WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
        ดัชนีฟื้นตัวจนทำสถิติใหม่จนมีค่า Expected P/E 15 เท่า ระวังการขายทำกำไรระยะสั้นในหุ้นที่ outperform ตลาด โดยยังแนะหุ้น Laggard โดยเลือก SEAFCO([email protected]) เป็น Top pick และยังชื่นชอบ SCC(FV@B520) และ BTS(FV@B 11.2)

เงินเฟ้อสูงขึ้น กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยนโยบายต่อไป
        วานนี้กระทรวงพาณิชย์รายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน พ.ค.57 อยู่ที่ 2.62%yoy และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามการสูงขึ้นของราคาวัตุดิบในการประกอบอาหาร ราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้า และเฉลี่ย 5 เดือนที่ผ่านมา CPI ปรับเพิ่มขึ้น 2.21%yoy โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าในงวด 2Q57 CPI จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5% ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ CPI จะอยู่ที่ 2.25%yoy (ตามการปรับเพิ่มของราคาสินค้าเกษตร และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า) และช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.4-2.6%yoy ทำให้ตลอดทั้งปี CPI จะอยู่ในระดับ 2.6% ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่กระทรวงฯ กำหนด 2-2.8%yoy
        อย่างไรก็ตามการแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศยังไม่สะท้อนความเป็นจริงเนื่องจากยังมีการตรึงราคาเชื้อเพลิงบางประเภท ซึ่งได้มีการกล่าวถึงในย่อหน้าถัดไป ดังนั้น จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมคือ 2% ในการประชุมวันที่ 18 มิ.ย. นี้ และน่าจะทรงตัวระดับนี้ไปอีกระยะสั้น ก่อนจะเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในปลายปี 2557 หรือต้นปี 2558

 

ตลาดหุ้นได้อานิสงส์ จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนความเชื่อมั่นระยะสั้น
        แม้ยังไม่เห็นรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการยึดอำนาจ แต่จากการเปิดเผยแนวทางการบริหารเศรษฐกิจ ของ คสช. ส่วนใหญ่ยังคงยึดตามแผนงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และยังเป็นแนวประชานิยม โดยเฉพาะในด้านพลังงาน คือ
  คงอัตราภาษี VAT ที่ 7% ต่อเนื่องไปอีก 1 ปี (หลังจากที่ปรับลดจาก 10% เหลือ 7% ในปี 2542 เพื่อหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง) ซึ่งน่าจะช่วยลดความกังวลต่อสินค้าราคาแพงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ แต่อย่างไรก็ตาม VAT ถือเป็นภาษีจ่ายที่มีความเป็นธรรมต่อสังคม เนื่องจากเป็นภาษีบริโภคที่ผู้บริโภคจ่ายตามการใช้จ่ายจริง และแต่ละปีกรมสรรพากร สามารถเก็บภาษี VAT ได้มากถึง 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของรายได้จากภาษีรวม
   เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวม 8.39 แสนล้านบาท (คิดเป็น 41.95% ของโครงการ 2 ล้านล้านบาท) แบ่งเป็น 1) ลงทุนรถไฟรางคู่ 11 เส้นทาง มูลค่ารวม 3.69 แสนล้านบาท และ 2) รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล 7 เส้นทางมูลค่ารวม 4.7 แสนล้านบาท ในเบื้องต้นจะเดินหน้าก่อสร้างรถไฟรางคู่ก่อน 5 เส้นทาง มูลค่ารวม 1.18 แสนล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าที่น่าจะเปิดประมูลในปีนี้คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) มูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินทุนผ่านการกู้ยืมภายใต้ พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ ซึ่งกำหนดไม่เกิน 20% ของงบประมาณประจำปี (งบรายจ่ายประจำปี มีสัดส่วนสูงกว่า 80% ของงบรายจ่ายประจำปี) คาดจะมีการกู้ยืมในปี 2558 เป็นต้นไป
ยกเว้น ให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนไว้ที่ 22.63 บาท/กก. อย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่ให้ทยอยปรับขึ้นทุกเดือนๆ ละ 0.5 บาท/กก. (ขึ้นมาทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2556 รัฐบาลที่ผ่านมา) โดยมีเป้าหมายให้เท่ากับราคา ตลาดโลก (ปัจจุบันอยู่ราว 24-26 บาท/กก.) เพื่อลดภาระการสนับสนุนของรัฐในส่วนของก๊าซ LPG ที่ปัจจุบัน มีการนำเข้าก๊าซ เพียง 20% ของการใช้ทั้งหมด ส่วนอีก 80% ของปริมาณการใช้ เป็นการซื้อจากแหล่งผลิตในประเทศ คือ จากโรงแยกแก๊สของ PTT สัดส่วน 60% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ในประเทศ) และ โรงกลั่น (สัดส่วน 20% ของปริมาณก๊าซ ที่ใช้ในประเทศ) ซึ่งภาครัฐได้กำหนดราคาขายที่หน้าโรงงาน (ก่อนภาษี) จากโรงแยกแก๊ส และโรงกลั่น ไว้ที่ 10.8 บาท/ก.ก. และ 18 บาท / กก. ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลกราว 56.8% และ 28% ตามลำดับ และแม้นโยบายรัฐชุดที่ผ่านมาต้องการให้ลอยตัวราคาก๊าซตามราคาตลาดโลก แต่เป็นการลอยตัวเฉพาะส่วนที่นำเข้า 20% เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 80% ยังคงกำหนดราคารับซื้อที่ต่ำต่อไป เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค นั่นสะท้อนให้เห็นว่านโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานราคาต่ำยังมีอยู่ต่อไป
เดินหน้าจ่ายเงินแก่ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่ประสบปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และตามด้วยโครงการประกันภัยข้าวนาฤดูกาลผลิตใหม่ 2557 โดยจะเตรียมวงเงินค่าเบี้ยประกัน และความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
  เพิ่มมาตรการดูแลผู้ประกอบการเป็นการเร่งด่วน โดยการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SME, OTOP และรายย่อย เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หลัง ธ.พ. ชะลอการปล่อยกู้ และยังมีมาตรการปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติดี รายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คงที่ 4.125% นาน 1-3 ปี ซึ่งจะกระตุ้นสินเชื่อ SME และรายย่อยอีกครั้ง น่าจะส่งผลดีต่อกลุ่ม ธนาคาร

กระแสเก็งกำไรในกลุ่มรับเหมา/นิคมอุตสาหกรรม/ธ.พ. ยังมีต่อ
         โดยสรุปมาตรการรัฐ ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อตลาดในระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นภาคก่อสร้าง และกลุ่ม ธ.พ ช่วยsentiment เชิงบวกจากจ่ายเงินให้ขาวนา) รายละเอียดดังที่นำเสนอใน market talk วัน 28-29 พ.ค. ที่ผ่านมา และล่าสุด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะหนุน สินเชื่อ 2H57 และทำให้ประมาณการกำไรในปี 2557 เป็นไปตามเป้าหมาย ระยะสั้นยังคงเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อไว้ที่ 6.26% yoy และ 7.45% yoy เช่นเดียวกับแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิปี 2557-58 ที่ประเมินไว้ภายใต้สมมติฐานที่ระมัดระวังมากคือเพียง 2.4% yoy และ 8.9% yoy แต่พัฒนาเชิงบวกดังกล่าวจึงเพิ่มน้ำหนักขึ้นเท่ากับตลาด จากเดิมที่ให้น้อยกว่าตลาด โดยเน้นหุ้น ธ.พ.เล็ก ได้แก่ TISCO ส่วนหุ้นใหญ่ยังเลือก BBL และเลือกเป็น Top picks (ติดตาม Equity Talk วานนี้)
        และเช่นเดียวกับกลุ่มก่อสร้าง และพัฒนาที่ดิน แม้คาดว่าจะเริ่มเห็นการประมูลโครงการใหม่ๆ ได้อย่างเร็วในช่วงปลายปี 2557 เนื่องจากก่อนหน้านี้ โครงการลงทุนไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล และรถไฟรางคู่ ได้ถูกรวมอยู่ในโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากจะกลับมาดำเนินโครงการใหม่ต้องกลับไปทำภายใต้กฎหมายงบประมาณ โดยจะต้องบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ซึ่งเริ่มต้นใช้ 1 ต.ค.2557 เป็นต้นไป อีกทั้งยังอาจต้องรอการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลใหม่ที่น่าจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการที่งบประมาณปี 2558 มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากระแสการเก็งกำไรในหุ้นรับเหมาก่อสร้างยังจะมีต่อไป โดยปัจจุบันพบว่าราคาหุ้นหลายบริษัทได้ปรับขึ้นมาอยู่เหนือ Fair Value ของฝ่ายวิจัยแล้ว แต่ยังคงหาตัวเลือกลงทุนที่น่าสนใจได้ ซึ่งโดดเด่นที่สุดในช่วงเวลานี้ได้แก่ SEAFCO (FV@B 6.03) มี Upside 21.57%, STPI (FV@B 28.46) มี Upside 27.05% และ SYNTEC (FV@B 1.93) มี Upside 12.21%
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ การแต่งตั้งบอร์ด บีโอไอ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ คสช. จะมีการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาทำงานภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้เพื่อให้การอนุมัติโครงการที่ของรับการส่งเสริมการลงทุนที่มียอดสะสมสูงถึง 7 แสนล้านบาท สามารถที่จะเดินหน้าได้ กระแสดังกล่าว น่าจะเป็นผลบวกต่อการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แต่เนื่องจาก ปัจจุบันราคาหุ้นส่วนใหญ่ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ Fair Value แล้ว การเข้าไปเก็งกำไรควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยตัวเลือกที่ปลอดภัยสุด น่าจะเป็น ROJNA ซึ่งค่อนข้าง Laggard เมื่อเทียบกับหุ้นอื่นๆ รองลงมาได้แก่ HEMRAJ

ต่างชาติกลับมาซื้อไทยอีกครั้ง หลังจากเทขายหนัก 9 วันติด
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 330 ล้านเหรียญฯ ซื้อสุทธิสูงสุดคือเกาหลีใต้ ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 14 ราว 189 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นอย่างมากจากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 22 ล้านเหรียญฯ) ตามมาด้วยไทย ที่พลิกกลับมาซื้อสุทธิราว 82 ล้านเหรียญฯ (2.7 พันล้านบาท, ขายสุทธิติดต่อกัน 9 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่สลับมาซื้อสุทธิเช่นกันราว 72 ล้านเหรียญฯ กลับกันกับฟิลิปปินส์ ที่สลับมาขายสุทธิราว 13 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ขณะที่ตลาดในปิดทำการ เนื่องจากเป็นเทศกาลแข่งเรือมังกร (Dragon Boat Festival, & 40857;& 33311;& 36187;)
       ทั้งนี้แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อสุทธิในหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากที่เทขายอย่างหนักถึง 9 วันติดต่อกัน รวมกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณายอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ปี 2552 จะพบว่า มียอดซื้อสุทธิเหลืออยู่อีกราว 4.4 หมื่นล้านบาทที่มูลค่าตลาด ทำให้อาจจะมีแรงขายออกมาเพิ่มเติมเพื่อกดดันดัชนีได้

ตลาดหุ้นฟื้นตัวเร็วกว่าคาด และมี Expected P/E 14.7 เท่า

       หากย้อนกลับไปเมื่อการรัฐประหารช่วงค่ำวันที่ 19 ก.ย. 2549 นั้น มีกระแสข่าวลือมาตั้งแต่ช่วงเช้าและตลอดทั้งวัน กดดัน SET index ในวันนั้นลดลงเล็กน้อยจาก 705.89 จุด ไปอยู่ที่ 702.56 จุด หรือ -0.47% ก่อนที่จะลดลงในอีก 2 วันถัดมาที่ 1.42% และ 1.56% ตามลำดับ แต่หลังจากนั้นดัชนีค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยใช้เวลาราว 16 วันทำการ ก็สามารถกลับขึ้นมายืนอยู่ที่เดิม และยังสามารถปรับขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดได้ที่บริเวณ 747 จุด ได้ถึง 2 ครั้ง ในวันที่ 10 พ.ย. และ 7 ธ.ค. 2549 ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงรุนแรงช่วง 19 ธ.ค. 2549 จากการประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น (capital control) แต่ท้ายที่สุดมาตรการดังกล่าวก็เป็นอันยกเลิก เพราะถูกต่อต้านจากนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการยึดอำนาจครั้งนี้ คือเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 แม้ดัชนีจะลดลงไปมากกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยดัชนีลดลงจาก 1,405.21 จุด ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,377 จุด หรือ -2% แต่กลับใช้เวลาน้อยกว่าในการฟื้นตัวเพียงแค่ 5 วันทำการเท่านั้น ก็สามารถกลับมาทะลุจุดสูงสุดของปีนี้เมื่อ 6 พ.ค. 2557 ที่ 1,423.7 จุด


        แต่ความแตกต่างของการยึดอำนาจทั้ง 2 ครั้งอยู่ที่ สถานะการซื้อขายของแต่ละกลุ่มนักลงทุน กล่าวคือ ในครั้งนี้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นมาโดยตลอดติดต่อกัน 9 วันทำการ จนทำให้ปีนี้มียอดขายสุทธิเป็นปีที่ 2 ซึ่งมียอดขายสุทธิรวมกันใกล้ 3 แสนล้านบาทแล้ว ขณะที่มีนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นที่ 2 ตรงข้ามกับการยึดฯ ปี 2549 นักลงทุนต่างชาติอาจจะมีการขายสุทธิในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แต่หลังจากนั้นก็กลับเข้ามาซื้อใหม่ จนเกิดปัญหา capital control ทำให้ต่างชาติขายสุทธิรอบใหม่
ที่สำคัญในรอบนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ขยับขึ้นไปที่ระดับ Expected P/E 14.7 เท่า ซึ่งแตกต่างจากปี 2549 ตลาดมี P/E ณ สิ้นปี 11.2 เท่า ทำให้ความเสี่ยงต่อการปรับฐานเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงเน้นเลือกหุ้น Laggards เช่นเดิม

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!