WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      ใกล้วันหยุดยาว ตลาดหุ้นยังคงเงียบเหงาและดัชนียังคงแกว่งตัวในกรอบแคบบวก-ลบสลับ กลยุทธ์การลงทุนให้ถือหุ้น 50% และเลือกหุ้น PER ต่ำ + เงินปันผลสูง เลือก AIT(FV@53) และ PTTGC(FV@B68) เป็น Top Picks

การเมืองยังอยู่กรอบ และเป็นไปตามกรอบเวลา
      ปลายทางของสถานการณ์การเมืองในรอบนี้อยู่ที่การจัดการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กระบวนการหลักที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนได้แก่ การปฎิรูปประเทศ ผ่านการวางกฎกติกาต่างๆ บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หากกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปอย่างราบรื่นทุกขั้นตอนตามที่ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ คาดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์น่าจะพร้อมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในช่วงเดือน กันยายน 2558 และน่าจะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ในช่วงประมาณ 1Q59 สำหรับขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่ สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในสาขาต่างๆ นำเสนอแนวคิดในการปฎิรูปประเทศ ให้กับ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ก็จะนำประเด็นต่างๆ มาพิจารณา แล้วดำเนินการร่างตัวบทกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงมือในช่วงต้นปี 2558 สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการพิจารณากันในในช่วงนี้ และบางส่วนได้ข้อสรุปไปแล้ว ก็เช่น
  ที่มาของนายกรัฐมนตรี : ซึ่งที่ผ่านมา สปช. เสนอให้จัดการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ผ่านรัฐสภา แต่เมื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการ ก็ได้ข้อสรุปว่า ยังคงจะให้นายกรัฐมนตรีมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา ตามเดิม แต่จะทำการปรับปรุงกลไกการทำงานของรัฐสภาใหม่ เช่น ประธานสภา ให้มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. จำนวนมากที่สุด และในระหว่างดำรงตำแหน่ง ต้องไม่เข้าร่วมประชุมพรรคฯ เป็นต้น
  ที่มาของ ส.ส. : เบื้องต้นกำหนดว่าจะมี ส.ส. ทั้งหมด 450 คน มาจากระบบเขต (เขตเดียวเบอร์เดียว) 250 คน และ อีก 200 คน มาจากระบบสัดส่วน โดยผู้สมัคร ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีอำนาจในการควบคุมสภาฯ อย่างเบ็ดเสร็จ

เงินเฟ้อต่ำ น่าจะหนุนให้สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยล่าช้า
    การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงสดใสต่อเนื่อง นำโดย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (70% ของ GDP) ซึ่งสำรวจโดยบลูมเบิร์ก อยู่ที่ระดับ 43.1 เพิ่มขึ้น 3.4% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ทั้งนี้คาดว่าได้แรงหนุนจาก ราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี และการจ้างงานที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากล่าสุด จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สิ้นสุด 20 ธ.ค. ลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (ลดลง 9,000 ราย มาที่ 280,000 ราย แต่อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 5.8%) ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนภาคบริโภคครัวเรือน (70% ของ GDP) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปีหน้า และน่าจะมีน้ำหนักหักล้าง การชะลอตัวของภาคการผลิตฯ ได้บ้าง สะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงคลัง เดือน พ.ย. ทรงตัว 0%yoy และเพิ่มในอัตราลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสรุปคาดว่า GDP Growth ปี 2557 ที่ IMF คาดไว้ 2.2% อาจจะต่ำไป (9M57 เฉลี่ย 2.4%) และนี่เป็นเหตุผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเข้มงวด หลังจากที่ตัดลด QE เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
     ภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อที่ชะลอตัวทั่วโลก หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดต่ำลงราว 50% ตั้งแต่ต้นปี 2557 จนต่ำสุดในเดือน ธ.ค. 2557 ทำให้เงินเฟ้อทุกประเทศต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และ สหรัฐ ซึ่งล่าสุดในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 1.3%yoy และจากต้นปีจนถึงปัจจุบันเฉลี่ย 1% ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ในสถานการณ์นี้ทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะต้องชะลอแผนการใช้นโยบายการเงินเข้มงวด หรือเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ออกไปจากเดิมที่คาดไว้ราวกลางปี 2558 เป็นในช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 แทน ซึ่งคาดว่าจะทราบความชัดเจนในการประชุมถัดไป 19 ม.ค. 2558

วันคริสต์มาส ต่างชาติน่าจะซื้อขายเบาบาง
  วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่เบาบางเพียง 53 ล้านเหรียญฯ โดยลดลง 51% จากวันก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นการขายสุทธิเพียงประเทศเดียว คือ อินโดนีเซีย เท่านั้น โดยขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ราว 223 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 16 ล้านเหรียญฯ) สวนทางกับประเทศอื่นๆที่ซื้อสุทธิทั้งหมด เริ่มจาก ไต้หวัน ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ราว 102 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ขณะที่เกาหลีใต้สลับมาซื้อสุทธิราว 65 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) และ ไทยสลับมาซื้อสุทธิเช่นกันราว 4 ล้านเหรียญฯ (118 ล้านบาท, หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ขณะที่ตลาดในฟิลิปปินส์ปิดทำการเนื่องเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส
คาดว่าในวันนี้แรงซื้อ-ขายน่าจะเบาบางต่อเนื่อง เพราะเป็นวันหยุดยาวเนื่องจากเป็นวันคริสต์มาส แต่ตลาดหุ้นไทยน่าจะขับเคลื่อนด้วยนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่วานนี้ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ราว 279 และ พอร์ตโบรกเกอร์ที่ซื้อสุทธิราว 508 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 4 วันหลังสุดรวม 4.3 พันล้านบาท)

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับต่ำ ดีต่อ RCL, AAV
      ราคาน้ำมันดิบโลกยังแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ระหว่าง 56-57 เหรียญฯ สหรัฐ ต่อ บาร์เรล หลังจากวานนี้สหรัฐรายงานสต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มมากกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 7 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่คาดว่าจะลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบโลกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดที่ 55 เหรียญฯต่อบาร์เรล (เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา) ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าต้นทุนผู้ประกอบการนอก OPEC (มีกำลังการผลิตราว 65% ของกำลังการผลิตรวมของโลก) ซึ่งตกที่ราว 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล แต่ยังเป็นระดับที่สูงกว่าต้นทุนของกลุ่ม OPEC ซึ่งอยู่ที่ราว 40-45 เหรียญฯต่อบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตาม ณ ระดับราคาน้ำมันในปัจจุบัน พบว่า ผู้ส่งออกน้ำมันใน OPEC กำลังประสบปัญหาทางการเงิน เช่นกัน สงครามน้ำมันจึงน่าจะยืดเยื้อไปได้อีกนานเท่าไหร ทั้งนี้สมมติฐาน ASP กำหนดให้ ราคาน้ำมันดิบโลกระยะยาว คือ นับจากปี 2558 75 เหรียญฯ (กำหนดให้งวด 1H58 จะอยู่ที่ 60-65 เหรียญฯ แต่ในช่วง 2H58 น่าจะมีโอกาสฟื้นตัวเหนือ 80-85 เหรียญฯ) ซึ่งทำให้เชื่อว่าได้สะท้อนในราคาหุ้นน้ำมันไปแล้วระดับหนึ่ง


     อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าส่งผลดีต่อธุรกิจขนส่งอย่างมาก โดยเฉพาะ ขนส่งทางอากาศ เพราะใช้น้ำมันเป็นต้นทุนหลัก โดยหุ้น Top pick ในกลุ่มนี้คือ คือ AAV(FV@B6) เนื่องจากต้นทุนน้ำมันคิดเป็น 35% ของต้นทุนรวม และมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงน้ำมันไว้เพียง 30% คาดว่าปี 2558 กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1.45 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 310% จากปี 2557 และ 1.9 พันล้านบาทในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้น 32% จากปี 2558 (ภายใต้สมมติฐานหลัก คือ Loading factor ของ AAV 81% ซึ่งยังต่ำกว่าที่บริษัทฯ ได้เปิดเผยต่อสาธารณะไว้ที่ 83% เพราะบริษัทเชื่อว่าจำนวนผู้โดยสารในปี 2558 จะอยู่ที่ 14.5 ล้านคน เทียบกับ 12.1 ล้านคนในปี 2557 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 13.6 ล้านคน
ตามมาด้วย หุ้นเดินเรือคอนเทนเนอร์ คือ RCL([email protected]) ได้ประโยชน์มากสุดในกลุ่มเดินเรือ เพราะนอกจากให้บริการขนส่งสินค้า อุปโภค-บริโภค แล้ว ยังเป็นผู้แบกรับต้นทุนน้ำมันไว้เองทั้งหมด ซึ่งต้นทุนน้ำมันมีสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวม แต่ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้เพียง 25% ของปริมาณขนส่งเท่านั้น ทำให้คาดว่าผลกำไรในงวด 4Q57 จะทรงตัวจากงวด 3Q57 แม้งวด 4Q57 เป็นช่วงนอกฤดูกาลก็ตาม

 

รัสเซียชะลอการนำเข้าไก่จากไทย หลังเผชิญปัญหาการเงิน
รัสเซียยังน่าเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจโลก แม้ภายหลังจีนจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แต่คิดเป็นเพียง 1.2% ของ GDP หรือ 3.5%ของหนี้สาธารณะ ล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก เตรียมปรับลดเครดิตเรทติ้งลง เช่น Standard & Poor’s จะปรับลงจาก BBB- สู่ junk bond และปรับลดมุมมองเชิงลบ ตามมาด้วย Moody’s อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ในรัสเซียถึง 16 แห่ง เพราะกังวลต่อปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และ ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ (หลังธนาคาร Trust Bank ประสบปัญหาประชาชนพากันถอนเงินเป็นจำนวนมาก)
นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่ารัสเซียอาจจะต้องชะลอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ระหว่างประเทศลดลง (ตามรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก) โดยประเทศน่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียนั้น อยู่ที่ราวปีละ 5 พันล้านเหรียญฯ โดยสินค้าส่งออกของไทยไปรัสเซียที่สำคัญ คือ อาหาร สินค้าเกษตร รถยนต์ ฯลฯ ซึ่งล่าสุดจากการเปิดเผยของประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า รัสเซียได้ยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์ และ ในอาจจะตามด้วย ไก่สด ที่ไทยเตรียมส่งออกในปี 2558 (เพื่อทดแทนการนำเข้าไก่สดจากยุโรปหลังถูกคว่ำบาตร) แม้ว่าปริมาณการส่งออกไปรัสเซียจะยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับยอดส่งออกของทั้งประเทศ กล่าวคือ ในปี 2557 ปริมาณส่งออกไก่สด+ไก่ปรุงสุกราว 5.6 แสนตัน และ จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 6 แสนตัน ปี 2558 (ตลาดส่งออก หลักของไทย คือ ยุโรป 52% ญี่ปุ่น ราว 40% และอื่นๆ 8%) แต่ก็น่าจะส่งผลในเชิง sentiment ต่อผู้ประกอบการส่งออกไก่สด ได้แก่ CPF ซึ่งจากการสอบถามกับนักวิเคราะห์กลุ่มอาหารของ ASP พบว่าประเด็นดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประมาณการฯ แม้ว่าจะได้มีการปรับเพิ่มประมาณการฯ ปี 2557 และ 2558 ขึ้น 6% และ 5% ตามลำดับ (รายละเอียดใน Equity Talk วันที่ 15 ส.ค.) เพราะอาจจะได้รับชดเชยปริมาณส่งออกไก่แช่แข็ง ที่เป็นตลาดใหม่จากญี่ปุ่น

ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!