- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 04 February 2015 17:13
- Hits: 1584
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่า SET Index ยังเดินหน้าต่อ ทะลุ 1610 จุด จากแรงหนุนของหุ้นพลังงาน หลังเชื่อว่า Supply น้ำมันส่วนเกินโลกมีแนวโน้มลดลง ดีต่อหุ้นปิโตรเลี่ยม (PTT, PTTEP) และ ปิโตรเคมี (PTTGC ที่ใช้ก๊าซ ฯ เป็นวัตถุดิบ) ยังเลือก PTT(FV@B394) และ PTTEP(FV@B134) เป็น Top picks
วงจรดอกเบี้ยขาลง ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก หนุนตลาดหุ้นโลก
ภายใต้เงินเฟ้อที่ชะลอตัวทั่วโลก จนทำให้หลายประเทศเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก ลดลงกว่า 60% จากกลางปี 2557 ซึ่งทำให้เชื่อว่า ธนาคารกลางโลก ต้องหันกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ดังที่ปลายประเทศได้ทำการลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ม.ค. กล่าวคือ ธนาคารกลางอินเดีย ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 0.25% เมื่อกลางเดือน ม.ค. และมีแนวโน้มจะปรับลดอีกในการประชุมครั้งถัดไป และธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% เหลือ 2.25% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 2556 รายละเอียดดังปรากฏในตารางด้านล่าง นอกจากนี้ยังมีบางประเทศใช้มาตรการการเงินผ่อนคลาย ผ่านการปรับลดค่าเงิน เช่น ธนาคารกลางสิงคโปร์ ปรับเปลี่ยนกรอบการเคลื่อนไหวให้มีการยืดหยุนลดลง เป็นต้น ขณะที่ สวิตเซอร์แลนด์ ยกเลิกการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินสวิสฟรังก์กับยูโรที่ 1.2 ฟรังก์ต่อยูโร เพื่อลดความผันผวนจากอ่อนค่าของเงินยูโร หลังยุโรปทำ QE เป็นต้น
ขณะที่ไทย แม้ว่าในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยืนดอกเบี้ยที่ระดับ 2% (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11) แต่ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ติดลบ 0.41% ในเดือน ม.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 64 เดือน และยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องอีกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับฐานเงินเฟ้อที่สูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ดังนั้นจึงเชื่อว่า ธปท. น่าจะต้องกลับมาให้น้ำหนักต่อประเด็นนี้ และทำให้มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยฯ ลงในการประชุมครั้งถัดไป ช่วงกลาง 2H58
PTTEP/PTT นำตลาด ความหวัง Supply น้ำมันส่วนเกินโลกลดลง
วานนี้ราคาน้ำมันดิบโลกยังฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 หลังจากเคลื่อนไหวในระดับต่ำสุดที่ 43-45 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตลอด 2 สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. โดยราคาน้ำมันดิบดูไบวานนี้ปิดที่ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด 44.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล กว่า 20% ในช่วง 1 สัปดาห์เศษ ทั้งนี้ปัจจัยหนุนหลักเชื่อว่า ความกังวลต่อปริมาณผลิตน้ำมันดิบ/สำเร็จรูป ที่เกินความต้องการโลก มีแนวโน้มลดลง (หลังจากที่สหรัฐ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปิโตรเลี่ยมในชั้นหินดินดาน/Shale Oil จนสามารถทดแทนการนำเข้า สะท้อนได้จากที่ปี 2557 สหรัฐนำเข้าน้ำมันสุทธิเพียง 7 ล้านบาร์เรล จากที่เคยเข้าน้ำมันปีละกว่า 11 ล้านบาร์เรล ในช่วง 5 ปี) จากหลายปัจจัยดังที่ได้กล่าวไปเมื่อวานนี้ คือ
ผู้ผลิต Shale oil 37 ราย จากทั้งหมด 38 ราย ประสบปัญหาขาดทุน และไปกินส่วนทุนจน ติดลบ ทำให้เจ้าหนี้หลักคือ ผู้ถือหุ้นกู้ หยุดการให้กู้ยืมตามเงื่อนไขที่เคยตกกัน และในจำนวนนี้มี 1 รายคือ บริษัท WBH Energy LP ได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 (ดังที่เคยนำเสนอใน Market Talk เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา) และ ทำให้ผู้ประกอบการปิโตรเลี่ยมขั้นต้นได้ทยอยตัดลดงบลงทุนอย่างต่อเนื่อง (เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้องการใช้เงินลงทุนสูงในการขุดเจาะ หรือ capital intensive) เช่น BP ตัดลดงบลงทุน 20 พันล้านเหรียญฯ จากที่เคยกำหนดวงเงินไว้สูงถึง 24-26 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2558 เป็นต้น
ผลวิจัยของ Baker Hughes เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาพบว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐลดลงมากถึง 94 แห่ง หรือกว่า 7% จากสัปดาห์ก่อนหน้า เหลือ 1,223 แห่ง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 และลดลงต่อเนื่อง 13 ใน 16 สัปดาห์หลังสุด
การประท้วงของคนงานโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีกว่า 9 แห่งในสหรัฐฯ รวมถึงอุตสาหกรรม Supply Chain ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 และมีแนวโน้มยืดเยื้อถึง 1-2 สัปดาห์ หลังจากการเจรจาขอเพิ่มค่าแรง และสวัสดิการเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคาดว่ากำลังการผลิตของโรงกลั่นฯ น่าจะหายไปจากเหตุการณ์นี้รวม 10% ของประเทศ
และล่าสุด ผลการสำรวจเจ้าหน้าสินเชื่ออาวุโสในสหรัฐฯ พบว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ มีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อใน อุตสาหกรรมพลังงานมีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม หลังราคาน้ำมันตกต่ำกว่า 50% (ขณะที่ยืดหยุ่นสินเชื่อบุคคล และ รถยนต์เป็นต้น) ซึ่งยิ่งเป็นการลดแผนการลงทุนของผู้ประกอบการในระยะสั้น และ ระยะกลาง
นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (vs สกุลคู่ค้าหลัก 6 แห่ง) อ่อนค่าลงมาแตะ 93.1 จุด จากจุดสูงสุดที่ 95 จุด ( หลังจากที่แข็งค่ากว่า 18% นับจากเดือน ก.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน (ตรงกันข้ามกับค่าเงินยูโรอ่อนค่ากว่า 18% ในช่วงเดียวกัน) ซึ่งน่าจะเป็นผลจากที่ตลาดคาดว่า FED น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด ถือเป็นปัจจัยหนุนน้ำมันที่สำคัญอีกประการ
โดยสรุปเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะหนุนราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปยืนเหนือ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล และแตะ 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล อีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานของนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP ที่ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบใน 6 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 เหรียญฯ และ เฉลี่ย 85 เหรียญฯ ในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ (และราคาน้ำมันดิบในระยะยาวกำหนดไว้ที่ เฉลี่ย 75 เหรียญฯ ในปี 2558 เป็นต้นไป) ในสถานการณ์นี้ยังดีต่อหุ้นปิโตรเลี่ยมขั้นต้นทั้ง PTT(FV@B398) PTTEP(FV@B134) และ ยังแนะนำสะสมต่อไป PTTGC (FV@B68) เป็นผู้ผลิตรปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ (ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ซึ่งราคาก๊าซฯ จะปรับขึ้นช้ากว่า Naptha) จึงได้ประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบัน หุ้นทั้ง 3 บริษัทจึงถึอเป็น Top picks และน่าจะเป็นหุ้นนำตลาดในขณะนี้
หุ้นปิโตรเลียม โรงกลั่น และปิโตรเคมี ยังเป็นตัวนำดัชนีตลาดหุ้นโลก
ตลาดหุ้นโลก Rebound ได้แรง โดยตลาดหุ้น S&P500 ของสหรัฐฟื้นตัวได้ติดต่อกัน 2 วันทำการ หลังจากที่ปรับลดลงไปกว่า 3% เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ปัจจัยผลักดันมาจากการปรับขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงานและผู้ผลิตปิโตรเลียม อาทิ Exxon Mobil Corp., Chevron Corp. ซึ่ง sector พลังงานของตลาดหุ้น S&P500 เพิ่มขึ้นถึง 3% (รวม 2 วันทำการ ขึ้นไปถึง 6%) ขณะที่ตลาดหุ้นในฝั่งยุโรป ก็ได้หุ้นในกลุ่มพลังงานเป็นปัจจัยผลักดันหลักเช่นกัน
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยวานนี้ฟื้นตัวได้แรง โดยกลุ่มพลังงาน (ขนาด Market Cap คิดเป็น 16% ของทั้งตลาด) ปรับขึ้นได้แรงถึง 3.69% มีผลช่วยดันดัชนีขึ้นได้ถึงเกือบ 10 จุด หรือ 0.6% ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมี วานนี้เพิ่มขึ้นได้ถึง 2.54% นำโดยกลุ่ม ปตท. (PTT ปรับขึ้น 4.23%, PTTEP ปรับขึ้น 7.11% และ PTTGC ปรับขึ้น 3.9%)
ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบโลก ยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากนี้อีก จนถึงระดับที่เป็นจุดคุ้มทุนที่ราว 60-70 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล และจะส่งผลดีต่อเนื่องถึงหุ้นในกลุ่มผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้น ขณะที่ราคาปัจจุบันเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวได้หลังจากตกต่ำมานาน จึงเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศ น่าจะกลับเข้ามาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานมากขึ้น ตรงกันข้ามกับหุ้นที่เคยได้ประโยชน์จากน้ำมันในช่วงขาลง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสายการบิน (AAV, THAI, NOK) กลุ่มเดินเรือคอนเทนเนอร์ (RCL) ในระยะนี้อาจต้องลด port หรือชะลอการลงทุนไปก่อน และให้สลับไปลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์ในช่วงน้ำมันขาขึ้น ได้แก่ PTT (FV@B 394), PTTEP (FV@B 134) และ PTTGC (FV@B 67.5)
ต่างชาติกลับมาซื้อหนัก แต่ยังมีความเสี่ยงจากแรงขายกองทุน/พอร์ตโบรกเกอร์
วานนี้เงินทุนยังคงไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 492 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นจากวานนี้เกือบ 4 เท่าตัว โดยที่เป็นการซื้อสุทธิถึง 4 จาก 5 ประเทศ สูงสุดคือ ไต้หวัน ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 249 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 89% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 167 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิ 3 วันหลังสุด) เช่นเดียวกับไทยที่สลับมาซื้อสุทธิราว 70 ล้านเหรียญฯ (2.3 พันล้านบาท, ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) และ อินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 26 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 1 ล้านเหรียญฯ) สวนทางกับเกาหลีใต้ ที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 21 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 4.5 แสนเหรียญฯ)
เชื่อว่าการฟื้นตัวของหุ้นน้ำมัน ตามราคาน้ำมันดิบโลก และ ความหวังต่อการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ผ่านการปรับลดดอเบี้ยยังมีอยู่ ล้วนเป็นปัจจัยหนุน กระแสเงินทุนให้ไหลเข้าภูมิภาคเอเซีย รวมถึงตลาดหุ้นไทย แต่ในระยะสั้นอาจจะมีแรงขายจากนักลงทุนสถาบัน ซึ่งมักจะขายสุทธิออกมาในเดือน ก.พ. (3 ใน 5 ปี หลังสุด จากแรงขาย LTF) และ แรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์ที่มียอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีสูงถึงราว 8.2 พันล้านบาท
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล