเนื่องงวด 3Q58) โดยบริษัทที่คาดว่าจะมีผลกำไรที่ดีในลักษณะดังกล่าวได้แก่ KCE, HANA, SVI ยกเว้น DELTA ที่ผลกำไรในงวด 2Q58 อาจจะอ่อนตัวเล็กจากงวด 1Q58 ตามผลของฤดูกาล แต่คาดว่าจะกลับมาโดดเด่นในงวด 3Q58 เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมโดยรวม แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาราคาหุ้นปัจจุบันเทียบกับ Fair Value พบว่าส่วนใหญ่มี upside จำกัด กล่าวคือ KCE มี upside 11.6% HANA upside 11.6%, SVI upside 6.1% และ DELTA ราคาหุ้นเกิน Fair Value 13.1% จึงแนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เลือก HANA (Dividend yield 4%) เป็น Top pick
ส่งออก Particle board ได้แก่ VNG ([email protected]) เนื่องจากมีโครงสร้างรายได้จากการส่งออก 65% ขณะที่มีวัตถุดิบนำเข้าราว 30% ทำให้รายได้รับสุทธิในรูปดอลลาร์ราว 35% ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่า 1 บาท จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% จากประมารการเดิม ขณะที่คาดว่าผลการดำเนินงานงวด 2Q58 และ 3Q58 จะเข้าสู่ช่วง High Season เนื่องจากความต้องการส่งออกแผ่น MDF และ Particle Board จะเพิ่มตามฤดูกาล โดย VNG ได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า Laminate Flooring ซึ่งเป็นสินค้า High Value Added และออกจำหน่าย เชิงพาณิชย์ตั้งแต่งวด 2Q58 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตทั้งเศษไม้ยางพาราและการยังทรงตัวในระดับต่ำ จะช่วยเพิ่ม margin โดยรวม ภายใต้ประมาณการเดิม คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตถึง 42% ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี Expected P/E ต่ำมากเพียง 9.9 เท่า และ Div. Yield สูงถึง 4.5% แนะนำสะสมลงทุน
ส่งออกอาหาร ได้แก่ TUF (FV@B26) เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า มีฐานการผลิตกระจายตัวในหลายประเทศไทย อเมริกา (Chicken of sea) และในยุโรป (MW Band, King Oscar และ MerAlliance) และล่าสุดเข้าซื้อกิจการ Bumble Bee ซึ่งคาดว่าจะรวมงบการเงินเข้ามาในงวดสุดท้ายของปีนี้ แต่รับรู้กำไรสุทธิเต็มปีในปี 2559 ซึ่งจะทำให้ผลกำไรสุทธิในปี 2559 เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 65.8% yoy เทียบกับปี 2558 เติบโต 15% แต่ก็ยังแต่ EPS เติบโตเพียง 1.9%yoy เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเพิ่มทุน (เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าหุ้น ทำให้เกิด dilution effect 15%) ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี upside สูงถึง 25% Expected P/E ปีนี้ราว 19 เท่า และจะลดลงเหลือ 11.5 เท่าในปีหน้า รายได้ในรูปสกุลต่างประเทศ (ดอลลาร์ + ยูโร) ราว 90% ขณะที่ต้นทุนสกุล(ดอลลาร์ + ยูโร) 75% ดังนั้น เงินบาทอ่อนค่า 1 บาท จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3.3% และจะทำให้ Fair Value เพิ่มขึ้น 4.5% (ประเมินโดยใช้ DCF)
ตามด้วย CPF(FV@B28) ปัจจุบันมีฐานรายได้หลักมาจากผลิตสัตว์บก อาหารสัตว์ และการลงทุนในต่างประเทศกว่า 59% ของรายได้รวม ขณะที่มีรายได้จากการส่งออกกุ้งเพียง 2% และในจำนวนนี้เป็นการกุ้งส่งออกไปยุโรปเพียง 0.2% ของรายได้รวมโครงสร้างรายได้จากการส่งออก บวกกับ ธุรกิจต่างประเทศ รวมราว 70% ที่เหลือ 30% ในประเทศ ขณะที่ต้นทุนอยู่ในรูปสกุลต่างประเทศ 50% จึงได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า กล่าวคือ กำไรสุทธิเพิ่ม 5% หากเงินบาทอ่อนค่าลงทุก 1 บาท ขณะเดียวกันคาดว่าผลประกอบการจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในงวด 2Q58 เนื่องจากผลของฤดกาล และจะดีขึ้นตามลำดับใน 2H58 ทั้งตลาดเนื้อสัตว์ในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากปัญหาการผลิตเกินความต้องการลดลง และธุรกิจต่างประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่งวด 1Q58 ได้แก่ตุรกี ตามมาด้วย เวียดนาม และ จีน และราคาตลาดมี upside 15.7% และ Dividend Yield 2.45%
นอกจากนี้ CFRESH([email protected]) ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้ง 100% แต่ต้นทุนการผลิตเป็นเงินบาทเกือบทั้ง 100% จึงน่าจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงกำลังเผชิญปัญหา จากการที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองฯ แก่ประเทศไทยด้วยเหตุผลที่มีการใช้แรงงานผิดกฏหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยมีเวลาในแก้ไขปัญหาประมงไทยจนถึงเดือน ต.ค. 2558 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้ประกอบการไทยที่จะไม่ได้รับผลกระทบครั้งนี้น่าจะเป็นผู้ส่งออกกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ผลผลิตจากการเลี้ยงในฟาร์ม
นอกจากนี้ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันต่ำ
RCL ([email protected]) ได้รับผลบวกจากต้นทุนน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลในงวด 2Q58 คาดจะหนุนให้ปริมาณการขนส่งเป็นจุดสูงสุดของปี แม้งวด 3Q58 ปริมาณขนส่งอาจลดลงจากงวด 2Q58 เพราะอิทธิพลของพายุและลมมรสุม และเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลอีกครั้งในงวด 4Q58 แต่โดยรวมทั้งปีคาดว่าผจะเติบโตได้ถึง 36% จากปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี P/BV ต่ำมากเพียง 0.88 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 1.4 เท่า)
นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล