- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 06 January 2015 15:50
- Hits: 1669
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวยังกดดันดัชนี ตามการอ่อนตัวของหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงาน แต่น่าจะเป็นโอกาสสะสมหุ้นปันผล & PER ต่ำ เลือก STPI(FV@B 30.30) และ AIT(FV@B53) เป็น Top picks เช่นเดิม
เงินเฟ้อต่ำกว่าคาด หนุนดอกเบี้ยต่ำตลอดปี 2558
วานนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 0.60 % นับว่าต่ำสุดในรอบ 62 เดือน และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.26% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาอาหารสด ที่ลดลงตามอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยรวมทำให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2557 อยู่ที่ 1.89% (ต่ำกว่าประมาณการของ ASP ที่คาดไว้ 2.4%) จึงคาดว่าในปี 2558 เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มชะลอตัว และน่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 2% ตาม ASP คาด ตราบที่ราคาน้ำมันดิบโลกเคลื่อนไหวในช่วง 50-60 เหรียญฯ/บาร์เรล เนื่องจากไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิน้ำมันดิบราว 4.5% ของมูลค่านำเข้ารวมต่อปี หรือคิดเป็น 2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในประเทศ (GDP) ทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงอย่างน้อยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะยังคงยืนดอกเบี้ยฯ ระดับต่ำ 2% ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนข้างหน้า หรือตลอดทั้งปี 2558 (จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558) และน่าจะสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล้วนเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิน้ำมันดิบ (อินเดีย นำเข้าน้ำมันคิดเป็น 30% ของยอดนำเข้ารวม และ 7% ต่อ GDP, เกาหลีใต้ 20% และ 7.5%, ญี่ปุ่น 17% และ 2.7%, จีน 14% และ 2.1%, สิงคโปร์ 11.6% และ 11.9%, ฟิลิปปินส์ 9.3% และ 2.5%, อินโดนีเซีย 5.5% และ 2.8% และสุดท้าย มาเลเซีย 4.4% และ 2.6% ตามลำดับ) น่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง จึงคาดว่าธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้น่าจะยังยืนดอกเบี้ยที่ระดับเดิมต่อไปเช่นกัน โดยเฉพาะ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แม้เพิ่งปรับเพิ่มดอกเบี้ยฯ ในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหาแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ (มาเลเซียปรับขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. 2557 และอินโดนีเซีย ปรับเพิ่มเมื่อเดือน พ.ย. 2557) หลังจากรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันในปีที่ผ่านมา แต่มีความเป็นไปได้ที่หลังจากนี้ อาจจะยังตรึงดอกเบี้ยที่ระดับเดิมไปอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเดียวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนแรกของปีนี้
ราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติซับไพร์ม
ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงตกต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยลดลง 52.4% จากระดับสูงสุด 110 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2557 มาที่ 52.35 บาร์เรล นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือใกล้เคียงกับช่วง พ.ค. 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม ในสหรัฐ และหนี้สาธารณะในยุโรป (ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างรวดเร็วจาก 137.14 เหรียญฯต่อบาร์เรลในปี ก.ค. 2551 เหลือ 32.83 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลในเดือน ธ.ค. 2551 และได้ทรงตัวในระดับต่ำดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นราคาน้ำมันดิบได้ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเกิน 100 เหรียญฯ ในช่วงเวลา 1 ปี กับ 6 เดือน) กดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวนับจากปี 2551 เป็นต้นมา โดยเฉพาะทางฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า GDP Growth ติดลบ 3.4% ในปี 2552 (หลักๆ มาจาก สหรัฐ -2.8% ยุโรป -4.5% และ ญี่ปุ่น-5.5%) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ ถือว่ามีความแตกต่างจากเหตุการณ์ในอดีต เพราะมิใช่เพียงเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้า กดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก (สหรัฐ และ ยุโรป) ชะลอตัว เท่านั้น แต่เป็นผลจากที่สหรัฐลดการนำเข้าน้ำมันดิบ หลังจากที่สามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นดินดาน (shale oil, shale gas) ได้เพิ่มขึ้นนับจากปี 2550 เป็นต้นมา จนปัจจุบันสามารถผลิตได้วันละ 3 ล้านบาร์เรล ทำให้ปริมาณนำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่เคยนำเข้าสูงสุดราว 13.9 ล้านบาท ในปี 2548 ลดลงเหลือ 8.8 ล้านบาร์เรลในปี 2556 และ คาดว่าจะลดเหลือ 7.35 ล้านบาร์เรลในปี 2557 หรือลดลงกว่า 47% ในช่วง 10 ปี ขณะที่ผู้ผลิต และส่งออก น้ำมันในกลุ่ม OPEC ยังคงระดับการผลิตไว้ที่เดิม เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ราคาน้ำมันดิบลดลงรุนแรงในขณะนี้
แต่อย่างไรก็ตามระดับราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในปัจจุบันถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก และถืออยู่ในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC (สหรัฐ และ รัสเซีย) ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ราว 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่ากลุ่ม OPEC ที่มีต้นทุนเฉลี่ยราว 40-50 เหรียญฯ จึงคาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ต่ำน่าจะอยู่ต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 หรือครึ่งหลังของปี หากเศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ฟื้นตัว ปัจจัยนี้จึงส่งผลเสียต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเช่น OPEC และรัสเซีย แต่กลับดีต่อประเทศผู้นำเข้าอย่างประเทศในแถบเอเซีย
ราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวมีทั้งผู้เสีย-ได้ประโยชน์
ขณะที่ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2558 ที่ 75 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล โดยประเมินราคาเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ราว 65 เหรียญฯ และน่าจะฟื้นตัวได้ที่ระดับ 85 เหรียญฯ ในงวด 2H58 แต่สถานการณ์ปัจจุบันดูจะเลวร้ายกว่าที่คาด และน่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้น โดยเฉพาะ PTT และ PTTEP ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยโดยทำ Sensitivity Analysis ณ ระดับราคาน้ำมันต่างๆ ของปี 2558 โดยทุกๆ 5 เหรียญฯของราคาน้ำมันที่ลดลง จะกระทบต่อ Fair Value ของ PTT ราว 8 บาท และ PTTEP ราว 10 บาท ในการประเมินเบื้องต้น หากราคาน้ำมันโลกอยู่ที่ 60 - 80 เหรียญฯ (เฉลี่ย 70 เหรียญฯ) Fair Value ของ PTT จะอยู่ที่ราว 367 บาท, PTTEP อยู่ที่ 130 บาท แต่หากราคาน้ำมันโลกลงไปที่ 55-75 เหรียญฯ (เฉลี่ย 65 เหรียญฯ) Fair Value ของ PTT จะอยู่ที่ราว 359 บาท, PTTEP อยู่ที่ราว 120 บาท และในกรณีเลวร้ายหากราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2558 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ช่วง 50-70 เหรียญฯ) Fair Value ของ PTT และ PTTEP จะอยู่ที่ราว 359 บาทต่อหุ้น และ 110 บาทต่อหุ้น ซึ่งราคาหุ้นปัจจุบันลดลงค่อนข้างมากจนมี Downside ค่อนข้างจำกัดแล้ว ฝ่ายวิจัยยังแนะนำให้สะสม PTTEP เนื่องจากมี upside สูงกว่า 30% รวมทั้งมี PER ต่ำเพียง 12 เท่า และคาดหวังเงินปันผลได้ถึงกว่า 4% ส่วน PTT ยังมีปัจจัยบวกอื่นหนุนซึ่งยังไม่รวมไว้ในประมาณการจากการปรับขึ้นราคาขาย NGV และ LPG หน้าโรงแยกก๊าซฯ รวมถึงแนวโน้มการบันทึกกำไรจากการขายหุ้น BCP และการนำบริษัทลูก SPRC และ GPSC เข้าจดทะเบียนใน SET จึงแนะนำสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว
ตรงกันข้ามราคาน้ำมันลดลง ยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตหลัก คือ กลุ่มขนส่งทางอากาศ และ ขนทางทางเรือ โดยในส่วนของกลุ่มขนส่งทางเรือเลือก RCL (FV@B 11.80) เป็น Top Pick ส่วนกลุ่มขนส่งทางอากาศ AAV (FV@B 6) ยังได้ประโยชน์ แม้ว่าจะได้ Sentiment เชิงลบจากการตกของเครื่องบิน Air Asia Indonesia แต่เชื่อว่าเป็นเพียงปัจจัยช่วงสั้นเท่านั้น
แรงขาย LTF และแรงขายต่างชาติ กดดัน SET
วานนี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคกลับมาเปิดทำการทั้งหมดหลังจากปิดทำการเนื่องจากเทศกาลคริสมาสต์ และต่อเนื่องจนถึงวันปีใหม่ โดยนักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิเบาบางราว 101 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 6 วันก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการซื้อสลับขายรายประเทศ ประเทศที่ขายสุทธิสูงสุดคือ ไต้หวัน โดยสลับมาขายสุทธิราว 104 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 3 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไทย ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 56 ล้านเหรียญฯ (1.8 พันล้านบาท, วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 146 ล้านบาท) ขณะที่อินโดนีเซีย ขายสุทธิเบาบางเป็นวันที่ 2 ราว 12 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 3 แสนเหรียญฯ ในวันก่อนหน้า) สวนทางกับ เกาหลีใต้ที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 68 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์ สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญฯ
นอกจากนี้ยังมีแรงขายเพิ่มเติมจากสถาบันในประเทศราว 2.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ว่าน่าจะมาจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนดอายุ 5 ปีปฏิทิน และเชื่อว่าแรงขายจากนักลงทุนกลุ่มนี้จะยังกดดันดัชนีได้ต่อเนื่องในระยะสั้น
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล