WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
     ดอลลาร์กลับมาอ่อนค่า หนุนสินทรัพย์เสี่ยง ทองคำ และน้ำมัน แต่ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ช่วยหนุนหุ้นบางกลุ่ม วันนี้ยังเลือก RCL (FV@B 11.80) เป็น Top Pick เพราะนอกจากต้นทุนน้ำมันลดลงแล้ว ดัชนีเดินเรือคอนเทนเนอร์เริ่มฟื้นตัว ทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี และยังชื่นชอบหุ้นปันผล +PER ต่ำ PTTGC(FV@B68), SPALI([email protected]) และ PTT(FV@B394)

ผลสำรวจ IAA นักวิเคราะห์ให้เป้าปี 2558 1,670 จุด
      ผลการสำรวจของสมาคมฯ นักวิเคราะห์ล่าสุด พบว่าผลกระทบจากราคานํ้ามันดิบโลกที่ลดลงกว่า 50% จากราคาสูงสุดในปีที่ผ่านมา จะกดดันผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ กลุ่มพลังงาน ซึ่งจากการสำรวจ พบว่ากำไรสุทธิจะลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เฉลี่ย 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และลดลงอีก 3.9 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ตามมาด้วยกลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเฉลี่ย 7.8 พันล้านบาทในปี 2557 และลดลงอีก 4.9 พันล้านบาทในปี 2558 ตรงกันข้าม กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลบวก จะสะท้อนผลกำไรที่ดีขึ้นในปี 2558 ได้แก่ กลุ่มค้าส่งค้าปลีก ซึ่งคาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนเฉลี่ย 904 ล้านบาท กลุ่มขนส่งจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 868 ล้านบาท และสถาบันการเงินรายย่อย 491 ล้านบาท ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานราคานํ้ามันมันดิบโลกเฉลี่ย 66.1 เหรียญฯต่อบาร์เรล ปี 2558 ลดลงจากสมมติฐานครั้งก่อนที่ 90.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล
      ภายใต้ประมาณการใหม่ กำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (EPS) ในปี 2557 ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเฉลี่ย 4.1% มาที่ 93.2 บาทต่อหุ้น และลดลงเฉลี่ย 3.8% ในปี 2558 เหลือ 107 บาทต่อหุ้น แต่คาดว่า EPS Growth ปี 2557 เฉลี่ย 2.5% และเฉลี่ย 15.0% ปี 2558 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ณ สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่เฉลี่ย 1,670 จุด ลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 1,698 จุด ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญคือ ปัจจัยภายนอก ต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐและอังกฤษ เศรษฐกิจโลกขยายตัวตํ่ากว่าที่คาด และภาคส่งออกไทยที่ยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวดังกล่าว ส่วนประเด็นบวกยังคงให้นํ้าหนักกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ กำไรของบริษัทจดทะเบียน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป
     ส่วนกลยุทธ์การลงทุน ได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 46% ของเงินลงทุนรวม จากเดิม 40% แต่ได้ปรับลดนํ้าหนักการลงทุนในตราสารหนี้ จาก 20% เหลือ 14% และปรับลดเงินสด เหลือ 11% จาก 13% ในครั้งก่อน ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ และ ทองคำยังสัดส่วนใกล้เคียงกับประมาณครั้งก่อนคือ 20.5% และ 6.5% ตามลำดับ

เงินเฟ้อชะลอตัวหนุน ธนาคารกลางโลกใช้ดอกเบี้ยต่ำต่อไป
      แนวโน้มเงินเฟ้อที่ตกต่ำทั่วโลก จากปัจจัยราคาน้ำมัน ทำให้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นบวก (ดอกเบี้ยฯ-เงินเฟ้อ) และมีช่องว่างมากพอที่ธนาคารกลางโลกจะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป สะท้อนได้จากวันที่ 14 ม.ค. ธนาคารกลางอินเดีย ได้ปรับลดดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% อยู่ที่ระดับ 7.75% (หลังจากคงที่ 8% มานาน 5 เดือน) ขณะที่เงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 5% และเช่นเดียวกับ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ที่ยังยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 7.75% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้เงินเฟ้อ เดือน ธ.ค.ยังคงเพิ่มขึ้น 8.36% สูงสุดในรอบมากกว่า 5 ปี เพราะเป็นผลกระทบจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน และประกาศขึ้นราคาน้ำมันราว 30% เมื่อเดือนก่อนหน้า (เริ่มยกเลิกอุดหนุนน้ำมันตั้งแต่ มิ.ย. 2556) ทำให้ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่คาดว่าหลังจากนี้เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะชะลอตัว
ขณะที่สหรัฐ แม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีทางเศรษฐกิจ แต่ดัชนีชี้นำตลาดแรงงานล่าสุดเริ่มมีความผันผวน โดยจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สิ้นสุดวันที 10 ม.ค. เพิ่มขึ้น 19,000 ราย มาที่ระดับ 316,000 ราย (เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. 2014) เทียบกับเฉลี่ย 4 สัปดาห์ย้อนหลัง เพิ่มขึ้น 6,750 ราย ที่ระดับ 298,000 ราย ประกอบกับกระแสข่าวที่มีโอกาสเลิกจ้างพนักงานในธุรกิจผลิตน้ำมันบางแห่ง หลังจากที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งอาจจะกดดันตลาดแรงงานในอนาคต


       และทางด้านอัตราเงินเฟ้อ ยังชะลอตัวต่อเนื่องตามการปรับลดของราคาน้ำมัน เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 1.3% (เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีเพียง 1%) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก และเช่นเดียวกับด้านผู้ผลิต พบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ธ.ค. ติดลบ 0.3%mom (จากติดลบ 0.2%mom ในเดือน พ.ย.) ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่ Fed จะยืดเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกออกไปในช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 (จากเดิมที่คาดไว้ กลางปี 2558)

ค่าเงินเอเซียแข็งค่า ขณะที่มี PER ลดลงน่าจะดึงดูดต่างชาติอีกครั้ง
     เป็นที่สังเกตว่าตลอดสัปดาห์นี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มทรงตัว หรืออ่อนค่าลง หลังจากแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค. 2557 โดยล่าสุด Dollar Index ทรงตัวอยู่ที่บริเวณ 92 จุด ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรงข้ามกับเงินยูโร ที่ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ในอัตราที่ลดลง โดย ล่าสุดอยู่ที่ 1.16 เหรียญฯต่อยูโร เป็นระดับที่ต่ำกว่าวันแรกที่ยูโรเข้ามาทำการซื้อขาย (1.2 บาท) เนื่องมาจากตลาดคาดหวังที่ว่า ECB จะมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศต่างๆ


      ตรงข้ามกับค่าเงินในภูมิภาคเอเซียมีแนวโน้มที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงกว่า 50% จึงได้รับผลบวกเต็มที่ เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเป็นผู้นำเข้านำมันสุทธิในสัดส่วนที่สูง จะช่วยลด ขาดดุลการค้า และทำให้เงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มลดลง และน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต (การบริโภคของภาคครัวเรือนมีสัดส่วนราว 50-60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)) จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มแข็งค่าในขึ้นตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจาก รูปีอินเดีย แข็งค่า 2.4% รูเปียห์อินโดนีเซีย แข็งค่า 1.3% เปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่า 1% ริงกิตมาเลเซีย แข็งค่า 0.4% หยวนจีน แข็งค่า 0.4% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในเอเซียก็ได้อานิสงส์เงินแข็งค่าเช่นกัน คือ เยนญี่ปุ่น แข็งค่า 2.4% วอนเกาหลีใต้ แข็งค่า 1.9% สิงคโปร์ดอลลาร์ แข็งค่า 0.9%

      ขณะที่เงินบาทไทยนับตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าขึ้นกว่า 0.6% ประกอบกับค่า Expected P/E ในของตลาดหุ้นภูมิภาคเริ่มลดระดับลงมาอยู่มาอยู่ในจุดที่น่าสนใจเข้าลงทุนอีกครั้ง คือบริเวณ 14-15.5 เท่า (อินโดนีเซีย 14.9 เท่า มาเลเซีย 15.4 เท่า จีน 12.7 เท่า ไทย 14.7 เท่า ยกเว้น อินเดีย 17.7 เท่า และ ฟิลิปปินส์ 18.6 เท่า) จึงน่าจะเป็นปัจจัยบวกให้กระแสเงินทุน ไหลกลับมาในภูมิภาคอีกครั้ง

ปัจจัยเรื่องค่าเงินกดดันต่างชาติเทขาย
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 และเพิ่มขึ้น 64% จากวันก่อนหน้า อยู่ที่ 434 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการขายสุทธิในทุกประเทศ สูงสุดนำโดยเกาหลีใต้ และขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 185 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวัน ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลง 47% เหลือราว 103 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับไทยที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 96 ล้านเหรียญฯ (3.2 พันล้านบาท, วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 37 ล้านบาท) และสุดท้ายคือ อินโดนีเซีย ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้าราว 49 ล้านเหรียญฯ ส่วนตลาดในฟิลิปปินส์ปิดทำการ
     ทั้งนี้ แรงขายที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก และ ค่าเงินโลกที่ยังมีความผันผวน หลังจากที่ธนาคารกลางสวิสประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินสวิสฟรังก์กับสกุลเงินยูโร เช่นเดียวกับในตลาดตราสารหนี้ของไทย ที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิถึง 3.6 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเบาบางติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า)

ยังเน้นหุ้นที่ต้นทุนลดจากน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ
      แหล่งจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐยังคงเสนอข่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอให้ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หารือประเด็นการเก็บค่าเช่าพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือ ผู้เช่าพื้นที่ร้านอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งเชื่อว่าจะกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนไม่มาก (การปรับลดค่าเช่าไม่น่าจะสามารถทำได้ทันที เนื่องจากปกติมีสัญญาเช่ากับผู้เช่าระยะสั้นประมาณ 3 ปี แต่มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยเหลือในการลดค่าส่วนแบ่งรายได้ที่เรียกเก็บจากร้านค้า (Revenue Sharing) เช่นกรณี CPN ปกติจะเรียกเก็บประมาณ 10-30% ของยอดขาย ขณะที่รายได้จากศูนย์อาหารคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของรายได้ทั้งหมด) ทั้งนี้หลังจากวานนี้ได้ขอให้ผู้ประกอบการสินค้าให้ปรับราคาสินค้าลงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% ในหลายรายการ มีผลวันที่ 16 ม.ค. นี้ ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น วัสดุก่อสร้าง (กระเบื้องมุงหลังคา เหล็ก ปูนซีเมนต์) และปิโตรเคมี อาทิ เม็ดพลาสติก โดยภาพรวมต้นทุนต่าง ๆ ที่ลดลงน่าจะถือว่าเป็น sentiment เชิงบวกต่อบริษัทจดทะเบียนหลายกลุ่ม ดังที่ได้นำเสนอไปเมื่อวานนี้ แต่วันนี้ขอสรุปอีกครั้งคือ


       กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เพราะต้นทุนวัสดุก่อสร้างคิดเป็นกว่า 40% ของต้นทุนทั้งหมด (ขณะที่ต้นทุนน้ำมัน 5% ของต้นทุนทั้งหมด ) โดยเฉพาะผู้รับเหมาที่เน้นรับงานจากภาคเอกชน (SEAFCO, PYLON, SYNTEC) จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนงานก่อสร้างที่ลดลงอย่างเต็มที่มากกว่าผู้รับเหมาที่รับงานจากภาครัฐ (UNIQ) เป็นหลัก (เพราะภาครัฐกำหนดค่า K เป็นดัชนีสะท้อนต้นทุนการก่อสร้าง ระหว่างวันเซ็นสัญญา กับ วันส่งมอบงาน หากค่า K ต่ำกว่าวันเซ็นสัญญาณเกินกว่า 4% ผู้รับเหมาต้องจ่ายเงินคืนภาครัฐส่วนเท่ากับส่วนเกินจาก 4%) โดยฝ่ายวิจัยชื่นชอบหุ้น SYNTEC (FV@B 3.37) เนื่องจากยังมี upside ราว 14%
ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย เพราะต้นทุนค่าก่อสร้างประกอบด้วยวัสดุก่อสร้าง (เหล็ก, ปูน) และ ต้นทุนค่าพลังงาน (ยังได้ประโยชน์จากต้นทุนน้ำมัน และค่าไฟฟ้าที่ลดลง) โดยคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ พัฒนาบ้านขายในแนวราบ (บ้านเดี่ยว–ทาวเฮ้าส์) มากกว่าผู้พัฒนาคอนโดมิเนียม เพราะผู้ประกอบการในแนวราบ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงการจะเป็นผู้จัดซื้อวัสดุก่อสร้างเอง และ การพัฒนาใช้เวลาสั้น สามารถปรับต้นทุนได้เร็ว ขณะที่คาดว่าการปรับขึ้นราคาขายอาจจะทำได้น้อย ยกเว้นการปรับราคาขายตามต้นทุนที่ดินที่เพิ่มขึ้น 3-5% โดยภาพรวมคาดว่าผู้ประกอบการยังรักษา Gross Margin ที่ระดับ 34-36% เป็นไปได้ตราบที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ระดับต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้ผลกำไรของกลุ่มปี 2558 ดีกว่าประมาณการเล็กน้อยราว 1% โดยยังชื่นชอบหุ้น SPALI (FV@B 31.96) และ PS (FV@B 40.52) และ ปรับเพิ่ม LH (FV@B 10.09) เป็นซื้อ เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับลดลงจนมี upside สูง
กลุ่มค้าปลีก-ส่ง ได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ลดลง และยังได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าภายในห้างที่ลดลงตาม FT (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2558 ปรับลดลงมาราว 0.10 บาท/หน่วย) และคาดว่ายังมีโอกาสลดลง ในเบื้องต้นพบว่าสัดส่วนของต้นทุนโลจิสติกส์และค่าไฟฟ้าของกลุ่มฯ ซึ่งคาดว่าจะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มจะเพิ่มขึ้นจากประมาณการปัจจุบันราว 2-3% ของกำไร โดยชื่นชอบ ROBINS (FV@B 64) เนื่องจากมี upside สูงสุด 36% มีค่า PER ต่ำสุดในกลุ่ม และ EPS Growth อยู่ที่ 17%

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!