- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 13 February 2015 16:16
- Hits: 1578
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หลังยืนเหนือ 1,600 จุดได้ SET มีแนวโน้มขยับไป 1,650 จุด โดยแรงหนุน Fund Flow และสภาพคล่องโลกที่เพิ่มขึ้น จากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลก ยังชื่นชอบหุ้นที่ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลง M(FV@B65), SENA([email protected]) และเลือกเป็น Top picks เช่นเดิม
หวังว่าการประนอมหนี้กรีซน่าจะมีทางออกร่วมกัน
การเจรจาประนอมหนี้ของกรีซยังไม่มีความคืบหน้า หลังจากได้เจรจากับรัฐมนตรีคลังของกลุ่มสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวานนี้ คงต้องติดตามผลการประชุมพิเศษระหว่างรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรป ในสัปดาห์หน้าคือวันที่ 16 ก.พ. อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปก่อนที่สัญญาการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซฉบับปัจจุบัน จะหมดอายุลง 28 ก.พ.นี้ ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ กรีซ ได้แสดงจุดยืนที่ขอลดหนี้เหลือ 2 ใน 3 ของหนี้ปัจจุบัน พร้อมกับต้องการใช้นโยบายเกินดุลต่ำกว่า 4% ของงบประมาณ (รายรับมากกว่ารายจ่าย) จึงยินที่จะปฏิบัติตามแผนฯ ที่เจ้าหนี้กำหนด (การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ และการป้องกันคอรัปชั่น เป็นต้น) และยินยอมให้นำสินทรัพย์ออกขายต่อสาธารณะ หรือ Privatization ซึ่งถือว่าความต้องการของกรีซ ยังแตกต่างจากข้อเสนอของ ECB ที่ต้องการให้กรีซ ใช้นโยบายเกินดุล 4% ของงบประมาณ พร้อมกับให้นำสินทรัพย์ออกขายต่อสาธารณะ หรือ Privatization เพื่อเป็นหนทางที่จะมีกระแสเงินสดที่จะชำระหนี้ได้ และวันศุกร์คือวันนี้ กรีซ ยังคงเดินสายขอเจรจาเจ้าหนี้ของกลุ่มยุโรปที่เหลือต่อไป ขณะที่ฝั่งเยอรมันเองได้พยายามที่จะชักชวนให้กรีซกำหนดเงื่อนไขการประนอมหนี้ที่เป็นที่ยอมรับการทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้แนวทางการเจรจาจะสามารถหาทางออกที่เป็นกลางได้หรือไม่นั้น ถือยังเป็นประเด็นยังมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโลกฯ
ดอกเบี้ยขาลงยังเป็นปัจจัยหนุนตลาดที่สำคัญ
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย จากเศรษฐกิจยุโรปที่ยังชะลอตัว ซึ่งเป็นผลของปัญหาหนี้สาธารณะตั้งแต่ปี 2552 ส่งผลให้ประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอยังต้องเผชิญกับปัญหาการชำระหนี้ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำต่อเนื่องกว่า 50% นับตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา กดดันให้ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวทั่วโลก จนสร้างความกังวลว่าจะกลายเป็นภาวะฝืด จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก ยังคงต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปในปี 2558 ผ่านการตัดลดอัตราดอกเบี้ยฯ รวมทั้งการเสริมสภาพคล่อง ได้แก่ การอัดฉีดเงินผ่าน QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะเพิ่ม Money Supply ในยูโรโซนได้ราว 10%
เช่นเดียวกับไทย ล่าสุดพบว่าเงินเฟ้อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ติดลบ 0.41% เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน และมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะต่ำกว่า 0% หรือบวกลบเล็กน้อย ตลอด 6M58 (จากฐานเงินเฟ้อที่สูงในงวด 6M57) จึงคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะสามารถปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.5% ในปี 2558 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจมีผลทำให้ยอดส่งออกสุทธิของไทยต่ำกว่าที่คาด โดยเบื้องต้นฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับลดประมาณการ GDP growth ลง เหลือระหว่าง 3.3.%-2.2% จากเดิม 3.5% บนสมมติฐาน ยอดส่งออกลดลง 0.5%-2% จากสมมติฐานเดิมที่ 3.4% และกำหนดให้ยอดนำเข้าลดลงเล็กน้อยเหลือ 4.1% จากเดิม 4.3% จากผลประโยชน์ของราคาน้ำมันที่ลดลง (ติดตามอ่านรายละเอียดได้จาก Economic Update วานนี้)
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นปัจจัยบวกในแง่ของการสร้างสภาพคล่องส่วนเพิ่มให้กับตลาด ฝ่ายวิจัยประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงทุกๆ 0.25% จะส่งผลทำให้ SET Index สามารถซื้อขายบนค่า PER ที่สูงขึ้น 0.6 เท่า ซึ่งบนประมาณการของฝ่ายวิจัยที่คาดว่า EPS งวดปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนที่ 103.65 บาท/หุ้น ก็น่าจะทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้ราว 62 จุด ทั้งนี้ โครงสร้างทางการเงิน ณ สิ้น 3Q57 ของบริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมกลุ่มธุรกิจการเงิน) มีหนี้สินรวม 5.8 ล้านล้านบาท และหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย 4.94 ล้านล้านบาท D/E 1.16 เท่า หากอัตราดอกเบี้ยลดลง 0.25% และโครงสร้างหนี้มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 50% กำไรบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่ม 6.2 พันล้านบาท 0.68 บาท/หุ้น หรือ 0.65% ของประมาณการ EPS ตลาดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบัน Market Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 3.6% อาจทำให้การปรับขึ้นไปของ SET Index น้อยกว่าที่คำนวณไว้ (ติดตามอ่านรายละเอียดได้จาก Investment Strategy ฉบับวานนี้) กลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจใน Theme ของการลดอัตราดอกเบี้ย ได้แก่
พัฒนาที่อยู่อาศัย : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ SPALI (FV@B 31.96) ,PS (FV@B 40.52) และ SENA (FV@B 4.50)
กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ ASK (FV@B 24.90)
กลุ่มบันเทิง : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ BEC (FV@B 57)
กลุ่มขนส่ง : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ AAV (FV@B 6) และ RCL (FV@B 11.80)
สถานการณ์น้ำมันผ่อนคลายลง สะท้อนผ่านจุดต่ำสุด
สถานการณ์น้ำมันดูผ่อนคลายลง และ มีหลายปัจจัยที่บ่งชี้ว่าน้ำมันดิบโลกผ่านจุดต่ำสุด (43 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2558) เนื่องจากปัญหาทางด้าน Supply น้ำมันที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการ shale oil ในสหรัฐฯ ราว 38 ราย ประสบปัญหาขาดทุน และต้องขอฟื้นฟูกิจการ (บริษัท WBH Energy LP เป็นรายแรกที่เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11) ผลที่ตามมาทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเลี่ยมขั้นต้นได้ทยอยตัดลดงบลงทุนอย่างต่อเนื่อง (เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้องการใช้เงินลงทุนสูงในการขุดเจาะ หรือ capital intensive) เช่น BP ตัดลดงบลงทุน 20 พันล้านเหรียญฯ จากที่เคยกำหนดวงเงินไว้สูงถึง 24-26 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2558 และ Total SA ลดงบลงทุนเช่นกัน และผลวิจัยของ Baker Hughes พบว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐลดลงทำระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2554
และ การประท้วงของคนงานโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีกว่า 9 แห่งในสหรัฐฯ รวมถึงอุตสาหกรรม Supply Chain มีแนวโน้มยืดเยื้อเป็นสัปดาห์ที่ 2 หลังจากการเจรจาขอเพิ่มค่าแรง และสวัสดิการเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคาดว่ากำลังการผลิตของโรงกลั่นฯ น่าจะหายไปจากเหตุการณ์นี้รวม 13% ของประเทศ
สะท้อนจากสัปดาห์นี้แม้ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวลงแตะ 53 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่ล่าสุดได้ฟื้นตัวได้เหนือ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล อีกครั้ง เชื่อว่านอกจากปัจจัยหนุนดังกล่าวข้างต้น บวกกับการประกาศลดแผนการลงทุนเพิ่มเติมในบางประเทศ เช่น บริษัทพลังงานในฝรั่งเศสประกาศตัดลดเงินลงทุนและตำแหน่งงานลง เป็นมูลค่ากว่า 6.5 พันล้านยูโร ซึ่งน่าจะทำให้ปัญหา over supply ค่อยๆ ลดลง และทางด้าน CEO ของบริษัท Royal Dutch Shell คาดว่ากำลังการผลิตที่ลดลง และความต้องการที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นน่าจะหนุนให้ ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มขึ้นไปยืนเหนือ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล และแตะ 70 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในกลางปีนี้ ซึ่งน่าจะดีต่อหุ้นปิโตรเลี่ยมขั้นต้นทั้ง PTT(FV@B398) PTTEP(FV@B134) และยังแนะนำสะสมต่อไป PTTGC (FV@B68)
Fund Flow เข้าไหลตลาดหุ้น แต่ขายตลาดตราสารหนี้
วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ลดลง 19% เหลือราว 340 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการซื้อสุทธิใน 4 จาก 5 ประเทศ (ที่เปิดเผยข้อมูล) เริ่มจากไต้หวันที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน เป็นวันที่ 9 และเพิ่มขึ้น 7% อยู่ที่ 265 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ที่ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10 ราว 73 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นถึง 53% จากวันก่อนหน้า) ขณะที่ไทย ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 55 ล้านเหรียญฯ (1.8 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และเช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 22 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 9%) สวนทางกับเกาหลีใต้ที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้ง ราว 6 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อสุทธิใน 3 วันหลังสุด)
โดยรวม นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยรวมกว่า 7.8 พันล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าได้รับแรงหนุนจาก กระแสดอกเบี้ยขาลง และ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตรงข้ามกับ ตลาดตราสารหนี้ พบว่า ต่างชาติขายสุทธิออกมาเป็นวันที่ 2 ราว 1.3 พันล้านบาท จึงมียอดขายสุทธิ 6.3 พันล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล