- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 15 May 2015 16:37
- Hits: 1377
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาดตลาดยังให้น้ำหนักต่อการรายงาน GDP Growth งวด 1Q58 ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ คาดไม่สดใส แต่อาจได้รับ sentiment เชิงบวกระยะสั้น จากความคาดหวังว่ายุโรปจะใช้ QE ต่อเนื่อง แม้มีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ตาม ยังเลือกหุ้นที่เติบโตจากภายนอก RCL (FV@B 14.70) และ VNG([email protected]) เป็น Top Picks
กรณีทำประชามติ ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนไปกลางปี 2559
การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นประเด็นที่ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่าเมื่อกระบวนการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแล้วเสร็จ ต้องจัดให้มีการการทำประชามติเพื่อฟังความเห็นจากประชาชนส่วนใหญ่ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามจากการติดตามกระแสการเคลื่อนไหวพอประมวลได้ว่า มีความต้องการจากหลายฝ่ายที่เสนอให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ โดยเมื่อ 13 พ.ค.2558 คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้มีมติเอกฉันท์ยื่นหนังสือต่อ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน ก็มีบางส่วนเห็นว่า หากทำประชามติ ก็จะทำให้ต้องเสียเวลาไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน และยังต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามหากต้องการจะให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีกระบวนการในการที่จะแก้ไข รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้สามารถจัดทำประชามติได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ และการใช้อำนาจของทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะมีความชัดเจนในเดือน มิถุนายน 2558 ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ได้มีการจัดทำประชามติได้แก่ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ทำประชามติเมื่อ 19 สิงหาคม 2550
ประเมินว่าหากมีข้อสรุปให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการแล้วน่าจะทำให้กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปต้องเลื่อนออกไปจากเดิมปลาย 1Q59 เป็นกลางปี 2559 ทั้งนี้ยังมีอีกตัวแปรหนึ่งที่ต้องติดตามก่อนที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งก็ คือการที่ คณะกรรมาธิการต้องตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 12 ฉบับ และกฎหมายที่ต้องตราขึ้นตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญอีก 14 ฉบับ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งงานหนัก
บรรยากาศบวก...ตลาดแรงงานสหรัฐยังฟื้น สอดคล้องยุโรป
หลังจากการรายงาน GDP Growth ของสหภาพยุโรปในงวด 1Q58 พบว่ากลับเติบโต 0.4% qoq (เทียบกับ 0.3% ในงวด 4Q57)แม้จะต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ 0.5% ซึ่งหลักๆ เกิดจากการฟื้นตัวในฝรั่งเศส อิตาลี และ สเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 -4 ตามลำดับ (เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี) ขณะที่เยอรมันในฐานะที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดกลับชะลอตัวกว่าตลาดคาด คือ เติบโตเพียง 0.3% เทียบกับ 0.7% ในงวด 4Q57 ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออกชะลอตัวและกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ เป็นที่สังเกตว่าการฟื้นตัวของยุโรป ท่ามกลางปัญหาในกรีซยังมีอยู่ และเป็นการฟื้นตัวสวนทางกับสหรัฐ และ อังกฤษที่เริ่มชะลอตัวลงบ้าง หลังจากที่มีฟื้นตัวตลอดปีที่ผ่าน แต่อย่างไรก็ตามตลาดเชื่อว่าการใช้ QE ในยุโรปจะยังเดินไปตามแผนคือ อัดฉีดเงินเดือนละ 6 หมื่นยูโร ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 จนถึงเดือน ก.ย 2559
ล่าสุด ธนาคารกลางอังกฤษได้ตัดลด GDP Growth ลงเหลือ 2.5% ในปี 2558 และ 2.6% ในปี 2559 จากประมาณการเดิมในช่วงต้นปีประเมินไว้ที่ 2.9% ในอัตราที่เท่ากันทั้งสองปี ซึ่งเทียบกับ IMF ประเมินไว้ล่าสุดในเดือนเม.ย. ที่ 2.7% และ 2.4% ตามลำดับ จากผลกระทบค่าเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น ตลาดที่อยู่อาศัยซบเซา และประสิทธิภาพการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ จากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว
และ การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจล่าสุดในสหรัฐยังมีความขัดแย้งกัน กล่าวคือ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสัปดาห์ล่าสุด ลดลง 1,000 ราย (ลงอยู่ที่ 246,000 ราย) และเฉลี่ย 4 สัปดาห์ย้อนหลัง พบว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการลดลง 7,750 ราย ( ที่271,750) ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ เม.ย. 2553 สะท้อนตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ได้หนุนให้ อัตราว่างงานล่าสุด เดือน เม.ย. ลดลงไปที่ 5.4% แต่ยังห่างเป้าหมาย Fed ที่ 5% (ซึ่งเป็นระดับที่ FED น่าจะใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย) นอกจากนี้ยังพบว่าดัชนี PPI (ดัชนีราคาผู้ผลิต ขั้นสุดท้าย) เดือน เม.ย. ลดลง 0.4% และนี้ตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) ล่าสุด มี.ค. ติดลบ 0.1% yoy ซึ่งยังห่าง เป้าหมายที่ 2% ดังนั้น ASPS จึงคาดว่า Fed จะยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาอันใกล้นี้ โดยมีความน่าจะเป็นว่า fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2557 หรือต้นปี 2558
ขณะที่ฝั่งไทยเอง เชื่อว่าตลาดน่าจะให้ความสนใจต่อการประกาศตัวเลข GDP Growth ของงวด 1Q58 ซึ่งจากผลการสำรวจของ Bloomberg ล่าสุด คาดว่าจะหดตัว 0.7% qoq แต่จะขยายตัวเพิ่มจากปีที่แล้ว 3.4% ซึ่งเทียบกับที ASPS ประเมินไว้ว่าจะหดตัว 2%qoq และ เติบโตเพียง 1.6% yoy (รายละเอียดดังปรากฏใน Economic outlook ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา) ซึ่งคงต้องติดตามรายละเอียดในวันจันทร์ที่ 18 พ.ค. ที่จะถึงนี้ เพราะเชื่อว่าหากมีการประกาศ GDP Growth ต่ำกว่าตลาดคาด จะทำให้นักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ ที่ทำการประเมินไว้สูงเกินไปอาจจะต้องกลับมาทำการปรับลดประมาณการลงได้
ต่างชาติซื้อสลับมาขายหุ้นไทยอีกครั้ง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคทั้ง 4 ประเทศราว 226 ล้านเหรียญ นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิ 169 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 วัน) ตามาด้วย เกาหลีใต้ ขายสุทธิเป็นวันแรกราว 21 ล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ถูกขายสุทธิราว 14 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 5) และไทยวานนี้ถูกขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 22 ล้านเหรียญ หรือ 754 ล้านบาท (ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปิดทำการ เนื่องจากเป็นวันหยุด) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศ ที่ขายสุทธิ 747 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 2 วัน)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 12,401 ล้านบาท ตรงข้ามกับนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 2,714 ล้านบาท (ขายสุทธิต่อเนื่องวันที่ 7) ล่าสุดค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.47 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่หนุนให้เงินบาท กลับมาแข็งค่าขึ้นระยะสั้น ๆ
WORK, BA หุ้นเด่นที่ถูกคัดเข้า MSCI Index รอบนี้
MSCI (Morgan Stanley Capital International) ได้ประกาศรายชื่อหุ้นที่ถูกนำเข้า และคัดออกคำนวณในดัชนี มีผล effective ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2558 (ใช้ราคาปิดของวันที่ 29 พ.ค. 2558 เข้าคำนวณ) ดังนี้คือ
MSCI Global Standard (หุ้น Blue Chip ขนาดใหญ่) รอบ พ.ค. นี้ ไม่มีหุ้นใดถูกคัดเลือกเข้า-ออก ยังคงการลงทุนในหุ้นไทย จำนวน 32 หุ้น ตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง คิดเป็นขนาด Market Cap ประมาณ 85% ของตลาดหุ้นไทย
MSCI Global Small Cap (หุ้นขนาดกลาง-เล็ก) มีหุ้นไทยที่ถูกคัดเลือกเข้าดัชนีทั้งสิ้น 14 บริษัท คือ BA, BEAUTY, CBG, EPG, IMPACT, IFEC, MTLS, PLANB, PTG, SIM, SCN, TSE, UNIQ และ WORK ขณะที่ JMART และ TPIPL ถูกคัดออก
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลในอดีตเชิงสถิติโดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2551 พบว่า ราคาของหุ้นที่ได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณมักไม่ค่อยตอบสนองกับประเด็นบวกดังกล่าวเท่าใดนัก ตรงข้ามกับหุ้นที่ถูกคัดออกกลับปรับตัวขึ้น กล่าวคือ
ดัชนี MSCI Global Standard : ราคาหุ้นเฉลี่ยมักปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดราว 3% ในช่วง 2 สัปดาห์ล่วงหน้า ก่อนวันนำเข้าไปคำนวณ (ความน่าจะเป็น ราว 67%) และผลตอบแทนจะค่อยๆ ลดลง จนกระทั่งติดลบตั้งแต่วันที่มีผลในการคำนวณ สวนทางกับหุ้นที่ถูกคัดออก ราคาหุ้นมักจะปรับลดลงก่อนวันมีผลในการคำนวณ แต่จะฟื้นตัวขึ้นหลังจากถูกคัดออกแล้ว
ดัชนี MSCI Global Small Cap : ราคาหุ้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 สัปดาห์ ก่อนวัน (โดยมีหุ้นเพียง ครึ่งหนึ่งของหุ้นที่จะถูกนำเข้าไปคำนวณมีโอกาสปรับขึ้น ที่เหลือปรับลง ใกล้เคียงกัน) หลังจากนั้น ราคาหุ้นจะลดลงจนติดลบ หลังจากถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนีไปแล้ว ตรงข้ามกับหุ้นที่ถูกคัดออก ราคาหุ้นจะปรับลดลงก่อนวันเข้าไปคำนวณ แต่จะฟื้นตัวขึ้นหลังจากถูกคัดออกแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ การที่หุ้นไม่ได้ตอบสนองด้านบวกต่อการเข้าไปคำนวณดัชนี MSCI ส่วนหนึ่งน่าจะขึ้นกับผลประกอบการของรายบริษัทฯ เนื่องจากเดือน พ.ค. ของทุกปี จะเป็นช่วงการรายงานงบไตรมาส 1 การเคลื่อนไหวของดัชนีจึงให้น้ำหนักต่อประเด็นนี้เป็นสำคัญ จึงเชื่อว่าการกระแสของ MSCI น่าจะเป็นเพียง sentiment เท่านั้น กลยุทธ์การลงทุน MSCI Plays รอบ พ.ค. นี้ ฝ่ายวิจัยจึงแนะนำเลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัว โดยอิงที่ปัจจัยพื้นฐานและแนวผลประกอบการเป็นหลัก ได้แก่ WORK (FV@B 50) และ BA (FV@B 25.5)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647