WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      SET ฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนของต่างชาติ ซึ่งโดยปกติจะซื้อสุทธิในเดือน มีนาคมของทุกปี แม้ Current PER จะสูงถึง 22 เท่า แต่จะลดลงเหลือ 15.2 เท่าในปี 2558 จึงยังเลือกหุ้นพื้นฐานที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงใน มี.ค. และเงินปันผลสูง คือ AIT (FV@B 53), SPALI (FV@B 31.96)

ต่างชาติยังซื้อสุทธิ สอดคล้องกับสถิติอดีตที่มักซื้อ มี.ค. ของทุกปี
      วันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 2 เท่าตัว อยู่ที่ 424 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้ยอดซื้อสุทธิสูงสุดยังคงเป็นเกาหลีใต้ และซื้อสุทธิต่อเป็นวันที่ 10 ราว 269 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว) ตามมาด้วยไต้หวันสลับมาซื้อสุทธิราว 132 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 3 วันหลังสุด) ส่วนไทยยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ลดลง 50% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 16 ล้านเหรียญฯ (510 ล้านบาท) และอินโดนีเซีย สลับมาซื้อสุทธิราว 13 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด) สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายสุทธิราว 6 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า)
เป็นที่สังเกตว่านักลงทุนต่างชาติ กลับมาซื้อหุ้นไทยยังคงเบาบาง (เฉลี่ยซื้อสุทธิวันละ 1.1 พันล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในเดือน มี.ค. จะยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง จากสภาพคล่องโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง และจากข้อมูลในอดีตที่ต่างชาติจะเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยในเดือน มี.ค. ตลอด 5 ปีหลังสุด ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ของไทยนักลงทุนต่างชาติพลิกมาขายสุทธิราว 2.4 พันล้านบาท หลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องกันถึง 10 วันก่อนหน้า รวม 2.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเล็กน้อย (เช้านี้อยู่ที่ 32.57 บาทต่อเหรียญฯ)

ยอดส่งออกจีนดีขึ้น หนุน sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลก
      จีนรายงานยอดส่งออกในเดือน ก.พ. มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยขยายตัว 48.3%yoy เทียบกับที่ติดลบ 3.2%yoy ในเดือน ม.ค. นับเป็นขยายตัวมากสุดในรอบเกือบ 5 ปี) และมากกว่าที่ตลาดคาดไว้เพียง 13.3% โดยมูลค่าส่งออกที่เพิ่ม มาจากการขยายตัวในตลาดสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 48%, ยุโรป เพิ่มขึ้น 44% โดย นายเกา หู่เฉิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่ายอดส่งออกรวมและนำเข้าจะกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้งในเดือน มี.ค. และยอดการค้าระหว่างประเทศในปี 2558 จะเติบโตบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6.1%
แต่เป็นที่สังเกตว่านักเศรษฐศาสตร์ กลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยเชื่อว่ายอดส่งออกนี้ถูกบิดเบือน เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนในปีที่แล้วตรงกับปลายเดือน ม.ค. แต่ทว่าในปีนี้เทศกาลตรุษจีนตรงกับช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีการเร่งส่งออกมากขึ้นกว่าปกติ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว
   และสวนทางกับยอดนำเข้าที่ยังติดลบ 20.5%yoy แย่ลงเมื่อเทียบกับที่ติดลบ 19.9%yoy ในเดือน ม.ค. และย่ำแย่กว่าตลาดไว้ ว่าจะหดตัว 10% โดยสินค้านำเข้าที่ลดลงคือ น้ำมันดิบลดลง 46% และมูลค่าการนำเข้าสินแร่เหล็กลดลง 39% เป็นต้น ซึ่งทำให้ดุลการค้าจีนเกินดุลรวม 3.705 แสนล้านหยวน (6.06 หมื่นล้านเหรียญ) และเชื่อว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 5.35% ไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. เป็นครั้งที่ 2 (ภายหลังจากลด 0.4% เหลือ 5.6% เมื่อ เดือน พ.ย. และลด RRR ลง 0.5% เหลือ 19.5% ไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ.) จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้ ซึ่งถือเป็นประเด็นบวกต่อตลาดหุ้น

ดอกเบี้ยไทยจะยืนต้านกระแส Fund Flow ได้จริงหรือ
      ใกล้ถึงวันประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คือในวันที่ 11 มี.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีน้ำหนักต่อตลาด แต่อย่างไรก็ตามตลาดน่าจะมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย กล่าวคือฝ่ายแรก เห็นว่าดอกเบี้ยฯ ที่ปัจจุบันที่ 2% เป็นระดับที่เหมาะสม การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่จำเป็น เพราะปัญหาอยู่เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวล่าช้า อันเกิดจากเครื่องจักรยังทำงานน้อย เริ่มจากการบริโภคภาคครัวเรือน (50% ของ GDP) ที่อ่อนแรง สะท้อนจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 84.7% ของ GDP ในงวด 3Q57 (ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีหลัง) สอดคล้องกับดัชนีการบริโภคครัวเรือน เดือน ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 146.04 (ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3) และ เช่นเดียวกับการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐยังเป็นไปอย่างล่าช้า สะท้อนจากการลงทุนภาครัฐ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายไปเพียง 8 หมื่นล้านบาท ของงบลงทุนทั้งหมด 4.49 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 18% ซึ่งไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชนได้
อีกกลุ่มเห็นว่าควรจะลดดอกเบี้ย ซึ่งทาง ASP มีความเห็นด้วยในทางนี้ เพราะเชื่อว่าเรามิอาจจะต้านกระแส Fund Flow ที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายการเงินของธนาคารกลางโลก โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ตลอดทั้งโครงการมูลค่ารวม 1.4 ล้านล้านยูโร หรือ 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ หรือราว 4% ของ GDP) รวมทั้งการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง จีน และ อินเดีย ที่ปรับลดลงต่อเนื่องนับจากปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญ เงินเฟ้อของไทย ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (ม.ค. ติดลบ 0.41% และ ก.พ. ติดลบ 0.52%) ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าสถาการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งตราบที่ราคาน้ำมันดิบโลกยังต่ำในระดับปัจจุบันหรือต่ำราว 50% จากระดับสูงสุดในปี 2557 ซึ่งน่าจะทำให้ กนง. มีช่องว่างที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25-0.5% จากปัจจุบันที่ 2%

PER ปี 2557 แพง แต่จะลดลงในปี 2558
      หลังจากรายงานงวด 4Q57 ต่ำกว่าที่ ASP คาดมาก ทำให้กำไรตลาดปี 2557 อยู่ที่ 702,194 ล้านบาท หรือ EPS 76.65 บาท ทำให้ Current PER ขยับขึ้นไปสูงถึง 20 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 6 ปี หลังจากที่เคยสูงในระดับกว่า 25.6 เท่า ในปี 2552 โดยพบว่าหุ้นที่มี PER สูงขี้นในปี 2557 เกิดจากทุกกลุ่ม เรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ
กลุ่มขนส่ง 93 เท่า โดยเพิ่มขึ้นจาก 26 เท่าในปี 2556 และ 12 เท่า 2555 พบว่าค่า PER ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ มาจากหุ้นสายการบิน ซึ่งพบว่าบางแห่งฟื้นตัวจากขาดทุนในปี 2556 มามีกำไร คือ BA , AAV มี PER 116 เท่า, 135 เท่า ตามมาด้วย BTS และ AOT มีค่า PER 42 เท่า และ 33 เท่า ตามลำดับ
  บันเทิง 43 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 21 เท่าในปี 2556 และ 27 เท่าในปี 2555 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดผลประกอบการที่ชะลอตัวในทุกบริษัททำให้มี PER สูงเกิน 100 เท่า คือ WORK 902 เท่า, MONO 346 เท่า, TH 124 เท่า, NMG 120 เท่า ตามมาด้วย PLANB 66 , RS 53, MATCH 48 เท่า เป็นต้น
  โรงพยาบาล 34 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 24 เท่าในปี 2556 และ 16 เท่าในปี 2555 มาจากทุกหุ้นคือ คือ SKR 52 เท่า, NEW 49 เท่า, CHG 44 เท่า, BH 44 เท่า BDMS (BGH) 43
ท่องเที่ยว 30 เท่า เพิ่มจาก 15 เท่าในปี 2556 แต่ลดลงจาก 42 เท่าในปี 2555 มาจากหุ้น LRH ที่สูงถึง 277 เท่า ตามมาด้วย, OHTL 86 เท่า และ CENTEL 33 เท่า (ขณะที่ CSR (เทพธานีกรีฑา) 16 เท่า)
  กลุ่มรับก่อสร้าง 26 เท่า (เพิ่งแยกออกจากพัฒนาที่อยู่อาศัย) โดยหุ้น NWR สูงสุด 561 เท่า รองลงมาคือ ITD 88 เท่า PLE 41 เท่า, TRC 35 เท่า และ UNIQ 31 เท่า
  กลุ่มพลังงาน 23 เท่า เพิ่มจาก 11 เท่าในปี 2556 และ 10 เท่าในปี 2555 มาจากหุ้น SOLAR สูงถึง 252 เท่า, TCC 90 เท่า รองลงมาคือ BCP 61 เท่า, GUNKUL 57 เท่า และ CKP 40 เท่า ตามลำดับ
  ปิโตรเคมี 20 เท่า เพิ่มจาก 13 เท่า ในปี 2556 และ 12 เท่า ในปี 2555 มาจากหุ้น IVL สูงสุด 83 เท่า ขณะที่ TPC, TPA, UP อยู่ที่ 28 เท่า, 22 เท่า, และ 18 เท่า ตามลำดับ แต่ปี 2558 จะลดลงเหลือเฉลี่ย 11.23 เท่า
  หุ้นเกษตร 19 เท่า เพิ่มจาก 14 เท่า ในปี 2556 และ 18 เท่า ในปี 2555 มาจากหุ้น EE 13,283 เท่า, CHOTI 2,469 เท่า ตามมาด้วย CPI 28 เท่า VPO 27 เท่า, CM 23 เท่า และ PRG 21 เท่า
  ธนาคารพาณิชย์ 12 เท่า เพิ่มจาก 8 เท่า ในปี 2556 และ 10 เท่า ในปี 2555 มาจากหุ้น CIMBT ที่สูงถึง 41 เท่า รองลงมาคือ BAY 26 เท่า, LHBANK 21 เท่า, TMB 14 เท่า และ KKP 12 เท่า
  ทั้งนี้ยกเว้นเพียง กลุ่มอาหาร 22 เท่า ลดลงจาก 24 เท่าในปี2556 แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นจาก 16 เท่า ในปี 2555 โดยสูงสุดคือ SFP 159 เท่า รองลงมาคือ SSC 72 เท่า, TIPCO 45 เท่า, CBG 41, MINT 30 เท่า, KTIS 28 เท่า
  กลุ่ม พัฒนาที่อยู่อาศัย 18 เท่า ลดลงจาก 19 เท่าในปี 2556 และ 23 เท่าในปี 2555 มาจากหุ้น PRINC สูงถึง 416 เท่า, BROCK 253 เท่า, KC 198 เท่า, CGD 161, A 128 เท่า, NUSA 74 เท่า และ UV 43 เท่า ตามลำดับ
  แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณา ค่า Expected PER ปี 2558 คาดว่าจะลดลงเหลือ 15.16 เท่า และพบว่าหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง โดยหากพิจารณาเฉพาะหุ้นที่ ASP ศึกษาพบว่า หุ้นที่มีค่า PER ต่ำสุดในปี 2558 คือ
  เกษตร 9.64 เท่า (GFPT 9.2 เท่า, STA 9.8 เท่า),
  ธนาคาร 10.8 เท่า (TCAP 7.9 เท่า, TISCO 7.9 เท่า, BBL 8.9 เท่า, KTB 9.1 เท่า, KBANK 10.2 เท่า, SCB 10.8 เท่า)
  พลังงาน 11.6 เท่า (PTT 8.8 เท่า, EGCO 10 เท่า, BCP 10.7 เท่า, PTTEP 10.8 เท่า, IRCP 11 เท่า),
  ปิโตรฯ 11.23 เท่า (PTTGC 8.5 เท่า)
  ยานยนต์ 11.54 เท่า (IRC 9.7 เท่า, SAT 10 เท่า, AH 10.9 เท่า)
  ชิ้นส่วนฯ 12.07 เท่า (SVI 5.4 เท่า, HANA 11.9 เท่า)
  วัสดุอุตสาหกรรม 12.16 เท่า (SNC 10.5 เท่า)
  พัฒนาที่อยู่อาศัย 12.9 เท่า (PACE 5.4 เท่า, SPALI 7.3 เท่า, SENA 8 เท่า, SIRI 8.7 เท่า, SC 9.4 เท่า)
  กลยุทธ์ยังเลือกซื้อหุ้น PER ต่ำ และเงินปันผลสูง เช่น AIT(FV@B 53), SPALI(FV@B 31.96), PTTGC(FV@B 67.5), STPI(FV@B 26), KTB(FV@B 29)

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!