- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 24 April 2015 15:36
- Hits: 1260
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ประเด็นการเมือง และปัญหายุโรป ยังกดดันตลาดหุ้นโลกรวมถึงไทย กลยุทธ์การลงทุนจึงยังให้ความสำคัญกับหุ้นรายตัวที่มีกำไรเด่นปีนี้ และงวด 1Q58 VNG([email protected]) และ RCL([email protected]) เป็น Top picks
ร่างรัฐธรรมนูญอาจสะดุด...โอกาสเลื่อนการตั้งมีสูงขึ้น
ดังที่นำเสนอไปแล้ววานนี้ถึงการร่างรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มจะไม่เป็นเอกฉันท์ และล่าสุดนักการเมืองทุกฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น สะท้อนจากวานนี้ (23 เม.ย.58) คสช. ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมือง รวมถึงกลุ่มการเมือง หารือเพื่อแสดงความคิดเห็นในการสร้างความปรองดอง และสมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งมีตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่เข้าร่วมครบ ผลการหารือมีข้อสรุปจากพรรคการเมืองต่างๆ ไปในทางเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการยกร่าง เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. นอกจากนี้หลายองค์ประกอบอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่หนักขึ้นในอนาคต ความเห็นจากตัวแทนพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงออกไปในแนวทางว่า ยอมที่จะเห็นการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป 2-3 ปี แลกกับการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะสามารถนำประเทศก้าวไปสู่การปฎิรูป ปรองดอง สมานฉันท์ อย่างแท้จริง
ความเห็นที่ออกมาจากที่ประชุม ยังไม่ถือว่าเป็นบทสรุปสุดท้ายที่จะถูกนำไปปฎิบัติ เนื่องจากกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะมีบทสรุป โดยที่ในแต่ละขั้นตอนก็ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับข้อเสนอต่างๆ ที่มีออกมาได้ โดยหลังจากที่ สปช. ได้ทำข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญแล้ว (ภายใน 25 พ.ค.2558) คณะกรรมาธิการยกร่างมีเวลาอีก 60 วัน ในการที่จะแก้ไขปรับปรุงร่าง ก่อนที่จะส่งให้ สปช. ลงมติ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ภายใน 6 ส.ค.2558 หาก
อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นว่ามีโอกาสมากขึ้น ที่การเลือกตั้งทั่วไป อาจจะต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในช่วง 1Q59 ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันต่อ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นไทย เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความคาดหวังที่จะเห็น Fund Flow ไหลเข้ามารอบใหม่ และน่าจะมีส่วนทำให้ SET Index มี Upside เหลืออยู่อย่างจำกัด
ปัญหากรีซจะกลับมาหลอนอีกหรือไม่
ปัญหาการชำระหนี้ระยะสั้นของกรีซ น่าจะกลับมาเป็นประเด็นที่กดดันตลาดได้อีกครั้ง ดังที่เคยนำเสนอใน Market Talk เมื่อ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ถึงแนวทางที่กรีซจะอยู่รอดและมีเงินพอชำระหนี้ระยะสั้น คือ ขออนุมัติเงินกู้รอบใหม่จากทาง ECB โดยมีเงื่อนไขที่ว่ากรีซจะต้องส่งแผนปฏิรูปให้กับคณะรัฐมนตรีคลังยุโรปพิจารณา ภายในการประชุมฯ วันนี้ (24 เม.ย.) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาข้อตกลงระหว่างกรีซและเจ้าหนี้TROIKA ยังคงไม่คืบหน้า ขณะที่ฐานะการเงินและการคลัง กำลังย่ำแย่ กล่าวคือ ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการและเงินบำเหน็จบำนาญในวันที่ 24 เม.ย.นี้ อีกกว่า 400 ล้านยูโร รัฐบาลกรีซจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการกู้ยืมเงินภายในประเทศ โดยโอนเงินสดสำรองจากรัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ มายังรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังมีความเห็นว่า การเจรจาระหว่างกรีซและเจ้าหนี้ TROIKA น่าจะจบลงด้วยดี แม้ว่ากรีซเองจะยังไม่ยอมปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่หากกรีซไม่ยอมอ่อนข้อ ก็จะประสบปัญหาในการชำระหนี้มูลค่าที่กำลังจะครบกำหนดในเดือน พ.ค. รวมราว 6.25 พันล้านยูโร (ครบกำหนด 1 พ.ค. ชำระดอกเบี้ย 200 ล้านยูโรให้ IMF 8 พ.ค. ต้อง roll-over ตั๋วสัญญาใช้เงิน (T-Bill) อายุ 6 เดือน มูลค่ากว่า 1.4 พันล้านยูโร, 12 พ.ค. ชำระหนี้ 750 ล้านยูโรให้ IMF, 15 พ.ค. กรีซต้อง roll-over over ตั๋วสัญญาใช้เงิน (T-Bill) อายุ 3 เดือน มูลค่ากว่า 1.4 พันล้านยูโร และสิ้นเดือน พ.ค. จ่ายเงินเดือนข้าราชการและเงินบำเหน็จบำนาญ 2.5 พันล้านยูโร) โดยยังมีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระ อื่น ๆ เดือนมิถุนายนและกรกฎาคมด้วย อีกมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านยูโร ขณะที่ทางฝั่งเจ้าหนี้ TROIKA หากดำเนินนโยบายที่กดดันต่อกรีซมากเกินไป จะยิ่งเป็นการบีบให้กรีซออกจากสถานภาพการเป็นสมาชิกยูโรโซน และผิดนัดชำระหนี้ จึงเชื่อว่าท้ายที่สุดทั้ง 2 ฝ่าย น่าจะเจรจาประนอมหนี้กันได้
สหรัฐน่าจะใช้ดอกเบี้ยต่ำต่อ..ท่ามกลางนโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลก
สหรัฐ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว นำโดย ตลาดบ้าน พบว่า ยอดขายบ้านมือสอง เดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 5.19 ล้านหลัง แม้จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ชะลอตัวในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า และทำสถิติสูงสุดในรอบ 1 ปี แต่ถือว่าสวนทางกับ ยอดขายบ้านใหม่ เดือนเดียวกันที่ 4.81 แสนหลัง ถือว่าขยายตัวน้อยสุดในรอบ 4 เดือน ตามมาด้วย ภาคการผลิต โดยดัชนี PMI การผลิต เดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 54.2 ลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และ เช่นเดียวกับ ตลาดแรงงาน พบว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย. เพิ่มขึ้น 1,000 ราย มาอยู่ที่ 295,000 ราย ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ 5,000 ราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 จากที่ก่อนหน้าลดลงต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ (เฉลี่ย 4 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1,750 ราย)
ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดได้กดดันให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วงสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย. ลดลงสู่ระดับ 31.74 จาก 32.07 ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ IMF ได้ปรับลด GDP Growth ของสหรัฐ เมื่อกลางเม.ย. ที่ผ่านมา เหลือ 3.1% (จากเดิม 3.6%) ในปี 2558 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ Fed จะใช้ประกอบการตัดสินใจในการขึ้นดอกเบี้ยฯ ควบคู่กับอัตราการว่างงาน จะลดลงมาที่ระดับเฉลี่ย 5% ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤติในปี 2551 (เดือน มี.ค. อยู่ที่ 5.5%) และเงินเฟ้อต้องเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% (เดือน มี.ค. ติดลบ 0.1%) ซึ่งต้องติดตามการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 28-29 เม.ย. นี้ แต่โดยรวมยังเชื่อว่า Fed น่าจะยืดเวลาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปเป็น เป็นช่วงสิ้นปี 2558 หรือต้นปี 2559
ฝั่งยุโรป สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง ล่าสุดพบว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการ เดือน เม.ย. ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 53.5 (หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ เดือน ธ.ค. 2557 vs ระดับ 54.0 ในเดือนมี.ค.) โดยมาจากการชะลอตัวในเยอรมนี (เดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 54.2 จาก 55.4 ในเดือน มี.ค.) และฝรั่งเศส (เดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 50.2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 เดือน) เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรป
และ จีน ล่าสุด ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น เดือน เม.ย. หดตัวมาที่ 49.2 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี (จาก 49.6 ในเดือน มี.ค.) โดยเริ่มส่งสัญญาณการหดตัวมานานมากกว่า 3 ปี ขณะที่บริษัทในภาคการผลิตมีการจ้างงานลดลงเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คาดว่าการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายยังคงจำเป็นทั่วโลก แม้หลังจากที่จีนได้ปรับลดเงินสดสำรองตามกฎหมายลงอีกครั้ง 1% ไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังจากปรับลดไปเมื่อเดือน ก.พ. 0.5% ทำให้ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 18.5% ควบคู่ไปกับการปรับลดดอกเบี้ยฯ ลงตั้งแต่ปลายปี 2557 รวม 0.65% อยู่ที่ระดับ 5.35% ในปัจจุบัน และเช่นเดียวกับยุโรป ที่เริ่มทำ QE ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 โดยล่าสุด สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. พบว่าทำ QE ไปแล้วมูลค่า 7.3 หมื่นล้านยูโร สูงกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเดือน ก.ย. 2559 และมีแนวโน้มขยายเวลาไปอีก หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว หรือ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ (เดือน มี.ค. ติดลบ 0.1%)
ท่ามกลางปัจจัยกดดันรอบด้าน...เลือกรายหุ้นกำไรใน 2Q58 เด่น
นอกจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือว่าประเด็นการเมือง เป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แล้ว ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาหน่วยงานกำกับการดูแลการบิน (กรมการบินพลเรือน) ไม่ได้มาตรฐานตาม ICAO (หน่วยงานควบคุมการบินระหว่างประเทศ) จึงมีแนวโน้มจะถูกลดมาตรฐานลง ซึ่งขณะนี้ทำให้มีอย่างน้อย 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ได้ห้ามเพิ่มเที่ยวแบบเหมาลำเข้าประเทศ และห้ามเพิ่มจุดบินใหม่ ซึ่งหน่วยงานราชการไทยยังมีเวลาในการแก้ไขถึงเดือน มิ.ย. นี้ หรือ 90 วันหลังจากที่ประกาศว่าไทยขาดคุณภาพการให้บริการด้านการบิน
และล่าสุดภาคส่งออกอาหารทะเลก็กำลังเผชิญกับปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยยุโรป ได้ให้ใบเหลืองต่อสินค้าประมงของไทย โดยมีข้ออ้างว่า มีการทำประมงที่ผิดกฏหมาย และมีแนวโน้มว่าสหรัฐอาจจะปฏิบัติต่อไทยในลักษณะเดียวกับยุโรป ประเด็นเหล่านี้ ทำให้ทางภาคเอกชนต้องดิ้นรน เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าได้มาตรฐาน ยังมีเวลาจนถึง ต.ค. 2558 หรือ 6 เดือนนับจากวันที่ให้ใบเหลือง (รายละเอียดดังที่ได้นำเสนอไปใน Market Talk วันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา)
ท่ามกลางปัญหาที่มีอยู่รอบด้าน แน่นอนว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตได้ในขีดจำกัด และโอกาสการที่จะถูกปรับลดประมาณ GDP Growth ในปี 2558 ที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ ทั้งในประเทศ ประเมินไว้ค่อนข้างสูง คือ ค่าเฉลี่ยที่ 3.7% เทียบกับที่เติบโตเพียง 0.7% ในปี 2557 จะมีน้ำหนักมากขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นในเดือนนี้ และอีก
1 เดือนข้างหน้ายังเป็นการเลือกรายหุ้นที่คาว่าจะมีผลประกอบการที่สดใสในปี 2558 หรือ ในงวด 1Q58 และ ยังมีความต่อเนื่องในงวด 2Q58 ได้แก่ TASCO, VNG, RCL เป็นต้น
ทั้งนี้รวมถึงหุ้น Global play ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าผลประกอบการในปี 2558 จะออกมาดีกว่าปี 2557 ซึ่งประสบปัญหาราคาน้ำมันดิบดูไบที่ตกต่ำกว่า 50 เหรียญฯต่อบาร์เรล และแตะจุดต่ำสุดที่ 44 เหรียญฯ ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบได้ฟื้นตัวขึ้นมายืนเหนือ 60 เหรียญฯ ในเช้าวันนี้ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นน้ำมัน โรงกลั่น และ ปิโตรเคมี มีแนวโน้มพลิกจากที่ขาดทุนในงวด 4Q57 มามีกำไรในงวด 1Q58
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นไทย เช่นเดียวกับกองทุนไทย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 มูลค่ารวมกว่า 991 ล้านเหรียญ โดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ยังคงถูกซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 13 รวมมูลค่าซื้อสะสมกว่า 3,441 ล้านเหรียญ ขณะที่ตลาดหุ้นไต้หวันวานนี้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่าเพิ่มจากวันก่อนหน้ากว่า 3 เท่าตัว ส่วนตลาดหุ้นฟิลิปปินส์สลับกลับมาซื้อสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ 2.1 ล้านเหรียญ ตรงข้ามกับตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ถูกขายต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 และตลาดหุ้นไทยที่สลับกลับมาขายที่ราว 56.5 ล้านเหรียญ หรือราว 1,836.64 ล้านบาท (ยอดขายสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศวานนี้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 1,778 ล้านบาท กดดันให้ตลาดหุ้นไทยวานนี้เคลื่อนไหวผันผวนตลอดวัน
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ วานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 มูลค่า 186 ล้านบาท รวมตั้งแต่ต้นเดือนซื้อสุทธิสะสม 9,984 ล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทไทยยังทรงตัวอยู่ในโซนแข็งค่าที่บริเวณ 32.46 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
มาราพร กี้วิริยะกุล