- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 03 November 2014 16:08
- Hits: 1718
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
BOJ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เป็นประเด็นใหม่ที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นเอเซีย บวกกับแรงหนุน LTF จึงคาดว่า SET มีโอกาสกลับไปที่ 1600 จุดอีกครั้ง กลยุทธ์ยังแนะนำหุ้นรายตัว พื้นฐานเด่น P/E ต่ำ และเงินปันผลสูง เลือก SCC(FV@B515) Top pick ซึ่งธุรกิจสดใส ทั้งปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง
BOJ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ สร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาด
ญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงอีกครั้ง หลังการประกาศขึ้นภาษีขาย จาก 5% เป็น 8% ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยพบว่า GDP Growth ล่าสุดหดตัว 0.1% งวด 2Q57 (เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส) เทียบกับเติบโต 3% ในงวด 1Q57 และคาดว่าน่าจะชะลอตัวต่อเนื่องในงวด 3Q57 (บลูมเบิร์กคาดไว้ราว 0.35%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.6% ในเดือน มี.ค. เป็น 3.4% ในเดือน เม.ย. และ ทำสถิติสูงสุดที่ 3.7% ในเดือน พ.ค. แต่อย่างไรก็ตามได้อ่อนตัวลงเหลือ 3.2% ในเดือน ก.ย. (ขณะที่ ytd อยู่ที่ 3%) เป็นผลทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยที่ตลาดไม่ได้คาดหวังไว้ก่อนหน้า โดยผลการประชุมสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประกาศเพิ่มวงเงิน QE เป็น 80 ล้านล้านเยนต่อปี จากเดิม 65 ล้านล้านเยนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 15 ล้านล้านเยนต่อปี (1.25 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อเดือน) เท่ากับเป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้นราว 23% นอกจากนี้ยังมีความชัดเจนในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญ (GPIF ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลก สินทรัพย์ 1.2 ล้านล้านเหรียญฯ) โดยเพิ่มลงทุนหุ้นเป็น 50% (ในประเทศและต่างประเทศ อย่างละ 25%) จากเดิม 24% (อย่างละ 12%) ตรงกันข้ามลดการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเหลือ 35% จากเดิม 60% มีผลตั้งแต่การประชุมครั้งนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ได้กดดันให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแตะ 112.681 เยนต่อ ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งนับเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น และน่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นเอเซีย รวมถึงตลาดหุ้นไทย
6 พ.ย. นี้ ECB จะมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม?????
ขณะที่การรายงานดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญของสหภาพยุโรปยังสะท้อนภาวะอ่อนตัว ล่าสุดพบว่าอัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. ทรงตัวที่ระดับ 11.5% (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) โดยประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุด ได้แก่ เยอรมัน 5% และ ออสเตรีย 5.1% ตรงข้ามกับประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด ได้แก่ กรีซ 26.4% และ สเปน 24% ส่วนทางด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% จากเดือนก่อนหน้า 0.3% โดยได้แรงหนุนจากภาคบริการเป็นสำคัญ
ประเด็นที่คาดว่าตลาดน่าจะให้ความสำคัญคือการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 6 พ.ย. นี้ น่าจะเห็นแผนการเข้าซื้อ covered bonds เพิ่มเติม หลังจากเข้าซื้อใน 3 ประเทศหลักคือ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และแผนเข้าซื้อ ABS ในประเทศ โปรตุเกส และกรีซ ที่กำหนดไว้ในงวด 4Q57 ขณะที่ก่อนหน้า ECB ได้ประกาศให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ผ่าน TLTROs
ต่างชาติยังขายสุทธิไทย แม้กลับมาซื้อเพื่อนบ้านเป็นวันที่ 5
วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 5 และเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากวันก่อนหน้า แตะระดับ 591 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการซื้อสุทธิถึง 4 จาก 5 ประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ สลับมาซื้อสุทธิราว 279 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายใน 5 วันหลังสุด) ใกล้เคียงกับไต้หวันที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 272 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 31% ส่วนอินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 27 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 28% จากวันก่อนหน้า ที่ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิราว 15 ล้านเหรียญฯ หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า สวนทางกับไทยเพียงประเทศเดียวที่สลับมาขายสุทธิราว 3 ล้านเหรียญฯ (86 ล้านบาท, ซื้อสุทธิเล็กน้อย 2 วันก่อนหน้า)
เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ BOJ น่าจะทำให้ตลาดในภูมิภาคผ่อนคลายในระยะสั้น ขณะที่ในตลาดหุ้นไทยนักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ราว 1.1 พันล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 57 รวม 1.9 หมื่นล้านบาท และอาจจะมีแรงซื้อสุทธิเข้ามาเพิ่มเติมอีกจากกองทุน LTF ภายใต้สมมติฐานว่าแรงขายจาก LTF ที่ครบกำหนดในปี 2553 (ราคาทุน 3.7 หมื่นล้านบาท) จะขายมาเพียงบางส่วนหรือไม่เกิน 40% ของราคาทุน และเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่มีผลดันดัชนีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคือพอร์ตโบรเกอร์ที่ซื้อสุทธิถึง 1.5 พันล้านบาท เป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน และซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3
PTTEP ลงต่ำสุด แนะสะสมข้ามปี
นักวิเคราะห์ ได้ทำ preview earnings ของ PTT คาดกำไรสุทธิงวด 3Q57 ลดลง 27.7%qoq โดยได้รับแรงกดดันหลักจากกลุ่มโรงกลั่นทั้ง TOP PTTGC IRPC SPRC และ BCP เผชิญกับผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันราว 4-5 เหรียญฯต่อบาร์เรล หักล้างธุรกิจปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์โดยรวมฟื้นตัว อย่างไรก็ดีฝ่ายวิจัยคงประมาณการเดิม (หลังจากได้ปรับลดประมาณการไปแล้วตั้งแต่กลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา) ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบในปี 2557 และ 2558 ที่ 100 และ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดยรวมทำให้แนวโน้มกำไรปี 2557-2558 เติบโตเฉลี่ยราว 5% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตของตลาด
และเมื่อพิจารณาราคาหุ้น PTT ที่ปัจจุบันหรือ 364 บาท ถือว่าเกินมูลค่าพื้นฐานในปี 2557 และแม้จะไปใช้ Fair Value ปี 2558 405 บาท แต่อยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบโลกที่ 90 เหรียญฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ราคาตลาดโลกที่ 85 เหรียญฯต่อบาร์เรล เพื่อสะท้อนราคาน้ำมันดังกล่าว คาดว่ามูลค่าหุ้นปี 2558 ของ PTT ควรจะลดลงไปอยู่ที่ 398 บาท ซึ่งจะเห็นว่ามี upside ราว 8% ซึ่งน่าสนใจน้อยลงหากเทียบกับ PTTEP(FVB170)
ขณะที่ราคาหุ้น PTTEP ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 141.0 บาท เมื่อ 28 ต.ค. และ ฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 146.5 บาท ซึ่งยังถือว่า undervalue เพราะจากการศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทุก 5 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล คาดว่าจะทำให้ Fair Value หายไปประมาณ 8 บาท ทั้งนี้หากพิจารณาราคาน้ำมันดูไบเมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมา ปิดที่ 85.16 เหรียญฯ ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบระยะยาว ที่ ASP กำหนดไว้ที่ 90 เหรียญฯ นับจากปี 2558 ดังนั้นในกรณีที่เลวร้ายคาดว่า Fair Value ในปี 2557 จะลดลงมาอยู่ที่ 162 บาท จากสมมติฐานเดิม ซึ่งเทียบกับราคาตลาด 146.5 บาท จะเห็นว่ายังมี upside 11% ขณะที่ในปี 2558 นักวิเคราะห์ ASP ประมาณไว้ที่ 180 บาท หากปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่าสมมติฐาน 5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล คาดว่า Fair Value ปี 2558 จะอยู่ที่ 172 บาท ยังมี upside 17% อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการประกาศงบงวด 3Q57 เสร็จสิ้นแล้ว ทำให้นักวิเคราห์ หันไปใช้ Fair Value ปี 2558 แทน ยังนั้น ณ ระดับราคา PTTEP ที่ต่ำมากในปัจจุบันจึงเป็นระดับที่น่าสะสมลงทุนข้ามปี
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล