- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 02 February 2015 15:21
- Hits: 1542
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัว 8% ในวันศุกร์ จากการประท้วงของคนงานในสหรัฐ และการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ถือว่าดีต่อ PTT และ PTTEP และยังชื่นชอบหุ้นรายตัวเด่น SYNTEC(FV@B 3.85), GUNKUL(FV@B 36) วันนี้เลือก PTT(FV@B394) เป็น Top pick
หุ้นน้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว ตามราคาน้ำมันดิบโลก
ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัววันเดียว 4 เหรียญฯต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 49 เหรียญฯต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 8.3% จากราคาปิดในวันก่อนหน้า (เทียบกับต่ำสุด 43 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 13 ม.ค. 2558 ถือเป็นการฟื้นตัวที่มากถึง 14%) ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการนัดหยุดงานของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีในสหรัฐ (โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานเคมี และท่อส่งน้ำมัน และ ท่าเรือ เป็นต้น) ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการ ซึ่งหากการประท้วงยังยืดเยื้อก็อาจจะกระทบต่อปริมาณการผลิตของสหรัฐ และหนุนราคาน้ำมันยืนเหนือ 47 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อหุ้น PTTEP(FV@B134) และ PTT(FV@B394)
นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติ 2 รายการ ดังนี้ คือ 1) ราคาขายปลีกเอ็นจีวี (รถยนต์ทุกประเทศ) อีก 0.5 บาทต่อ กก. เป็น 13 บาทต่อ กก. มีผลวันเสาร์ที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา
และ 2) ลอยตัวราคาขายปลีก ก๊าซแอลพีจี มีผล 2 ก.พ. 2558 จากปัจจุบันที่ตรึงไว้ที่ 24.16 บาทต่อ กก. (ภาคครัวเรือน และขนส่ง) เพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซแอลพีจี ที่สูงขึ้นหลังจากที่ PTT ได้รับราคาซื้อก๊าซแอลพีจี ที่หน้าโรงกลั่น, โรงแยกก๊าซเป็น 498 เหรียญฯต่อตัน จากเดิมที่ตรึงไว้ 333 เหรียญฯต่อตัน เทียบกับราคาตลาดโลกปัจจุบันอยู่ 462 เหรียญฯต่อตัน (ผลการประชุมเมื่อ 7 ม.ค. 2558 มีผล 2 ก.พ. 2558) หลังจากนี้คาดว่า กบง. น่าจะปรับขึ้นราคาขายก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน ขึ้นไปใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรมฯ (ที่ปัจจุบันจ่ายอยู่ 25.6 บาทต่อ กก.)
การปรับขึ้นราคาขายปลีกเอ็นจีวีครั้งนี้ ถือเป็นการปรับเพิ่มครั้งที่ 3 รวม ปรับขึ้น 2.5 บาทต่อ กก. นับจาก ก.ค. 2557 เป็นต้นมา เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ที่ปัจจุบันตกราว 15 บาทต่อกก. (เท่ากับราคาตลาดหลังปรับขึ้นครั้งนี้ ยังต่ำกว่าต้นทุนราว 2 บาทต่อ กก) ซึ่งเท่ากับจะช่วยลดภาระต้นทุน PTT ลง จากปัจจุบันที่ยังแบกรับภาระอยู่ กก. ละ 1.2 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าหุ้นราว 24 บาท ผลการปรับขึ้นครั้งนี้จะทำให้กำไรสุทธิปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.8% และเพิ่มมูลค่าพื้นฐานอีก 4 บาทต่อหุ้น และยังมีความเป็นไปได้ที่ กบง. จะปรับเพิ่มราคาก๊าซเอ็นจีวี ส่วนต่างจากต้นทุนอีก 2 บาทต่อ กก. (เพื่อจะทำให้ราคาขายปลีกเอ็นจีวี เท่ากับต้นทุนที่แท้จริง) ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิปี 2558 (หลังจากปรับครั้งนี้แล้ว) อีก 10% และเพิ่ม Fair Value ใหม่จะเป็น 16 บาท ซึ่งนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงาน ASP จะปรับเพิ่ม เมื่อ กบง. มีการประกาศที่ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันต่อ PTT เช่นกัน เพราะหลังจากนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานของ ASP ได้ทำ Preview Earnings หุ้น PTTEP พบว่า PTTEP จะต้องรับรู้ผลขาดทุนการด้อยค่าของเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ PTT จะต้องรับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 65% หรือจะกระทบต่อ Fair Value PTT ราว 18 บาทต่อหุ้น ซึ่งโดยรวมจะทำให้ PTT ภายหลังรวมทั้งปัจจุบันบวกและลบแล้วจะอยู่ที่ 396 บาท มี upside 14% ( ติดตามอ่านได้จาก Equity Talk วันนี้)
ความเสี่ยงปรับลด EPS ตลาด น้อย แม้ GDP ต่ำกว่าคาด
ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด รวมถึงราคาน้ำมันตกต่ำ อันเป็นผลให้ประเทศคู่ค้าหลัก ๆ ไทย โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (เช่น รัสเซีย ส่งออกน้ำมัน 80% ของการส่งออกรวม) ต้องประสบกับภาวะขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงค่าเงินที่ตกต่ำ จึงทำให้กำลังซื้อลดลง ยกเว้นเพียงสหรัฐที่เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างชัดเจน (10% ของตลาดส่งออกรวม) แต่ก็ไม่อาจสามารถชดเชยผลกระทบจากตลาดโดยรวมได้ สะท้อนจากล่าสุด เริ่มมีหน่วยงานทางภาครัฐ นำโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ออกมาปรับลดการส่งออกสินค้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2558 รายละเอียดดังตารางด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้ มีโอกาสสูงที่หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ (สศช.) และภาคเอกชนหลายๆ แห่ง รวมถึงฝ่ายวิจัย ASP จะต้องมีการทบทวน และปรับลดในลักษณะเดียวกันตามมา โดยเฉพาะปรับลดการส่งออกรวมและการนำเข้าโดยรวมเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ เช่น การบริโภครวม และการลงทุนโดยรวมอาจปรับเล็กน้อยหรือคงที่ ซึ่งก็จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม
ขณะที่การปรับลดประมาณการกำไรของตลาดหุ้นปี 2558 คาดว่าน่าจะมี downside จำกัด หลังจากที่ฝ่ายวิจัยได้ทำการปรับลดประมาณการกำไรตลาดลง 2 ครั้งในงวด 4Q57 รวมเฉลี่ยปีละ 8% ซึ่งได้ปรับลดสะท้อนราคาน้ำมันที่ตกต่ำ (โดยปรับลดสมมติฐานจาก 100 เหรียญ ต่อ บาร์เรล ลงมาเหลือ 90 เหรียญฯ และ 70 เหรียฯฯ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน) โดยการปรับลด จะเกิดในกลุ่ม พลังงานและปิโตรเคมีเป็นหลัก กล่าวคือ ผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้น (PTT, PTTEP) โรงกลั่น (TOP, BCP, PTTGC) ซึ่งนอกจากรายได้จะลดลงตามราคาน้ำมันดิบแล้ว ยังต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของราคาน้ำมัน (Stock Loss) ในงวด 4Q57 และ 1Q58 โดยหลังการปรับลดทำให้ EPS ใหม่ในปี 2557 อยู่ที่ 88.76 บาท หดตัว 3.2%yoy ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ส่วนปี 2558 EPS ใหม่อยู่ที่ 103.65 บาท ในปี 2558 เติบโต 16.7%
เป็นที่สังเกตว่ากลุ่มปิโตรเคมีที่ถูกปรับประมาณการลง จะกลับมาเติบโตถึง 37% ในปี 2558 เนื่องจากราคาวัตถุดิบตั้งต้นลดลง ส่วนกลุ่มพลังงานจะเติบโตเพียง 5% เนื่องจากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวในระดับต่ำ 6 เดือนแรก แต่จะดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ณ ปัจจุบันพบว่าดัชนีหุ้นไทยมีค่า Expected PER 15.25 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยอิง Expected PER 16 เท่า หรือดัชนีที่ 1658 จุด หรือมี upside 5%
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นไทยเล็กน้อย เป็นการชะลอช่วงสั้น
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 แต่ยังคงเบาบางราว 147 ล้านเหรียญฯ โดยลดลง 24% จากวันก่อนหน้า หากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ขายสุทธิสูงสุด คือ เกาหลีใต้ ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 96 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 60% ตามมาด้วยไต้หวัน ขายสุทธิราว 77 ล้านเหรียญฯ (พลิกจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 9 วันก่อนหน้า) เช่นเดียวกับ ไทยที่สลับมาขายสุทธิราว 23 ล้านเหรียญฯ (749 ล้านบาท, ซื้อสุทธิต่อเนื่อง 7 วันก่อนหน้า) อินโดนีเซียที่สลับมาซื้อสุทธิราว 49 ล้านเหรียญฯ (หลังจากขายสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเบาบางเป็นวันที่ 3 ราว 6 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 70% จากวันก่อนหน้า)
เชื่อว่าแรงต่างชาติ ในภูมิภาคที่เบาบาง อาจจะเป็นเพียงการชะลอระยะสั้นเท่านั้น เชื่อว่าภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ยังหนุนการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้เกิดเงินไหลเข้ารอบใหม่ สะท้อนจากที่ยอดซื้อสุทธิสะสมต่างชาติในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2552 ได้เริ่มกระเตื้องขึ้นมาแตะระดับ 4.29 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ลดลงต่ำสุดที่ 2.8 หมื่นล้านบาทเมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา (ต่ำสุดในรอบ 4 ปี) ถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยอีกประเด็นหนึ่ง
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล