- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 27 October 2014 16:56
- Hits: 1615
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นโลกผ่อนคลาย ต่อหลังผล Stress Test ไม่ได้ย่ำแย่นัก และหลัง ECB เข้าซื้อหุ้นกู้ในบางประเทศ ช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ แต่อุปสรรคตลาดหุ้นไทยที่มี Current P/E สูงถึง 16 เท่า ความผันผวนยังมีอยู่ จึงยังแนะถือเงินสดเป็นส่วนใหญ่ ยังเลือก DEMCO(FV@B18) เป็น Top pick
ธนาคารยุโรป ไม่ผ่าน Stress Test 23 แห่งจาก 123 แห่ง
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ได้ผลสรุปการทำ stress test ธนาคารพาณิชย์ 123 แห่งในสหภาพยุโรป (22 ประเทศ) ซึ่งพบว่ามีเพียง 23 แห่ง ที่ไม่ผ่านการทดสอบ ซึ่งประกอบด้วยธนาคารในอิตาลีมากสุดถึง 9 แห่ง รองลงมาคือ กรีซ และ ไซปรัส แห่งละ 3 ธนาคาร ตามมาด้วย เบลเยี่ยม และ สโลเวเนีย แห่งละ 2 ธนาคาร โปรตุเกส เยอรมัน ออสเตรีย ไอรแลนด์ แห่งละ 1 ธนาคาร ทั้งนี้การทำ Stress test เป็นการจำลองสถานการณ์ในกรณีที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย จะทำให้หนี้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน และนำไปสู่การตั้งสำรองที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะไปกินเงินกองทุนขั้นที่ 1 (ประกอบด้วยทุนเรียกชำระ ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น และ กำไรสะสมราว 263 พันล้านยูโร) ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR1) ลดลงจาก 12.4% เหลือ 8.3% หรือลดลงราว 4% ภายใต้สมมุติฐานว่าธนาคารใดต้องเพิ่มทุนเขาพิจารณาจาก CAR1 ไม่ควรต่อกว่า 5.5%
หากพิจารณาจากข้อมูลธนาคารที่มี CAR 1 ต่ำกว่า 5.5% พบว่าธนาคาร 23 แห่ง จะต้องเพิ่มทุนราว 30.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในจำนวนนี้เป็นของอิตาลี 11.92 พันล้านเหรียญฯ (38.8% ของทั้งหมด) รองลงมาคือ กรีซ 11.04 พันล้านเหรียญฯ (36% ของทั้งหมด) ไซปรัส 3.50 พันล้านเหรียญฯ (9.9% ของทั้งหมด) โปรตุเกส 1.4 พันล้านเหรียญฯ (4.5% ของทั้งหมด) ออสเตรีย 1.1 พันล้านเหรียญฯ (3.6% ของทั้งหมด) ไอรแลนด์ 1.1 พันล้านเหรียญฯ (3.6% ของทั้งหมด) เบลเยี่ยม 683.8 ล้านเหรียญฯ (2.2% ของทั้งหมด) เยอรมัน 290 ล้านเหรียญฯ (1% ของทั้งหมดและ สโลเวเนีย 82 ล้านเหรียญฯ (0.4% ของทั้งหมด)
แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามความเห็นของ ECB คาดว่าธนาคารพาณิชย์ที่จำเป็นต้องเพิ่มเงินกองทุนมีเพียง 12 แห่ง จาก 23 แห่ง ทั้งนี้ที่เหลือบางแห่งอาจจะมีแผนการเพิ่มทุนหรือน่าจะมีทางออกอื่น ๆ เช่นการควบรวมกิจการ และ เป็นที่สังเกตว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศหลัก ๆ เช่น ฝรั่งเศส สเปน และ เยอมัน มีปัญหาน้อย หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ ยกเว้นในอิตาลีที่อาจจะมีปัญหามากสุด และในอีก 3 ประเทศในกลุ่ม PIIGC ที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะ ได้แก่ กรีซ โปรเกส และ ไอร์แลนด์ ทั้งนี้แม้ว่า 3 ประเทศหลังจะได้รับเงินช่วยเหลือทางการเงินจาก TROIKA มาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามการทำ Stress Test น่าจะช่วยลดแรงกดดันของตลาด ฯ เพราะอย่างน้อยทำให้รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาในยุโรปอย่างไร หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่
สหรัฐน่าจะเดินหน้าตัดลด QE ในการประชุม 28-29 ต.ค.นี้
ขณะที่ทางสหรัฐยังคงรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือยอดขายบ้านใหม่ ซึ่งคิดเป็น 10%ของยอดซื้อบ้านทั้งหมด เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า (mom) (เป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค.2551) หรือเพิ่มขึ้น 17% (yoy) การเพิ่มขึ้นอย่างมากเกิดจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ลดลงเหลือ 5.9% และ ดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 7%
ขณะที่การประชุม FOMC ที่จะมีขึ้นระหว่าง 28-29 ต.ค. คาดว่าจะมีการพิจารณาตัดลด QE ที่เหลือ 1.5 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อตามเดิม ส่วนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2Q58 จะถูกยืดออกไปหรือไม่ แม้ว่าดัชนีนำเศรษฐกิจจะมีสัญญาณที่แข็งแกร่ง แต่ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าผลการประชุมในครั้งนี้น่าจะเป็นปัจจัยชี้นำตลาดในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า
สถาบันยังคงซื้อหนักสวนทางกับแรงขายต่างชาติ
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่กลับเบาบางเหลือเพียง 1 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิ 142 ล้านเหรียญฯ และ ขาย 29 จาก 33 วันหลังสุด) โดยเป็นการสลับซื้อขายรายประเทศ เริ่มจากไต้หวันสลับมาขายสุทธิราว 198 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วย ไทย ที่สลับมาขายสุทธิราว 85 ล้านเหรียญฯ (2.8 พันล้านบาท, ขายสลับซื้อใน 5 วันหลังสุด) และ อินโดนีเซียขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 29 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 29 จาก 34 วันหลังสุด) สวนทางกับเกาหลีใต้ที่สลับมาซื้อสุทธิอย่างหนักถึง 308 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขายสุทธิใน 6 วันหลังสุด) และ ฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิเบาบางเป็นวันที่ 3 ราว 3 ล้านหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 3 แสนเหรียญฯในวันก่อนหน้า)
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันราว 2.0 พันล้านบาท โดยที่เป็นการซื้อสุทธิ 10 จาก 13 วันหลังสุด รวม 1.1 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าเป็นผลจากแรงซื้อของกองทุน LTF ที่มักมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงปลายปี สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยขายสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2557 รวม 1.6 หมื่นล้านบาท (ตั้งแต่ต้นปี 57 ยอดรวมของนักลงทุนต่างชาติเป็นขายสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกลุ่มนี้กลับซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ราว 3.7 พันล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 รวมกว่า 8.2 พันล้านบาท
ยังให้น้ำหนักต่อหุ้นพลังงานทางเลือก DEMCO/GUNKUL เด่น
ดังที่นำเสนอในวันศุกร์ที่ผ่านมา ถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากภาคเอกชนเพิ่มเติมและเร็วขึ้นกว่าแผนเดิมมาก ทั้งนี้หากพิจารณาแผนรับซื้อพลังงานโซล่า ในระยะ 10 ปี จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ (จากทั้งหมด 13,927 เมกะวัตต์ ในแผนรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดในระยะ 10 ปี) ที่ผ่านมาได้ได้เปิดประมูลไปแล้ว 961 เมกะวัตต์ ในครั้งนี้เปิดรับซื้อเพิ่มเติม 2 ส่วน คือ ส่วนเดิมที่ค้างท่ออยู่ (ผู้ที่รับการอนุญาตก่อสร้างยังไม่สามารถดำเนินการและส่งไฟฟ้าเข้าระบบ) 576 เมกะวัตต์ และของใหม่ที่เปิดประมูลในครั้งนี้ 800 เมกะวัตต์ ทำให้การรับซื้อรอบนี้รวมเป็น 1,376 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับที่รับซื้อแล้ว 961 เมกะวัตต์ เท่ากับจะมีการรับซื้อทั้งใหม่และเก่ารวม 2337 เมกะวัตต์ เทียบกับในแผนที่ต้องรับซื้อทั้งหมด 3000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าส่วนต่างอีก 663 เมกะวัตต์น่าจะมีการับซื้อใหม่ในปีถัดๆ ไป
ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านความพร้อมของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า (EA/GUNKUL/SPCG) พบว่า GUNKUL น่าจะมีความพร้อมมากสุดเพราะมีเงินทุนที่เพียงต่ำเพียง 1 (D/E) ขณะ EA 2.2 ภายใต้สมมติฐาน Project Financing 3:1 (D/E) จึงคาดว่า GUNKUL(FV@B25) น่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ส่วน DEMCO(FV@B18) เป็นก่อสร้างโรงไฟฟ้า และระบบวิศวกรรมไฟฟ้าปัจจุบันมี D/E 0.6 จึงน่าจะมีความ พร้อมน่าจะได้ประโยชน์สุดเช่นกัน จึงแนะนำซื้อลงทุนทั้ง 2 บริษัท GUNKUL(FV@B25) และ DEMCO(FVB18) เป็น Top picks
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล