- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 13 March 2015 16:43
- Hits: 1147
บล.เคเคเทรด : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
SET รีบาวน์ต่อ
SET View
แนวโน้มวันนี้เป็นบวก มองกรอบเคลื่อนไหว 1,535 – 1555 จุด
SET มีโอกาสรีบาวน์ต่อ จากความวิตกการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเร็วกว่าคาดผ่อนคลายลงหลังสหรัฐรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ที่ -0.6%MoM ติดลบเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะกลับมาเป็นบวก บ่งบอกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเปราะบาง และมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์เมื่อคืนรีบาวน์กลับขึ้นมาถึง 259 จุด (+1.4%) รวมถึงดัชนีความกลัว (VIX Index) ปรับลดลงสู่ระดับ 15% และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นภูมิภาคในวันนี้ ขณะที่ในประเทศยังคงได้ปัจจัยหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร รองนายกฯ แสดงความเห็นเชิงสนับสนุนว่าการลดดอกเบี้ยสามารถช่วยภาคการส่งออกได้ เพราะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาขายสุทธิวันที่สองติดต่อกันอีก 414 ล้านบาทยังไม่สนับสนุนจิตวิทยาการลงทุนมากนัก ขณะที่กลุ่มพลังงานอาจถ่วงการปรับขึ้นของ SET หลังราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลงต่อเนื่องลงมาทดสอบ US$56 ต่อบาร์เรล การรีบาวน์ของ SET จะผันผวนและมีโอกาสพลิกผันได้ทุกเมื่อ โดยภาพรวมเราเชื่อว่าผลการประชุม FOMC ในสัปดาห์หน้า (17-18 มี.ค.) จะมีนัยบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงนโยบายดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะเป็นจุดยืนยันการเปลี่ยนแนวโน้มของ SET
กลยุทธ์การลงทุน ระยะ 1-2 วัน หาก SET เปิดกระโดดควรเป็นจังหวะขายทำกำไร อ่อนตัวลงมาหาจังหวะซื้อเพื่อไปรอขายช่วงรีบาวน์ และหาก SET ปิดเหนือ 1545 จุดได้ให้ถือครองหุ้นเพื่อไปรอขายสัปดาห์หน้า
Top Daily Pick: HEMRAJ (ยอดขายที่ดินมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี การเปลี่ยนนโยบายธุรกิจหลังการเข้ามาของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ WHA จะช่วยเพิ่มมูลค่าบริษัท) /CPF (ราคาหุ้นสะท้อนความวิตกต่อภาวะอุปทานส่วนเกินในไก่ไปแล้ว ขณะที่ระยะสั้นจะได้จิตวิทยาเชิงบวกต่อเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า)
Technical Pick : VGI SVI AAV STAR DTAC
Theme Play: กลุ่มสายการบิน (AAV NOK) ได้ประโยชน์จากปัจจัยฤดูกาลและต้นทุนเชื้อเพลิงมีแนวโน้มปรับตัวลง /กลุ่มอาหาร (GFPT CPF) ราคาหุ้นสะท้อนความวิตกต่ออุปทานส่วนเกินในไก่ไปแล้ว เงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าเทียบสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยบวกด้านจิตวิทยา /กลุ่มธนาคาร (BBL KBANK KTB SCB) และพัฒนาที่อยู่อาศัย (AP SPALI) จิตวิทยาเชิงบวกจากการปรับลดดอกเบี้ยของกนง. /กลุ่มสื่อสาร (ADVANC INTUCH) ผลประกอบการฟื้นตัวต่อเนื่องปี 58 ปันผลจูงใจราว 5-6% ต่อปี /กลุ่มเครื่องดื่ม-เครือข่ายร้านอาหาร (CBG ICHI SAPPE M) ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว /หุ้นแนะนำเดือนมี.ค. (AP BANPU ICHI SNC THCOM)
รายงานวันนี้
Update : PTT (ซื้อ / มูลค่าเหมาะสม 385 บาท) เป็นจังหวะที่ดีต่อการเข้าลงทุน
Update : SEAFCO (เก็งกำไร / มูลค่าเหมาะสม 12.60 บาท) อนาคตดีมีแนวโน้มรับงานเพิ่ม
Strategy Talk
กลุ่มธนาคารไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
•ในทางปัจจัยพื้นฐาน หุ้นในกลุ่มธนาคารจะไม่ได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ลง 0.25% จาก 2.0% เป็น 1.75% ในการประชุมวันก่อน เนื่องจาก (1) ไม่ช่วยให้สินเชื่อเติบโตดีกว่าเดิม เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว ตัวเลขยอดส่งออกเดือนม.ค.ยังคงติดลบถึง 3.5% และการใช้กำลังการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมยังทรงตัวแถว 60% มาสามปีติดต่อกัน ดังนั้นความต้องการสินเชื่อของภาค Corporate จะเพิ่มขึ้นไม่มาก กอปรกับสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงจะกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคและสินเชื่อส่วนบุคคล (2) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก (Net Interest Margin: NIM) จะลดลงและจะฉุดผลประกอบการ จากการวิเคราะห์ความไวโดย PHATRA พบว่าหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 50 bps จะทำให้กำไรของธนาคารขนาดใหญ่อาทิ BBL KTB SCB ลดลง 1%-8% QoQ (ดูตารางข้างล่าง) เรามองว่าเป็นผลจากธนาคารขนาดใหญ่กลุ่มนี้มีปริมาณสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมากกว่าปริมาณเงินฝาก (3) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของระบบธนาคารอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.5-2.5% ห่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีที่อยู่แถว 6%-7% โอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก (เพื่อลดต้นทุน) จะมีจำกัดกว่าโอกาสปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ (ลดรายได้) จากภาวะแข่งขันปล่อยกู้ที่จะรุนแรงขึ้น การปรับลดดอกเบี้ยจึงน่าเป็นประโยชน์สำหรับสถาบันการเงินขนาดเล็กที่ให้สินเชื่อรายย่อย-เช่าซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ นอกจากนี้พิจารณาจากการสินเชื่อและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าคาด กลุ่มธนาคารยังมีความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดประมาณการกำไรในระยะถัดไปจึงไม่เหมาะสำหรับการเข้าลงทุนระยะกลาง-ยาว และเรายังคงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ที่ “ต่ำกว่าตลาด”
•อย่างไรก็ตาม ในเชิงกลยุทธ์เรามองว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะเป็นผลบวกเชิงจิตวิทยาต่อหุ้นในกลุ่มธนาคาร ด้วยปัจจัยสนับสนุน (1) จะกดดันให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับลดลง และจะทำให้ตราสารหนี้มีราคาแพงโดยเปรียบเทียบกับตลาดหุ้น และจะส่งผลให้เกิดความคาดหวังต่อเงินที่จะไหลออกจากตลาดตราสารหนี้มายังตลาดหุ้นในระยะต่อไป ซึ่งเราประเมินโอกาส SET จะปรับขึ้นได้ถึง 50 จุด หรือที่เป้าหมายราว 1570 จุด จากจุดต่ำสุดวันก่อนที่ 1520 จุด (ก่อนข่าวการปรับลดดอกเบี้ยออกมา) (2) ราคาหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ (BBL KBANK KTB SCB) เริ่มปรับลงมาใกล้แนวรับตามมูลค่าทางบัญชี (1x-2xP/BV) ระดับต่ำสุดในรอบ 1-3 ปี ทางสถิติจึงมีโอกาสรีบาวน์ระยะสั้น