- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 23 December 2014 18:39
- Hits: 1631
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
นับถอยหลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ตลาดอาจเงียบเหงา แต่ยังได้รับแรงหนุนจาก LTF และ Window Dressing กลยุทธ์การลงทุน แนะถือหุ้นปันผลที่มี PER ต่ำ และเงินปันผลสูง เลือก AIT(FV@53) และ PTTGC(FV@B68) ซึ่งมี Div Yield 4.3 และ 6.1% ตามลำดับ เป็น Top picks
จีนยื่นมือเข้าช่วยรัสเซีย หนุนค่าเงินเอเซียทรงตัวถึงแข็งค่า
หลังจากรัสเซียประสบปัญหาเศรษฐกิจติดต่อกันหลายไตรมาสที่ผ่านมา จากผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปและสหรัฐ จากปัญหาความขัดแย้งในเขตปกครองตนเองไครเมีย (ยูเครน) และราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำกว่า 50% จากต้นปี 2557 ซึ่งรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลก รองจาก OPEC (มีส่วนแบ่งตลาด 12% ของกำลังการผลิตของโลก เทียบกับ OPEC มีกำลังการผลิตราว 35%) โดยรายได้จากการส่งออกน้ำมันถือเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ (คิดเป็น 30% ของ GDP) ซึ่งเป็นเหตุอีกประการที่กดดันให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่ากว่า 100% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ลดลงราว 16% ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 เหลือ 4.2 แสนล้านเหรียญฯ ในขณะนี้ และในที่สุดน่าจะทำให้ GDP Growth ปี 2557 อยู่ที่ระดับเพียง 0.2% และ 0.5% ใน 2558 (GDP Growth 9M57 เฉลี่ย 0.8%)
อย่างไรก็ตามล่าสุดมีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยรัสเซีย ถือว่าประเด็นนี้น่าจะผ่อนคลายต่อเศรษฐกิจโลก โดยแหล่งข่าวจาก Bloomberg เช้านี้เปิดเผยว่า ประเทศจีนเตรียมจะให้ความช่วยเหลือเงินกู้แก่รัสเซีย ราว 1.5 แสนล้านหยวน หรือ 2.4 หมื่นล้านเหรียญฯ (คิดเป็นราว 1.2% ของ nominal GDP หรือ 3.5% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด) ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในครั้งนี้ เท่ากับรัสเซียมีเม็ดเงินก้อนใหม่ในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ น่าจะช่วยประคับประครองเศรษฐกิจรัฐเซียที่กำลังย่ำแย่สุดๆ กลับฟื้นขึ้นมาได้บ้าง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ค่าเงินรูเบิลฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยกลับมาแข็งค่ากว่า 20% หลังจากอ่อนค่ามากสุดที่ 75 รูเบิลต่อดอลลาร์ เมื่อ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา และน่าจะสนับสนุนให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเซีย หยุดการอ่อนค่า และเริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางแข็งค่าในสัปดาห์นี้ อาทิ เงินบาททรงตัวในกรอบ 32.70–33 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ส่วนรูเปียห์อินโดนีเซีย แข็งค่า 1.85% นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกับรูปีอินเดีย และ เปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่า 0.5% เท่ากัน ยกเว้นดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่า 1.3% จากสัปดาห์ที่แล้ว และริงกิตมาเลเซีย ที่ยังคงอ่อนค่า 4.5% ในเดือน ธ.ค. แม้ธนาคารกลางเพิ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา 0.25% ก็ตาม เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการอุดหนุนน้ำมันในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
ตลาดหุ้นโลกกำลังทดสอบจุดสูงสุดเดิม ยกเว้น ไทย
ผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบตกต่ำได้กดดันให้ตลาดหุ้นปรับฐานทั่วโลก นับจากวันที่ 17 ธ.ค. 2557 ซึ่งพบว่า ดัชนีหุ้นไทยลดลงอย่างรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยลดลงมากถึง 14% จากระดับสูงสุด และลงมาต่ำสุดที่ 1,375 จุด แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยก็สามารถฟื้นตัวกลับ ได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน ทำให้วันนี้ดัชนีหุ้นไทยปัจจุบัน อยู่ห่างจากจุดสูงสุดเดิมที่ 1,600 จุด อยู่ราว 4% และ ณ ระดับดัชนี 1,536 จุด พบว่ามีค่า PER ปี 2558 ที่ 14.82 เท่า อิง Expected EPS ที่ 103.65 บาท (เพิ่มขึ้นจาก 88.76 บาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นสมมติฐานภายใต้ราคาน้ำมันดิบระยะยาวในปี 2558 เป็นต้นไป ที่ 75 เหรียญฯต่อบาร์เรล) อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นปี 2557 คาดว่าดัชนีน่าจะมีแนวต้านถัดไปที่ 1,550 จุด หรือมี Expected PER 14.95 เท่า ซึ่งยังเป็นระดับที่ยังสมเหตุสมผล และยังห่างจากดัชนีเป้าหมายปี 2558 ที่ประเมินไว้ 1, 658 จุด (อิง PER ปี 2558 ที่ 16 เท่า ) ราว 7.3%
ขณะที่ตลาดหุ้นเอเซียมีการปรับฐานน้อยกว่าตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP พบว่าดัชนีแต่ละประเทศปรับตัวลดลงราว 5% จากจุดสูงสุดครั้งล่าสุดคือ ทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวที่เร็วเช่นกัน ทำให้ ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ปัจจุบันอยู่ห่างจากจุดสูงสุดเดิมเพียง 1.5% ขณะที่ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมราว 3% ขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีค่า PER ปี 2558 14.6 เท่า และ 17.6 เท่า (Expected EPS growth ที่ราว 17.8% และ 15.6% ตามลำดับ) ทำให้มี upside จำกัดกว่าตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะฟิลิปปินส์
เช่นเดียวกับสหรัฐ พบว่ามีการปรับฐานเพียง 5% จากจุดสูงสุด และสามารถฟื้นตัวกลับมาแตะจุดสูงสุดเดิมอีกครั้ง ทั้งนี้น่าจะเป็นผลจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐมีค่า Expected PER ปี 2558 16.1 เท่า (ภายใต้ EPS Growth 6.9%) จึงอาจจะต้องเผชิญกับการปรับฐานระยะสั้น
ขณะที่ทางฝั่งยุโรป การปรับฐานค่อนข้างแรง โดยเฉพาะฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ลดลงจากจุดสูงสุดก่อนหน้าราว 11.2%, 12% 11.14% ตามลำดับ และแม้จะฟื้นตัวขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันยังห่างจากจุดสูงสุดอีกมาก คือราว 6% สำหรับอิตาลี 5% สำหรับสเปน และ 4.3% สำหรับฝรั่งเศส ยกเว้นตลาดหุ้นเยอรมันและอังกฤษ แม้จะปรับลดจากจุดสูงสุดราว 7.8% และ 8.87% แต่สามารถฟื้นตัวจนเกือบใกล้จุดเดิม โดยมีส่วนต่างจากจุดสูงสุดเพียง 2.2% และ 3% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศน่าจะประคับประคองตลาดหุ้นได้กว่าประเทศที่ยังประสบปัญหาการฟื้นตัวล่าช้าข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นยุโรปมีค่า Expected PER ปี 2558 ต่ำกว่าตลาดพัฒนาแล้ว คือราว 12.6 เท่า สำหรับเยอรมัน ส่วนอังกฤษ และ ฝรั่งเศส ราว 13.6 เท่า และ 13.5 เท่า ตามลำดับ
กองทุนยังเป็นผู้ประคับประคองตลาดในช่วงที่เหลือของปีนี้
วานนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 2 แต่ยังคงเบาบาง ราว 155 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 4%จากวันก่อนหน้า) และเป็นการซื้อสลับขายสุทธิรายประเทศ กล่าวคือ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 155 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 15 ล้านเหรียญฯ) ส่วนไต้หวันซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 เช่นกัน ราว 135 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 49% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับเกาหลีใต้ที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 66 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 8 จาก 9 วันหลังสุด) เช่นเดียวกับไทยที่สลับมาขายสุทธิราว 40 ล้านเหรียญฯ (1.3 พันล้านบาท) และ อินโดนีเซียขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แต่ลดลงถึง 81% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 29 ล้านเหรียญฯ
เป็นที่สังเกตว่าตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงหนุนจากจากนักลงทุนสถาบัน โดยวานนี้ซื้อสุทธิเพิ่มเติมอีกราว 3.3 พันล้านบาท เป็นการซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 รวม 2.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่แรงขายจากพอร์ตโบรกเกอร์เริ่มหมดไป และกลับมาซื้อสุทธิ 2 วันติดต่อกันรวม 2.2 พันล้านบาท เชื่อว่าในช่วงสุดท้ายของปีนี้ แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติน่าจะเบาบางลง และเป็นการซื้อสลับขายรายวัน ซึ่งทำให้ดัชนีสามารถขึ้นไปทดสอบ 1,550 จุดได้ภายในสิ้นปี 2557
LTF+Window Dressing ยังหนุนตลาดในโค้งสุดท้ายของปี
ดังที่กล่าวไปเมื่อวานนี้ว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ตลาดหุ้นโลกอาจจะเงียบๆ แต่คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะยังยืนในแดนบวกได้ ได้ต่อเนื่อง จาก 2 ปัจจัยหลักคือ กองทุนประหยัดภาษี หรือ LTF ซึ่งจะมีแรงซื้อเข้ามาหนาแน่นในช่วงใกล้สิ้นปีของทุกปี (10 เดือนแรกของปี 2557 พบว่ามียอดซื้อสุทธิ LTF ไปแล้วราวเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท จึงคาดว่าจะมียอดซื้อเหลืออีกกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าปี 2557 จะมียอดซื้อสุทธิ LTF ราว 4.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา) แม้จะมีแรงขายสุทธิ LTF ที่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน (สำหรับปี 2557 จะมีกองทุน LTF ที่ครบกำหนดตามมูลค่าทุนที่ซื้อในปี 2552 ราว 2.52 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราคาตลาด 3.79 หมื่นล้านบาท มี capital gain 47%) แต่จากข้อมูลในอดีตพบว่านักลงทุนกลุ่มนี้จะขายเฉลี่ยราว 45-50% ของยอดที่ครบกำหนด และในช่วง 10 เดือนแรกพบว่าขายสุทธิมาแล้ว 1.85 หมื่นล้านบาท จึงคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยอดขายสุทธิกอง LTF น่าจะน้อยมาก และผลบวกจากการทำราคาปิดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หรือ Window Dressing ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณ 10 ปีย้อนหลัง พบว่าในเดือน ธ.ค. ดัชนีหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 2.6% ธ.ค. ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้น 80% โดยหุ้นมีโอกาสที่ผลตอบแทนเป็นบวก มากกว่า 80% ในเดือน ธ.ค. ได้แก่ BEC, SCCC, HANA และ PTTEP
ภรณี ทองเย็น, CISA
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล