- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 17 April 2015 16:05
- Hits: 1240
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และ สถิติ 5 ปีพบว่า SET จะให้ผลตอบแทน 3% หลังสงกรานต์ทุกปี เพื่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น Global มากขึ้น วันนี้เลือก Top picks VNG ([email protected]) และ PTT(FV@B398)
ตลาดแรงงานสหรัฐชะลอตัว ช่วยยืดการขึ้นดอกเบี้ยถึงสิ้นปีนี้
สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. เพิ่มขึ้น 12,000 ราย อยู่ที่294,000 ราย สูงกว่าที่คาดเล็กน้อย 4,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 หลังจากลดลงก่อนหน้าต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ เทียบกับเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับเพิ่มขึ้น 250 ราย อยู่ที่ 282,750 ราย อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า ตลาดแรงงานเริ่มมีทิศทางการแกว่งตัวขึ้นลง จากที่ก่อนหน้าคาดว่าจะมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค. ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดอย่างมาก (ประกาศจริง เพียง 126,000 ตำแหน่ง vs ตลาดคาด 248,000 ตำแหน่ง) และยังเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค.2556 และสอดคล้องกับการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 189,000 ตำแหน่ง ชะลอตัวลงจากที่เพิ่มมากถึง 214,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ทำให้อัตราการว่างงานงานโดยรวมเดือน มี.ค. ทรงตัวที่ระดับ 5.5% นอกจากนี้พบว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีทิศทางชะลอตัว ได้แก่ ภาคครัวเรือน (70% ของ GDP) กล่าวคือ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือน ก.พ. การขยายตัวเพียง 2% จากปกติเฉลี่ย 4-5%, การลงทุนเอกชน สะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.พ. ทรงตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ชะลอตัวลงตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557) และ ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจาก ดัชนี ISM การผลิต เดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 51.5 ขยายตัวช้าสุด ในรอบเกือบ 2 ปี และเริ่มชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ เดือน ก.ย. 2557 เป็นต้น
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้คาดว่า GDP Growth งวด 1Q58 อาจจะทรงตัว 2.4%yoy ใกล้เคียงกับงวด 4Q57 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ Fed น่าจะให้ความสำคัญในการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย ควบคู่กับการกำหนด เงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% และ อัตราการว่าง งานจะต้องลดงมาที่ราว 5.2-5.3% โดยภาพรวมทำให้คาดว่า FED น่าจะคงดอกเบี้ยฯ ที่ระดับเดิม ในการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 28-29 เม.ย. โดยคาดว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยฯ ออกไปเป็นช่วงปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559 หรือจนกว่า ถึงแม้ว่าในระยะสั้น อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างสำหรับเวลาที่เหมาะสมต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก กล่าวคือ นาย วิลเลียม ดัดเลย์ (Fed นิวยอร์ก) และนาย เอนนิส ลอคฮาร์ด (Fed แอตเลนตา) คาดว่าจะเกิดขึ้นราวกลางปี 2558 (ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.)
ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคและหุ้นไทยสูงสุดในรอบ 7 เดือน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับกลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้งถึงกว่า 723 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกาหลีใต้กว่า 295 ล้านเหรียญฯ (ซื้อติดต่อกันเป็นวันที่ 8), พลิกกลับมาซื้อสุทธิในไต้หวัน 361 ล้านเหรียญฯ (หลังจากขายสุทธิอย่างหนักในวันก่อนหน้า 707 ล้านเหรียญฯ) และสลับกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 121 ล้านเหรียญฯ (3,914.26 ล้านบาท) ตรงข้ามกับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องทั้ง 2 ตลาดเป็นวันที่ 6 อีกราว 12 และ 43 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ
เป็นที่สังเกตว่ายอดซื้อสุทธิต่างชาติในตลาดหุ้นไทยวานนี้ สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2557 เป็นต้นมา ส่งผลให้นับตั้งแต่เดือน เม.ย. มียอดซื้อสะสมรวม 5,090.21 ล้านบาท (แต่หากนับตั้งแต่ต้นปียังมียอดขายสุทธิรวม 3,366.22 ล้านบาท) หนุนให้ดัชนีหุ้นไทยวานนี้พุ่งขึ้นไปกว่า 22 จุด
เศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ เน้นหุ้น Global เพิ่มขึ้น VNG/PTT
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ย่ำแย่ และดูเหมือนว่าปี 2558 จะเติบโตได้ไม่เกิน 3% และ ยังมีคำถามว่าในระยะกลางและยาว ไทยยังจะเติบโตในระดับ 4-5% ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ เนื่องจากเครื่องจักรหลักๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังทำงานไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุน ทั้งภาครัฐ และ เอกชน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของผู้ประกอบการที่อิงเศรษฐกิจในประเทศในระยะสั้น ๆ โดยเฉพาะที่อิงการกับการบริโภคในประเทศ (ค้าส่ง ค้าปลีก) ธนาคารพาณิชย์ และ ภาคก่อสร้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในจังหวะนี้แนะนำให้สลับมาเลือกหุ้นที่อิงกับปัจจัยภายนอก/เศรษฐกิจโลก แต่คงเลือกเป็นรายบริษัท ที่คาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดและมีสัญญานการฟื้นตัวที่ดีขึ้น เริ่มจากหุ้นในกลุ่มน้ำมัน (PTT, PTTEP) พบว่าล่าสุด ราคาน้ำมันดิบโลกได้ฟื้นตัวต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือน ม.ค. 2558 กล่าวคือ ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับขึ้นจาก ระดับต่ำสุดที่ 44.30 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขึ้นมาเหนือ 50 เหรียญ ฯ ต่อบาร์เรล
และล่าสุดวานนี้สามารถยืนเหนือ 60.95 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แม้ทำให้ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 52.58 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งแม้ยังห่างจากสมมติฐานของ ASP ที่ประเมินไว้ที่ 75 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล ในปี 2558 และในปีถัดๆ ไป (จะให้เป็นไปตามสมมติฐานเฉลี่ยว่าในช่วง 9 เดือน ที่เหลือของปีนี้น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 86.22 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล) แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนจากที่ IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ขึ้น เป็น 3.8% จากเดิม 3.7% และยังคงไว้ที่ 3.5% ในปี 2558 ทั้งนี้แม้ว่าปัญหาด้านปริมาณการผลิตเกินความต้องการยังมีอยู่ แต่คาดว่าค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง กล่าวคือ แม้ OPEC เน้นย่ำที่จะคงการผลิตที่เดิม เพื่อกดดันประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตภายใต้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงกว่า โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันใต้ชั้นหินดินดานในสหรัฐ และ แคนาดา ซึ่งล่าสุดมีการรายงานจาก IEA ในเดือนล่าสุด ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศได้ลดกำลังการผลิตลงแล้ว (ตามแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ลดลงตั้งแต่ต้นปี 2558) ทำให้การส่งออกน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC ลดลงราว 16% จากเฉลี่ยวันละ 7.5 แสนบาร์รเลต่อวัน รวมถึงสถานการณ์รบในเยเมน ทำให้การผลิตน้ำมันในเดือน เม.ย. ลดลง 50% จากปกติที่ผลิตได้วันละ 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจภายนอกอีกหลายบริษัทที่แนะนำให้เลือกเข้าพอร์ตในช่วงที่ราคาหุ้นยังมี upside จากมูลค่าหุ้นได้แก่ RCL, STPI, VNG เป็นต้น
PTTEP (FV@B 134) : ราคาน้ำมันโลกในช่วง 1Q58 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานปกติลดลง 65.7%qoq แต่ยังมีปัจจัยบวกจากต้นทุนรวมที่ลดลงถึง 14.7%qoq และบันทึกภาษีจ่ายลดลงเนื่องจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงคาดว่าผลการดำเนินงานงวด 1Q58 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งจะเป็นจุดต่ำสุดของปี แต่หลังจากนี้น่าจะมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่จะทยอยฟื้นตัวจากปัจจัยทั้งทางด้าน Demand ที่น่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และด้าน Supply ที่คาดการณ์สถานการณ์ Oversupply จะค่อยๆลดลง
PTT (FV@B 398) : คาดผลการดำเนินงานน่าจะพลิกกลับเป็นกำไรสุทธิได้ตั้งแต่งวด 1Q58 เป็นต้นไป โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน (ราคาขายก๊าซ LPG หน้าโรงแยกก๊าซฯ และการปรับเพิ่มราคาขายปลีก NGV) จึงเชื่อว่าภาพรวมธุรกิจพลังงานน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มกำไรปี 2558 จะขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่เกิน 1 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 91.5%yoy
RCL (FV@B 13.1) : พบว่าสัญญาณการฟื้นตัวของดัชนี Howe Robinson ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 15 แม้กำลังซื้อโลกจะยังชะลอตัวก็ตาม แต่เนื่องจากสินค้าที่ขนเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จึงทำให้มีความจำเป็นการซื้อขาย (เสื้อผ้า อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น) และ ขนส่งกันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนน้ำมันเฉลี่ย YTD (คิดเป็นสัดส่วน 20% ของต้นทุนรวม) ต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 49% จึงคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในงวด 1Q58 ต่อเนื่องไปถึงงวด 2Q58 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลสูงสุดของธุรกิจเดินเรือคอนเทนเนอร์ คาดการณ์กำไรปกติปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 88%
VNG (FV@B 10.25) : อยู่ในภาวะที่ราคาขายสินค้าอยู่ในระดับสูงจากความต้องการที่มากขึ้น ด้วยแรงหนุนจากความต้องการสินค้าไม้บอร์ดที่มากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ Supply ใหม่ในเอเซียมีจำกัด จึงทำให้ราคา Particle Board และ MDF ไม่ได้ปรับลงเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ขณะที่ต้นทุนการผลิตหลัก อย่างเช่น เศษไม้ยางฯ และกาว ปรับตัวลดลงและทรงตัวในระดับต่ำตลอดทั้งปี บวกกับการดัดแปลงสายการผลิตใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้มี margin สูง ขึ้น คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 เติบโตสูงถึง 42%YoY
STPI (FV@B 23.64) : ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับงานลงทุน LNG ที่ถูกเลื่อนออกไปหลายโครงการได้สะท้อนผ่านราคาหุ้นไปแล้ว ขณะที่โครงการ Pacific Northwest LNG ยังเดินหน้าต่อ และจะประกาศผล EPC Contractor เดือน มิ.ย. นี้ ซึ่ง STPI มีลุ้นได้งานค่อนข้างสูง ขณะที่งานประมูลอื่นๆ ส่วนใหญ่รู้ผลช่วง 3Q58 ถึงปลายปีนี้ จึงเชื่อว่า STPI จะสามารถเซ็นสัญญารับงานใหม่เข้ามาได้อย่างน้อย 1 โครงการ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการปี 2560 กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ขณะที่ผลประกอบการปี 2558 คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 22%YoY
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
มาราพร กี้วิริยะกุล