- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 19 February 2015 16:58
- Hits: 1365
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เป็นไปได้มากที่กำไรงวดปี 2557 จะออกมาต่ำกว่าที่คาด ทำให้ค่า PER ที่ระดับดัชนีปัจจุบันสูงกว่าตัวเลขที่เปิดเผยในปัจจุบัน แนะนำให้เลือกหุ้นที่ค่า PER ต่ำ และให้ Dividend Yield สูง โดยที่ AIT(FV@B53) และ SPALI(FV@B 31.96) ยังเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น
การเมืองกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องตามใกล้ชิดขึ้น
ประเมินว่าสถานการณ์การเมืองจากนี้ไปจะกลายเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดมากขึ้น ในฐานะปัจจัยที่อาจกลับมาสร้างแรงกดดันต่อ SET Index อีกครั้ง โดยประเด็นหลักที่ต้องติดตามแยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
การร่างรัฐธรรมนูญ : ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการของ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการนี้จะต้องดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งต้องไม่เกิน 17 เม.ย.2558 หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจะทำให้คณะกรรมาธิการยกร่างต้องหมดสภาพลงไป และเริ่มต้นกระบวนการในการสรรหา คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ หลังจากนั้นจะนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ให้ทั้ง คสช., รัฐบาล และ สปช. พิจารณาเสนอข้อแก้ไข ส่งกลับมายังกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ มีระยะเวลาไม่เกิน 60 วันในการพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะของทั้ง 3 ฝ่ายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการแก้ไขต้องแล้วเสร็จภายใน 23 ก.ค.2558 หลังจากนั้นส่งให้ สปช. ลงมติ เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ภายใน 6 ส.ค.2558 กรณีเห็นชอบคาดว่าจะมีการนำร่าง รัฐธรรมนูญฯขึ้นทูลเกล้าฯ ช่วงต้นเดือน ก.ย.2558 แต่หากไม่เห็นชอบ กฎหมายกำหนดให้ ทั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างต้องหมดสภาพลงทำให้ต้องย้อนกลับไปเริ่มกระบวนการสรรหา สปช.ใหม่ ซึ่งอาจต้องเสียเวลาไปอีกประมาณ 1 ปี ทั้งนี้กระบวนการและ กรอบเวลาที่กล่าวถึงดังกล่าว อยู่บนแนวทางที่ไม่ต้องมีการจัดทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ หากต้องทำประชามติ ก็อาจต้องใช้ระยะเวลาเพิ่ม 2 – 3 เดือนจากกำหนดการเดิม
การดำเนินคดีทางการเมือง : กรณีที่ร้อนแรงที่สุดน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สนช. ได้ลงมติถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามคำร้องของ ปปช. ไปแล้ว ประเด็นที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันนี้ (19 ก.พ.2558) คือการที่ อัยการสูงสุด จะส่งฟ้องคดี โครงการรับจำนำข้าว ต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยที่มี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในคดี ซึ่งกรณีดังกล่าวถูกจับตาว่าจะทำให้กระแสทางการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้งหนึ่งหรือไม่
กำไรสุทธิงวดปี 2557 อาจต่ำกว่าคาด เน้นลงทุนหุ้น High Dividend
ในงวด 9M57 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนแสดงยอดกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 6.14 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับแทบจะเท่ากับงวด 9M56 ที่มีกำไรสุทธิ 6.13 แสนล้านบาท (ซึ่งในข้อเท็จจริงต้องถือว่ากำไรลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น) ซึ่งเมื่อนำตัวเลขดังกล่าวเทียบกับประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2557 ซึ่งประมาณการของฝ่ายวิจัย ASP คาดว่าอยู่ที่ 8.1 แสนล้านบาทหรือ 88.76 บาท/หุ้น พบว่าหากจะทำให้กำไรสุทธิให้เท่ากับประมาณการ ในงวด 4Q57 บริษัทจดทะเบียนต้องทำกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 1.96 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 18.7% (งวด 4Q56 กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาท) ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากภายใต้สถานการณ์แวดล้อมปัจจุบัน
ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขผลประกอบการ 4Q57 ที่ถูกประกาศออกไปแล้วอย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์พบว่างวด 4Q57 มีกำไรอยู่ที่ 4.93 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับประมาณการที่นักวิเคราะห์ ASP ทำไว้ ส่วนกลุ่มพลังงานที่มีบางบริษัทประกาศตัวเลขออกมาแล้วเช่น PTTEP, TOP, IRPC, GLOW พบว่ามีผลขาดทุนสุทธิรวม 3.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าเมื่อประกาศครบจะมีผลขาดทุนมากกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท กลุ่มปิโตรเคมี คาดว่าจะประกาศผลประกอบการรวมที่ขาดทุนในงวด 4Q57 ทั้งนี้ปกติกำไรของทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักข้างต้น จะมีสัดส่วนกำไรรวม 55 – 56% ของกำไรสุทธิรวมทั้งตลาด แต่เมื่อรวมตัวเลขของทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นมารวมกันปรากฎว่ามียอดขาดทุน ในงวด 4Q57 จึงมีโอกาสสูงมากที่กำไรสุทธิโดยภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนงวดปี 2557 จะออกมาต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งก็หมายความว่าระดับค่า Current PER ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์ ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในช่วงเวลานี้จึงควรให้น้ำหนักไปที่หุ้น High dividend Yield
ซื้อหุ้นก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรหลังวันขึ้น XD ราว 2 เดือน ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตสูงถึง 10.8% ด้วยความน่าจะเป็นราว 64% ได้แก่ ASK, PTT, THANI
ซื้อหุ้นก่อนวันขึ้น XD ราว 2 เดือน และขายทำกำไรหลังวันขึ้น XD ราว 1 สัปดาห์ ผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตราว 6.9% ด้วยความน่าจะเป็นสูงถึง 70% ได้แก่ AIT, SPALI, KTB
รายงาน Fed ยืนยันไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ส่วนปัญหาหนี้กรีซยังยืดเยื้อ
ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเงินเฟ้อที่ตกต่ำทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่ง ต้องดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมผ่านการลดดอกเบี้ยฯ หรือการอัดฉีดเม็ดเงิน ล่าสุด ผลรายงานการประชุมธนาคารกลางของทั้งสหรัฐ และอังกฤษ ที่ผ่านไปในเดือน ม.ค. และ ก.พ. ยังคงไม่แตกต่างจากเดิม โดยยังคงให้ยืนดอกเบี้ยฯ ระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งจะมีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากกว่านี้ กล่าวคือ
ผลรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ระหว่างวันที่ 27-28 ม.ค. ที่ผ่านมา ไม่แตกต่างจากการประชุมในครั้งก่อนหน้าโดย Fed ยังคงไม่รีบร้อนต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าที่คาด สะท้อนจาก เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และติดลบในบางประเทศ โดยเฉพาะยุโรป เดือน ม.ค. ติดลบทุกประเทศ ยกเว้น เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย เช่นเดียวกับสหรัฐ เงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. ลดลงที่ระดับ 0.8% (จาก 1.3% ในเดือน พ.ย. และต่ำสุดในรอบ 6 ปี) เทียบกับ เป้าหมาย 2% รวมถึงตลาดแรงงานที่เกิดการสะดุดในเดือน ม.ค. สะท้อนจากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.7% (จาก 5.6% ในเดือน ธ.ค.) และอัตราค่าจ้างที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ 2%yoy เทียบกับที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3-4% ทั้งนี้ ต้องติดตามการประชุม Fed ครั้งถัดไปของ Fed ในวันที่ 18-19 มี.ค. ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ ต่างคาดว่า Fed จะเลิกใช้คำว่า patience หรือไม่ (เนื่องจากครบกำหนดที่ประธาน Fed ให้สัญญาว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยฯ จนกระทั่งเดือน มี.ค.) แล้วแทนที่ด้วยคำว่า tightening bias นั่นคือหากมีการยกเลิกคำว่า patience จริง ก็น่าจะเห็นมาตรการเข้มงวดทางการเงินจาก Fed ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่า Fed จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยฯ อย่างเร็วสุดภายในสิ้นปี 2558 หรือต้นปี 2559
ผลรายงานการประชุมของธนาคารอังกฤษ (BOE) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOE ส่วนใหญ่ 9 ท่าน จาก 11 ท่านยังคงมีมติให้คงดอกเบี้ยฯ ระดับต่ำ 0.5% ท่ามกลางความกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับ เดือน ม.ค. 0.3% (จาก 0.5% ในเดือน ธ.ค. และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน) ถึงแม้ว่าจะเห็นการฟื้นตัวแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน สะท้อนจาก อัตราการว่างงาน งวด 4Q57 ลดลงที่ระดับ 5.7% (จาก 5.8% ในงวดก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบ 6 ปี) ดังนั้นจึงคาดว่า BOE น่าจะขึ้นดอกเบี้ยฯ ในเวลาใกล้เคียงกับสหรัฐ
ทางด้านของการเจรจาหนี้กรีซกับเจ้าหนี้ยุโรปยังไม่คืบหน้า หลังจากการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสิ้นสุดลงโดยไม่มีข้อสรุปใดๆ โดยกรีซยังคงยืนยันในจุดยืนเดิมที่จะไม่ปฏิบัติตามมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวด ขณะที่เยอรมันที่เป็นผู้นำกลุ่มยูโรโซนก็ยืนยันเช่นกันว่า กรีซจำเป็นต้องปฏิรูปการเงินและทำตามมาตรการที่ระบุไว้ในข้อตกลงฉบับเดิมหากต้องการเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ อย่างไรก็ดีท่ามกลางความตึงเครียด ยังมีสัญญาณดีๆ ให้เห็นขึ้นมาบ้าง เมื่อ ECB อนุมัติเพิ่มเพดานเงินกู้ในกองทุนช่วยเหลือสภาพคล่องฉุกเฉิน (ELA) สำหรับภาคธนาคารของกรีซเพิ่มเติมอีก 3.3 พันล้านยูโร (3.8 พันล้านเหรียญฯ) รวมเป็น 6.83 หมื่นล้านยูโร หลังจากสัปดาห์ที่แล้วได้อนุมัติวงเงิน 6.5 หมื่นล้านยูโร และจะมีการทบทวนเงินนี้อีกครั้งใน 2 สัปดาห์ถัดไป ช่วยต่อลมหายใจให้กับ ธ.พ. ได้อีกระยะ นอกจากนี้ รัฐบาลกรีซเตรียมยื่นเรื่องขอต่ออายุข้อตกลงเงินกู้ไปอีก 6 เดือน ในวันนี้ (19 ก.พ.) หลังจากเลื่อนมาจากวานนี้ (18 ก.พ.) แต่การต่ออายุดังกล่าวจะเป็นเรื่องของเงินกู้ในโครงการเท่านั้น ไม่รวมถึงเงื่อนไขในการทำตามมาตรการรัดเข็มขัดแต่อย่างใด ทั้งนี้โครงการความช่วยเหลือของยูโรโซนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ. จึงคาดว่าประเด็นนี้อาจยืดเยื้อจนถึงสิ้นเดือนนี้
ต่างชาติยังคงขายไทย แต่เบาบาง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ยังคงเบาบางราว 45 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 31% จากวันก่อนหน้า) ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากเทศกาลตรุษจีน ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคปิดทำการ ส่วนประเทศที่เปิดทำการมีปริมาณซื้อขายไม่หนาแน่นนัก เริ่มจาก ไทยขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 15 ล้านเหรียญฯ (500 ล้านบาท, ลดลงถึง 77% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่พลิกมาขายสุทธิราว 30 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องกันถึง 13 วันก่อนหน้า สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่ยังคงซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6 แต่เบาบางอย่างมาก เพียง 6 หมื่นเหรียญฯ เท่านั้น ขณะที่ตลาดหุ้นในไต้หวัน และ เกาหลีใต้ปิดทำการนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องกันในช่วงปลายเดือน ม.ค. 58 จนถึงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ปี 2552 เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 2.7 หมื่นล้านบาท เมื่อต้นปี 2558 สูงขึ้นแตะระดับ 5.1 หมื่นล้านบาท ที่มูลค่าตลาด ซึ่งเป็นระดับที่นักลงทุนต่างชาติมักจะขายสุทธิออกมาในระยะหลัง ทำให้เชื่อว่าในระยะสั้น นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีแรงขายหลงเหลืออยู่แต่ไม่มากนัก
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล