- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 14 November 2014 21:22
- Hits: 1808
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกระยะสั้น ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังคงซึมซับงบงวด 3Q57 ที่ย่ำแย่ จึงยังเน้นขายหุ้นรายตัว และสลับมาซื้อหุ้นที่ลงลึก ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวปีหน้า เลือก PTTGC(FV@B75) เป็น Top pick มีจุดเด่น P/E ต่ำ และ Div Yield เฉลี่ย 5% ต่อปี
การขึ้นดอกเบี้ย อังกฤษ/สหรัฐ อาจล่าช้า
เศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังถือเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากสุด โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและญี่ปุ่น โดยล่าสุด รัสเซีย (มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา) ได้รายงาน GDP Growth 3Q57 เพียง 0.7% (เฉลี่ย 1Q57-3Q57 โต 0.78% vs IMF คาดปี 2557 ราว 0.2%)
สวนทางกับตลาดแรงงานของทั้งสหรัฐ และอังกฤษ พบว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดย สหรัฐ ล่าสุดพบว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ย. เพิ่มขึ้น 12,000 ราย อยู่ที่ 290,000 ราย (ต่ำกว่า 300,000 เป็นสัปดาห์ที่ 9) ขณะที่เฉลี่ย 4 สัปดาห์ อยู่ที่ 285,000 ราย ถือว่ายังคงอยู่ในทิศทางลดลง และตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร เดือน ก.ย. ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบเกือบ 13 ปี สะท้อนถึงนายจ้างมีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. ลดลงที่ระดับ 5.8% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) และเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง โดยเดือน ต.ค. อยู่ที่ 6% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปี) และอัตราค่าจ้างกลับเพิ่มขึ้น 1%yoy
ขณะที่ความกังวลต่อการชะลอตัวของเงินเฟ้อ ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง น่าจะมีน้ำหนักมากขึ้น และอาจมีผลต่อมุมมองในการเลื่อนเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และยุโรป สะท้อนจากความเห็นของคณะกรรมการ Fed และ BOE บางท่าน เริ่มมีความเห็นที่แตกต่าต่างไปจากเดิม กล่าวคือ มีคณะกรรมการ Fed 2 ท่าน จาก 10 ท่าน (นาย Chan Evan, Fed สาขาชิคาโก และ นายดัลลีย์, Fed นิวยอร์ก ) และคณะกรรมการ BOE 7 จาก 9 ราย เห็นว่าควรเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกออกไปจากเดิมในช่วง 2H58 ซึ่งอาจจะทำให้ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยผ่อนคลายระยะสั้นเท่านั้น ในที่สุดเชื่อว่าทิศทางดอกเบี้ยยังคงเป็นขาขึ้นตราบที่ตลาดแรงงานฟื้นตัว โดยต้องติดตามรายงาน ผลการประชุม BOE ของวันที่ 6 พ.ย. ในวันที่ 19 พ.ย. นี้ และผลการประชุม Fed ครั้งสุดท้ายของปีนี้คือ 16-17 ธ.ค. 2557
สองแรง ต่างชาติ/กองทุน หนุน SET
เงินทุนต่างชาติยังคงทยอยไหลเข้าภูมิภาค โดยที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 14 ราว 297 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 6 เท่าตัว ซึ่งเป็นการกลับมาซื้อสุทธิในทุกประเทศ โดยซื้อสุทธิสูงสุดไต้หวัน ซื้อสุทธิอีกครั้งราว 140 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 3 วันหลังสุด) เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 120 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ประเทศในกลุ่ม TIP ซื้อสุทธิเบาบางทั้งหมดกล่าวคือ ไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 13 ล้านเหรียญฯ (412 ล้านบาท, ลดลง 13% จากวันก่อนหน้า) ส่วนอินโดนีเซียซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ลดลงถึง 93% จากวันก่อนหน้า เหลือเพียง 12.3 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 12.1 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด)
ทั้งนี้ การเข้าซื้อของต่างชาติในระยะหลังยังเป็นลักษณะการเลือกซื้อรายประเทศ และยอดซื้อยังเบาบาง ขณะที่ในตลาดหุ้นไทยแม้ว่าต่างชาติจะซื้อสุทธิถึง 7 จาก 8 วันหลังสุด แต่ยอดซื้อกลับเบาบางเช่นกัน คือเฉลี่ยวันละ 700 ล้านบาทเท่านั้น (ขายสุทธิเฉลี่ยกว่า 1 พันล้านบาทในช่วงก่อนหน้า) เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้นักลงทุนต่างชาติจะสลับซื้อขายรายวันด้วยปริมาณเบาบาง และไม่น่าจะหนุน SET มากนัก แต่กลุ่มที่น่าจะมีผลขับเคลื่อนตลาดในช่วงท้ายปีน่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 856 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า) และเชื่อว่าจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนกลุ่มนี้จนถึงสิ้นปีจากกองทุน LTF
ราคาน้ำมันที่ลดลง กดดันหุ้นปิโตรเลี่ยม แต่เป็นโอกาสสะสม PTTEP
ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดน้ำมันดิบดูไบหลุด 80 เหรียญฯ/บาร์เรลได้ ลงมาที่ 74 เหรียญฯ/บาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี นอกจากเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่อง (ทำให้นักลงทุนสนใจลงทุนดอลลาร์มากกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ เช่นน้ำมัน ทองคำ) และ supply น้ำมันดิบโลกที่ล้นตลาด โดยเฉพาะจากกลุ่ม non-OPEC หลังจากสหรัฐที่มีสามารถผลิตสินค้าทดแทนอย่าง shale gas และ shale oil และภายในกลุ่ม OPEC ที่ยืนยันไม่ลดระดับการผลิตลง และยังคงลดราคาขายเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ทั้งนี้แม้ว่าล่าสุด ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดในกลุ่ม OPEC ได้ตัดลดกำลังการผลิตเดือน ต.ค. ลงกว่า 6.9 หมื่นบาร์เรล แต่กลับมีสมาชิก OPEC รายอื่น ๆ อาทิ เวเนซุเอลา ลิเบีย และเอกวาดอร์ คัดค้านการลดกำลังการผลิต ซึ่งต้องติดตามมติการประชุม OPEC ในวันที่ 27 พ.ย. นี้ ที่กรุงเวียนนา ซึ่งคาดว่าจะยังคงกำลังการผลิตตามเดิมต่อไป
ขณะที่รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐ สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ย. ลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 378.5 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น และดีเซล ลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 116.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับสต็อกน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 203.6 ล้านบาร์เรล เป็นการสะท้อนว่า demand มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว แต่ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราน้อยกว่าการผลิต
เป็นที่สังเกตว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับต้นทุนน้ำมันดิบที่ราว 70-80 เหรียญ/บาร์เรล จึงเชื่อว่าความเสี่ยงที่ จะลดลงจากนี้น่าจะมีน้อย แต่ระยะสั้นยังเป็นัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการปิโตรเลี่ยม โดยเฉพาะ PTTEP, BANPU, LANNA และ PTT ซึ่งถือหุ้น 65% ใน PTTEP แต่เชื่อว่าราคาหุ้นบางบริษัทได้ลดลงจนต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม เช่น PTTEP จึงคาดว่าน่าจะะมี downside จำกัดแล้ว กล่าวคือ จากการศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทุก 5 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล คาดว่าจะทำให้ Fair Value หายไปประมาณ 8 บาท ซึ่งในปี 2558 นักวิเคราะห์ ASP ประมาณ Fair Value ไว้ที่ 180 บาท อิงราคาน้ำมันดิบที่ 90 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล หากต้องปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบลง 5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล คาดว่า Fair Value ปี 2558 จะอยู่ที่ 172 บาท แต่หากปรับลดลง 10 เหรียญฯ คาดว่า Fair Value ปี 2558 จะอยู่ที่ 164 บาท ยังมี upside 23.7%และ 12.7% ตามลำดับ ทำให้เชื่อว่าความเสี่ยงขาลงสำหรับ PTTEP มีจำกัด
ตลาดน่าจะซึมซับงบ 3Q57 ต่ำกว่าคาด
วันนี้น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่บริษัทจดทะเบียน ต้องรายงานงบการเงินงวด 3Q57 ให้เสร็จสิ้น โดยล่าสุดเช้านี้มีบริษัทฯ รายงานแล้วกว่า 420 บริษัท หรือ 65% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียน ที่รายงานเพิ่มเติมยังค่อนข้างผิดหวัง เช่น BLA ที่ประสบภาวะขาดทุน จากที่เคยกำไรในงวดก่อนหน้า เนื่องจากมีการตั้งสำรองพิเศษ (จากความผันผวนของหุ้นกู้) ในปริมาณที่สูงมาก จนทำให้สัดส่วนของเงินสำรองเบี้ยประกันชีวิตเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยรับสุทธิรวมในงวด 3Q57 สูงถึง 98.2% ขึ้นทำระดับ สูงสุดในรายไตรมาส จึงทำให้โอกาสการตั้งสำรองๆ ในปริมาณสูง ๆ ในงวดถัดๆ ไปจะน้อยลง และทำให้ผลการดำเนินงานจะกลับ สู่ภาวะปกติในงวด 4Q57 และปี 2558 ตามมาด้วย THAI แม้พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ และดีขึ้นเมื่อเทียบกับขาดทุนในงวด 2Q57 แต่นั่นเป็นเพราะงวดนี้มี รายการพิเศษ (กำไร FX 7.4 พันล้านบาท สุทธิกับการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ 1.2 พันล้านบาท) แต่หากพิจารณาผลการดำเนินงานปกติยังขาดทุนอยู่ แต่ลดลง 32% จากงวดก่อนหน้า ส่วนงวด 4Q57 ธุรกิจปกติน่าจะดีขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และต้นทุนน้ำมันที่ลดลงตามตลาดโลก แต่อาจจะถูกหักล้าง จากต้นทุนค่าพนักงานเกษียณอายุ ทำให้โดยรวมจะขาดทุนอีกในงวด 4Q57 และโดยรวมปี 2557 น่าจะขาดทุน 14,000 ล้านบาท ก่อนที่จะเริ่มกลับมาเท่าทุนหรือกำไรเล็กน้อยในปี 2558 และ BEC กำไรสุทธิ ลดลงถึง 22.3%yoy ต่ำกว่าคาด เพราะต้องรับรู้ต้นทุนทีวีดิจิทัลเต็มไตรมาส และคาดว่าแนวโน้มงวด 4Q57 จะทรงตัวจากงวด 3Q57 แม้ว่าจะแก้ไขปัญหากับ กสทช. เรื่องช่อง 3 อนาล็อก เรียบร้อยแล้ว และรายได้โฆษณาจะเพิ่มขึ้น แต่ถูกหักล้างด้วยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสูงกว่าปกติในช่วงปลายปี ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการฯ ปี 2557 และ 2558 ลง 6% และ 9% ตามลำดับ โดยคาดกำไรสุทธิปี 2557 ภายใต้ประมาณการใหม่จะลดลงจากปีก่อน 19.6% ก่อนจะพลิกกลับมาเติบโตราว 7.9% ในปี 2558 ยังคงแนะนำ ซื้อ เนื่องจาก Dividend Yield ทั้งปี 57 สูง 4.3%
ที่ทรงตัวคือ ASK งวดนี้มีกำไรทรงตัวจากงวดก่อนหน้า และ ใกล้เคียงกับคาด และ คาดว่าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ในงวด 4Q57 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทสามารถบริหารจัดการหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่โดยรวมในปี 2557 น่าจะมี EPS Growth ราว 6% และเติบโตอย่างก้าวกระโดด 23% ในปีหน้า จุดเด่นของ ASP คือมี Expected P/E ต่ำ 9 เท่า และ เงินปันผลสูงถึง 8% เป็นหุ้นที่ลงทุนระยะกลาง-ยาว และตามมาด้วย MINT ที่มีผลกำไรเป็นไปตามคาด และ จะทำระดับสูงสุดในงวด 4Q57 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และฐานรายได้ที่กระจายตัวที่ดี ทั้งโรงแรม อาหาร และ อสังหาฯ เป็นต้น โดยรวม คาดว่า EPS Growth ปีนี้จะอยู่ที่ 9% และเพิ่มเป็น 17% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าตลาดมาก
ยกเว้น ที่โดดเด่น คือ STPI มีกำไรเพิ่มขึ้น 37% และดีกว่าคาด เพราะสามารถแก้ไขปัญหาการส่งมอบงานโครงการ Ichtys ล่าช้าได้ พร้อมกับมี gross margin ที่ดีขึ้น และคาดว่ากำไรจะสดใสต่อเนื่องในงวด 4Q57 โดยรวมปี 2557 EPS Growth น่าจะสูงถึงเกือบ 50% และเติบโตอีก 17% ในปี 2558 เป็นหุ้นแนะนำซื้อและถือข้ามปี
สรุปจากบริษัทที่รายงาน กำไรสุทธิรวม 1.86 แสนล้านบาท ลดลง 5%yoy ( เทียบกับกำไรสุทธิ 1.963 แสนล้านบาทในงวด 2Q57 และ 2.24 แสนล้านบาทในงวด 1Q57) ซึ่งทำให้กำไรสุทธิตลาดงวด 3Q57 น่าจะอ่อนตัวลงจากงวด 2Q57 5% และ อาจทำให้กำไรสุทธิของตลาดปี 2557 และ 2558 จะต้องปรับลดลงจากเดิมราว 6% ในปี 2557 และ 3% ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ EPS ใหม่ อยู่ที่ 92 บาท และ 107 บาท (EPS Growth 1% และ 16%) เทียบกับเดิม 98.14 และ 110.47 บาท (EPS Growth 7.46% และ 12.57%) ตามลำดับ เท่ากับกับ current P/E ที่สูงกว่า 17 เท่า ( แต่จะลดลงเหลือ 14.7 เท่าในปี 2558) จึงทำให้ยังโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาอีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นถือหุ้นเพียง 30% และเลือกลงทุนหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง มีค่า P/E ต่ำ เงินปันผลสูง และแนวโน้มผลดำเนินงานเติบโต ได้แก PTTEP, PTTGC, STPI เป็นต้น
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล