- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 12 February 2015 15:28
- Hits: 1582
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ผันผวน จากความกังวลต่อการประนอมหนี้กรีซล่าช้า กดดันค่าเงินยูโรแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่า แต่การที่ดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มลดลงถือเป็นปัจจัยบวกที่ยังหนุนตลาดหุ้นโลกเช่นกัน เลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลง SENA([email protected]) เป็น Top pick ขณะที่ M(FV@B65) โดดเด่นจากการสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้และกำไร
ตลาดยังให้น้ำหนักต่อปัญหาในกรีซที่ยืดเยื้อ
วานนี้ตลาดโลกยังคงอยู่ภาวะปรับฐานเป็นส่วนใหญ่ โดยเชื่อว่ายังให้น้ำหนักต่อผลการเจรจาประนอมหนี้ของผู้นำยุโรป กับ กรีซ ซึ่งดูจะไม่เน้นความคืบหน้า และคงต้องไปรอเจรจากันใหม่ ในสัปดาห์หน้าคือ วันที่ 16 ก.พ. ซึ่งจะมีการประชุมพิเศษระหว่างรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรป เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการประนอมหนี้ของกรีซ เนื่องจากมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซฉบับปัจจุบันกับ EC จะหมดอายุลงในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ดังที่กล่าวไปวานนี้ถึงทางออกของการเจรจาน่าจะเป็นไปได้หลายทางคือ 1) ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปชั่วคราวอีก 6 เดือน เพื่อให้กรีซมีเวลาในการเจรจาและทำข้อตกลงกับ TROIKA หรือ 2) กรีซมีทางเลือกโดยหันไปใช้ “Plan B” คือหาเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่น ทั้งจากสหรัฐ รัสเซีย จีน หรือชาติอื่นๆ แทน หากการเจรจายังไม่มีข้อสรุปเชื่อว่ายังเป็นปัจจัยกดดันตลาด
สะท้อนได้จากค่าเงินเงินยูโร ยังคงแกว่งตัวในทิศทางอ่อนค่า โดยทรงตัวในระดับ 1.1307 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร ตลาดสัปดาห์นี้ ขณะที่ Dollar Index ยังคงแกว่งตัวในเชิงแข็งค่าแต่ในลักษณะชะลอตัว เนื่องจากความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐได้ถูกเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในกลางปี 2558 เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และเห็นสัญญาณเงินฝืดที่กำลังจะเกิดขึ้นในฝั่งยุโรป หลังจากที่เงินเฟ้อติดลบในหลายประเทศ (ยกเว้นประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส และ ออสเตรีย) อันเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงกว่า 50% นับจากปลายปี 2557
และผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ตกต่ำข้างต้น ยังกดดันให้ค่าเงินของประเทศส่งออกน้ำมันหลัก ๆ ของโลกอยู่ในทิศทางอ่อนตัว โดยล่าสุด ธนาคารกลางยูเครน ประกาศลดค่าเงินสกุล hryvnia ลงราว 3% อยู่ที่ระดับ 25.558 ต่อดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิม 24.84เทียบดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติหลังจากมีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองกับรัสเซียมายาวนาน
ภายใต้สภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าการใช้มาตรการเงินผ่อนคลายทั่วโลกยังคงมีความจำเป็น รวมทั้งไทย พบว่า เงินเฟ้อ เดือน ม.ค. ติดลบ 0.4% (เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน) และคาดว่าเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอีกใน 6 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้า จึงเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) จะหันมาให้น้ำหนักต่อการลดดอกเบี้ยฯ มากขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าดอกเบี้ยฯ จะถูกปรับลดอีกราว 0.25%-0.5% ภายในสิ้นปี 2558 การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลกถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่ม money supply และน่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นในฐานะที่เป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วง 6-12 เดือนถัดมา
ดอกเบี้ยลง 0.25% ขับเคลื้อน SET Index ได้ 62 จุด
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยบวกในแง่ของการสร้างสภาพคล่องส่วนเพิ่มให้กับตลาด โดยหากประเมินด้วยแนวคิดของ Market Earning Yield Gap ซึ่งเป็นการคำนวณส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างการลงทุนในตลาดหุ้น (Market Earning Yield, E/P) กับผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปี ส่วนต่างของผลตอบแทนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) ซึ่งนักลงทุนควรได้รับจากการย้ายเงินลงทุนจากตลาดพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำ มาสู่การลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า (ปกติจะอยู่ในช่วง 4-5%) เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง โดยกลไกปกติแล้วก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตร 1 ปี ลดลงมาด้วยอัตราใกล้เคียงกัน การปรับลดลงดังกล่าว จะส่งผลทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายกว้างขึ้น หรืออีกทางหนึ่ง หากกำหนดให้ Market Earning Yield Gap คงที่ ก็จะส่งผลทำให้ Earning Yield ลดต่ำลง ซึ่งก็เท่ากับว่า ค่า PER ของตลาดจะสามารถปรับสูงขึ้นได้ ซึ่งจากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่า หากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง 0.25% จะส่งผลทำให้ตลาดหุ้นสามาถซื้อขายบนค่า PER ที่สูงขึ้นเฉลี่ย 0.60 เท่า ซึ่งบนประมาณการของฝ่ายวิจัยที่คาดว่า EPS งวดปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนที่ 103.65 บาท/หุ้น ก็น่าจะทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้ราว 62 จุด แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่ต้องจับตาว่า ปัจจุบันค่า Market Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติกล่าวคืออยู่ที่ 3.6–3.7% เทียบกับภาวะปกติที่ 4–5% ดังนั้นแม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็อาจทำให้ค่า PER ปรับสูงขึ้นกว่านี้ได้ไม่มากนัก สำหรับตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจใน Theme ของการลดอัตราดอกเบี้ย ได้แก่
พัฒนาที่อยู่อาศัย : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ SPALI (FV@B 31.96) ,PS (FV@B 40.52) และ SENA (FV@B 4.50)
กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ ASK (FV@B 24.90)
กลุ่มบันเทิง : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ BEC (FV@B 57)
กลุ่มขนส่ง : หุ้นที่เลือกเป็น Top Pick ได้แก่ AAV (FV@B 6) และ RCL (FV@B 11.80)
ต่างชาติสลับมาซื้ออีกครั้ง แต่ระวังแรงขายจากพอร์ตโบรก
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 421 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 49 ล้านเหรียญฯ) โดยที่เป็นการกลับมาซื้อสุทธิในทุกประเทศ สูงสุดยังคงเป็นไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน เป็นวันที่ 8 และราว 248 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 54%) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 88 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ส่วนอินโดนีเซียซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 9 และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว อยู่ที่ ราว 48 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 21 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 3 วันหลังสุด) และสุดท้ายคือไทย ที่สลับมาซื้อสุทธิเช่นกัน แต่เบาบางราว 17 ล้านเหรียญฯ (559 ล้านบาท, หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า)
ยังเป็นลักษณะการเลือกซื้อรายประเทศ โดยเฉพาะไต้หวันที่เป็นการซื้อสุทธิถึง 17 จาก 18 วันหลังสุดรวมกว่า 4.5 พันล้านเหรียญฯ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยต่างชาติซื้อสลับขายเบาบางในช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด ซึ่งเชื่อว่าเป็นการชะลอการซื้อหลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2558 รวม 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยหนุนต่างๆ ทำให้เชื่อว่าเงินทุนจากต่างชาติจะยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามให้ระมัดระวังแรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์ที่มียอดซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 2558 อยู่ในระดับสูงถึง 7.4 พันล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล