WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      เหลือ 2 วันก็จะเข้าสู่วันหยุดยาวเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีแรงซื้อขาย-เบาบาง ดัชนีน่าจะแกว่งตัวบวก-ลบบริเวณ 1,500 จุด ยังแนะนำนักลงทุนถือหุ้นข้ามปี โดยเน้นหุ้นปันผลเด่น เลือก STPI (FV@B 30.30) เป็น Top Pick

Air Asia อินโด ฯ ตก เกิด sentiment เชิงลบต่อ AAV เท่านั้น
     เมื่อเช้าวานนี้ เครื่องบินแอร์บัส 320-200 เที่ยวบิน QZ8501 สายการบินอินโดนีเซีย แอร์เอเชีย บินจากเมืองสุราบายา โดยมีปลายทางที่ประเทศสิงคโปร์ เกิดอุบัติเหตุและสูญหาย น่าจะสร้าง sentiment เชิงลบต่อ AAV เท่านั้น เนื่องจากสายการบินอินโดนีเซีย แอร์เอเชีย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการถือหุ้นระหว่างกัน กล่าวคือ อินโดนีเซีย แอร์เอเชีย ถือหุ้นโดย Air Asia Berhad 49% ซึ่งบริษัทแม่ที่มาเลเซีย ให้บริการสายการบินแอร์เอเชีย “ภายใต้แบรนด์ Air Asia” (ที่เหลืออีก 51% ถือหุ้นโดยนักลงทุนท้องถิ่นในอินโดนีเซีย) ขณะที่ AAV เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ถือหุ้นใหญ่โดยผู้บริหารคนไทย 46% (ที่เหลือถือหุ้นโดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนรายย่อยของไทย) ซึ่ง AAV เป็น Holding Company ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเดียว คือ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สัดส่วนราว 55% ขณะที่ส่วนที่เหลือ 45% ถือหุ้นโดย Air Asia Berhad บริษัทแม่ที่มาเลเซีย เช่นเดียวกัน จึงใช้แบรนด์ “Air Asia” ในการทำตลาดร่วมกัน รวมถึงการจัดซื้อเครื่องบินร่วมกัน ดังนั้นบริษัทแม่คือ Air Asia Berhad เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้
ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะส่งผลกระทบทางอ้อม ในเรื่องความเชื่อมั่นของลูกค้าที่อาจจะลดลงจากกรณีนี้ ซึ่งฝ่ายวิจัยจะติดตามข้อมูลตัวเลขสถิติการบินอย่างใกล้ชิดก่อนนำเสนออีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในด้านประมาณการกำไรปี 2558 ซึ่งคาดไว้ที่ 1.4 พันล้านบาท ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ายังเป็นไปได้ เพราะได้กำหนดสมมติฐานในการคำนวณรายได้อย่างอนุรักษ์นิยม คือกำหนดให้ Load Factor (สัดส่วนผู้เดินทางต่อกำลังให้บริการ) ทั้งปี 2558 ที่ 81% (VS ปีนี้ซึ่งได้รับปัจจัยลบปัญหาการเมืองที่กำหนด 80.5%) และยังมีโอกาสได้รับผลชดเชยจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (44% ของต้นทุนบริการรวม) จากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำระดับ 55-60 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบเท่าราคาน้ำมันเครื่องบิน 80-85 เหรียญฯ ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานฝ่ายวิจัยที่ 100 เหรียญฯ (เทียบเท่าราคาน้ำมันดิบที่ 75 เหรียญฯ) สำหรับนักลงทุนระยะสั้นแนะนำให้ “เลี่ยงลงทุน” ไปก่อน และให้กลับมาหาจังหวะทยอย “ซื้อ” สะสม เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงมูลค่าพื้นฐานเดิมไว้ที่ 6.0 บาท ยังมี Upside น่าสนใจลงทุน

ญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป
     หลังจากที่นายชินโซ อาเบะ ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. และได้รับการลงมติรับรองจากรัฐสภาญี่ปุ่นให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมานั้น งานชิ้นแรกของรัฐบาลใหม่คือ การผ่านร่างงบประมาณพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่เป็นเงินกว่า 3 ล้านล้านเยน (2.9 หมืนล้านเหรียญฯ) โดยแบ่งเม็ดเงินออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) การสร้างงานเพื่อฟื้นฟูและป้องกันพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ งบประมาณราว 1.7 ล้านล้านเยน 2) ช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นและภาคครัวเรือน ผ่านการแจกคูปองสำหรับจับจ่ายซื้อสินค้าและช่วยเหลือค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อย งบประมาณ 6 แสนล้านเยน และ 3) การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีขาย (Sales Tax) เมื่อเดือน เม.ย ที่ผ่านมา (ส่งผลให้ GDP ญี่ปุ่นติดลบ ไป 2 ไตรมาสติดต่อกัน)
     แม้ว่างบประมาณพิเศษดังกล่าวจะมีปริมาณไม่มากนัก คือ คิดเป็นเพียง 4% เมื่อเทียบกับวงเงิน QE ของญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ราว 80 ล้านล้านเยน (ญี่ปุ่นปรับเม็ดเงินจาก 60-70 ล้านล้านเยน เป็น 70-80 ล้านล้านเยนต่อปี ในการประชุมเมื่อ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา) คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยหนุนเศรษฐกิจช่วงสั้นได้ เมื่อรวมกับมาตรการที่ออกมาก่อนหน้า คือ การเลื่อนเวลาการปรับขึ้นภาษีขายระยะที่ 2 (จาก 8% เป็น 10%) ออกไปอีก 18 เดือน ราวกลางปี 2559 และการปรับลดภาษีนิติบุคคลในปีงบประมาณ 2558 ลง 2.5% (จาก 35% ในปัจจุบัน) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแผนกระตุ้นนี้จะช่วยหนุน GDP ได้ราว 0.7% โดยภาพรวมน่าจะส่ง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นเอเซีย

ต่างชาติซื้อขายเบาบางใกล้ปีใหม่
      ศุกร์ที่ผ่านมาตลาดยังคงเงียบเหงาเนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงเทศกาลหยุดยาว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 148 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว) สูงสุดคือไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ราว 84 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าหน้า 92%) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ที่กลับมาเปิดทำการอีกครั้งและซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้าราว 65 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับไทย ที่สลับมาขายสุทธิราว 2 ล้านเหรียญฯ (51 ล้านบาท, หลังจากซื้อสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) ส่วนตลาดใน ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ยังคงปิดทำการ
     ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดหุ้นไทยการซื้อขายค่อนข้างเงียบเหงาตามภูมิภาค นักลงทุนแต่ละกลุ่มสลับซื้อขายสุทธิเพียงเบาบางเท่านั้น และแนวโน้มตลาดน่าจะเงียบเหงาไปถึงสิ้นปีเนื่องจากติดเทศกาลหยุดยาว แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีแรงขายหลงเหลืออยู่จากพอร์ตโบรกเกอร์ที่มียอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ราว 6.2 พันล้านบาท

ธปท. ตัด GDP growth ไทย แต่สะท้อนในหุ้นแล้ว
     ธปท. เปิดเผยผลการจัดทำประมาณการ GDP Growth ของไทยล่าสุด โดยทำการตัดลดปี 2557 และ 2558 ลงเนื่องจากการฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคือ ใน 2557 เหลือ 0.8% จากเดิม 1.5% และ ปี 2558 เหลือ 4% จากเดิม 4.8% ทั้งนี้เป็นการตัดลด เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า เนื่องจากติดอยู่กับขั้นตอนการตรวจสอบความโปร่งใส และเช่นเดียวกับภาคส่งออกที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัว หากพิจารณาเป็นราวไตรมาส คือ 4Q57 จะอยู่ที่ 2.7% เทียบกับ งวด 3Q57 เติบโตเพียง 0.6% และ เติบโต 0.4% ในงวด 2Q57 (และ -0.5% งวด 1Q57) และ จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เกินกว่า 4% ใน 1Q58 โดยการฟื้นตัวในปี 2558 น่าจะเกิดจากทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ และ เอกชน ส่วนภาคส่งออกคาดว่าจะกลับมาเติบโตเพียงเล็กน้อยราว 1% เทียบกับปี 2557 คาดว่าจะหดตัว 0.5%
อย่างไรก็ตามการตัดลด GDP Growth ของ ธปท. ถือว่าสอดคล้องกับตลาด และ ASP ซึ่งได้ประเมินไว้ก่อนหน้า (Economic Update 25 พ.ย. 2557) จึงคาดว่าประเด็นนี้ไม่น่าจะกระทบต่อตลาดมากนัก ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ วันศุกร์มีค่า Expected PER ปี 2558 อยู่ที่ 14.5 เท่า (อิง EPS ที่ 103.65 บาทต่อหุ้นในปี 2558 vs 88.76 บาทในปี 2557) จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนเช่นเดิม คือ ถือหุ้น 50% โดยกลยุทธ์การลงทุน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
หุ้น PER ต่ำ/เติบโตสูง ฝ่ายวิจัยแนะนำ SPALI(FV@B 31.96) PER 8.6 เท่า, Growth 16.8%, AIT(FV@B 53) PER 11.2 เท่า, Growth 10.7%, และ EGCO(FV@B 188) PER 10.5 เท่า, Growth 2%
      หุ้นจ่ายเงินปันผลสูง โดยให้ความสำคัญไปที่หุ้นที่จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง เป็นหลัก เนื่องจากจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในช่วง 4–5 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับที่สูงกว่าหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 1 ครั้งต่อปี ฝ่ายวิจัยเลือก STPI(FV@B 30.30) เป็น Top Pick เนื่องจากจ่ายปันผล คิดเป็น div. yield. สูงถึง 4% นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบด้าน valuation ที่ดี กล่าวคือ มี PER ต่ำเพียง 11 เท่า มี growth ปี 2558 สูงถึง 23% และยังมี upside สูงถึง 57%

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!