- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 10 March 2015 18:59
- Hits: 1143
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ผันผวนในกรอบ 1,555-1,575 จุด กลยุทธ์เลือกหุ้นพื้นฐานที่คาดจะให้ผลตอบแทนสูงชนะตลาดใน มี.ค. พร้อมเงินปันผลสูงคือ AIT (FV@B 53) วันนี้เลือก SALEE([email protected]) เป็น Top pick มีศักยภาพเติบโตในตลาด AEC ตามลูกค้าข้ามชาติอย่าง Johnson, P&G, Nevia
แม้ผลสำรวจงวดนี้คาด กนง. ยืนดอกเบี้ยฯ แต่อนาคตมีโอกาสขึ้น
ผลสำรวจจากหลายสำนักต่างคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยฯ ที่ระดับ 2% ในการประชุมวันพรุ่งนี้ เริ่มจาก กรุงเทพโพลล์ (โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ สำรวจความคิดเห็นระหว่างวันที่ 9–17 กุมภาพันธ์ 2558) พบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ 68.2% จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 66 คน จาก 28 แห่ง แต่มีเพียง 16.7% เท่านั้นที่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงราว 0.25% ไปอยู่ที่ 1.75% ที่เหลือ 15.1% ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และเช่นเดียวกับผลสำรวจจากนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์ พบว่า 76.2% จากผลผู้ตอบทั้งหมด 21 ราย คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยฯ ขณะที่ส่วนน้อย 23.8% คาดว่าจะลดดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% เหลือ 1.75% แต่คาดว่า กนง. มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. หรือ
ในการประชุมอีก 2 ครั้งถัดไป (มีผู้ตอบราว 44% จากผู้ตอบทั้งหมด 18 ราย)
เชื่อว่าการที่ กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยในรอบนี้ไม่น่าจะสร้างความผิดหวัง เนื่องจากยังมีการประชุมปีนี้มีอีก 5 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปี 2558 จึงยังไม่ตัดโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยลงได้ในอนาคต เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากเงินฝากหักด้วยสินเชื่อ อยู่ที่ระดับ 4.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 และเชื่อว่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินของธนาคารกลางโลก โดยเฉพาะยุโรป ที่จะเริ่มอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ตลอดทั้งโครงการมูลค่ารวม 1.4 ล้านล้านยูโร หรือ 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ หรือราว 4% ของ GDP) และที่สำคัญ เงินเฟ้อของไทย ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (ม.ค. ติดลบ 0.41% และ ก.พ. ติดลบ 0.52%) ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ตราบที่ราคาน้ำมันดิบโลกยังต่ำในระดับปัจจุบันหรือต่ำราว 50% จากระดับสูงสุดในปี 2557 ทั้งนี้ ASP คาดว่า กนง. ยังมีช่องว่างที่จะปรับลดดอกเบี้ยฯ ลงราว 0.25-0.5% จนถึงสิ้นปี 2558 ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับผลสำรวจของรอยเตอร์ข้างต้น
เดินหน้าซื้อพันธบัตรผ่าน QE vs ปัญหากรีซยังคงมีอยู่
มาตรการ QE วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (เป็นเวลา 19 เดือนจนถึงเดือน ก.ย. 2559 1.14 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็นราว 4% ของ GDP ยุโรป) เริ่มมีความชัดเจนแล้ว โดยวานนี้ ECB กำหนดเป้าเข้าซื้อพันธบัตรขนาด 15-50 ล้านยูโร ไม่น้อยกว่า 5 ประเทศ ผลตอบแทน (Yield) ไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยฯ ของ ECB ที่ -0.2% โดยจะเริ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลไม่กี่ประเทศ และ จำนวนเงินไม่มาก คือ เยอรมัน, อิตาลี และตามด้วย เบลเยียม ฝรั่งเศส และสเปน เป็นลำดับถัดไป เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับปัญหากรีซกลับขึ้นมาอีกรอบ หลังจากการเจรจาของกรีซกับเจ้าหนี้ยุโรปเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นต้องกลับมาสู่โต๊ะเจรจาอีกรอบในวันพุธนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ โดยร่างปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซที่เสนอมาในครั้งแรกถูกปฏิเสธ ส่งผลให้รัฐบาลกรีซมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องอีกครั้งในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยกรีซต้องการแหล่งเงินมาใช้หมุนเวียนอีกราว 7 พันล้านยูโร ซึ่งปัจจุบันมาจากกองทุนฉุกเฉินเท่านั้น (เนื่องจากกรีซไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางอื่นได้ เพราะพันธบัตรของกรีซเป็น junk bond) ทางด้านมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้ออกมาเรียกร้องให้กรีซเร่งตอบรับข้อเสนอของ TROIKA เพื่อคลี่คลายปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากกรีซยังไม่ยอมรับ อาจทำให้การเจรจายืดเยื้อออกไป และกลับมาเป็นปัจจัยลบกดดันตลาดอีกครั้ง
การโยกย้ายเงินทุนต่างชาติน่าจะเกิดจากการอัดฉีด QE ยุโรปที่ชัดขึ้น
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติพลิกมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 439 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน 11 วันก่อนหน้า โดยยอดขายสุทธิส่วนใหญ่มากจากไต้หวัน ที่สลับมาขายสุทธิราว 332 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อสุทธิใน 4 วันหลังสุด) ตามมาด้วยเกาหลีใต้พลิกมาขายสุทธิเช่นกัน ราว 93 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกันถึง 10 วันก่อนหน้า) และ อินโดนีเซีย สลับมาขายสุทธิราว 21 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อสุทธิ 4 วันหลังสุด) สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 6 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 3 วันหลังสุด) และ ไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 แต่ลดลงถึง 77% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 4 ล้านเหรียญฯ (118 ล้านบาท) เชื่อว่าแรงขายต่างชาติในภูมิภาคน่าจะเกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่ตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากการใช้ QE มีความชัดเจนมากขึ้น ดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ตลาดหุ้นไทยพบว่าต่างชาติ เริ่มซื้อลดน้อยถอยลง แต่อย่างไรก็ตามจากสถิติในช่วง 5 ปีย้อนหลัง พบว่าเดือน มี.ค. ของทุกปี ต่างชาติมักจะเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย จึงคาดว่าประเด็นยังมีโอกาสที่จะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยได้บ้างในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน
SALEE เป็น Growth Stock ที่ควรมีไว้ในพอร์ต
ในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุนที่จัดขึ้นที่ ASP โดยมีทีมงานผู้บริหารของกลุ่ม SALEE (ผู้ผลิตพลาสติก หรือ SALEE และพิมพ์ฉลากสินค้าคุณภาพสูง หรือ SLP) มาบรรยายให้ลูกค้าและผู้สนใจ พบว่ามีประเด็นสำคัญที่ถือว่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนราคาหุ้นในระยะสั้น อย่างน้อย 3 ประเด็นคือ
1) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนพลาสติก SALEE ปีนี้ มีการขยายฐานลูกค้าไปยังภาครัฐ เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนาร่วมกันมาหลายปี ซึ่งคาดจะมีคำสั่งซื้อในช่วงครึ่งปีหลังและ SALEE มีการเพิ่มกำลังการผลิตรองรับบางส่วนอยู่ก่อนหน้านี้แล้วแต่หากได้รับงานทั้งหมด จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอย่างมากอีกครั้ง ขณะที่ฐานลูกค้าเดิม ปัจจุบันเริ่มเห็นการทยอยฟื้นตัว โดย Utilisation rate เริ่มเห็นการปรับขึ้นราว 5% (เครื่องจักรเดิมเพิ่มจาก 70% เป็น 75%, เครื่องจักรใหม่เพิ่มจาก 30% เป็น 35%)
2) ธุรกิจของ SLP (พิมพ์ฉลากสินค้าคุณภาพสูง) ยังมีโอกาสเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ไปประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม AEC โดยเฉพาะจากฐานลูกค้าเดิมซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติ ได้แก่ Johnson&Johnson, P&G, Nevia เป็นต้น ในเบื้องต้นคาดว่าบริษัทมีโอกาสขยายการลงทุนในตลาด AEC สูง
3) แผนการนำ SLP เข้าจดทะเบียนในตลาด มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยล่าสุด กำหนดสิทธิจองซื้อหุ้น SLP อัตราส่วน 3 หุ้น SALEE ต่อ 1 หุ้น SLP (XB 20 มี.ค. 58) และประกาศจ่ายเงินปันผล 0.35 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD 7 พ.ค. นี้ (ราว 4%) โดยมีแผนจะแตกพาร์ จาก 1 บาท เหลือ 0.25 ซึ่งจะกำหนดวันแตกพาร์พาที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ Fair value ลดลงจาก 12.2 บาท เหลือ 3.1 บาท
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล