- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 26 January 2015 15:30
- Hits: 1988
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การอัดฉีดเงิน QE ของยุโรป และ ธปท. อาจถูกกดดันให้ลดดอกเบี้ยอีกทาง เพื่อดูแลเงินบาทมิให้แข็งค่ามากเกินไป ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้น ยังแนะนำหุ้นใหญ่ Laggards และ undervalue เลือก SCC(FV@B530) และ KBANK(FV@B300) เป็น Top picks
อานิสงค์ของ QE ในยุโรป น่าจะมีน้ำหนักหักล้างปัญหาในกรีซ
หลังจากตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากการอัดฉีด QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ มี.ค. 2558 จนสิ้นสุด ก.ย. 2559 จะใช้เม็ดเงินทั้งสิ้น 1.14 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญฯ หรือราวเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร) ซึ่งหากพิจารณาจากสถิติของประเทศที่ใช้ QE ส่วนใหญ่จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่นที่ยังคงใช้ในขณะนี้ กล่าวคือมิใช่แต่เพียงหนุนให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากวิกฤติ แต่ยังหนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างมากด้วยดังที่ได้กล่าวไปแล้วใน Market Talk เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งจะขอสรุปอีกครั้งดังนี้
QE1 (ธ.ค. 2551 – มิ.ย. 2553) วงเงินกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญฯ หนุนให้ตลาดหุ้น S&P500 ฟื้นตัวจากช่วงวิกฤต ฯ ลงไปต่ำสุด 666 จุด ในช่วงต้นปี 2552 ปรับขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องถึงระดับ 1,200 จุด หรือกว่า 80% เมื่อสิ้นสุด QE1
QE2 + operation twist (พ.ย. 2553 – ธ.ค. 2555) วงเงินกว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญฯ หนุนให้ตลาดหุ้น S&P500 ปรับขึ้นจาก 1,180 จุด ไปเหนือ 1,400 จุด หรือราว 20% เมื่อสิ้นสุดมาตรการ
QE3 : (ก.ย. 2555 – ต.ค. 2557) วงเงินกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญฯ หนุนให้ตลาดหุ้น S&P500 ปรับขึ้นจาก 1,440 จุด ไปเหนือ 2,000 จุด หรือกว่า 40% เมื่อสิ้นสุดมาตรการ
ในเบื้องต้นธนาคารกลางยุโรปจะยังไม่จัดสรรเงิน QE ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ (พันธบัตร) ในประเทศกรีซ เนื่องจากต้องการให้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งจัดการแก้ไขปัญหาในประเทศเองก่อน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ก้อนเดิมที่ได้รับการช่วยเหลือจาก TROIKA (ประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คณะกรรมาธิการยุโรป และอีซีบี) ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2553 ทั้งนี้ ล่าสุด ผลการเลือกตั้งของกรีซ ยังออกมาตามที่คาด โดย พรรคไซรีซา (ฝ่ายค้าน) นำโดย นายอเล็กซิส ซีปราส ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียง 35.8% มากกว่าพรรครัฐบาล ซึ่งได้คะแนนเสียงเพียง 28.3% และหลังจากนี้ น่าจะมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อเจรจาใหม่กับเจ้าหนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายหรือ TROIKA โดยน่าจะมีแนวโน้มไปในแนวทางประนีประนอม กล่าวคือ ต้องการให้เจ้าหนี้ลดหนี้ให้บางส่วน หรือกันงบประมาณไว้ราว 6-7 พันล้านยูโร มาใช้ในการฟื้นฟูประเทศ แทนการนำเงินทั้งหมดที่หาได้มาใช้ชำระหนี้ ซึ่งประเด็นนี้จะได้รับการยอมรับจาก TROIKA หรือไม่ ถือว่าเป็นประเด็นลบที่ต้องติดตาม
ทั้งนี้ ล่าสุด ณ 3Q57 พบว่าหนี้สาธารณะของกรีซได้ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 3.56 แสนล้านยูโร ในปลายปี 2554 เหลือ 3.15 แสนล้านยูโร ณ ไตรมาส 3 ปี 2557 หรือลดลง 11.51% แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับ GDP พบว่ายังคงสูงถึง 175% เนื่องจาก GDP ชะลอตัวลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านการออกจากยูโรโซน (Grexit) น่าจะเป็นไปได้น้อย เพราะกรีซยังต้องการความช่วยเหลือจาก TROIKA อยู่ และผลสำรวจคาดว่าเงินยูโร ยังจำเป็นต่อชาวกรีซ และถึงแม้ว่ากรีซจะออกจากยูโรโซนจริง ก็จะกระทบต่อยูโรโซนไม่มาก เพราะ GDP ของกรีซมีสัดส่วนต่ำกว่า 2% ของขนาดเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวม
ต่างชาติซื้อหุ้นไทยสูงสุดรอบ 4 เดือน
วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อยู่ที่ 1,051 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ ประเทศที่มียอดซื้อสุทธิสูงสุด คือ ไต้หวัน ซื้อสุทธิ 678 ล้านเหรียญฯ และต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 เพิ่มขึ้น 73% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วย อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิอีกครั้งราว 129 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 4 วันหลังสุด) เกาหลีใต้ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 124 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ส่วนไทยยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 101 ล้านเหรียญฯ (3.3 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 เช่นกัน แต่ลดลงถึง 76% เหลือเพียงราว 19 ล้านเหรียญฯ
เงินทุนต่างชาติที่เข้าซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยครั้งนี้ ถือเป็นยอดซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 4 เดือน (แต่ยังทำให้แสดงยอดขายสุทธทธิ ตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นขายสุทธิราว 1.4 หมื่นล้านบาท) เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันและพอร์ตโบรกเกอร์ที่ซื้อสุทธิราว 5.1 พันล้านบาท และ 708 ล้านบาทตามลำดับ เชื่อว่าในระยะสั้นกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคยังมีอยู่ แต่อาจจะเลือกเป็นรายประเทศ
ปี 2558 น่าจะเป็นปีที่ดีของหุ้นธนาคาร เลือก KBANK/KTB
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้รายงานผลประกอบการปี 2557 เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสรุปผลการดำเนินงานงวด 4Q57 หดตัวตามคาดกว่า 8.7%qoq (แต่เติบโต 8.9% yoy) ปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานมาจาก :
สินเชื่อสุทธิ แม้จะเติบโตขึ้นสูงสุดในรอบปี แต่ยังไม่เต็มไตรมาส (เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี)
NIM ชะลอตัวเล็กน้อย จากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลและการส่งเสริมการขาย
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังทรงตัว เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ
โดยภาพรวมปี 2557 กลุ่ม ธ.พ. มีกำไรเติบโตเพียง 3.8%yoy และต่ำกว่าประมาณการที่คาดไว้ราว 3% ส่งผลให้นักวิเคราะห์กลุ่ม ธ.พ. ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558-9 ลงจากเดิม 6.2% และ 5.8% ตามลำดับ โดยภายหลังปรับประมาณการ คาดการณ์การเติบโตของกำไรสุทธิปี 2558-59 เท่ากับ 9.5% yoy และ 12.9% yoy ตามลำดับ
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2558 ประเมินว่ายังเติบโตได้ดีจากการเร่งใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ รวมถึงมาตรการ
กระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะส่งผลต่อเนื่องมาถึงการลงทุนภาคเอกชนในโครงการที่เกี่ยวเนื่อง โดยคาดการณ์สินเชื่อสุทธิปี 2558 เติบโต 6.3% yoy โดยเลือก KBANK (FV@B300) และ KTB ([email protected]) เป็น Top Picks ซึ่งได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนใหญ่ของภาครัฐ และคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558-59 เติบโตมากกว่ากลุ่มฯ ขณะที่ BBL (FV@B188) และ SCB ([email protected]) Upside เริ่มจำกัด ราคาหุ้นขึ้นเกิน Fair Value แล้ว แนะนำให้ switch มาเข้า KBANK และ KTB
ขณะที่ พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องค้ำประกันและจำนองในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นปัจจัยใหม่ที่ต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ ธ.พ.ส่วนใหญ่ยังยืนยันว่าผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างจำกัด โดยจะส่งผลเพียงขั้นตอนและระยะเวลาการปล่อยสินเชื่ออาจยุ่งยากขึ้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้
คลังส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย หลังเงินบาทแข็ง
ผลจากการใช้นโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของยุโรป ดังกล่าวข้างต้น ได้กดดันให้ค่าเงินยูโร อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันอยู่ที่ 1.1174 เหรียญสหรัฐต่อยูโร ซึ่งเป็นระดับเดียวกับวันแรกที่กลุ่มสหภาพยุโรปประกาศใช้ค่าเงินยูโร (Single Currency) เมื่อต้นปี 2532 หรือพบว่าค่าเงินยูโรอ่อนค่า 12% ในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์ (อ่อนค่ามากถึง 20% นับจากต้นเดือน พ.ค. 2557 เป็นต้นมา และ อ่อนค่า 30% นับจากจุดที่แข็งค่ามากสุดเมื่อ ก.ค. 2551) ตรงข้ามกับเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่อง โดยแข็งค่า 5.4% นับจากปลายปี 2557 หรือแข็งค่ากว่า 20% นับจากกลางปี 2557 หลัก ๆ เกิดจากยกเลิกมาตรการเงินผ่อนคลาย โดยการตัดลด QE สิ้นสุดในเดือน ต.ค. ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจในสหรัฐ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ทางฝั่งประเทศกำลังพัฒนา แม้ยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้าก็ตาม แต่ผลจากการใช้มาตรการ QE ในยุโรปได้หนุนให้เงินในภูมิภาคแข็งค่าอย่างรวดเร็วเช่นกัน กล่าวคือ ค่าเงินรูปี ของอินเดียแข็งค่า 3.5% นับจากปลายปี 2557 ขณะที่กลุ่ม TIP พบว่าแข็งค่าราว 2% นับจากจากจุดอ่อนค่ามากสุดในช่วงต้นปี 2558 (ฟิลิปปินส์ แข็งค่า 2.2% อินโดนีเซียแข็งค่า 2%) ขณะที่เงินบาทของไทย แข็งค่าราว 1% จากต้นปี 2558 ยกเว้นค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ที่ยังทรงตัว หรือแข็งค่า เนื่องจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่รัฐยกเลิกมาตรการอุดหนุนน้ำมัน
ผลกระทบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทย มีความกังวล และได้เสนอให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวน เพื่อช่วยเหลือภาคส่งออก (แหล่งข่าวจากหนักสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันเสาร์ที่ 24 ม.ค. 2558) โดยมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท คือ การลดดอกเบี้ย ซึ่งได้โยนให้ทาง ธปท. ไปคิดต่อว่าจะลดเท่าใด ขณะที่ ในมุมมองของ ASP ยังเชื่อว่าการการลดดอกเบี้ยในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะไม่จำเป็นมากนัก เพราะดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ถือว่าต่ำอยู่แล้ว และการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว โดยยังรอความชัดเจนจากการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ และในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวล่าช้า และยังมีปัญหาในบางพื้นที่ เชื่อว่าการทำให้เงินบาทอ่อน ผ่านการลดดอกเบี้ย อาจจะมีส่วนกระตุ้นการส่งออกได้ไม่มากนัก แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นอาจจะนำประเด็นนี้มาเป็นประเด็นบวก และหนุนให้ตลาดหุ้นไทยยังสดใสต่อเนื่อง
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล