- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 30 March 2015 16:01
- Hits: 1437
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้ยังถูกกดดันจากปัจจัยรอบด้าน แต่การที่ SET Index ปรับลดลงกว่า 120 จุด จนมีค่า PER 14.5 เท่า (อิง EPS 103 บาท) ถือว่าเป็นโอกาสสะสมหุ้น PER ต่ำ+เงินปันผลสูง SPALI (FV@B 31.96), STPI([email protected]) วันนี้เลือก STPI([email protected]) เป็น Top Pick เพราะมีโอกาสได้งานใหม่สูงราคาหุ้นปัจจุบันมี PER 7.7 เท่า และมี upside กว่า 55% และ Dividend Yield 5%
การเมืองยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้น
ภาวะตลาดหุ้นไทยยังคงถูกดันจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งถือว่ามีความเกี่ยวโยงกันโดยตรง หรือกล่าวได้ว่าการเมืองเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ หากการเมืองยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้ ทั้งนี้แม้เชื่อว่าประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เดินทางมาถึงจุดใกล้เป้าหมายขั้นแรกคือ ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะสามารถเสร็จสิ้นภายใน 17 เม.ย.2558 และหลังจากนั้น จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 คือ ขอความเห็นชอบจาก 3 องค์กรคือ สปช. คณะรัฐมนตรี และ คสช. และต้องนำกลับมาปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของ 3 องค์กร หลังจากนี้เป็นขั้นตอนที่ 3 คือ สปช. จะต้องลงมติเห็นชอบร่างฯ ซึ่งกรอบเวลาต้องแล้วเสร็จภายใน 6 ส.ค. นี้ หากเห็นชอบก็จะเป็นการนำร่างรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นภายใน 4 ก.ย.2558
อย่างไรก็ตาม มีหลายประเด็นที่ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งในเรื่อง ที่มาของ สว. (มาจากการแต่งตั้งเป็นส่วนใหญ่) เปิดทางให้นายกรัฐมนตรี มาจากคนนอกได้ และที่สำคัญคือ ไม่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรค ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นต้น และแม้ว่าล่าสุดมีความชัดเจนมากขึ้นว่ารัฐฯ จะการยกเลิกการประกาศใช้ กฎอัยการศึก ซึ่งโดยเนื้อหาเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจกองทัพในการดำเนินการมาตรการต่างๆ ที่มีความจำเป็น เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ซึ่งบทบัญญัติบางประการถือเป็นการริดรอนสิทธิ์ของพลเมือง แต่เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องมีมาตรการบางอย่าง เข้ามาดูแลสถานการณ์ นอกเหนือไปจากกฎหมายปกติที่มีอยู่ ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือเรื่องของตัวบทกฎหมายที่จะถูกนำมาใช้บังคับแทนกฎอัยการศึก ซึ่งเมื่อพิจารณาไปที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มีบทบัญญัติ ที่ให้อำนาจ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการสั่งการ เพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างกว้างขวาง โดยถูกกำหนดไว้ในมาตรา 44
จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจ คสช. ไว้อย่างกว้างขวางในการดำเนินการต่าง ทำให้เชื่อว่า ผลในทางบังคับตามกฎหมาย หรือการปฎิบัติหน้าที่ของกองทัพ ไม่น่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง การบังคับใช้กฎอัยการศึกกับ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งผลสรุปก็ยังน่าจะกระทบต่อ ความเชื่อมั่นและการลงทุน ทั้งทางตรง (FDI) และตลาดหุ้น เช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ตอกย้ำถึงโอกาสการปรับลด GDP Growth ลงต่ำกว่า 3% (ASP เป็นหนึ่งที่อยู่ระหว่างการปรับลดลงจากที่ประเมินไว้ที่ 3.5%) นอกเหนือจากการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัว (ยอดส่งออกในช่วง 2 เดือนแรก จะหดตัว 4.8%yoy) ตาม เศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าชะลอตัว
ต่างชาติเทขายภูมิภาคอย่างหนัก แต่ขายไทยเล็กน้อย
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 4 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 54% อยู่ที่ 839 ล้านเหรียญฯขายสุทธิสูงสุดคือไต้หวัน ที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 628 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นถึง 80% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 15% เหลือราว 144 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซีย ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 45 ล้านเหรียญฯ และ ไทยขายสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 32 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 12% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับ ฟิลิปปินส์ที่ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 แต่ลดลง 69% เหลือราว 11 ล้านเหรียญฯ
ทั้งนี้ กระแสเงินทุนจากต่างชาติยังคงถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกทั้งหนี้ในกรีซ และ ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ทำให้ในวันนี้นักลงทุนต่างชาติน่าจะยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อไป ขณะที่ในประเทศไทยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิออกมาแต่ยอดขายเบาบาง โดยเชื่อว่าในระยะสั้นนักลงทุนกลุ่มนี้จะซื้อสลับขายหุ้นไทยรายวันต่อไปตามสถานการณ์
เข้าสู่ช่วงฤดูกาลทำ Preview Earnings งวด 1Q58
นอกจากปัจจัยกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อตลาดหุ้น ยังมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง คือ การทำ preview earnings งวด 1Q58 ซึงนักวิเคราะห์ ASP ได้เริ่มทำกันไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะเริ่มทยอยประกาศงบการเงินงวด 1Q57 ช่วงปลายเมษายนนี้ ซึ่งล่าสุดนักวิเคราะห์ ASP ได้ประเมินหุ้น
KBANK เป็นแห่งแรก ตามมาด้วย CENTEL และ ADVANC คือ KBANK (FV@B 300) คาด ผลกำไรงวด 1Q58 ยังคงเติบโตได้สวนทางการปรับลด GDP Growth ของเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าจะเติบโต 18%qoq (แต่ลดลงเล็กน้อย 1.6%yoy) ตามการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมฯ และค่าใช้จ่ายที่ลดลง ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps แม้จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงตาม NIM ที่ลดลง 8 bps (มาอยู่ที่ 3.74%) และต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 6bp (มาที่ 1.75%) แต่ก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯต่อรายได้รวมค่อนข้างสูง และ มีน้ำหนักมากกว่า ทำให้สามารถหักล้างผลกระทบไปได้ทั้งหมด ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการผลการดำเนินงานปี 2558-59 เติบโตถึง 16.0% yoy และ 14.5% yoy ตามลำดับ
CENTEL (FV@B 42) คาดการณ์ผลกำไรงวด 1Q58 เติบโตสูงกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สะท้อนได้จากผลการดำเนินงาน 2 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 85% เพิ่มขึ้น 10.4% yoy และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเพิ่มขึ้น 7% yoy ส่วนธุรกิจอาหารยอดขายเติบโตรวม 7% yoy โดยรวมทั้งปี 2558 คาดการณ์กำไรปกติเติบโต 28.4% yoy ยังแนะนำซื้อ ราคามี upside กว่า 30%
ADVANC (FV@B 285) คาดการณ์กำไรงวด 1Q58 เติบโต 1.4%yoy และ 5.4%qoq ผลจากช่วงฤดูกาลต่อเนื่อง หนุนรายได้ค่าบริการยังสามารถทรงตัวได้ในระดับสูง ประกอบกับค่าใช้จ่ายการขายบริหารที่มีแนวโน้มลดลดลง และไม่ต้องรับรู้รายจ่ายพิเศษด้านภาษีครั้งเดียวเหมือนงวด 4Q57 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า งวด 2Q58-3Q58 ผลการดำเนินงานอาจอ่อนตัวตามฤดูกาล ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นก่อนขึ้นทำจุดสูงสุดของปีใน 4Q58 หนุนคาดการณ์ทั้งปี 2558 เติบโต +16%yoy บวกกับประโยชน์ที่ได้สูงสุดจากการประมูล 4G และมี upside สูงกว่า 20% ขณะที่ล่าสุด กสทช. เดินหน้าให้ใช้คลื่น 1800 Mhz (ซึ่งคลื่นที่หมดสัมปทานแล้ว 15 ก.ย.2556 โดยเป็นคลื่นของ TRUE และ DPC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ADVANC) ในการประมูล 4G ซึ่งคาดว่า ADVANC น่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการปิดจุดอ่อนที่ไม่มีบริการ 4G ในปัจจุบัน
กลยุทธ์เลือกรายหุ้น STPI มีโอกาสได้งานใหม่
ในภาวะตลาดผันผวน ยังแนะนำให้เลือกหุ้น PER ต่ำ และ เงินปันผลสูงได้แก่ SPALI (FV@B 31.96) และ STPI([email protected]) เป็นต้น โดยเฉพาะ STPI([email protected]) ถือว่าราคาหุ้นปัจจุบันได้สะท้อนข่าวลบ จากโครงการลงทุน LNG หลายโครงการถูกเลื่อนออกไป แต่อย่างไรก็ตามล่าสุดมีบริษัทว่าจ้างบางรายเริ่มโครงการลงทุนใหม่ คือ Petronas ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ Pacific Northwest LNGเตรียมประกาศผลผู้ชนะประมูล (EPC Contractor) ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย 3 ราย คือ Bechtel, KBR/JGC และ Technip/Samsung/China Huanqiu โดย STPI ได้เข้าร่วมเสนอราคากับ Bechtel ( STPI Bid งาน Piping และ Module เฉพาะค่าแรง ไม่รวมค่าวัสดุประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) และ KBR/JGC ( STPI Bid งาน Full Scope รวมค่าวัสดุ มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) ดังนั้นหาก Bechtel หรือ KBR/JGC ได้รับคัดเลือกเป็น EPC Contractor ก็จะทำให้ STPI มีโอกาสสูงมากที่จะได้รับงานโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการปี 2559 ของ STPI ที่อาจขาดช่วงหลังส่งมอบงานโครงการ Ichthys จบในเดือน ก.พ. 59 ไปได้ และ หากพิจารณาราคาหุ้นปัจจุบันพบว่ามี ค่า PER ต่ำเพียง 7.72 เท่า และ ยังมี Upside สูงถึง 55.52%
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ ASP ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำจากถือเป็น ซื้อ SCCC(FV@B455) หลังจากราคาหุ้นที่ลดลงกว่า 17% เพราะกระแสข่าวว่าบริษัทโฮลซิม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะขายหุ้นทิ้งทั้งหมด จนทำให้ราคาหุ้นปัจจุบัน มี Upside 24% และ Dividend 4.64%
ปัจจุบัน บริษัทโฮลซิม ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้น SCC 27.5% (ปี 2555 ได้ลดสัดส่วนการถือลงจากเดิม 36.8% โดยขายให้กับกลุ่มรัตนรักษ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง SCCC ) หรือ จำนวน 63.29 ล้านหุ้น ในช่วงราคา 350-381 บาท โดยใช้เจพี มอร์แกน เป็นผู้ประสานงานในระดับโลกแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งตามแผนธุรกิจของโฮลซิม ที่ได้ประกาศจะควบรวมกิจการกับ Lafarge SA ซึ่งเป็นผู้ประกอบการชั้นนำของโลกในธุรกิจอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างนักวิเคราะห์กลุ่มวัสดุก่อสร้างของ ASP คาดว่า แม้บริษัท โฮลซิม จะลดสัดส่วนการลงทุนแล้ว จะไม่กระทบต่อการดำเนินงาน เพราะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารงานชุดเดิม คือ กลุ่มรัตนรักษ์ ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้ คาดว่าจะเติบโต แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และ ระยะสั้นยังได้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์กว่า 60% เป็นต้นทุนพลังงาน (รวมทั้งไฟฟ้าและถ่านหิน)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล