- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 07 January 2015 15:42
- Hits: 1998
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดิบยังอ่อนตัว เอื้อต่อธุรกิจขนส่ง วันนี้เลือก RCL([email protected]) เป็น Top pick และยังชื่นชอบหุ้นปันผล & PER ต่ำ เช่น STPI(FV@B 30.30) และ AIT(FV@B53)
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยุโรปยังบ่งชี้ภาวะชะลอตัว
ดัชนีชี้นำยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวล่าช้า นำโดย สหรัฐ ยอดคำสั่งซื้อใหม่ เดือน พ.ย. หดตัว 0.7%mom (ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4) เช่นเดียวกับ ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค.อยู่ที่ระดับ 53.3 (ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน) เนื่องจากธุรกิจใหม่และการจ้างงานปรับตัวลดลง ซึ่งสะท้อนการชะลอตัวของภาคการผลิต และการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม
เช่นเดียวกับ การฟื้นตัวล่าช้าในยุโรป กล่าวคือ ดัชนี PMI โดยรวมของยุโรป เดือน ธ.ค อยู่ที่ระดับ 51.4 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.1 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง (ดัชนี PMI การผลิต อยู่ที่ระดับ 50.6 กระเตื้องจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ระดับ 50.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน และ ดัชนี PMI บริการ อยู่ที่ระดับ 51.6 กระเตื้องจากระดับ 51.1 ในเดือนก่อนหน้า) หากพิจารณารายประเทศ ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. พบว่า ฝรั่งเศส ปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 50.6 ซึ่งสูงสุดในรอบ 9 เดือน เยอรมัน อยู่ที่ระดับ 52.1 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า ตรงข้ามกับ อิตาลี ลดลงที่ระดับ 49.4 ซึ่งอยู่ในภาวะหดตัว ทำให้ภาพรวมมีแนวโน้มทำให้ GDP Growth งวด 4Q57 ชะลอตัวลง หรือต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 0.6% เพื่อให้ทั้งปีขยายตัวได้ 0.8% ตามที่ IMF คาด (เฉลี่ย 9M57 ขยายตัว 0.9%) ซึ่งหากออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจยุโรป ฟื้นตัวได้ล่าช้าลงไปอีก และอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดประมาณการ GDP Growth ในปี 2558 จากเดิมที่ IMF คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นถึง 1.3%
ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยชี้นำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังจากที่ได้เริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 โดยการปรับลดดอกเบี้ยฯ เหลือ 0.05% และการอัดฉีดเงินผ่านโครงการ TLTROs ผ่านไป 2 รอบ ซึ่งมีเม็ดเงินออกมาเพียงครึ่งหนึ่งของที่คาดไว้ ล่าสุดอยู่ในช่วงเข้าซื้อ ABS จากโปรตุเกส และกรีซ และ Covered Bonds จาก อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร ให้ตกต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง โดยเช้านี้อยู่ที่ระดับ 1.1869 เหรียญฯต่อยูโร แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินที่ตกต่ำดังกล่าวนับว่า อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะ ซึ่งทำจุดต่ำสุดไว้ที่ 1.1875 เหรียญฯต่อยูโร เมื่อกลางปี 2553 ซึ่งน่าจะสะท้อนภาวะเลวร้ายในยุโรป ไประดับหนึ่ง เพราะหากเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งยุโรปยังคงเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการฟื้นตัวล่าช้า อันเป็นผลเนื่องมาจากวิกฤติหนี้สาธารณะในปี 2551-2552 ซึ่งในช่วงดังกล่าว GDP Growth เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือหดตัว (0.4% ในปี 2551 vs -4.5% ในปี 2552) แต่ในปี 2558 นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก รวมถึง IMF ต่างได้ประเมิน GDP Growth ของยุโรป จะขยายตัวเพิ่มจากปี 2557 แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ตลาดยังปรับฐาน แต่คาดหุ้นขนส่งยังโดดเด่น
คาดว่า ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงปรับฐาน ซึ่งนอกจากปัจจัยภายนอกอันเกิดจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกตลอดระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา และสะท้อนได้จากตลาดหุ้นยุโรปปรับฐานอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ตลาดหุ้น เยอรมัน ลดลง 5.6% นับจากกลางปี 2557ตามมาด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน และ อิตาลีลดลง 9%, 7.3%, 11% และ 17.1% ตามลำดับ) ยกเว้นตลาดหุ้นสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก (ดาวโจนส์ 1.78% และ S&P 0.86%) จากปัจจัยหนุนทางการด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนเป็นบวก (9.4%) (เพราะใช้มาตรการการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมตั้งแต่ต้นปี คือ การผ่านร่างงบประมาณพิเศษกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเงินกว่า 3 ล้านล้านเยน และการเลื่อนเวลาการปรับขึ้นภาษีขาย จาก 8% เป็น 10% ออกไปเป็นกลางปี 2559 รวมทั้งการปรับลดภาษีนิติบุคคลในปีงบประมาณ 2558 ลง 2.5% จาก 35%)
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่อง LTF ที่เข้าเกณฑ์ที่จะขายคืนได้โดยยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ณ ต้นปี 2558 อยู่ที่ระดับประมาณ 1.41 แสนล้านบาท ซึ่งข้อมูลเชิงสถิติในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการขายคืนเฉลี่ยประมาณ 33% ในงวดไตรมาสที่ 1 ของปี โดยการขายคืนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือน มกราคม ซึ่งหากมีการขายตามสัดส่วนดังกล่าวจะมียอดการขายคืนที่ 4.6 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่า นักลงทุนสถาบันจะต้องมีการขายสุทธิออกมาสู่ตลาดในจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะของพอร์ตการลงทุนว่าได้เตรียมเงินสดรองรับการขายคืนหน่วยมากน้อยเพียงใด และแนวทางในการบริหารพอร์ตการลงทุน
และราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำต่อเนื่องเกินกว่า 55% นับตั้งแต่กลางปี 2557 ทำระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี ยังเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้น (PTT, PTTEP) ผู้ประกอบการโรงกลั่น (TOP, BCP, PTTGC) นำไปสู่การปรับแผนการลงทุน โดยล่าสุด PTTEP เตรียมทบทวนแผนการลงทุนโครงการใหม่ 5 แห่ง โดยราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้โอกาสพัฒนาแหล่งใหม่ๆ อาจจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการเตรียมรับมือดังกล่าวให้เข้ากับสถานการณ์น่าจะส่งผลกระทบน้อยลง แต่อาจเป็น sentiment เชิงลบในช่วงสั้น
กลยุทธ์การลงทุน ยังคงแนะนำให้ลงทุนใน 3 แนวทางหลัก คือ
กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงคือ กลุ่มขนส่ง ได้แก่ ผู้ประกอบการเดินเรือคอนเทนเนอร์ เลือก RCL ([email protected]) เป็น Top Pick
หุ้น PER ต่ำ และเงินปันผลสูง SPALI(FV@B 31.96) PER 8.7 เท่า, Div. Yield 4.8%, AIT(FV@B 53) PER 11 เท่า, Div. Yield 4.7%
หุ้นจ่ายเงินปันผลสูง โดยหุ้นที่จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง จะให้ผลตอบแทนการลงทุนในช่วง 4–5 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับที่สูงกว่าหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 1 ครั้งต่อปี นำโดย STPI(FV@B 30.30) เนื่องจากจ่ายปันผล คิดเป็น div yield สูงถึง 4% รวมทั้งยังมีองค์ประกอบด้าน valuation ที่ดี กล่าวคือ มี PER ต่ำเพียง 11 เท่า มี growth ปี 2558 สูงถึง 23% และยังมี upside สูงถึง 62% นอกจากนี้ หุ้นที่จ่ายปันผลมากกว่าปีละ 1 ครั้ง แต่ให้ผลตอบแทนสูง ก็ยังมีความน่าสนใจ ได้แก่ INTUCH (div yield 5.9% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) AIT (div yield 4.7% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) PTTGC (div yield 4.9% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง) BECL (div yield 4.5% จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง)
20 ปืที่ผ่านมาต่างชาติ ซื้อสุทธิเดือน ม.ค. 11 ปี และขายสุทธิ 9 ปี ทิศทางไม่ชัดเจน
วานนี้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นในภูมิภาคอย่างหนักถึง 1,074 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2, วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 101 ล้านเหรียญฯ) โดยเป็นการขายสุทธิในทุกประเทศ สูงสุดคือไต้หวันที่ขายสุทธิออกมาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 567 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 4 เท่าตัว) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ สลับมาขายสุทธิราว 326 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ส่วนไทย ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 120 ล้านเหรียญฯ (4.0 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ขณะที่อินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 35 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว) สุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายสุทธิเช่นกัน ราว 25 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อใน 4 วันทำการหลังสุด)
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดับยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาในทุกประเทศ รวมถึงไทย ที่นักลงทุนต่างชาติเทขายออกมาถึง 4 พันล้านบาท แต่กลับซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ถึง 6.2 พันล้านบาท เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และเชื่อว่าราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องจะยังกดดันตลาดหุ้น รวมถึงกระแสเงินทุนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 20 ปี โดยมีจุดสนใจอยู่ที่ พฤติกรรมของนักลงทุนต่างชาติช่วงเดือน มกราคม พบว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิ 11 ปี และขายสุทธิ 9 ปี ซึ่งสรุปได้ว่า ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติไม่มีความชัดเจน แต่จากการประเมินสถานการณ์แวดล้อมในปัจจุบัน เชื่อว่าจะยังไม่เห็นเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ กลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย ในช่วงเร็วๆ นี้
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล