WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน

“เลือกซื้อจังหวะอ่อนตัว”
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
      • ภาพตลาดวันก่อน : SET Index ปิดบวกเล็กน้อย 2.29 จุด มาปิดที่ 1405.21 โดยในวันดัชนีแกว่งบนกรอบ 1401-1415 จุด ในช่วงแรกดัชนีปรับขึ้นเพราะมีความหวังว่าปัญหาการเมืองไทยน่าจะยุติลงได้ในเร็วๆนี้ แต่การอ่อนตัวในช่วงบ่ายเป็นเพราะนักลงทุนบางกลุ่มเริ่มไม่แน่ใจว่าจะจบลงได้ด้วยการเจรจาหรือไม่ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.9 พันล้านบาท พอร์ตบล.และรายย่อยซื้อ-ขายสุทธิไม่มาก ส่วนต่างชาติขายสุทธิ 1.9 พันล้านบาท
     • ปัจจัยและกลยุทธ์ : สถานการณ์การเมืองยังมีน้ำหนักมากต่อตลาดหุ้นไทย โดยตลาดกำลังรอดูนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ และแนวทางในการบริหารของรัฐบาลแต่งตั้งจะเป็นอย่างไร รวมทั้งจะใช้เวลาอีกนานเท่าไรจึงจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวผนวกกับการเป็นรัฐบาลแต่งตั้งอาจกดดันให้ตลาดหุ้นไทยอ่อนตัวลงก่อนในระยะสั้นมาก โดยหลักเพราะความวิตกกังวลของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามนักลงทุนในประเทศหลายกลุ่มก็รอซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีในจังหวะราคาอ่อนตัวแรง ทั้งเพื่อเก็งกำไรตามรอบและลงทุนระยะกลาง-ยาว (6-12 เดือนขึ้นไป) ส่วนปัจจัยภายนอกวันนี้มีน้ำหนัก Neutral โดยตัวเลขเศรษฐกิจออกมา Mixed ทั้งนี้แม้ว่าภาคการผลิตจะเติบโตต่อในเดือนพ.ค.แต่ภาคแรงงานยังมีความเปราะบาง ส่วนยูโรโซนยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กลยุทธ์ : โดยหลักวันนี้เน้นซื้ออ่อนตัว โดย SET มีพื้นที่แนวรับ 1350-1340, 1300-1290 จุด และแนวต้านระยะสั้น 1415-1420 จุด สำหรับหุ้นพื้นฐานที่น่าสนใจวันนี้ เป็น DELTA

Fundamental Pick
DELTA อ่อนตัวเป็นจังหวะซื้อปิด 57.50 บาท ราคาพื้นฐาน 63 บาท
         • เราเห็นว่าราคาหุ้น DELTA ที่ปรับฐานในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมาได้สะท้อนแนวโน้มผลประกอบการ 2Q57 ที่จะอ่อนลงเพราะลูกค้าหลัก data center กำลังอยู่ในช่วงการสะสางสต็อคเดิมสำหรับ platform เก่า (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2Q57) แล้วจะกลับมาซื้อสินค้าใหม่ใน platform ใหม่ๆ อีกครั้งตั้งแต่ 3Q57 ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการใน2H57 ดีขึ้น บริษัทได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ และรายได้อิงกับต่างประเทศ ทำให้ถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศจำกัด งบดุลแข็งแกร่งด้วยฐานะเงินสดสุทธิ ณ ปลาย 1Q57 เป็น 15.3 พันล้านบาท (12.20 บาทต่อหุ้น) ในเชิงกลยุทธ์มองว่าการอ่อนตัวของราคาหุ้นเป็นจังหวะซื้อ โดยฝ่ายวิจัยฯ DBSV ให้ราคาพื้นฐานไว้ที่ 63บาท

ปัจจัยต่างประเทศและโภคภัณฑ์
+ จีน : PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ค.เพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน
+ เอชเอสบีซี โฮลดิงส์เผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้นแตะ 49.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน จาก 48.1 ในเดือนเม.ย. นับว่าภาคการผลิตของจีนปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ถึง 50 แต่ก็ใกล้มากแล้ว และมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับขึ้นไปเหนือ 50 จุดได้ถ้าหากทางการจีนผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ลง
• ยูโรโซน : ดัชนี PMI เดือนพ.ค.57 ลดลงแต่ยังเหนือ 50• ผลสำรวจของมาร์กิตแสดงให้เห็นว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนพ.ค.ลดลงแตะ 53.9 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 54.0 ในเดือนเม.ย. สำหรับดัชนี PMIภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือนพ.ค.ลดลงที่ 52.5 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนพ.ค.ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 53.5 ซึ่งสูงสุดในรอบ 35 เดือน เมื่อเทียบกับระดับ 53.1 ในเดือนเม.ย. นักเศรษฐศาสตร์ของมาร์กิต กล่าวว่าอัตราการขยายตัวของ PMI เบื้องต้นยูโรโซนในเดือนพ.ค.ชะลอลงเล็กน้อย แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมของภูมิภาคซึ่งอยู่ในไตรมาสที่มีการขยายสูงสุดในรอบ 3 ปี สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.5% ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจากขยับขึ้น 0.2%ในช่วงไตรมาส 1/57
+/- สหรัฐ : ตัวเลขเศรษฐกิจออกมา Mixedโดยภาคการผลิตและที่อยู่อาศัยดีขึ้น แต่ภาคแรงงานยังกดดัน
+ มาร์กิตรายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ค.ของสหรัฐขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 56.2 จากเดือนเม.ย.ที่ระดับ 55.4 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 55.5
+ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย.57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% แตะระดับ 4.65 ล้านยูนิต ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9เดือนที่ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวเพิ่มขึ้น
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค.57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 28,000 ราย แตะที่ 326,000 ราย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 310,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะผันผวน

• ตลาดหุ้นสหรัฐแกว่งแคบ
• ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 16,543.08 จุด เพิ่มขึ้น 10.02 จุด หรือ +0.06% ดัชนีNASDAQ ปิดที่ 4,154.34 จุด เพิ่มขึ้น 22.80 จุด หรือ +0.55% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,892.49จุด เพิ่มขึ้น 4.46 จุด หรือ +0.24% แม้ว่าภาคการผลิตสหรัฐและตัวเลขที่อยู่อาศัยสหรัฐจะออกมาดี แต่ตัวเลขภาคแรงงานที่ออกมาแย่กว่าคาดยังกดดัน

- สัญญาน้ำมันดิบอ่อนลง
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ลดลง 33 เซนต์ ปิดที่ 103.74 ดอลลาร์/บาร์เรลส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 19 เซนต์ ปิดที่110.36 ดอลลาร์/บาร์เรล

+ สัญญาทองคำ COMEX ปรับขึ้นหลังอินเดียผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเข้าทองคำ
       + สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 6.9ดอลลาร์ หรือ 0.54% ปิดที่ 1,295 ดอลลาร์/ออนซ์ ปัจจัยหนุนหลัก คือ ธนาคารกลางอินเดียประกาศว่าอินเดียจะอนุญาตให้บริษัทเทรดดิ้งของเอกชนสามารถนำเข้าทองคำได้ โดยเทรดเดอร์คาดว่า การที่อินเดียตัดสินใจผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าทองคำอาจจะช่วยให้อุปสงค์ทองคำเพิ่มขึ้นอีก 5 ตันต่อสัปดาห์

ปัจจัยในประเทศและหลักทรัพย์
      • การเมือง : คสช.เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ...ต่างชาติมีสิทธิขายต่อแต่การร่วงแรงเป็นจังหวะซื้อหุ้นพื้นฐานดีเพื่อลงทุนระยะกลาง-ยาว
      • คสช.ประกาศควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศมีผลตั้งแต่ 22 พ.ค.57 เวลา 16.30 น.
• ในระยะสั้นตลาดอาจอ่อนตัวลงก่อน โดยเฉพาะแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามนักลงทุนในประเทศหลายกลุ่มก็รอซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีในจังหวะนี้ สำหรับข้อมูลในอดีตพบว่าหลังทำรัฐประหารดัชนีจะปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์แรก แล้วมีการอ่อนตัวลงในช่วง1-3 เดือนต่อมา
• รอดูนายกฯ & คณะรัฐมนตรี แนวทางบริหารของรัฐบาลแต่งตั้ง และระยะเวลาที่จะมีเลือกตั้งใหม่ ความเสี่ยง คือ 1) การที่รัฐบาลแต่งตั้งอยู่ในอำนาจบริหารประเทศนานเกินไป, 2) คณะรัฐบาลแต่งตั้งเน้นเรื่องการแก้กฎหมายและปฏิรูปประเทศเป็นหลัก ให้ความสำคัญด้านการค้าการลงทุนน้อยเกินไป
• ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน การอ่อนตัวของราคาหุ้นเป็นโอกาสทยอยซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาวในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ธุรกิจมั่นคง เติบโตได้ต่อเนื่อง หรือฟื้นตัวได้เร็ว โดยหุ้นที่น่าสนใจได้แก่ AOT, BBL, KBANK, CPALL, DTAC, PTTGC, CPN, QH, SPALI, STEC, STPIเป็นต้น สำหรับนักลงทุนที่ซื้อ-ขายตามรอบ แนะนำซื้อจังหวะลงแรง และขายทำกำไรเมื่อรีบาวด์กลับ โดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้ามาช่วย ซึ่งการวิเคราะห์ด้วย FibonacciRetracement จะมีพื้นที่แนวรับ 1350-1340, 1300-1290 จุด
***ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Trading Strategy ด้านในของ Daily Trading Focus วันนี้***

• ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนใน 4M57ลดลง 45%YoY เป็น 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 38.6% ของเป้าหมายที่ 7 แสนล้านบาท
• นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คาดว่ามูลค่าเงินลงทุนในปี 57 น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 700,000 ล้านบาท แม้ยอดขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้จะลดลง YoY แต่เมื่อปัญหาการเมืองคลี่คลายคาดว่าจะนักลงทุนจะทยอยยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามากันมากขึ้น สำหรับ 4M57 มีจำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม399 โครงการ (-42%YoY) มูลค่าเงินลงทุนรวม 270,000 ล้านบาท (-44.8%YoY) อย่างไรก็ตามฐานของ 4M56 สูงเพราะมีโครงการขนาดใหญ่ขอรับส่งเสริมการลงทุน เช่น การลงทุนของTHAI, NOK, AAV มูลค่ารวมกว่า 158,000 ล้านบาท, Honda กว่า 33,200 ล้านบาท และกิจการเรือเดินทะเลกว่า 20,000 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับ 4M53 และ 4M54 ที่ 135,700 ล้านบาท และประมาณ 170,000 ล้านบาท ตามลำดับแล้ว เห็นไว้ว่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน4M57 ยังเติบโตได้ดี
• สำหรับยอดขอรับส่งเสริมในช่วง 4M57 พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีการขยายการลงทุนได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักร มูลค่าเงินลงทุน 161,600ล้านบาท (+61%YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลระยะที่ 2 หรือ อีโคคาร์ 2 ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนของโครงการทั้งหมดที่ยื่นขอรับส่งเสริม 24,500 ล้านบาท (+75%YoY) ส่วนการยื่นขอรับการส่งเสริมจากนักลงทุนต่างชาติใน 4M57 อยู่ที่ 219,932 ล้านบาท (-1.9%YoY) โดยเป็นของญี่ปุ่น 30.6% หรือ 67,321 ล้านบาท (-55%YoY) แต่การขอรับส่งเสริมจากนักลงทุนต่างชาติบางประเทศเพิ่มขึ้นมาก เช่น สหรัฐ, เกาหลีใต้ และจีน

       ความเห็นเชิงกลยุทธ์ Retail Research : เราคาดว่าการลงทุนจะพลิกฟื้นกลับมาได้ก็เมื่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลาย เห็นภาพชัดเจนว่าทิศทางของประเทศจะเป็นอย่างไรนักลงทุนจึงจะกล้านำเงินก้อนใหญ่เข้ามาลงทุนอีกรอบ ส่วนความกังวลเรื่องการย้ายฐานการผลิต เราคิดว่ามีความเสี่ยงในบางอุตสาหกรรม เช่น อิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะมีsupply chain ที่สั้นและไม่ซับซ้อน แต่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีความเสี่ยงต่ำ เพราะมี supply chain ที่ซับซ้อนและกว้างมากในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิด Economy of scale ที่ดีดังนั้นคาดว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ จะยังคงเดินหน้าลงทุนในไทยต่อไป สำหรับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ที่เราทำการวิเคราะห์และแนะนำทยอยซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาว หุ้นเด่นในกลุ่มคือ SAT, STANLY

+/- เงินบาทอ่อนค่าหลังจากคสช.ยึดอำนาจการปกครองประเทศ
      +/- เงินบาทมีโอกาสอ่อนตัวลงในระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนในตลาดเงินและตลาดหุ้นกังวลกับการเข้าควบคุมอำนาจบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งมีกองทุนต่างประเทศบางแห่งไม่สามารถลงทุนในประเทศที่มีการทำรัฐประหาร จึงต้องมีการขายลดพอร์ตออกมา ล่าสุดเช้าวันนี้เงินบาทอยู่ที่ 32.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐสำหรับหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับส่งออกและมีรายได้รูปเงินตราต่างประเทศ เช่น อิเลคทรอนิกส์, ธุรกิจเกษตรส่งออก, ดาวเทียม เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลลบเมื่อบาทอ่อนค่า คือ บริษัทที่นำเข้าสุทธิและบริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศมาก เช่นTVO, TRUE, THAI (การบินไทยมีทั้งรายได้รูปเงินตราต่างประเทศและหนี้ต่างประเทศหลายสกุลแต่สุทธิแล้วมักจะเกิดผลลบต่อผลประกอบการมากกว่าบวกเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่า) สำหรับกลุ่มพลังงาน & ปิโตรเคมี จะเป็น Natural Hedge เพราะมีทั้งรายได้และหนี้สินในรูปเงินตราต่างประเทศ
• ในเชิงกลยุทธ์ ในปี 57 เราชอบหุ้นในกลุ่มอิเลคทรอนิกส์และธุรกิจเกษตรส่งออก โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีผลประกอบการเติบโต 18% และ 35% ตามลำดับ ซึ่ง Outperform ตลาดที่ประมาณการว่าจะขยายตัวเพียง 9% เนื่องจากได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและธุรกิจของลูกค้าหลัก หุ้นเด่น คือ KCE, DELTA, CPF, GFPT และ TUF
นักวิเคราะห์ : อาภาภรณ์ แสวงพรรค : Tel 7829 [email protected]

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!