WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     SET Index ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1500 จุด โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าระดับ SET Index ที่สามารถเข้าสะสมหุ้นรอบใหม่ และสามารถสร้างผลตอบแทนได้คุ้มความเสี่ยงควรอยู่ที่ราว 1442 - 1485 จุด โดยเลือกหุ้นพื้นฐานแกร่งและปันผลดี สำหรับการลงทุนระยะยาว ส่วนการลงทุน ระยะสั้นแนะเลือกหุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนชนะตลาด โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ มี GUNKUL ([email protected]) และ RCL (FV@B 13.1) เป็น Top Pick

สะสมหุ้นที่ SET Index เท่าไร สร้างผลตอบแทนคุ้มความเสี่ยง
     การปรับตัวลดลงของ SET Index ลงมาราว 120 จุด ในช่วงวันที่ 16 ก.พ.2557 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงเวลาของการปรับฐานราคาที่ชัดเจน คำถามที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จึงมักจะมีอยู่ว่า ควรทยอยเข้าซื้อหุ้นรอบใหม่ที่ระดับ SET Index เท่าใดจึงจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มกับความเสี่ยง ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่าน่าจะเป็นบริเวณ SET Index ช่วง 1442 - 1485 จุด ทั้งนี้ประเมินจากแนวคิด 2 ประการภายใต้สมมุติฐานว่า EPS ของบริษัทจดทะเบียนงวดปี 2558 น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 103 บาท/หุ้น
แนวคิดแรก มาจากความเชื่อที่ว่าระดับค่า PER ที่เหมาะสมสำหรับตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ 16 เท่า ซึ่งบนสมมติฐานดังกล่าว จะให้ค่า SET Index เป้าหมาย ณ สิ้นปี 2558 ที่ราว 1650 จุด หากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนการลงทุนจากปัจจุบันจนถึงสิ้นปี 2558 ที่ประมาณ 10% ระดับ SET Index ที่เข้าซื้อก็ควรมีส่วนลดจากเป้าหมาย 1650 จุด 10% เช่นกัน ซึ่งก็จะได้เป้าหมายการเข้าซื้อที่บริเวณ 1485 จุด
แนวคิดที่ 2 หากกำหนดให้ SET Index ถูกกดดันอย่างหนัก จนระดับค่า PER ลงไปเหลือระดับต่ำเพียง 14 เท่า ภายใต้สมมุติฐานว่า EPS บริษัทจดทะเบียนที่ราว 103 บาท ก็จะได้ระดับดัชนีเหมาะสมที่ราว 1442 จุด ซึ่งก็น่าจะถือเป็นจุดที่จำกัดความเสี่ยงในการลงทุนได้ระดับหนึ่ง
สำหรับตัวเลือกการลงทุนจะเน้นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของผลประกอบการที่โดดเด่น และควรให้ Dividend Yield ระดับสูงควบคู่ไปด้วย อย่างเช่น SPALI (FV@B 31.96) เป็นต้น ซึ่งเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว ส่วนการเก็งกำไรระยะสั้นอาจเลือกหุ้นชุดที่มักจะสร้างผลตอบแทนการลงทุนสูงในช่วงเดือน เมษายน ของแต่ละปี เช่น GUNKUL (FV@B 38.75) และ RCL (FV@B 13.10)

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ยังถูกกดดันจากสภาวะความเสี่ยงรอบด้าน
ตลาดต่างประเทศยังคงมีแรงกดดันจากรอบด้าน จากล่าสุดความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างซาอุดีอาระเบียและเยเมน อีกทั้งเงินเฟ้อ ที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัวและห่างไกลจากเป้าหมายเบื้องต้นของธนาคารกลางโลก ขณะที่สหรัฐแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวมากกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ แต่ความขัดแย้งระหว่างดัชนีเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้การใช้นโยบายการเงินเข้มงวดอาจต้องล่าช้าออกไป กล่าวคือ
สหรัฐ รายงาน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มี.ค. ปรับตัวลง 9,000 ราย อยู่ที่ระดับ 282,000 ราย (ลดลงต่อเนื่องในเป็นสัปดาห์ที่ 3) สอดคล้องกับค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ที่ปรับลดลง 7,750 ราย อยู่ที่ระดับ 297,000 ราย และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้น เดือนมี.ค. ขยายตัวที่ระดับ 58.6 (เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ เดือน มิ.ย. 2557)
ทั้งนี้ คาดว่าการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงาน และแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาคบริการดังกล่าวข้างต้น ยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อันได้แก่ ยอดค้าปลีก (สัดส่วนใหญ่ที่สุดราว 70% ของ GDP) เดือน ก.พ. ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 1 ปี, ตลาดบ้าน ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน, ภาคการผลิต (เดือน ก.พ. ชะลอตัวทั้งยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และการใช้จ่ายภาคธุรกิจ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6) โดยรวมจึงคาดว่า Fed น่าจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ออกไปในช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 หรือ เมื่อเงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% มากขึ้น (ล่าสุดเดือน ก.พ อยู่ที่ 0% ดีขึ้นเล็กน้อยจากที่ ติดลบ 0.1% ในเดือน ม.ค.) และเศรษฐกิจเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่เฉลี่ย 5% (เดือนก.พ. 5.5%)
ญี่ปุ่น รายงานเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. ขยายตัวช้าลงที่ 2.2%yoy ซึ่งเป็นชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ เดือน พ.ค. 2557 จากระดับ 3.7% (หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเพิ่มภาษีขายอีก 3% เป็น 8% เมื่อเดือน เม.ย. 2557) สอดคล้องกับ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. ที่ติดลบ 1.8%yoy ต่ำกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.5%yoy และมีทิศทางชะลอตัวตั้งแต่ เดือน ต.ค. 2557 โดยรวมจึงเป็นการสะท้อนภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หลังจากการขึ้นภาษีขายดังกล่าว ซึ่งทำให้ GDP Growth หดตัวตั้งแต่งวด 2Q57-4Q57 ที่ระดับ ติดลบ - 0.3%, -1.4% และ -0.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ถ้าหากเงินเฟ้อญี่ปุ่น ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงในอนาคต อาจมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

สถานการณ์ต่างประเทศกดดันต่างชาติเทขาย
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 และยอดขายเริ่มหนาแน่นขึ้นอยู่ที่ 547 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิเพียง 31 ล้านเหรียญฯในวันก่อนหน้า) โดยเป็นการขายสุทธิออกมาถึง 4 ประเทศ เริ่มจากไต้หวันขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 349 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ขณะที่เกาหลีใต้พลิกมาขายสุทธิราว 171 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 7 วันก่อนหน้า) ส่วนไทยขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ลดลง 9% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 37 ล้านเหรียญฯ (1.2 พันล้านบาท) และอินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 25 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 18%) กลับกัน ฟิลิปปินส์ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 และเพิ่มขึ้น 48% อยู่ที่
35 ล้านเหรียญฯ
กระแสเงินทุนจากต่างชาติน่าจะถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และ น่าจะทำให้ต่างชาติขายสุทธิออกมาเพิ่มเติม ในระยะสั้นนี้ ในขณะที่ไทยยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆหนุนตลาด จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติน่าจะยังรีรอการซื้อต่อไป

นักวิเคราะห์ : ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ : กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!