WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
    Fund Flow ยังเป็นปัจจัยหนุนตลาด แต่ดัชนีระดับ 1,600 จุด ยังเป็นแนวต้าน ทำให้ดัชนียังผันผวนระยะสั้น แต่ยังคงชื่นชอบหุ้นใหญ่ (SCC(FV@B530) และ KBANK(FV@B300)) และยังเลือก SYNTEC(FV@B 3.85) เป็น Top pick

ผลการประชุม FED และ กนง. เป็นไปตามคาด
    วานนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ยืนดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เป็นไปตามที่คาด โดยให้เหตุผลว่า อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัว แม้เงินเฟ้อจะหลุดจากกรอบเป้าหมายขั้นต่ำ 2.5±1.5% ของปีนี้ก็ตาม แต่ก็ไม่ถือเป็นการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
    แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากเงินเฟ้อลดลงจนเข้าใกล้ 0% หรือเริ่มติดลบเหมือนในบางประเทศ คาดว่า กนง. ก็อาจจะต้องกลับมาทบทวนเรื่อง นโยบายการเงินอีกครั้ง พิจารณาสถิติในอดีต พบว่าในปีที่เศรษฐกิจไทยเข้าภาวะชะลอตัว เกิดภาวะ เงินฝืด (เงินเฟ้อติดลบ) ดังเช่นในปี 2542 และ 2552 ทำให้ กนง. ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ดังปรากฏในภาพข้างต้น
     และเช่นเดียวกับ ผลการประชุมของธนาคารกลางของสหรัฐ (Fed) ซึ่งยังคงเป็นไปตามตลาดคาด โดยยังไม่มีข้อสรุปอะไรที่แตกต่างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ ยังคงให้เฝ้ารอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (patient) โดยจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยในการประชุม อีก 2 ครั้งข้างหน้า (มี.ค. และ เม.ย. 2558) ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างคาดว่า การพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยน่าจะมีความชัดเจน ในช่วง 2H58 ซึ่งถือว่าได้เลื่อนจากเดิมที่คาดว่าจะขึ้นภายในกลางปี 2558
     นอกจากนี้ เชื่อว่าปัจจัยที่ยังสร้างความกังวลต่อขึ้นดอกเบี้ยของ FED คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้ากว่าที่คาด (สะท้อนจาก IMF และ World Bank ต่างพากันปรับลด GDP Growth โลก ในปี 2558 ลง 0.3% เหลือ 3.5% และ 0.4% เหลือ 3% ตามลำดับ และอีกประเด็น คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงทั่วโลก ซึ่งสร้างความกังวลต่อบางประเทศอย่างมาก เช่น ยุโรป ที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี (เดือน ธ.ค. ติดลบ 0.2%) จึงทำให้ต้องใช้มาตรการการเงินผ่อนคลายโดยอัดฉีด QE ไปล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา จำนวนเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตลอดทั้งโครงการ 19 เดือน (เริ่ม มี.ค. 2558 และสิ้นสุด ก.ย. 2559) โดยคิดเป็นเม็ดเงิน 1.14 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญฯ ) ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐ เดือน ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 0.8% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี

 

ต่างชาติยังซื้อ สวนทางสถาบันขายหนัก
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 38% เหลือราว 410 ล้านเหรียญฯ โดยยังคงซื้อสุทธิสูงสุดในไต้หวัน และซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ราว 343 ล้านเหรียญฯ ลดลง 21% ตามมาด้วยไทยยังซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 116 ล้านเหรียญฯ (3.8 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้น 12% จากวันก่อนหน้า) ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 12 ล้านเหรียญฯ หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า สวนทางกับ อินโดนีเซียที่สลับมาขายสุทธิราว 34 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) และสุดท้ายคือ เกาหลีใต้ที่สลับมาขายสุทธิเช่นกันราว 26 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อใน 4 วันหลังสุด)
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยพบว่า นักลงทุนสถาบันกลับมาขายสุทธิติดต่อกัน 3 วันหลังสุดรวม 5.1 พันล้านบาท (แต่ตลอดเดือน ม.ค. มียอดซื้อสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท)สวนทางกับแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องกัน 6 วันรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดขายสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 2558 ลดลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุด 1.9 หมื่นล้านบาท เหลืออยู่ราว 4.3 พันล้านบาท ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ พบว่า ที่นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 2.7 พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามหลังจาก กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยน่าจะทำให้เงินทุนไหลออกจากตราสารหนี้ชะลอตัวลงบ้าง

 

สื่อสารอาจจะสะดุด หากมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
วานนี้ ทางกรมสรรพสามิต มีแนวคิดที่จะให้มีการจัดเก็บภาษีโทรคมนาคม สำหรับรายได้จากบริการ 3G และ 4G เนื่องจากเอกชนที่ ชนะประมูลใบอนุญาตใหม่ มีต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ลดลงเพียง 5.25% หรือแม้จะรวมกับต้นทุนครั้งแรกในการเข้าประมูลก็เฉลี่ยรวมกันไม่เกิน 10% ของรายได้รวม แม้เทียบกับส่วนแบ่งรายได้ที่สูงเฉลี่ย 25-30% ของรายได้ภายใต้ระบบสัมปทานเดิม (2G) จึงเสนอแนวคิดที่จะให้จัด เก็บในอัตรา 10% ของรายได้ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าการจัดเก็บอาจจะมีอุปสรรคหากพิจารณาองค์ประกอบดังต่อไปนี้
  ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หลังเปิดให้บริการบนระบบใบอนุญาต (3G) ทั้งนี้ เพราะต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ภายใต้ 3G ที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายต่างเร่งโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทาน 2G จึงจำเป็นต้องมีการใช้งบประมาณในการโฆษณามากขึ้น รวมไปถึงต้องเร่งลงทุนโครงข่าย 3G บนใบอนุญาตใหม่ เพื่อให้ประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. ที่ให้ลดค่าบริการลงจากเดิมเฉลี่ย 15% จนทำให้ภาพรวมแล้ว หากเปรียบเทียบ Norm Profit Margin ก่อนให้บริการภายใต้ใบอนุญาต (2555) กับหลังเปิดให้บริการ (2557F) ขยับขึ้นเพียง 200 Basis Point
  มติของ คณะรัฐมนตรี ฯ ภายใต้การบริหารงาน ของรัฐบาลสุรายุทธ์ ฯ ปี 2550 ได้ข้อสรุปว่า โทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต (หลังจากที่ได้มีการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตในอัตรา 10% ในระหว่างปี 2546-2550 โดยให้ไปตัดจ่าย จากส่วนแบ่งรายได้ ที่ CAT และ TOT ได้รับลดลงเหลือ 15-20%) และให้นำเงิน 10% ดังกล่าว กลับมาจ่ายให้กับเจ้าของสัมปทาน คือ CAT และ TOT ตามเดิม แต่โดยรวมผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ยังคงจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 25-30% เช่นเดิม
   เนื่องจากการเรียกเก็บภาษีสรรพามิตรครั้งก่อน ผู้ประกอบการไม่ได้รับภาระเพิ่ม แต่เป็นการตัดจากส่วนแบ่งรายได้ ดังนั้นหากมีการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตใหม่ คาดว่าอาจจะต้องผลักภาระให้ประชาชน แต่ก็อาจจะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์การประมูลภายใต้ใบอนุญาต ที่ต้องการให้ต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ลดลง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ค่าบริการมือถือราคาถูก
แม้ยังมีข้อโต้แย้งตามแนวคิดข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาครัฐฯ มีความต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงเชื่อว่ามีโอกาส 50:50 ที่แนวคิดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จริง โดยในกรณีเลวร้าย ฝ่ายวิจัยตั้งสมมติฐานว่า ภาครัฐฯ สามารถเรียกเก็บอัตราภาษีที่ 10% ของรายได้ และสามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ครึ่งนึง (เท่ากับว่าเอกชนต้องรับภาระภาษี 5%) จะพบว่ากำไรสุทธิปี 2558 ของผู้ให้บริการมือถือจะลดลงจากเดิมเฉลี่ย 17.5% ขณะที่มูลค่าพื้นฐานจะลดลงจากเดิมราวๆ 10%-15% แต่เพื่อรอความชัดเจนของนโยบาย จึงยังคงประมาณการปัจจุบันไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเด็นนี้อาจจะกดดันหุ้นสื่อสารทั้ง 3 บริษัท จึงแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน โดยให้เลือกลงทุนหุ้นสื่อสารในกลุ่มที่ยังมีการเติบโต และไม่มีผลกระทบจากภาษีดังกล่าวคือ AIT(FV@B52) THCOM(FV@B51) (ติดตามอ่านรายละเอียดใน Industry Update กลุ่ม ICT วันนี้)

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!