WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

ตลาดให้น้ำหนักเชิงบวกต่อการใช้ QE ในยุโรป
  สัปดาห์นี้ตลาด ให้ความสนใจต่อการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งคาดหวังว่าจะมีการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณที่มากพอ ที่ฉุดให้ยุโรปหลุดพ้นจากภาวะซบเซา โดยล่าสุดเงินเฟ้อได้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี กล่าวคือ เดือน ธ.ค. ติดลบ 0.2% (จาก 0.3% ในเดือน พ.ย.) และ ผลจากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์กสัดส่วนที่สูงถึง 93% ของผู้ตอบ คาดว่า
ECB จะใช้วงเงิน QE จำนวน 550 พันล้านยูโร (635 พันล้านเหรียญฯ) หรือ คิดเป็น 4 % ของ norm GDP ซึ่งใกล้เคียงกับสหรัฐแต่น้อยกว่าญี่ปุ่นและอังกฤษ ซึ่งเม็ดเงินรวมของญี่ปุ่นเมื่อสิ้นปี 2557 ราว 300 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็น 60% ของ GDP และอังกฤษซึ่งใช้เม็ดเงิน 3.75 แสนล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 22% ของ GDP
  อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ราว 74% ของผู้ตอบ คาดว่าการอัดฉีดเงินจะมุ่งเน้นไปที่การซื้อพันธบัตรรัฐบาล หนี้เสียของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งต้องติดตามความชัดเจนจากการประชุมของ ECB ในวันที่ 22 ม.ค. และการเลือกตั้งนายกฯ คนใหม่ของกรีซ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 ม.ค. แต่เป็นที่สังเกตว่าตลาดหุ้นยุโรปได้ฟื้นตัวตอบรับ เช่น ฝรั่งเศส 8% จากต้นปี สเปน 4.7%
และ อิตาลี 3.8% เป็นต้น

เงินบาทแข็งค่าเร็วอาจจะกระทบต่อหุ้นส่งออก
  ค่าเงินโลกยังอยู่ในภาวะผันผวน หลังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ได้ยกเลิกการตรึงค่าเงินไว้กับสกุลยูโร ที่ 1.2 ยูโรต่อสวิสฟรังก์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับปรับลด ดอกเบี้ยนโยบายลงจาก -0.25% เป็น -0.75% เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า จากผลกระทบของการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในสหภาพยุโรป ล่าสุด ธนาคารกลางเดนมาร์ก ได้ปรับลด ดอกเบี้ยเงินฝากลง จาก -
0.05% เป็น -0.2% ทำสถิติต่ำสุด และปรับลด ดอกเบี้ยเงินกู้ลงจาก 0.2% เป็น 0.05% ด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกันกับสวิสขณะที่ค่าเงินเอเซีย มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP นำโดย ค่าเงินบาท พบว่านับตั้งแต่ต้นปี 2558 แข็งค่าราว 1.15% (วานนี้ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือน ที่ 32.48 บาท/เหรียญฯ ก่อนที่เช้า
วันนี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ที่ 32.62 บาท/เหรียญฯ) ตามมาด้วย เงินเปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่า 1.11% ยกเว้น เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 0.7% คาดว่าได้รับปัจจัยหนุนจากต้นทุนนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นผู้นำเข้าสุทธิเฉลี่ยกว่า 20% ของยอดนำเข้ารวม ซึ่งในที่สุดจะทำให้ ไทย และ ประเทศเพื่อนบ้าน มีดุลการค้าที่ดีขึ้น แม้ยอดส่งออกจะยังฟื้นตัวล่าช้า
  นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังจะได้รับผลกระทบเงินบาทที่แข็งค่า โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกที่มีรายรับเป็นรูปเงินดอลลาร์ แต่มีต้นทุนการผลิตเป็นเงินบาท ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล ได้แก่ KSL, KBS, KTIS (KSL โครงสร้างรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์ 65% ขณะที่ต้นทุนเงินบาท 100%) น่าจะได้รับผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำกำไรหรือ gross margin แม้ผู้ประกอบการกลุ่มน้ำตาลได้
กระจายไปทำธุรกิจไฟฟ้า หรือ พลังงานทดแทน(เอทานอล) แต่คาดว่าไม่น่าจะชดเชยได้มากนัก และ ผู้ผลิตและส่งออกยางพารา(STA โครงสร้างรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์ 85% ขณะที่ต้นทุนเงินบาท 80%)
รองลงมาคือ ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร คาดว่า TUF น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มนี้ กล่าวโครงสร้าง
  แม้โครงสร้างรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์ 90% แต่ต้นทุนการผลิตอยู่ในรูปสกุลต่างประเทศในสัดส่วนสูง คือ ดอลลาร์ 50% ยูโร 20% ขณะที่ต้นทุนเงินบาท 20% GFPT พบว่าโครงสร้าง รายได้ในรูปสกุลดอลลาร์ 27% แต่ต้นทุนการผลิตอยู่ในรูปสกุลต่างประเทศในสัดส่วนใกล้เคียงคือ 20% และ ต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงิน 80%
  โดยรวมจากการศึกษาของนักวิเคราะห์กลุ่มส่งออกอาหาร พบว่า STA ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยทุกๆ 1 บาทของเงินบาทที่แข็งค่าทำให้กำไรจากการดำเนินธุรกิจหลักหายไปถึง 7% ตามมาด้วย KSL กำไรจากการดำเนินธุรกิจหลักหายไป 6.3% ส่วน TUF และ CPF แม้กำไรจากการดำเนินธุรกิจหลักหายไปถึง 6.7% และ 7.2% แต่จะได้ดอกเบี้ยจ่าย (ในรูปของดอลลาร์) เป็น natural hedging
หักล้างผลกระทบให้ลดลงเหลือ 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ ขณะที่ GFPT ได้รับผลกระทบน้อยสุด 2.9% กล่าวโดยสรุป การแข็งค่าของเงินบาท อาจจะเป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มส่งออกในช่วงสั้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน

ต่างชาติยังคงเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง แต่ปริมาณลดลง
  วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 154 ล้านเหรียญฯ (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า) ซึ่งยอดซื้อส่วนใหญ่มาจากไต้หวัน โดยสลับมาซื้อสุทธิราว 293 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 4 วันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ (เพิ่งกลับมาเปิดทำการ) ซื้อสุทธิราว 6 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5) แต่ลดลง 88% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่ยังคงขายสุทธิ
ทั้งหมด กล่าวคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 แต่ลดลงถึง 82% เหลือราว 58 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับอินโดนีเซียที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 เช่นกัน ราว 56 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และสุดท้ายคือไทยขายสุทธิเป็นวันที่ 7 แต่ลดลง 42% จากวันก่อนหน้าเหลือราว 31 ล้านเหรียญฯ (1.0 พันล้านบาท)
  ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยถึง 10 จาก 11 วันหลังสุด รวมกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 2552 ลดลงเหลือเพียง 2.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ตามมูลค่าตลาด ซึ่งน่าจะทำให้แรงขายจากนักลงทุนกลุ่มนี้เหลืออย่างจำกัดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามความผันผวนของค่าเงินน่าจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดในภูมิภาคต่อไป

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรมเลขทะเบียน
นักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!