- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 20 April 2015 16:48
- Hits: 1376
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
จีนลด RRR มากกว่าคาด น่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นเอเซีย หลังจากที่ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ให้ผลตอบแทนชนะตลาดหุ้นเอเซียอย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้จึงยังเน้นหุ้น Global Play และเลือก VNG ([email protected]) และ PTT(FV@B398) เป็น Top Picks เช่นเดิม
จีนลด RRR มากกว่าตลาดคาด น่าจะหนุนหุ้นเอเซียในสัปดาห์นี้ต่อ
ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีอยู่ เช่นเดียวกับจีน ล่าสุดหลังจากที่การรายงาน GDP Growth งวด 1Q58 ขยายตัวเพียง 7% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ ปี 2552 (และ ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553) เทียบกับที่ขยายตัวเฉลี่ย 7.4% ในปี 2557 และในปี 2558 IMF คาดไว้เพียง 6.8% ได้หนุนให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยวานนี้ได้ประกาศลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (RRR) ลงมากถึง 1% อยู่ที่ระดับ 18.5% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 2 ของปี 2558 หลังจากที่ได้ปรับลดไปครั้งแรก 0.5% เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ควบคู่ไปกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวมลดลง 0.65% เหลือ 5.35% ตั้งแต่สิ้นปี 2557 นอกเหนือจากนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีกระแสข่าวเชิงบวกมาแล้วประเด็นหนึ่ง ก็คือ การที่ รัฐบาลจีน ได้ผ่อนปรนนโยบายให้นักลงทุนจีน สามารถเข้าลงทุนบริษัทจีน ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงได้ หรือ H-shares (จากเดิมที่ซื้อขายเฉพาะหุ้นที่จดทะเบียนในจีนเท่านั้น) อีกทั้งระดับ Expected PER ของตลาดหุ้นฮ่องกงยังต่ำกว่าตลาดหุ้นจีนมาก (13.2 เท่า และ 17.3 เท่า) เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หนุนให้ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ตอบรับอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ราว 14.4% และ 11% ตามลำดับ เทียบกับตลาดหุ้นเอเซียให้ผลตอลแทนเฉลี่ยที่น้อยกว่า กล่าวคือ ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ฟิลิปปินส์ 0.1% อินโด -1.96% เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซีย รวมถึงไทยด้วย ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับการฟื้นตัวล่าช้า เนื่องจากกยังขาดปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน สะท้อนจากเครื่องจักรหลักๆ ทำงานไม่เต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็น การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ สะท้อนจากการปรับลด GDP Growth ของสำนักวิจัยต่าง ๆ อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 3.8% ขณะที่ทาง ASP คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5% (จากเดิม 3.5%) โปรดติดตามรายละเอียดใน Economic Update เร็วๆนี้
Fund Flow เริ่มขยับเข้าเอเซีย...นโยบายการเงินผ่อนคลายยังหนุน
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่มูลค่าค่อนข้างน้อยเพียง 21.6 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น โดยเป็นการซื้อสลับขายรายประเทศเช่นเคย กล่าวคือ ขายสุทธิในตลาดหุ้นไต้หวัน, ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 รวม 234 ล้านเหรียญฯ) และฟิลิปปินส์ (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 รวม 141 ล้านเหรียญฯ) ตรงข้ามกับซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (ต่อเนื่องวันที่ 9 รวม 2,005 ล้านเหรียญฯ) และซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องวันที่ 2 อีก 48 ล้านเหรียญฯ หรือราว 1,554 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดรวมตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปแล้วกว่า 6,645 ล้านบาท (แต่ถ้านับตั้งแต่ต้นปี ยังเป็นยอดขายสุทธิกว่า 1,811 ล้านบาท)
ขณะที่การเดินหน้านโยบายการเงินผ่อนคลายของยุโรป ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันต่างๆ วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. พบว่า ได้มีการซื้อครบตามจำนวน โดยแยกเป็น 75% ของวงเงิน (หรือ 4.74 หมื่นล้านยูโร เป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาล) ที่เหลือ 25% เป็นการซื้อ covered bond และหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) และคาดว่ายังคงเดินหน้าซื้อต่อในเดือน เม.ย. ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนทางด้านกองทุนในประเทศ เริ่มเห็นแรงซื้อที่เข้ามาในช่วงเดือน เม.ย. ราว 9.197 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่ามาจาก trigger fund ทั้งนี้หลังจากที่ได้ออกกองใหม่ในงวด 1Q58 มี 38 กองทุน และในจำนวนนี้ เป็นกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย 14 กอง ที่เหลือลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และ อื่น ๆ อย่างไรก็ตามคาดว่าแรงกดดันจากกองทุนประเภท Trigger Fund น่าจะยังมีอยู่ เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้มักเลือกลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก และกำหนดผลตอบแทนเป้าหมาย 5-8% ซึ่งหากพิจารณาดัชนีตลาดตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. จนถึงปัจจุบัน พบว่า SET Index ให้ผลตอบแทนราว 4% ซึ่งใกล้จุดที่กองทุนเหล่าจะเริ่มขายทำกำไร เพื่อปิดกองทุน
การเมืองมุ่งไปที่เนื้อหารัฐธรรมนูญ หลังถึงกำหนดส่งร่างฯ
ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการยกร่างแรกให้เสร็จภายใน 17 เม.ย.2558 และนำส่งให้ คสช. รัฐบาล และ สปช. พิจารณา ซึ่งจากการติดตามข้อมูลผ่านสื่อคาดว่า สปช. จะนัดพิจารณารอบแรกเพื่อเสนอข้อคิดเห็นในการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ 20 – 26 เม.ย.2558 แต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ถือเป็นที่สุด โดยบทสรุปจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามกำหนดการแล้ว สปช. สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ จนถึงวันที่ 25 พ.ค.2558 ส่วน คสช. และ รัฐบาลเสนอความเห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมได้จนถึง 16 พ.ค.2558 หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรมนูญ มีระยะเวลา 60 วัน ในการนำร่างรัฐธรรมนูญกลับมาพิจารณาปรับปรุง โดยอาจยึดแนวทางตามกรอบที่ทั้ง 3 หน่วยงาน (คสช. รัฐบาล และ สปช.) เสนอ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 23 ก.ค.2558 และส่งให้ สปช. ลงมติ รับ หรือไม่รับ ร่าง ภายใน 6 ส.ค.2558 ซึ่งถือเป็นที่สุด หากรับร่าง ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากไม่รับ ทั้ง คณะกรรมาธิการยกร่าง และ สปช. ต้องสิ้นสภาพไปพร้อมกับ ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเกิดเหตุกรณีนี้ขึ้นมา อำนาจในการตัดสินใจกำหนดเส้นทางการเมือง จะตกไปอยู่ที่ คสช. ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดำเนินการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ซึ่งอาจเป็นการยกรัฐธรรมนูญในอดีตฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาปรับปรุง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งหรือ เริ่มกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่การสรรหา สปช. และ คณะกรรมาธิการยกร่างชุดใหม่ขึ้นมา
สำหรับ ประเด็นที่จะถูกกล่าวถึงมากขึ้นในช่วงจากนี้ไป จะเป็นเรื่องรายละเอียดของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระแสวิพากวิจารณ์ต่างๆ และการแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ อาจสร้างบรรยากาศที่ร้อนแรงขึ้นมาได้ นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
มาราพร กี้วิริยะกุล