- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 25 February 2015 15:51
- Hits: 1260
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ยังวนเวียน 1,600 จุด บวก-ลบ กลยุทธ์ให้เน้นหุ้นปันผลเด่น + PER ต่ำ เช่น SPALI (FV@B 31.96) และหุ้นที่มีพัฒนาการเชิงบวก คือ M(FV@B70) ซึ่งนักวิเคราะห์ ASP ปรับประมาณการกำไร และ Fair Value ขึ้นจากเดิม 9% จึงเลือกเป็น Top Picks ทั้ง 2 บริษัท
ให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ย FED ใน 4Q58
หลังจากกรีซได้รับความผ่อนคลายเบื้องต้นจากเจ้าหนี้ TROIKA โดยยินยอมให้ยืดระยะเวลาการประนอมหนี้ของกรีซออกไปอีก 4 เดือน พร้อมกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจล่าสุด ได้แก่ ขายสินทรัพย์ภาครัฐ การควบรวมกองทุนบำเหน็จบำนาญ เพื่อลดต้นทุนและการปรับปรุงโครงสร้างภาษี เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามจะต้องได้รับการพิจารณาจาก TROIKA (คณะกรรมการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และ IMF) ในการประเมินรายละเอียดของแผนดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งตลาดเงินและตลาดหุ้นในกรีซได้ตอบรับเชิงบวกไปแล้วเมื่อคืนวานนี้ กล่าวคือ ผลตอบแทนพันธบัตร (อายุ 3 ปี) ของกรีซได้ปรับตัวลง 2.79% ลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 12.28% นับตั้งแต่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่ฝั่งสหรัฐการแถลงผลงานต่อสภาครองเกรส เมื่อวานนี้ สิ่งที่ตลาดให้ความสนใจคือ เมื่อไหร FED จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายฯ หลังสิ้นสุดการตัด QE และยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มานานตั้งแต่ ธ.ค.2551 จากถ้อยคำแถลงของ นางเยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา (Senate) วานนี้ สรุปได้ว่า Fed ยังคงใช้คำว่า patience เพื่อติดตามและเฝ้าดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงาน ล่าสุด เดือน ม.ค. อยู่ที่ 5.7% (ต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี) รวมถึงกล่าวว่า Fed จะไม่เร่งรีบต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ และจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยฯ ในการประชุม 2 อีกครั้งหน้าคือ เดือน มี.ค. และ เม.ย. อย่างแน่นอน แต่ Fed จะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยฯ ในการประชุมเป็นรอบ ๆ ไป
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจ Fed Fund Futures ของ CME Group ล่าสุด ประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก น่าจะอยู่ในราวเดือน ต.ค. โดยมีผู้ตอบสูงถึง 69% ขณะที่ผู้ให้ความเห็นต่อการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ได้ลดลงเหลือ 48% จากที่เคยสูงถึง 63% ในการสำรวจครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของฝ่ายวิจัยว่า การขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 จากปัญหาเงินเฟ้อ ที่ตกต่ำทั่วโลก และเงินเฟ้อสหรัฐ เดือน ม.ค. ยังคงอยู่ที่ 0.8% ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% อยู่มาก และปัญกการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก จึงนำไปสู่การการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงจำเป็น
ขณะที่ล่าสุดพบว่า ธนาคารกลางตุรกี ได้ปรับลดดอกเบี้ยฯ ลงอีกครั้ง 0.25% เหลือ 7.5% (เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ และรวมปรับลดทั้งสิ้น 0.5%) หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอตัว สอดคล้องกับสภาวะโลก โดยล่าสุดเดือน ม.ค. พบว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.2% (จาก 8.2% ในเดือนก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2)
ต่างชาติยังซื้อภูมิภาค แต่ยังขายไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 8
กระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคยังคงมีต่อเนื่อง โดยที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ราว 503 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า เพราะตลาดไต้หวันกลับมาเปิดทำการ แต่หากพิจารณารายประเทศพบว่ายอดซื้อสุทธิลดลงทุกแห่ง เริ่มจาก ไต้หวันที่กลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังจากปิดเทศกาลตรุษจีน พบว่ามียอดซื้อสุทธิสูงสุดเป็นวันที่ 11 สูงถึง 392 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 8% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ลดลง 39% เหลือราว 83 ล้านเหรียญฯ อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 33 ล้านเหรียญฯ ลดลง 41% จากวันก่อนหน้า และ ฟิลิปปินส์เป็นวันที่ 9 แต่ลดลง 15% เหลือราว 12 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับไทยยังคงขายสุทธิเช่นเดิม โดยขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ราว 17 ล้านเหรียญฯ (546 ล้านบาท, วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 44 ล้านบาท)
แม้ต่างชาติยังคงซื้อหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องแต่กลับยังคงขายสุทธิไทยออกมา 8 วันติดต่อกัน รวม 5.8 พันล้านบาท เชื่อว่าเป็นผลจากปัจจัยกดดันเรื่องการเมืองในประเทศที่เริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ขณะที่แรงขายจากสถาบันในประเทศ และพอร์ตโบรกเกอร์ยังคงมีอยู่ แต่อย่างไรก็ตามสภาพคล่องโลกที่สูงขึ้น บวกกับ การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายๆประเทศ น่าจะช่วยหนุนให้ดัชนีหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 1,600 จุดต่อไป
มีพัฒนาการเชิงบวก ปรับกำไร และ Fair Value ของ M ขึ้น 9%
ขณะที่การรายงานงบงวด 4Q57 แม้จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะออกมาย่ำแย่ เช่น ธุรกิจที่อิงเศรษฐกิจภายนอกคือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งทำให้ฐานกำไรในปี 2557 ต่ำกว่าคาดมาก แต่อย่างไรก็ตามในด้านหนึ่งพบว่าธุรกิจที่อิงเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวและสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค และอาหาร ซึ่งล่าสุด พบว่า M มีพัฒนาที่ดีขึ้นมาก กล่าวคือ ในงวด 4q57 พบว่า รายงานกำไรสุทธิสูงสุดของปี 2557 ราว 650 ล้านบาท เติบโต 24% qoq และดีกว่าคาดไว้ถึง 19% โดยส่วนต่างหลักมาจากรายได้อื่นมากกว่าคาด 11% และการบริหารจัดการที่ดีจนสามารถลดค่าใช้จ่ายขายบริหารน้อยลงต่ำกว่าคาด 5.4% ทำให้ภาพรวมฝ่ายวิจัยต้องปรับเพิ่มกำไรปี 2558 ขึ้นจากประมาณการเดิม 9% และพัฒนาเชิงบวกนี้ทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มอาหารได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558 ขึ้นจากเดิม 9% เป็น 2,410 ล้านบาท หรือเติบโต 18% yoy ทั้งยอดขายที่ดีขึ้น และการประหยัดต้นทุน ซึ่งทำให้ M มี Net Profit Margin ปี 2558 จะอยู่ที่ 14.7% ซึ่งถือเป็นอัตรากำไรสูงสุดในกลุ่มธุรกิจอาหาร นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดสาขาร้านอาหารใหม่อีก 62 สาขาในปี 2558 โดยรวมทำให้ปรับเพิ่ม Fair Value ใหม่ปี 2558 เพิ่มเป็น 70.00 บาท (เดิม 65.00 บาท) มี upside 21% และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลงวด 2H57 หุ้นละ 1.00 บาท คิดเป็นเงินปันผลทั้งปี 2557 รวม 1.8 บาท/หุ้น หรือ Div Yield เฉลี่ย 3% ทั้งนี้ยังไม่รวม upside ที่จะเพิ่มเติมจากแผนซื้อกิจการธุรกิจอาหารในอนาคต
กลยุทธ์ให้เลือกหุ้นปันผลสูง + P/E ต่ำ upside สูง: STPI, SPALI
ท่ามกลางภาวะที่ตลาดหุ้นไทยยังผันผวน กล่าวคือ ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,590-1,615 จุด มานานกว่า 3 สัปดาห์ แต่ตลาดหุ้นเพื่อบ้านทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างเดินหน้าขึ้นทำจุดสุงสุดใหม่ไปแล้ว ขณะที่เงินเฟ้อชะลอตัวทั่วโลก และธนาคารกลางทั่วโลกยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย คาดว่าประเทศไทยน่าจะได้อานิสงค์นี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ไทยเผชิญกับเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2558 ติดลบ 0.41% เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน จึงคาดว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.5% ในปี 2558
กลยุทธ์การลงทุนท่ามกลางตลาดผันผวน จึงควรเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโต ร่วมกับด้าน Valuation คือ มีค่า Expected P/E ต่ำ Dividend Yield สูง และมี Upside จากมูลค่าพื้นฐานมากพอ
ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ SPALI (FV@B 31.96) เนื่องจากยัง laggard อยู่มาก ราคาหุ้นมี Upside กว่า 33% และให้ Dividend Yield สูงกว่า 5.3% แต่ P/E ต่ำเพียง 7.5 เท่า โดยผลประกอบการงวด 4Q57 จะเป็นจุดสูงสุดของปี ส่วนปี 2558 คาดว่ากำไรจะเติบโตอีก 16.8% โดยที่เป้าหมายการบันทึกรายได้ของปี 2558 มี Backlog รองรับไว้แล้วถึง 80% ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนอยู่ในระดับต่ำมาก อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงที่ฐานกำไรปี 2559 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากมีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จลดลง แต่ก็จะกลับไปแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2560
และ STPI (FV@B 30.30) มี Upside กว่า 54% และให้ Dividend Yield 5.1% และ P/E ต่ำเพียง 9.1 เท่า นอกจากนี้ในเชิงพื้นฐานยังคาดหมายว่าจะเห็นผลประกอบการในงวด 4Q57 และต่อเนื่องในปี 2558 เติบโตในอัตราสูง หลังจากที่บรรลุข้อตกลงในการรับรายได้จากการเร่งงานโครงการ Ichthys มูลค่า 140–180 ล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงอยู่ที่เรื่องของโครงการประมูลใหม่ที่ทิ้งช่วงออกไป หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล