- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 17 April 2015 16:02
- Hits: 1258
บล.ฟินันเซีย ไซรัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
แม้ SET ยังบวกดีแต่ก็ต้องระวังปรับพักตัว ดังนั้นรอซื้อลบดีกว่า
กลยุทธ์ : SET รีบาวด์กลับขึ้นมาพอควรแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยยังไม่มีจังหวะปรับพักตัวจริงจังให้เห็นบ้างเลย ขณะที่ปัจจัยบวกใหม่ๆ ก็ยังไม่ได้มีเข้ามาเพิ่ม ดังนั้นเรายังแนะนำให้แบ่งส่วนขายทำกำไรช่วงบวกต่อไป เพื่อรอจังหวะเลือกหุ้นเข้าซื้อใหม่ช่วงตลาดปรับลงดีกว่า
หุ้นเด่นทางเทคนิค : AOT, UNIQ, ANAN(buy back)
แนวโน้ม : SET รีบาวด์กลับขึ้นมา 3 สัปดาห์ติดต่อกันด้วยระยะทางเกือบ 100 จุดแล้ว และดัชนีเริ่มขึ้นมาแกว่งตัวสูงกว่า 1560 จุดได้ตามคาดด้วย ยิ่งทำให้ต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไรที่น่าจะมีออกมากดดันให้ตลาดมีจังหวะแกว่งตัวย้อนลงในกรอบกว้างตามที่เคยกล่าวถึงไป ประกอบกับเช้านี้ยังมีแรงกดดันจากการปรับตัวเป็นลบของตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่ง เนื่องจากนักลงทุนยังวิตกกังวลว่ากรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้ หลังมีรายงานว่า IMF ได้ปฏิเสธคำร้องของกรีซที่จะขอเลื่อนเวลาในการชำระหนี้ รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาเมื่อคืนนี้ยังอ่อนแอกว่าคาดด้วย ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา SET ยังไม่มีจังหวะปรับพักตัวลงจริงจังให้เห็นด้วย ทำให้เรายังคาดว่ากรอบการขึ้นต่อจากนี้จะเริ่มจำกัดมากขึ้น และต้องระวังการปรับตัวลงแรงไว้ด้วย เราจึงยังไม่แนะนำให้ซื้อหุ้นในลักษณะไล่ราคามากนัก แต่น่ารอช่วงตลาดอ่อนตัวลงก่อนมากกว่า อย่างไรก็ตามถ้าไม่ได้มีปัจจัยลบใหม่ๆ เข้ามากดดันเพิ่มเติม กรอบการปรับตัวลงที่กำลังจะเกิดขึ้นก็น่าจะยังมีกรอบจำกัดอยู่ และยังลุ้นโอกาสรีบาวด์ขึ้นต่อได้ในช่วงถัดไป เราจึงแนะนำให้เลือกหุ้นเข้าซื้อช่วงตลาดเป็นลบได้
แนวรับ 1567-1565 , 1560-1555 จุด
แนวต้าน 1573-1575 , 1578-1582 จุด
Fund Flow กระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเมื่อวานนี้ในปริมาณที่หนาแน่นเกินคาด US$731 ล้าน โดยเป็นการกลับเข้ามาซื้อประเทศไต้หวัน US$362ล้าน และซื้อต่อเนื่องที่เกาหลี US$294 ล้าน รวมถึงไทยที่เปิดทำการซื้อขายวันแรกในสัปดาห์นี้อีก US$121ล้าน ขณะที่ไหลออกต่อเนื่องจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ US$42.5ล้าน และ US$12ล้านตามลำดับ ตลาดหุ้นในภูมิภาคได้แรงกระตุ้นจากการคาดการณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากจีนหลังรายงาน GDP 1Q15 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ปัจจัยดังกล่าวน่าจะยังเป็นแรงหนุนให้กับกระแสเงินทุนในวันนี้ให้ยังคงไหลเข้า
ข่าว/หุ้นเด่นมีประเด็น
(0) TISCO ประกาศงบฯวันนี้ เราคาดกำไรใน 1Q15 ยังคงลดลง 17% Q-Q แต่เพิ่ม 9% Y-Y ภาพรวมของกลุ่มแบงก์เช่าซื้อ (TISCO, TCAP, KKP) ในปีนี้ยังไม่น่าสนใจ แม้กำไรจะยังขยายตัวได้แต่เป็นเพราะการตั้งสำรองหนี้สูญและขาดทุนรถยึดลดลง ขณะที่สินเชื่อและรายได้อื่นชะลอ อย่างไรก็ตาม TISCO เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในกลุ่มนี้ด้วย PE และ PBV ที่ถูก 8.1 เท่าและ 1.3 เท่าตามลำดับ และ Dividend yield 4.6% โดย TISCO กำลังจะขึ้น XD 28 เม.ย. นี้ จ่าย 2 บาท
(+) GUNKUL ผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ซื้อหุ้น 99.98% ในบจก.โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า (พลังงานลม) 52.5MW และให้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม 60MW ของบจก.พัฒนาพลังงานลม (บ.ย่อยของ GUNKUL) ตามที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมไปก่อนหน้านี้ เรารวมมูลค่าของทั้ง 2 โครงการไว้ในราคาเป้าหมาย 43 บาทแล้ว (หลัง XD ลดลงเป็น 34.40 บาท) ราคาหุ้นแกว่งตัวแคบในกรอบ 35-36.50 บาทตั้งแต่ต้นเม.ย. เราคิดว่าเป็นโอกาสซื้อเพื่อรับปันผลที่จะจ่ายเป็นหุ้น ในอัตรา 4 : 1 XD 21 เม.ย. นี้
(+) PS ยอด Presales ใน 1Q15 ทำได้ 27% ของเป้าทั้งปีที่ 4.3 หมื่นล้านบาท ขายได้มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่ทำได้ 17-18% ของเป้าทั้งปี และคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 64% Q-Q และ 56% Y-Y แต่กำไรปกติใน 1Q15 มีแนวโน้มลดลง Q-Q ตามรายได้โอน แต่คาดเพิ่มขึ้น Y-Y จาก 1Q14 ที่มีปัญหาการเมือง ราคาหุ้นรีบาวนด์ขึ้นมาจากจุดต่ำสุด 13% laggard กว่า SPALI และมี PE 9.4 เท่าต่ำกว่ากลุ่มที่ 9.7 เท่า รวมทั้งยังมี upside มากสุดในกลุ่มเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ 42 บาท จึงยังแนะนำซื้อ
(0) TASCO แจ้งจดทะเบียนเปลี่ยนราคาพาร์จาก 10 บาทเป็น 1 บาทต่อกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ววานนี้ คาดเริ่มใช้พาร์ใหม่ต้นสัปดาห์หน้า แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะยังเป็นบวกกับบริษัท (ราคาขายในประเทศลดลงเล็กน้อยแต่ในต่างประเทศลดลงแรง 30% YTD แต่ต้นทุนน้ำมันดิบลดลงมากกว่า) แต่ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นกว่า 80% นับแต่ต้นปี สะท้อนประโยชน์ที่ได้รับจากราคาน้ำมันตกต่ำและการแตกพาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องไปมากแล้ว ที่สำคัญคือใกล้เต็มมูลค่าที่ Consensus ประเมินไว้ 120-125 บาท นักลงทุนควรระวังแรงขายทำกำไรระยะสั้น เพราะจากสถิติราคาหุ้นหลังแตกพาร์ มักปรับลงและกินเวลา 2-4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อยก่อนจะปรับตัวไปตามพื้นฐานอีกครั้ง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมาปิดทรงตัวแม้ระหว่างวันจะปรับตัวขึ้นได้ โดยตลาดวิตกกังวลต่อกรีซที่อาจผิดนัดชำระหนี้รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปเมื่อคืนที่ผ่านมาปิดในแดนลบเช่นกันจากผลประกอบการบริษัทเอกชนที่ออกมากระจัดกระจายรวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจกรีซที่ยังน่าเป็นห่วง
ซึ่งจากบรรยากาศการลงทุนที่เป็นลบมากขึ้นทำให้ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่น
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาแกว่งตัวในกรอบ 32.30-32.43 บาท/ดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน พ.ค. ปิดที่ 56.71 เหรียญ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.32 ดอลลาร์/บาร์เรล จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ยังไม่สงบรวมถึงการสู้รบในเยเมน รวมถึงกลุ่ม OPEC ที่ระบุว่าปริมาณน้ำมันจากสหรัฐฯจะเริ่มลดลงในช่วง 2H15
ราคาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. ปิดที่ 1,198.00 ดอลาร์/ออนซ์ ลดลง 3.30 เหรียญ/ออนซ์ หลังจากปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้าจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนรวมถึงตัวเลขเศราฐกิจที่อ่อนแอ
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
17-23 เม.ย. - ไทย:กลุ่มธนาคารทยอยประกาศผลประกอบการ 1Q15
17 เม.ย. - ไทย: นายกฯแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 6 เดือน, ร่างรธน.ถูกส่งให้คสช. ครม. และสปช. พิจารณา โดยคสช.และครม.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 16 พ.ค.
- สหรัฐ:อัตราเงินเฟ้อ (มี.ค.)
- ยูโรโซน:อัตราเงินเฟ้อ (มี.ค.)
20 เม.ย. - ไทย:ยอดขายรถ (มี.ค.)
21 เม.ย. - ยูโรโซน: ZEW Survey Expectations (เม.ย.)
22 เม.ย. - สหรํฐ:ยอดขายบ้านเก่า (มี.ค.)
23 เม.ย. - จีน:HSBC China Manufacturing PMI (เม.ย.)
- เกาหลีใต้: 1Q15 GDP
-สหรัฐ: ยอดขายบ้านใหม่ (มี.ค.)
- ยูโรโซน:Markit Eurozone Composite PMI (เม.ย.)
24 เม.ย. - สหรัฐ:คำสั่งซื้อสินค้าคงทน (มี.ค.)
27 เม.ย. - ไทย:ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มี.ค.), ดุลการค้า (มี.ค.)
28 เม.ย. - สหรัฐ:S&P/CaseShiller Index (ก.พ.), ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เม.ย.)
Contact person : Somchai Anektaweepon
Register : 002265
Tel: 02-646-9967, 02-646-9852
www.fnsyrus.com FB: Finansia Syrus Research