- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 10 February 2015 16:36
- Hits: 1423
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่า SET ปรับฐานระยะสั้น ยังมีหลายปัจจัยหนุนฯ ทั้งราคาน้ำมันดิบที่ผ่านจุดต่ำสุด (หนุน PTT, PTTEP, PTTGC) และสภาพคล่องโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายหนุนไทยมีโอกาสลดดอกเบี้ย กระตุ้นการบริโภคในประเทศ เลือก M(FV@B65) เป็น Top pick เช่นเดิม
ราคาน้ำมันดิบยังฟื้นต่อ ตอกย้ำว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่อง โดยยืนเหนือ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน (ราคาน้ำมันดูไบ) เชื่อว่าได้รับปัจจัยหนุนจากปัญหาด้าน supply ดังที่ได้นำเสนอใน Market Talk วานนี้ โดยความคืบหน้าของการหยุดงานประท้วงในสหรัฐล่าสุด ด้าน Royal Dutch Shell Plc เตรียมตั้งโต๊ะเจรจากับกลุ่มคนงานที่หยุดงาน ในวันอังคาร (วันนี้) ซี่งผลที่ออกมาต้องพิจารณาว่าทาง Shell จะสามารถยอมรับข้อเรียกร้องของทางสหภาพแรงงานได้หรือไม่
ส่วนทางด้านโอเปก ได้ออกรายงานน้ำมันประจำเดือน ม.ค. ระบุว่าได้มีการปรับลดคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศนอกโอเปก (non-OPEC) ของปีนี้เหลือเพียง 8.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดิมมากถึง 4.2 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ ราว 33% (ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการลดลงของสหรัฐ 1.7 แสนบาร์เรล) เพื่อสะท้อนผลของการปิดแท่นขุดเจาะที่ปิดตัวลงเนื่องจากการตกต่ำของราคาน้ำมัน การลดลงของใบอนุญาตและการลงทุนขุดเจาะแหล่งน้ำมันใหม่ๆ
ขณะที่ฝั่ง demand นั้น โอเปก ได้ปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกในปีนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 29.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นราว 4.3 แสนบาร์เรลต่อวันจากตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อน จากมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันโลกฟื้นตัวได้ คือ การที่ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s (S&P) ตัดลดมุมมองของ credit grade จากมีเสถียรภาพ ลงสู่มุมมองเชิงลบ โดยอันดับความน่าเชื่อถือในปัจจุบันยังอยู่ที่ AA- เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจหลักของประเทศ จึงทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ซาอุดิอาระเบีย อาจต้องช่วยผลักดันราคาน้ำมันให้ฟื้นตัวขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำเกินกว่า 50% ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2557 เป็นต้นมา
โดยสรุปเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้ น่าจะทำให้ราคาน้ำมันโลกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะหนุนราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปยืนเหนือ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล และแตะ 70 เหรียญฯต่อบาร์เรล อีกครั้ง โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบใน 6 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 เหรียญฯ และเฉลี่ย 85 เหรียญฯ ในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ (และราคาน้ำมันดิบในระยะยาวกำหนดไว้ที่เฉลี่ย 75 เหรียญฯ ในปี 2558 เป็นต้นไป ยังแนะนำสะสมหุ้น PTT(FV@B398), PTTEP(FV@B134) ซึ่งวันนี้ขึ้นเครื่องหมาย XD ปันผลหุ้นละ 1.5 บาท และ PTTGC([email protected])
สถาบันสลับมาขายหนัก ส่วน ต่างชาติขายเบาบาง
กระแสเงินทุนไหลเข้าเริ่มชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง แต่เบาบางเพียง 1 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (ขายสลับสุทธิใน 4 วันหลังสุด) โดยยอดขายส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 173 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อใน 5 วันหลังสุด) และ ไทยสลับมาขายสุทธิเช่นกัน แต่เบาบางเพียง 12 ล้านเหรียญฯ (394 ล้านบาท, ขายสลับซื้อใน 4 วันหลังสุด) สวนทางกับไต้หวันที่ยังคงซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 118 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 37 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 21% จากวันก่อนหน้า) และสุดท้ายคือ อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 แต่ลดลงถึง 69% เหลือราว 29 ล้านเหรียญฯ
นอกจากนี้เป็นที่สังเกตว่า นอกจากมีแรงขายของนักลงทุนต่างชาติแล้ว กลุ่มที่มีแรงขายกดดันดัชนีอย่างหนักวานนี้กลับเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่สลับมาขายสุทธิราว 1.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิ 8 ใน 11 วันหลังสุด รวม 7.9 พันล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าแรงขายจากนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงมีอยู่ จากยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ยังคงเหลืออยู่ราว 8.8 พันล้านบาท
การปรับฐานน่าจะเกิดขึ้นระยะสั้น..ดอกเบี้ยต่ำยังหนุนตลาดหุ้น
แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับฐานแต่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ โดยคาดว่าปัจจัยหนุนตลาดยังเป็นเรื่องของสภาพคล่องโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ภายหลังยุโรปประกาศแผน QE 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน นับจากเดือนมี.ค. 2558 จนถึง ก.ย. 2559 รวมเป็นเงิน 1.14 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็น 4% ของ GDP คาดว่าสหรัฐ และอังกฤษน่าจะยืดการขึ้นดอกเบี้ยออกไปเป็นช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558 หรือต้นปี 2559 หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะในสหรัฐเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวในภาคแรงงาน ดังที่รายงานไปวานนี้ ทำให้ความหวังจะเห็นการจ้างงานเต็มที่ (full employment rate) อาจถูกเลื่อนออกไป สะท้อนจากอัตราการว่างงานสิ้นเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 5.7% จาก 5.6% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคง ชะลอตัว โดยเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 0.8% (vs เป้าหมาย 2%) ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดน่าจะให้ความสำคัญมากขึ้น และล่าสุด นาย Jerome Powell หนึ่งใน คณะกรรมการธนาคารกลาง หรือ Fed คาดว่า Fed จะยังคงใช้คำว่า patient ต่อ เนื่องจากยังมีความกังวลทั้งด้านตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งคงต้องติดตามสรุปผลรายงานนโยบายการเงินครึ่งหลังของปี 2557 ของสภาครองเกรส ใน 24- 25 ก.พ. และ การประชุม Fed ครั้งถัดไป 18-19 มี.ค. 2558
การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลก น่าจะยังเป็นปัจจัยหนุนให้สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น และหนุนตลาดหุ้นโลกยังคงแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น เหมือนกับการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในหลายประเทศในช่วงปี 2551-2552 ซึ่งเกิดปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐและยุโรป ดังนี้
สหรัฐมีการใช้ QE 3 รอบ ระหว่างปี 2552-2556 เป็นเงินกว่า 2.57 ล้านล้านเหรียญฯ ช่วยหนุนให้ money supply เพิ่มขึ้น 1.5% และ หนุนตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในช่วงดังกล่าว
อังกฤษ ใช้ QE ตั้งแต่ปี 2552 ใช้วงเงินรวม 3.75 แสนล้านปอนด์ หนุน money supply เพิ่มขึ้น 1.3% และ หนุนตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นราว 59% นับจากเริ่มใช้ QE
ญี่ปุ่นประกาศใช้ QE 3 ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาพร้อมกับเพิ่มเพดานขึ้นไปที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี (7 แสนล้านเหรียญ) ได้สร้าง money supply เพิ่มขึ้น 1% พร้อมหนุนตลาดหุ้น 71% นับจากปี 2553
และเช่นเดียวกับ ไทย ที่มีแนวโน้มจะเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลง จากปัจจุบันที่ 2% มีมากยิ่งขึ้น หลังจากเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. ติดลบ 0.4% (เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน) และ ฝ่ายวิจัย ASP คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องอีกหลายเดือนข้างหน้า (เทียบกับฐานเงินเฟ้อที่สูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557) ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยต่อไป
เน้นกลยุทธ์เลือกหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง
ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วในช่วง 27-28 ม.ค. ถึงกลยุทธ์การลงทุนในภาวะดอกเบี้ยขาลง หุ้นที่ได้ประโยชน์มักเป็นผู้ประกอบการที่อิงกับผู้บริโภคโดยตรงน่าจะได้ประโยชน์ เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย, ยานยนต์, ค้าปลีก-ค้าส่ง, ธุรกิจการเงินรายย่อย (Consumer’s Finance), กลุ่มบันเทิง ได้แก่
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (++) หุ้น Top picks ของกลุ่มคือ SPALI([email protected]) และ PS([email protected]) ข้อดีของดอกเบี้ยต่ำคือ ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้าตามแผนงาน ทำได้ง่ายขึ้น อัตราการปฎิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน น่าจะลดลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เป้าหมายการบันทึกรายได้ และกำไรที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ไว้เป็นไปได้มากขึ้น ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 Backlog ของบริษัทจดทะเบียน อยู่ที่ระดับประมาณ 2.4 แสนล้านบาท (90% เป็นโครงการคอนโดมิเนียม)
ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่าย พิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนที่ ASP ศึกษา 15 แห่ง มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายรวม 2.21 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน Net Gearing 1.10 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ แต่อย่างไรก็ตามหากอัตราดอกเบี้ยลดลง 0.25% ก็น่าจะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง 554 ล้านบาท/ปี แต่เนื่องจากสัดส่วนประมาณ 75% ของดอกเบี้ยจ่ายถูกคำนวนเป็นต้นทุนพัฒนาโครงการ ทำให้เพียง 25% ของดอกเบี้ยเท่านั้นที่ถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในงบกำไรขาดทุน ดังนั้น หากดอกเบี้ยปรับลด 0.25% ก็น่าจะทำให้รายการดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนลดลง 139 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% ของประมาณการกำไรปี 2558 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าไม่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้านใหม่เพิ่มขึ้น ดังปรากฏในภาพข้างล่าง
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย vs ดัชนีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ผลกระทบต่อราคาหุ้นพบว่าดัชนีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบาย พบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกัน และส่วนใหญ่ PROP จะปรับตัวขึ้นไปเป็น Leading Indicator ก่อนที่จะเป็นวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ย โดยในรอบดอกเบี้ยขาลงในปี 2544 ธปท. ลดดอกเบี้ย 1.25% พบว่าหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 491% และ ตรงกันข้ามช่วง ดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 22547-2548 พบว่าหุ้นกลุ่มนี้ลดลง 39% หรือ การลดดอกเบี้ยรอบหลังสุดปี 2554 1.5% พบว่าหุ้นกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 136%
กลุ่มยานยนต์ ได้รับผลบวกในเชิง sentiment เลือก AH เป็น Top pick แม้ดอกเบี้ยขาลง จะเอื้อต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 0-1% (พร้อมเงินดาวน์เฉลี่ย 20-25% ผ่อนชำระ 4-6ปี) แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากกว่า คือ ความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่ผ่านเงื่อนไข และไม่สามารถซื้อรถได้ ขณะที่โครงสร้างการเงินส่วนใหญ่มีหนี้สินน้อย
ค้าส่ง-ค้าปลีก ช่วยลดต้นทุน เพิ่มเติมจากราคาน้ำมันที่ลดลง : ROBINS, CPALL
เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยฯ จะส่งผลบวกในเชิงจิตวิทยา และถือเป็นปัจจัยบวกเรื่องที่ 2 ต่อเนื่องจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลง ช่วยให้ภาพรวมต้นทุนการดำเนินงานของกลุ่มฯ แม้จะไม่มากนัก แต่ช่วยบรรเทาผลกระทบของด้านรายได้ที่ยังรับผลจากปัญหากำลังซื้อชะลอตัว ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายบริษัท พบว่ามีเพียง CPALL ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ย เนื่องจากมีหนี้สินสูงสุดในกลุ่ม คือ มีอัตราส่วน D/E อยู่ที่ 5.3 เท่า โดยมียอดหนี้สูงกว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นส่วนที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวราว 5 หมื่นล้านบาท จากการศึกษาพบว่า หากอัตราดอกเบี้ยลดลง 25 bps จะส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 1% ขณะที่บริษัทอื่นๆ ในกลุ่มได้รับผลบวกน้อยกว่า เนื่องจากมีเงินกู้น้อย โดยเลือก ROBINS (FV@B64) และ CPALL(FV@B53) เป็น Top pick
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย vs ดัชนีกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีก
กลุ่มลีสซิ่ง ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลง ASK เด่นสุด
กลุ่มลิสซิ่ง เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในระดับกลาง และ รากหญ้า จึงน่าจะได้รับผลบวกหากทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาลง กล่าวคือ สินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยกับลูกค้ามักเป็นอัตราเบี้ยคงที่ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณธุรกรรมทั้งหมด ตรงกันข้าม กับต้นทุนการกู้ยืมของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่พึ่งพาภาระหนี้สินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงได้ประโยชน์เต็มที่ในภาวะดอกเบี้ยขาลง โดยจากการศึกษาของฝ่ายวิจัยในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง โดยทุกๆ 10bp ของต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ปัจจุบัน จะส่งผลบวกต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มฯ ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% จากคาดการณ์ปัจจุบัน บริษัทที่ได้ประโยชน์ 3 รายแรกได้แก่ ASK([email protected]), GL([email protected]), และ GCAP([email protected]) เลือก ASK([email protected]) เป็น top pick
ส่วนรายอื่นๆ ได้ประโยชน์น้อย เช่น IFS([email protected]) เพราะแม้จะมีสัดส่วนของหนี้สินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมาก แต่เนื่องจากมูลค่าหนี้สิน เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า จึงส่งผลลบต่อคาดการณ์ NIM และกำไรสุทธิปี 2558 ของ IFS
กลุ่มมีเดียส์ แนะนำหุ้นเด่น BEC(FV@B57)
เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลง แม้ในอดีตหุ้นในกลุ่มจะมีฐานะเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) รายรับบางส่วนได้จากดอกเบี้ยรับ แต่ภาพปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เริ่มจะมีการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้น(net borrower) หลัง เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ทำให้ต้องลงทุนอุปกรณ์ดิจิทัล ค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายรายเดือน และมีงบลงทุนด้านคอนเทนต์ เพราะการแข่งขันสูงขึ้น จากการมีช่องทีวีดิจิทัลใหม่เกิดมากขึ้น แม้ค่าประมูลใบอนุญาต จะสามารถแบ่งจ่ายให้กสทช. เป็นเวลา 6 ปี ทุกเดือน ก.พ. จนถึงปี 2562 (ตามเงื่อนไขที่กสทช. กำหนด) โดยคาดว่าดอกเบี้ยจ่าย (กับสถาบันการเงิน) อิงกับ MLR หากมีการลดดอกเบี้ย น่าจะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มนี้ลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มส่วนใหญ่ได้ปรับตัวขึ้น สะท้อนข่าวกระแสความนิยมของช่องธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายสามารถปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นราว 1-5 ตัว เหลือเพียง BEC (FV@B57) เพียงบริษัทเดียวที่ยัง Laggard กลุ่ม และเชื่อว่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2558 จากการปรับผังรายการช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง 13 (3 Family) ช่อง 28 (3 SD) ตั้งแต่กลางเดือนม.ค. เป็นต้น ขณะที่ช่อง 3 อนาล็อค กับ ช่อง 33 (3 HD) ยังสามารถปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณารายการข่าวบางรายการ ตั้งแต่ต้นปีนี้ ฝ่ายวิจัยจึงเลือก BEC(FV@B57) เป็น Top Pick
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล