- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 27 November 2014 16:29
- Hits: 1837
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ใกล้ 1,600 จุด ยังผันผวนสูง ด้วย current P/E 17.5 เท่า หรือแม้ใช้ EPS ตลาดปีหน้า ก็สูง 15 เท่า ยังเน้นรายหุ้น ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐ SAMTEL (FV@B27) เป็น Top pick
เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวช่วงสั้น..การขึ้นดอกเบี้ยอาจล่าช้า
สหรัฐอาจเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยจากเดิม ท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกล่าช้า ขณะดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวช่วงสั้น สะท้อนจากการบริโภคภาคครัวเรือน เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า (mom) และแม้จะเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า (yoy) พบว่าขยายตัว 3.6% แต่ยังต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ตามมาด้วยผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์สิ้นสุด 22 พ.ย. เพิ่มขึ้น 21,000 ตำแหน่ง อยู่ที่ 313,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 สัปดาห์ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. ขยายตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดบ้านยังคงแข็งแกร่ง กล่าวคือ ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดใรอบ 16 เดือน และ ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. ที่เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน (ยกเว้นการทำสัญญาบ้านที่รอปิดการขาย ที่หดตัว 1.1%mom) และตามมาด้วยภาคการผลิต ซึ่งพบว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ต.ค. กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากชะลอตัวเล็กน้อยในเดือนก่อนหน้า โดยมาจากยอดสั่งซื้ออากาศยานทางทหารที่เพิ่มขึ้น
โดยรวมทำให้เชื่อว่า GDP Growth งวด 4Q57 น่าจะขยายตัวราว 2%yoy และทั้งปี 2557 จะเติบโต 2.2%yoy ตาม IMF คาด แต่การที่ FED จะยังยืนยันการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 2H58 ต่อไปหรือไม่ คงต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมทั้งดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงนานเพียงใด และเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวล่าช้าต่อไปหรือไม่
ยุโรปมีแนวโน้มจะเลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ไปเป็นปีหน้า ดังที่นำเสนอไปในช่วง 2 วันก่อน ถึงแนวคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกัน 2 กลุ่มกล่าวคือ ประเทศเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย รวมถึงคณะกรรมการยุโรป (นาย Vitor Constancio, รองประธาน ECB และ Benoit Coeure, คณะผู้บริหาร) และนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ (Marchel Alexandrovich, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสในลอนดอน) ที่ต้องรอดูความชัดเจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ประกาศใช้ไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อ covered bonds ใน 3 ประเทศ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และแผนเข้าซื้อ ABS ในประเทศ โปรตุเกส และกรีซ ที่กำหนดไว้ใน 4Q57 ขณะที่ทางด้านฝรั่งเศส ต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งคงต้องติดตามผลการประชุมของ ECB ในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ ว่าจะมีผลออกมาอย่างไร
อังกฤษมีแนวโน้มเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปเช่นกัน GDP Growth งวด 3Q57 หลังทบทวนครั้งที่ 2 ขยายตัว 3%yoy เท่ากับการรายงานครั้งก่อนหน้า โดยมาจากการขยายตัวของการบริโภคครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี (GDP Growth อังกฤษ ขยายตัวต่อเนื่องกันถึง 7 ไตรมาส) แต่อย่างไรก็ตามยังคงถูกฉุดรั้งด้วยการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า โดยรวมงวด 9M57 GDP Growth อังกฤษอยู่ที่ 3%yoy ขณะที่ทั้งปี 2557 IMF ประเมินไว้ 3.2%yoy นั่นหมายความว่างวด 4Q57 ต้องขยายตัว 3.7%yoy ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% จึงคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ น่าจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปในเวลาใกล้เคียงกับสหรัฐ หรือช่วง 2H58
น้ำมันอ่อนตัว ขณะที่ค่าการกลั่นฟื้นตามฤดูกาล
วันนี้ ตลาดน่าจะให้น้ำหนักต่อผลการประชุม OPEC ซึ่งจะมีผลต่อการตัดลดประมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจาก ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวลดลงลงมาอยู่ในระดับ 73.54 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่ใกล้เคียงต้นทุนของผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC หรือมีการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกกว่า 30% ต่อเนื่องกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าปัญหาที่กดดันหลัก ณ ขณะนี้น่าจะมาจากปริมาณผลิตน้ำมันดิบโลกที่เกินความต้องการ ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่คาดว่าผลกระทบจากแข็งค่าของเงินดอลลาร์ น่าจะมีน้ำหนักลดลง เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะเลื่อนออกไป สะท้อนจาก Dollar Index ที่เริ่มชะลอการแข็งค่าและมีแนวโน้มแกว่งตัว หลังจากทำสถิติสูงสุด 88.4 จุดในสัปดาห์นี้
จากผลการสำรวจโดยบลูมเบริกส์ ดังที่นำเสนอใน market talk วานนี้ พบว่าผลการสำรวจได้มีเห็นแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายคือ เห็นว่า OPEC ควรจะลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จาก 30 ล้านบาร์เรล/วัน) อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ผลสรุปจะออกมาแบบประนีประนอมคือ ลดลงเพียง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเชื่อว่าการลดกำลังผลิตไม่มากยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันโลกไปอีกระยะหนึ่ง
ในขณะที่ค่าการกลั่น ล่าสุดดีดตัวขึ้นไปกว่า 8.24 เหรียญ/บาร์เรล ทำระดับสูงกว่าช่วงต้นปี 2557 ซึ่งเป็นผลของราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในอัตราเร็วกว่าน้ำมันสำเร็จรูป และเป็นผลของฤดูกาลไตรมาส 4 ที่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปจะสูงในช่วงฤดูหนาวปลายปี และต่อเนื่องถึงต้นปีถัดไป ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนหุ้นโรงกลั่นในระยะสั้น (BCP, TOP, PTTGC) โดยฝ่ายวิจัยชื่นชอบ PTTGC (FV@B75) มากที่สุด แม้จะมีโครงสร้างรายได้จากโรงกลั่นเพียง 25% และมีธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ 25% แต่อีก 50% มาจากโอเลฟินส์ ซึ่งธุรกิจโอเลฟินส์อยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดแนวโน้มจะดีขึ้นตามลำดับนับจากงวด 4Q57 จนถึงปี 2558 โดยรวมคาดว่า ESP Growth ในปี 2558 จะกลับมาอยู่ที่ 15% หลังจากหดตัว 16.3% ในปี 2557 ซึ่งจะทำให้ PTTGC มีค่า Expected P/E ที่ต่ำเพียง 8.4 เท่าในปี 2558 ลดลงจาก 9.7 เท่า ในปี 2557ขณะที่มีเงินปันผลสูง 4.8% ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 5.9% ในปีหน้า
แรงซื้อจากต่างชาติแผ่วลงทั่วภูมิภาค
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้าถึง 66% เหลือราว 224 ล้านเหรียญฯ โดยที่เป็นการซื้อสุทธิในทุกประเทศ แต่ยอดซื้อกลับเบาบางลง นำโดยไต้หวัน ซื้อสุทธิสูงสุดราว 103 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 14%, ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7 แต่ลดลงถึง 84% เหลือเพียงราว 79 ล้านเหรียญฯ อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ลดลงเช่นกัน ราว 33% อยู่ที่ 21 ล้านเหรียญฯ ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิราว 17 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 5 วันหลังสุด) และสุดท้ายคือไทย ที่ยังซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 แต่ยอดซื้อลดลงถึง 91% เหลือเพียงราว 3 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (109 ล้านบาท)
ยอดซื้อต่างชาติในตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคที่ต่างชาติชะลอการซื้อลงในทุกประเทศ ขณะที่นักลงทุนสถาบันขายสุทธิเล็กน้อยราว 214 ล้านบาท (ซื้อสุทธิราว 6.4 พันล้านบาทในเดือน พ.ย. 57) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพอร์ตโบรกเกอร์ยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องอีกราว 1.7 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิถึง 21 จาก 24 วันหลังสุด รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยปกตินักลงทุนกลุ่มนี้มักจะซื้อสลับขายและไม่มียอดซื้อสะสมสูงมากนัก จึงควรระมัดระวังการขายทำกำไรจากนักลงทุนกลุ่มนี้
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล