- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 09 June 2014 18:25
- Hits: 2904
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความกังวลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวผ่อนคลายลง หลังยกเลิกเคอร์ฟิวหลายพื้นที่ แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มหลัง SET ใกล้ Ex P/E 15 เทำ ยังแนะนำขายหุ้นที่ราคาเกิน Fair Value (ITD, CK, STEC และ PS) แต่ยังแนะนำซื้อหุ้นรายตัว เลือก AOT(FV@B230) และ SCB([email protected]) เป็น Top picks
ตั้งบอร์ด BOI ใหม่ เล่นได้ทั้งนิคม และธนาคาร
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉลับที่ 59/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ทำหน้าที่ประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานราชการ ตลอดจตัวแทนจากองค์กรเอกชน เข้าร่วมเป็นกรรมการเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรม,สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น
การเกิดขึ้นของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หลังจากที่ว่างมาตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2556 น่าจะทำให้เกิดผลดีอย่างน้อย 2 ประการคือการ เร่งอนุมัติยอดของส่งเสริมการลงทุนที่มียอดเม็ดเงินลงทุนสะสมรออนุมัติกว่า 7.6 แสนล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี2557 พบว่ามีการอนุมัติไปได้เพียง 4.35 หมื่นล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นการอนุมัติในโครงการลงทุนที่มีขนาด 20 – 200 ล้านบาทเป็นหลัก) ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมียอดอนุมัติ 3.29 แสนล้านบาท ผลดีประการที่ 2 น่าจะทำให้ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เข้ามาได้มากขึ้น โดยที่ในช่วง 4 เดือน แรกของปี 2557 มียอดขอรับการส่งเสริมเข้ามา 2.70 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งสูงถึง 4.89 แสนล้านบาท
กระแสเชิงบวกดังกล่าวน่าจะส่งผลดีในเชิง Sentiment ต่อหุ้นใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม และ ธนาคารพาณิชย์โดยที่นิคมอุตสาหกรรม น่าจะได้รับกระแสเชิงบวกโดยตรง จากยอดขายที่ดินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาหุ้นส่วนใหญ่ได้ปรับตัวขึ้นเกิน Fair Value ไปแล้ว จึงอาจทำได้เพียงการ Trading หุ้นหลักอย่างเช่น AMATA, ROJAN และ HEMRAJ สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ น่าจะได้รับประโยชน์จากความคาดหวังเชิงบวกจากแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อภาคเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หุ้นเด่นได้แก่ SCB (FV@B 193.45), KBANK (FV@B 223), BBL (FV@B 220) ซึ่งฝ่ายวิจัยให้คำแนะนำซื้อ และยังมีหุ้นที่ให้คำแนะนำถือ แต่อาจถูกเก็งกำไรขึ้นอีก 2 บริษัทได้แก่ KTB(FV@B 21.25) และ TMB (FV@B 2.62)
ตลาดน่าจะตอบรับการลดดอกเบี้ยยุโรป vs เศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
คาดว่าระยะสั้นตลาดหุ้นยังไม่มีประเด็นบวกใหม่ ๆ เกิดขึ้น หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.1% ตามตลาดคาด ขณะที่ตลาดยังคาดหวังจะเห็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงิน (QE โดยการซื้อ ABS)
ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐ ยังคงรายงานตัวเลขเศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ค.อยู่ที่ระดับ 217,000 ตำแหน่ง (แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเอกชน 216,000 ตำแหน่ง และรัฐ 1,000 ตำแหน่ง) เป็นระดับใกล้เคียงที่คาดแม้ลดลงจากเดือนก่อนหน้าราว 65,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานสหรัฐถือว่ายังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง (เกิน 200,000 ตำแหน่ง ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4) หนุนให้อัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. ยังอยู่ที่ 6.3% และเช่นเดียวกับสินเชื่อบริโภค (การบริโภคคิดเป็น 70% ของ GDP) แข็งแกร่ง โดยเดือน เม.ย. พบว่าเพิ่มขึ้น 10.2%mom (เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ เดือน ก.ค. 2554) แต่อย่างไรก็ตาม S&P ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ระดับ AA+ (เป็นเวลาเกือบ 3 ปี หลังจากที่ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งแรกเมื่อปี 2554) เนื่องจากยังมองว่าหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง และยังมีการขาดดุลงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มอันดับที่ AAA ได้
ส่วนเศรษฐกิจไทย มุ่งความสนใจไปในสัปดาห์ถัดไป โดยคาดว่าผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 2.62% (ทำให้อัตราดอกเบี้ยสุทธิติดลบถึง0.62%) ทั้งนี้ติดตามรายละเอียดความชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย.
แรงซื้อต่างชาติแผ่วเบาลง และเลือกขายรายประเทศ
ศุกร์ที่ผ่านมา แม้ว่านักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่ยอดซื้อกลับลดลงถึง 81% เหลือราว 28 ล้านเหรียญฯ โดยที่เป็นการเลือกซื้อสลับขายรายประเทศ เริ่มจากไต้หวันที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 51 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 15% จากวันก่อนหน้า) และ ไทยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่เบาบางเพียง 9 ล้านเหรียญฯ (307 ล้านบาท ลดลง 78% จากวันก่อนหน้า) ขณะที่ประเทศอื่นในกลุ่ม TIP เป็นการขายสุทธิทั้งหมด กล่าวคือ อินโดนีเซีย ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 22 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์ สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 10 ล้านเหรียญฯ (สลับซื้อขายใน 6 วันหลังสุด) ส่วนตลาดในเกาหลีใต้ปิดทำการเนื่องจากวัน Memorial Day (& 54788;& 52649;& 51068;)
แม้ว่าต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แต่กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเห็นได้จากประเทศในกลุ่ม TIP ที่เป็นการซื้อสลับขายในช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด ยกเว้นเพียงประเทศไทยที่ถูกซื้อสุทธิ เนื่องจากถูกเทขายอย่างหนักมาในช่วงก่อนหน้า ในระยะสั้นเชื่อว่าแนวโน้มกระแสเงินทุนไหลเข้าจะยังคงชะลอตัวต่อไป หลังจากที่นักลงทุนกลุ่มนี้เข้าซื้อหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนหลังสุด (รวมกว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญฯ)
ความกังวลต่อการท่องเที่ยวผ่อนคลาย หลังยกเลิกเคอร์ฟิวเพิ่มเติม: AOT เด่น
การท่องเที่ยวเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับหลังจาก คสช. ได้ผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวในจังหวัดท่องเที่ยวเพิ่มเติมอีกเริ่มตั้งแต่ 3 มิ.ย. ยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่เมืองพัทยา, อ.เกาะสมุย และ จ.ภูเก็ต ถัดมาวันที่ 6 มิ.ย. ยกเลิกในพื้นที่ อ.ชะอำ, อ.หัวหิน,จ.กระบี่ และ จ.พังงา และล่าสุดวานนี้ (8 มิ.ย.) ยกเลิกอีก 3 พื้นที่ คือ อ.เกาะช้าง, อ.หาดใหญ่ และ อ.เกาะพงัน ช่วยสร้าง sentiment เชิงบวกต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งโรงแรม อุตสาหกรรมอาหาร การบิน และผู้ให้บริการสนามบิน โดยนักวิเคราะห์ ASP ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโรงแรม-ท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศ จากเดิม น้อยกว่าตลาดเป็น เท่ากับตลาดโดยหุ้นทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่ได้ปรับตัวขึ้นสอดรับกับข่าวดังกล่าว แต่ทั้งนี้พบว่านับตั้งแต่เดือน เม.ย. ทั้งสองกลุ่มนี้ยัง laggards กับตลาด
กลุ่มท่องเที่ยว จากบรรยากาศที่ผ่อนคลายดังกล่าวข้างต้น คาดว่าจะทำให้เห็นการฟื้นตัวดีขึ้นใน 3Q57 และโดดเด่นใน 4Q57 ซึ่งเข้าสู่ช่วง High Season ซึ่งในอดีตพบว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการรัฐประหารขึ้นจะกระทบต่อนักท่องเที่ยวเดือนที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวลดลงแรง ก่อนจะใช้ระยะเวลาในการเรียกคืนความเชื่อมั่นด้านปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2 เดือน ก่อนกลับสู่ภาวะปกติ จึงเชื่อว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวนับจากนี้ เชื่อว่าจะมีทิศทางดีขึ้น และส่งผลบวกต่อการดำเนินงานต่อกลุ่มโรงแรมทั้ง 3 บริษัท คือ MINT,ERW และ CENTEL ให้พ้นจากจุดต่ำสุดใน 2Q57 ก่อนฟื้นตัวดีขึ้นในลักษณะขั้นบันได โดยจะโดดเด่นสุด 4Q57 และพีคต่อเนื่องใน1Q58 ซึ่งปกติจะเป็นไตรมาสดีสุดของกลุ่มโรงแรม เชื่อว่าสัญญาณดังกล่าวจะหนุนให้ Sentiment การลงทนหุ้นในกลุ่มโรงแรมกลับมามีความน่าสนใจลงทุนอีกครั้ง ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มคำแนะนำกลุ่มฯ เป็น เท่ากับตลาด จากเดิม น้อยกว่าตลาด และเพื่อสะท้อนมุมมองเชิงบวกขึ้น และปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานของ ERW เป็น 5.0 บาท, CENTEL 40 บาท และ MINT 32 บาท มี upside 18%, 19% และ 20% ตามลำดับ จึงปรับเพิ่มเป็น ซื้อ จากเดิม ถือ สำหรับหุ้นทั้ง 3 ตัว โดยเลือก MINT เป็น Top Pick จากธุรกิจกระจายตัวมากสุด ทำให้เป็นบริษัทเดียวที่จะเห็นการเติบโตของกำไรดีสุดในปีนี้ กอปรกับ PER ซื้อขายต่ำสุดในกลุ่มฯ และ upside มากสุด
กลุ่มขนส่งทางอากาศ เชื่อว่ากำไรกลุ่ม 2Q57 จะเป็นตกต่ำสุดของปี ก่อนฟื้นตัวเป็นขั้นบันไดหลังจากนั้น หากพิจารณาเป็นรายหุ้นคาดว่า THAI น่าจะมีผลประกอบการฟื้นตัวดีสุดในงวด 3Q57 อานิสงส์จากที่มีนักท่องเที่ยวชาวยุโรป เข้าสู่ช่วงท่องเที่ยว (หนีหนาวมาเที่ยวในช่วงปลาย 3Q57) และมีโอกาสลุ้นพลิกจากขาดทุนมามีกำไรใน 4Q57 ส่วนสายการบินอื่นๆ โดยเฉพาะ low cost ที่บินระยะทาง สั้น ๆ ในประเทศ และ ประเทศใกล้เคียง เช่น AAV คาดว่าผลกำไรใน 3Q57 น่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับงวด 2Q57 เพราะเป็นงวดที่มีฐานกำไรสูงมากจากที่อยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วน AOT ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการแก่สายการบินต่าง ๆ ยอมได้รับผลดีในลักษณะเดียวกัน โดยคาดว่างวด 2Q57 น่าจะงวดที่ต่ำสุดของปี และจะทรงตัวในงวด 3Q57 (ก.ค.-ก.ย.) แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า แต่ต้องบันทึกโบนัสจ่าย และหลังจากนี้คาดว่าผลกำไรจะกลับมาเติบโตโดดเด่นใน 4Q57 ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มฯ เป็น เท่ากับตลาด จากเดิม น้อยกว่าตลาด และยังเลือก AOT (FV@B230) เป็น Top Pick
ราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่อง แต่ยังสูงกว่า 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานยอดน้ำมันดิบคงคลังลดลง 3.43 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 389.5 ล้านบาร์เรล เช่นเดียวกับน้ำมันสำเร็จรูปที่ท่าส่งเมือง Cushing ที่ลดลงอีกราว 3.21 แสนบาร์เรล แตะระดับ 21.4 ล้านบาร์เรล โดยเป็นการลดลงถึง 17 จาก 18 สัปดาห์หลังสุด ยกเว้นสต๊อกน้ำมันสำเร็จรูปยังคงเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 2.1 แสนบาร์เรล อยู่ที่ 211.9 ล้านบาร์เรล เชื้อเพลิงอื่น ๆ (heating oil) เพิ่มขึ้น 2.0 ล้านบาร์เรล เป็น 118.1 ล้านบาร์เรลเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังคงทรงตัวที่ระดับเดิม ราว 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะหดตัวลดหลังจากผ่านเดือน มิ.ย. ไป เนื่องจากผ่านพ้นช่วงพีคของฤดูกาลขับขี่แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสต๊อกน้ำมันดิบจะลดลง แต่การส่งออกน้ำมันของลิเบียที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากการประท้วงสิ้นสุดลง กดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 102.19 เหรียญฯต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า Brent ที่ลดลงมาอยู่ที่ 108.40 เหรียญฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงมา 104.32 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่านักวิเคราห์ ASP ได้คาดว่าไว้ที่ระดับ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงเป็นผลบวกต่อ PTT และ PTTEP จึงเลือกเป็น Top picks
Analysts :
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล